Skip to main content
sharethis

แถลงการณ์ AIC ถึงข้อบังคับ OTT ของกสทช. ชี้ ไทยหันหลังให้นวัตกรรม กระทบการลงทุน ไม่สอดคล้องข้อตกลงระหว่างประเทศ สวนทาง Thailand 4.0 หวั่น ผู้บริโภคและผู้ผลิตในไทยเสียเปรียบด้านการเข้าถึงข้อมูล แนะ ข้อบังคับไม่ควรปิดบังต่อสาธารณะ

29 มิ.ย. 2560 จากกรณีกสทช. กำหนดให้ผู้ให้บริการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (OTT- Over The Top) มาลงทะเบียน เพื่อสามารถให้บริการ OTT ในประเทศไทยต่อไปได้ ทั้งนี้ Google และ Facebook เป็นสองบริษัทที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ซึ่งกสทช. ประกาศว่าบริษัทโฆษณา (และรวมถึงบริษัทอื่นๆ) ที่โฆษณาผ่านผู้ให้บริการ OTT ที่ไม่มาลงทะเบียน เข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องรับโทษ 2 ใน 3 ตามความผิดที่เกิด ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

Asia Internet Coalition หรือ AIC เป็นองค์กรความร่วมมือ ที่มีสมาชิกคือ Facebook, Google, LinkedIn, Apple, Twitter รวมถึง Yahoo, LINE และ Rakuten ได้ออกแถลงการณ์ต่อกฎระเบียบที่ กสทช. ออกมาเพื่อควบคุม OTT โดยระบุถึงปัญหาด้านความโปร่งใสของระเบียบ ที่ยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ การนำระเบียบ ข้อบังคับมาใช้จริงท่ามกลางความคลุมเครืออาจทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจและการลงทุน เป็นอุปสรรคแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้บริโภคและผู้ผลิตเนื้อหาในไทย เป็นอุปสรรคต่อการเกิดนวัตกรรมและฉุดรั้งความตั้งใจของรัฐบาลที่จะเป็น Thailand 4.0 ทั้งยังไม่สอดคล้องกับกรอบความร่วมมือและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิก โดยมีเนื้อหาดังนี้

ooooooooooooooo

พวกเรามีความกังวลอย่างสุดซึ้งที่ประเทศไทยได้หันหลังให้กับนวัตกรรมด้วยข้อบังคับที่ กสทช. ได้นำเสนอให้กับการให้บริการในระบบ OTT ข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจและนวัตกรไทยเป็นอันดับแรก แต่กลับเพิ่มภาระด้านข้อบังคับ และอาจทำให้การเติบโตนั้นถูกจำกัดลง ทั้งยังเป็นการปิดกั้นคนและบริษัทสัญชาติไทยจากการใช้แพลทฟอร์มแบบเปิดในระดับโลกเพื่อสร้างธุรกิจออนไลน์ พวกเราเองยังคงกังวลว่ากฎดังกล่าวอาจจะไม่สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยลงนาม

ด้านล่างเป็นจดหมายที่เขียนขยายความถึงพื้นเพและเหตุผลแห่งความกังวลที่พวกเรามี ซึ่งได้ส่งไปยัง กสทช. ไปก่อนแล้วในวันนี้ คุณสามารถใช้เนื้อหาดังต่อไปนี้ประกอบกับเรื่องราวของพวกคุณ

29 มิ.ย. 2560
ประธานกรรมการ ธเรศ
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
87 พหลโยธิน 8 (ซ.สีลม)
สามเสนใน พญาไท
กรุงเทพฯ 10400
ประเทศไทย

ถึงท่านประธานกรรมการ ธเรศ

ข้อตอบรับจากองค์กรความร่วมมือทางอินเตอร์เน็ตแห่งเอเชีย (AIC) เกี่ยวกับข้อบังคับของ OTT ของไทยที่ได้ประกาศไป

ด้วยระบบอินเตอร์เน็ตที่เสรีและเปิดเผย ทำให้ผู้บริโภค นักธุรกิจและผู้ผลิตคอนเทนท์ (เนื้อหา) ได้เติบโตขยายตัวไปทั่วเอเชียและโลก AIC และบริษัทที่เป็นตัวแทนมีความกังวลว่าข้อบังคับที่ กสทช. ได้เสนอในเรื่อง “บริการ OTT” จะส่งผลในทางลบให้กับประเทศไทย สร้างความไม่แน่นอนในการเกิดธุรกิจ ชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจและจำกัดการลงทุนในเศรษฐกิจภาคดิจิทัลของไทยที่กำลังโต พวกเรายังกังวลว่านโยบายใหม่ที่กำลังจะออกมาโดยไม่ผ่านการปรึกษาจากสาธารณะ ทั้งนโยบายยังไม่สอดคล้องกับข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศของไทยที่จะเป็นทำลายความมั่นใจในการลงทุน

AIC ยินดีเข้าร่วมกับรัฐไทยในเรื่องข้อบังคับของ OTT อย่างไรก็ตาม กสทช. ไม่ได้เปิดเผยร่างข้อบังคับดังกล่าวต่อสาธารณชน เราได้ดูรายงานจากสื่อมวลชนที่รายงานว่า กสทช. จะให้บริษัทต่างๆ เข้าจดทะเบียนเป็นบริการ OTT ภายในเวลา 30 วัน การเรียกลงทะเบียนดังกล่าวนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามาลงทะเบียนเพื่ออยู่ภายใต้การควบคุมโดยข้อบังคับซึ่งไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ AIC จึงขอส่งเสริมให้ กสทช. เปิดเผยร่างข้อบังคับและมีกระบวนการปรึกษากับภาคส่วนสาธารณะอย่างโปร่งใสทันที

นอกจากนั้น กสทช. ยังได้มีการแถลงต่อสาธารณะว่าบริษัทที่ไม่ได้เข้าประชุมร่วมกับ กสทช. จะพบกับ “แรงกดดัน” หากต้องการดำเนินธุรกิจต่อไป ถ้อยแถลงดังกล่าวทำให้เราคิดว่า กสทช. อาจจะสร้างแรงกดดัน หรือใช้วิธีทำให้ความสัมพันธ์กับผู้ทำโฆษณาซับซ้อนยิ่งขึ้นเพื่อสร้างแรงกดดัน ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรม(ธุรกิจดิจิทัล - ผู้สื่อข่าว) ตกที่นั่งลำบากในฐานะที่ต้องพบแรงกดดันให้ยอมถูกกำกับโดยข้อบังคับที่ไม่เป็นที่เปิดเผย

ข้อเสนอสำหรับข้อบังคับเรื่อง OTT ทำให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตเนื้อหาของไทยเสียเปรียบประเทศอื่นในภาพรวม ข้อบังคับดังกล่าวจะทำลายความมั่นใจในการลงทุนและยังยั้งการเติบโตผ่านผลกระทบเชิงลบระยะยาวในเศรษฐกิจของไทยทั้งหมด ทั้งยังฉุดรั้งความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่จะเป็นประเทศไทย 4.0 อีกด้วย นอกจากนั้น ด้วยความไม่แน่นอนของข้อบังคับและทัศนคติที่ไม่ต้อนรับสภาวะแวดล้อมที่จะทำให้เกิดนวัตกรดิจิทัล นักสื่อสารและผู้ผลิตเนื้อหาอาจทำลายความมั่นใจในการลงทุนจากทุนต่างประเทศต่อไป

AIC หวังว่ารัฐบาลไทย (รวมไปถึง กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) จะพิจารณาตำแหน่งแห่งที่ของตัวแสดงเกี่ยวกับ OTT ทั้งในและต่างประเทศบนฐานที่สัมพันธ์กับขีดความสามารถในการแข่งขัน ในฐานะที่เป็นประเทศเป้าหมายของการลงทุน รวมถึงในฐานะประเทศที่ให้โอกาสสำหรับผู้ผลิตเนื้อหา และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

AIC ยังขอเน้นข้อพิจารณาที่สำคัญดังต่อไปนี้

ผลกระทบจากข้อเสนอของ กสทช. ในระดับโลก

  • การควบคุมบริการ OTT ตามข้อเสนอของ กสทช. ทำให้ไทยแปลกแยกไปจากโลก
  • การควบคุมจะต้องสอดคล้องกับข้อบังคับของไทยภายใต้ข้อตกลงทั่วไปในด้านการค้าและการบริการ (GATS) ในองค์การการค้าโลก (WTO) โดยภายใต้ GATS ไทยได้ตกลงอนุญาตให้ “บริการการเข้าถึงฐานข้อมูล” และ “บริการข้อมูลออนไลน์” ที่มีลักษณะข้ามพรมแดนและไม่หวงห้ามจำนวนมาก ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวได้รวมไปถึงการบริการที่จัดโดยผู้ให้บริการ OTT
  • การนำข้อตกลง GATS มาใช้ในการควบคุม OTT มีความซับซ้อน หนทางที่ดีที่สุดและเป็นหนทางเดียวสำหรับ กสทช. ที่จะสร้างความมั่นใจว่า ข้อบังคับที่ออกมาจะไม่นำไปสู่ผลกระทบในทางลบกับประเทศคู่ค้าของไทยใน WTO ได้แก่การเปิดให้ร่างข้อบังคับดังกล่าว ทำให้มีความโปร่งใสในกระบวนการร่าง และให้เวลากับผู้ที่ได้รับผลกระทบกับร่างฯ ดังกล่าวได้แสดงความคิดเห็นและให้คำแนะนำ
  • ตามที่ข้อตกลงต้องการให้ผู้ให้บริการ OTT เสียภาษีในไทย แม้ในทางกายภาพจะไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศไทยก็ตาม ขัดกับสนธิสัญญาการเก็บภาษีซ้ำซ้อนนานาชาติและฉันทามตินานาชาติว่าด้วย 1.) กฎว่าด้วยการป้องกันการหลีกเลี่ยงสถานะจัดตั้งถาวร (rules for the prevention of artificial avoidance of permanent establishment status) และ 2.) กฎว่าด้วยการจัดเก็บภาษีเศรษฐกิจดิจิทัล (rules for taxing the digital economy)  โดยประเทศไทยเพิ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกรอบความร่วมมือในประเด็น BEPS (Base Erosion and Profit Shifting - รูปแบบหนึ่งของการหลบเลี่ยงภาษีโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องของภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานหลายสาขาทั่วโลก (ที่มา:สำนักนโยบายภาษี กระทรวงการคลัง)) ซึ่งการเข้าร่วมถือเป็นสัญญาณว่าไทยจะรับเอาคำแนะนำจากกรอบความร่วมมือมาใช้
  • การบังคับให้มีภาษีพิเศษเฉพาะกับผู้ให้บริการ OTT สร้างภาพลักษณ์ว่าไทยไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานนานาชาติ ซึ่งอาจทำลายการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้โดยไม่เจตนา

ผลลัพธ์เฉพาะหน้าด้านเศรษฐกิจในประเทศ

  • กรอบความร่วมมือ OTT ของ กสทช. สร้างความเสียเปรียบให้กับธุรกิจขนาดเล็กในทางปฏิบัติ เพราะธุรกิจขนาดเล็กไม่พร้อมจะปฏิบัติตามข้อบังคับที่ยากเช่นนั้น
  • การควบคุมบริการ OTT ในแบบของไทยอาจไม่ได้ผลดังต้องการ เพราะผลของข้อบังคับจะเป็นการไปบังคับการบริการที่มีลักษณะต่างไปจากการแพร่ภาพกระจายเสียงแบบดั้งเดิม ให้มาอยู่ภายใต้ระบอบการควบคุมที่ไม่เหมาะสมกับสภาพตามธรรมชาติของบริการ OTT ข้อเสนอของ กสทช. จึงมีแนวโน้มชะลอการพัฒนาของ OTT ในไทยมากกว่าการสนับสนุน
  • ผู้ผลิตเนื้อหาของไทยจำนวนนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพแพร่ภาพกระจายเสียงแบบดั้งเดิมของไทยจะถูกลงโทษอย่างหนักเกินไปเพียงเพราะใช้แพลตฟอร์มแบบเปิดในการส่งเนื้อหาที่พวกเขาผลิตไปสู่ผู้ชมในวงกว้าง

AIC ยินดีที่จะได้รับโอกาสให้อ่านและเสนอแนะต่อข้อเสนอใดๆ ที่ได้ร่างขึ้น รวมทั้งเสนอแนะให้ กสทช. ทบทวนการนำแผนการลงทะเบียนและควบคุม OTT ไปใช้ดังที่ได้วางแผนเอาไว้

เจฟฟ์ เพน
กรรมการผู้จัดการ
องค์กรความร่วมมือทางอินเตอร์เน็ตแห่งเอเชีย
สำเนาถึง: พ.อ.นที รองประธานกรรมการ กสทช.



ขอขอบพระคุณ
โจเซลิน อเล็กซานเดอร์
เลขาธิการ AIC

OTT คืออะไร

OTT (Over-the-top ) คือ บริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต โดยที่ผู้ให้บริการไม่ต้องลงทุนโครงข่ายสัญญาณเอง การให้บริการโทรทัศน์ผ่านระบบ OTT หรือ OTT TV (Over-the-top TV) จะหมายรวมถึงบริการสื่อวีดิโอและโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ตซึ่งผู้ให้บริการเหล่านั้นไม่ได้ลงทุนในโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเอง แต่ส่งเนื้อหาที่ผลิต เช่น ซีรีส์ ภาพยนตร์ การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา ผ่านโครงข่ายระบบตัวกลางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Line TV, Facebook หรือ Netflix แล้วตัวกลางจะส่งต่อเนื้อหาให้กับผู้รับบริการอีกทีหนึ่ง

OTT TV สามารถตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคได้มากด้วยคุณสมบัติที่สามารถรับชมได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านอินเทอร์เน็ต และมีราคาน้อยกว่าการรับชมวิดีโอ โทรทัศน์แบบทั่วไป ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากผลวิจัยพฤติกรรมการรับชมสื่อโทรทัศน์ของบริษัท Ericsson ในหลายประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2558 พบว่า ผู้บริโภกว่าร้อยละ 50  รับชมวิดีโอผ่านบริการ OTT วันละครั้ง และเวลาการรับชมโทรทัศน์ วิดีโอผ่านบริการ OTT แบบ on-demand ต่อวันอยู่ที่ประมาณ 6 ชั่วโมง/วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึงสองเท่า (2.9 ชั่วโมง/วัน) อย่างไรก็ดี ธุรกิจโทรทัศน์ดั้งเดิมยังคงได้รับความนิยมสูง เพราะยังเป็นผู้ให้บริการที่ให้เนื้อหาสด เช่น การถ่ายทอดกีฬา เนื้อหาที่มีความพิเศษเฉพาะ และยังเป็นรูปแบบการการเผยแพร่เนื้อหาที่สังคมยังคงให้คุณค่า

ภัสรา ปิตยานนท์ เขียนไว้ใน ไทม์ คอนซัลติงว่า ธุรกิจ OTT-TV ในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เนื้อหาที่พบส่วนมากเป็นซีรีส์และภาพยนตร์จากต่างประเทศซึ่งยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ผนวกกับปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่ยังมีปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และยังไม่มีโครงสร้างระบบอินเทอร์เน็ตพื้นฐานครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้บริการ OTT-TV ในไทยยังรอสักระยะให้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหลายได้รับการแก้ไขเสียก่อนจึงจะเริ่มแข่งขันกับผู้บริการที่มีอยู่เดิมได้

แปลและเรียบเรียงจาก: Brandinsideไทม์ คอนซัลติง, it24hrsEricsson ConsumerLab

หมายเหตุ: ประชาไทเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับ OTT, OTT-TV และเพิ่มเติมรายละเอียดในเนื้อหาส่วนต้นของข่าวเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 เวลา 12.56 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net