Skip to main content
sharethis
ประยุทธ์ ระบุ รบ.ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปตร.และได้แต่งตั้ง กก.เพื่อทำหน้าที่ปฏิรูป จากบุคคลทุกภาคส่วน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของฝ่ายกฎหมาย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ครม.ไฟเขียวงบ 1.8 พันล้าน โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 60 โดยเพิ่มวงเงินคุ้มครองและลดค่าเบี้ยประกันภัยให้กับประชาชน
 

28 มิ.ย. 2560 รายงานจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลระบุว่า วานนี้ (27 มิ.ย.60) เมื่อเวลา 13.15 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีการระงับคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำ ถ้าจะระงับคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจทั้งหมด เพราะจะกระทบต่อตำรวจที่ไม่มีปัญหาในการแต่งตั้ง ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรม และคุ้มครอง คำนึงถึงสิทธิของผู้ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายด้วย ส่วนกรณีที่มีปัญหาในการแต่งตั้งต้องไปสอบสวน ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ให้ดูเป็นกรณี และต้องแยกแยะให้ออก เพื่อไม่ให้กระทบต่อตำรวจที่ไม่มีปัญหาในการแต่งตั้งโยกย้าย 

สำหรับการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปตำรวจ โดยแต่งตั้งจากบุคคลทุกภาคส่วน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของฝ่ายกฎหมาย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ โดยคณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้งจะต้องทำงานให้สอดคล้องกับคณะทำงานภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจะเน้นปฏิรูปองค์กรสำนักงานตำรวจ ปฏิรูปกฎหมาย และปฏิรูปบุคลากร และได้สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีรับไปดำเนินการแล้ว พร้อมกับขอเวลาในการดำเนินการเพื่อความรอบคอบ เพราะจะมีผลกระทบในระยะยาว

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้กล่าวถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีให้แนวทางแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการที่จะดำเนินการปฏิรูปตำรวจว่า การดำเนินการดังกล่าวจะต้องมีคณะกรรมการทั้งในส่วนของรัฐบาลและของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานตำรวจฯ มีคณะกรรมการที่แต่งตั้งอยู่แล้ว โดยคณะกรรมการที่จะมาดำเนินการในส่วนของรัฐบาลนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายชื่อบุคคลที่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ คณะกรรมการทั้ง 2 ส่วนดังกล่าวจะต้องมีแนวทางการทำงานที่มีความสอดคล้องต้องกัน ดังนี้  1) ให้พิจารณาถึงเรื่องขององค์กร เช่น เรื่องของโครงสร้าง ระบบงาน ภารกิจ บทบาท และอำนาจหน้าที่ จะเป็นอย่างไร   2) กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น กฎ ระเบียบ กติกา การป้องกันการทุจริต ระบบการสอบสวน จะมีแนวทางอย่างไร และ 3) บุคลากร เช่น การเลื่อนตำแหน่ง การแต่งตั้งโยกย้าย การเจริญเติบโตในสายอาชีพ สวัสดิการต่าง ๆ เป็นต้น

สำหรับการปฏิรูปตำรวจ คณะกรรมการทั้ง 2 คณะจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกาศ ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาประมาณ 9 เดือน นายกรัฐมนตรีจึงได้กำหนดตารางระยะเวลาดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแผนและห้วงเวลาที่กำหนดไว้ ดังนี้ 1) จากนี้ไป 2 เดือนแรกให้รวบรวมปัญหาต่าง ๆ และศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงไปยังปัญหาอื่น ๆ อีกหรือไม่ 2) ระยะเวลา 4 เดือนต่อไปจะเป็นการนำปัญหาที่ศึกษาเรียบร้อยแล้ว มากำหนดวิธีการปฏิบัติและแก้ไขกฎหมาย และในช่วง 3 เดือนสุดท้ายเป็นการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประชาชนทั่วไป และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับรู้และเกิดความเข้าใจว่าการปฏิรูปดังกล่าวมีความเปลี่ยนแปลงและมีผลดี ตลอดจนสามารถแก้ไขข้อบกพร่องหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างไร เพื่อให้สังคมเกิดการยอมรับอันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนที่มีต่อการขับเคลื่อนกระบวนการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ไฟเขียวโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 60 

วันเดียวกัน (27 มิ.ย.60) กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่า ที่ประชุมครม. มีมติอนุมัติงบประมาณ จำนวน 1,841,100,000 บาท สำหรับการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยต่าง ๆ ให้กับเกษตรกร ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้  ตลอดจนภัยศัตรูพืช และโรคระบาด  โดยมีเป้าหมายพื้นที่รับประกันภัย ขั้นต่ำ 25 ล้านไร่ สูงสุด 30 ล้านไร่ และมีวงเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ ตลอดช่วงการเพาะปลูก เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ( ปี พ.ศ.2559 วงเงินคุ้มครอง 1,111 บาทต่อไร่)  ขณะที่ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด มีวงเงินคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่ ( ปี พ.ศ.2559 วงเงินคุ้มครอง 555 บาทต่อไร่) ซึ่งตามระเบียบของทางราชการกรณีที่ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด มีวงเงินคุ้มครองน้อยกว่าภัยประเภทอื่นข้างต้น เนื่องจากพบว่าเมื่อเกิดภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดความเสียหายอาจจะเกิดประมาณครึ่งของการเพาะปลูกทั้งหมดจึงพิจารณาทดแทนให้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

สำหรับอัตราค่าเบี้ยประกันภัยปี 2560  อัตราเท่ากันทุกพื้นที่การผลิต 97.37 บาทต่อไร่ รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์ หรือคิดเป็น 90 บาทต่อไร่ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์  (ปี พ.ศ. 2559 อัตราค่าเบี้ยประกัน 107.428 บาทต่อไร่ รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์ ) เกษตรกรจ่าย 36 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ รัฐบาลจะอุดหนุนเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย ในอัตรา 61.37 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)  ส่วนกรณีที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส.นั้น ธ.ก.ส. จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลืออีก 36 บาทต่อไร่ ส่วนระยะเวลาการขายประกันเริ่มตั้งแต่ฤดูการเพาะปลูก – 31 สิงหาคม 2560 และภาคใต้สามารถดำเนินการได้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2560 เนื่องจากฤดูการเพาะปลูกของภาคใต้ช้ากว่าภาคอื่น อีกทั้งปีนี้รัฐบาลยังมีการพิจารณาให้เกษตรกรผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกใช้บริการพร้อมเพย์  (Promptpay)  ในการรับ – โอนค่าเบี้ยประกันภัยและค่าสินไหมทดแทน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนโดยไม่ต้องเดินทางมาจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยและค่าสินไหมด้วยตนเอง ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีกด้วย

พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการในการตรวจสอบเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายแต่มิได้อยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยมิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 เช่นเดียวกับการดำเนินการของโครงการฯ ปีการผลิต 2559 และขอให้จัดส่งข้อมูลให้สมาคม ฯ และ ธ.ก.ส. เพื่อพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการฯ และแบ่งเบาภาระด้านงบประมาณของภาครัฐ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงแนวทางการดำเนินโครงการฯ ในอนาคต โดยส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการระบบประกันภัยพืชผลมากยิ่งขึ้น และทยอยให้เกษตรกรเพิ่มการมีส่วนร่วมในการรับภาระค่าเบี้ยประกันภัยด้วย นอกจากนี้ กระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังดำเนินการศึกษาแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยให้ขยายผลครอบคลุมไปถึงพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่น ๆ  ซึ่งจะทำให้เกษตรกรทั่วประเทศไทยในอนาคตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถบรรเทาความเดือนร้อนภาระหนี้สินที่จะเกิดขึ้นหากผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net