Skip to main content
sharethis


 

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้คำว่า crowdsourcing, crowdfunding, Social Enterprise ฯลฯ ถูกพูดถึงอย่างมากในฐานะรูปแบบการระดมทุนที่แสวงหาความร่วมมือจากคนในสังคม ในต่างประเทศโมเดลระดมทุนดังกล่าวได้รับความนิยมและพัฒนาไปอย่างแพร่หลาย องค์กรที่ทำงานด้านสังคมในไทยเองก็พยายามใช้เครื่องมือระดมทุนต่างๆ เพื่อแสวงหาหนทางสู่ความยั่งยืนในการทำงานเช่นกัน

การแสวงหาหนทางสู่ความยั่งยืนของการทำงานเพื่อสังคมคงไม่ใช่เพียงแค่มีทุนทำงานต่อเนื่อง แต่อาจต้องกลับมาทบทวนว่าภาพฝันขององค์กรคืออะไร อะไรคือความเปลี่ยนแปลงที่คนทำงานเพื่อสังคมอยากเห็น และจะเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร จะหาทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร? คำถามเหล่านี้น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ร่วมกันขององค์กรภาคประชาชนในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2560 แผนงานเสริมสร้างศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ (นธส.) ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนองค์กรภาคประชาชนในอเมริกา: บทเรียนและประสบการณ์จากนักเคลื่อนไหวทางสังคม” โดยวิทยากร ซูซาน เฮย์ แพทริก (Susan Hay Patrick) จาก United Way of Missoula County  ในงานมีผู้สนใจจากองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ของไทยเข้าร่วมเวิร์กชอปและพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและกัน

ซูซานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารองค์กรภาคประชาชนในอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น Chief Executive Officer ขององค์กร NGO ชื่อ United Way of Missoula County แห่งรัฐมอนทานา สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการศึกษาของเด็ก การแก้ปัญหาคนไร้บ้าน การป้องกันการฆ่าตัวตาย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมด้านสุขภาพ ฯลฯ นอกจากทำงานชุมชนแล้วยังขับเคลื่อนเครือข่ายระดับนานาชาติด้วย

องค์กรที่เธอสังกัดอยู่นั้นเป็นองค์กรให้ทุนแก่กลุ่มต่างๆ ในชุมชนที่เสนอแผนงานเข้ามาขอทุนทำงานขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมต่างๆ ดังนั้นจากประสบการณ์ของเธอในสายตาผู้ให้ทุนที่ต้องพิจารณาแผนงานโครงการต่างๆ เธอจะมาร่วมแบ่งปันว่าแผนกลยุทธ์ที่ดีควรจะเป็นอย่างไร สิ่งจำเป็นในกระบวนการวางแผน และสิ่งสำคัญของการระดมทุนคืออะไร


ซูซาน เฮย์ แพทริก (Susan Hay Patrick) 

การวางแผนกลยุทธ์สำคัญไฉน?

บ่อยครั้งที่งานหรือปัญหาเร่งด่วนประเดประดังเข้ามาจนเรามัวยุ่งอยู่แต่งานจัดการและภารกิจตรงหน้าจนละเลยการวางแผนระยะยาวไป ซูซานชี้ให้เห็นความสำคัญของการวางแผนไว้ว่า

การวางแผนสำคัญยิ่งต่อองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม เนื่องจากบริบทภายนอกและปัจจัยภายในที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การวางแผนจะช่วยให้เรารับมือกับความเปลี่ยนแปลง ช่วยให้เราเห็นว่าองค์กรของเราจะมุ่งหน้าไปทิศทางไหน ช่วยควบคุมทิศทางการทำงาน หรือถ้าเคยสูญเสียการควบคุมไปก็จะกลับมากุมทิศทางได้อีกครั้ง และยังช่วยให้เราตอบสนองความคาดหวังของกลุ่มคนที่เราทำงานด้วย

ในการวางแผนจำเป็นต้องมองว่าแผนงานนี้มีความเกี่ยวข้องกับใครบ้าง และจำเป็นต้องให้คนที่จะได้รับผลจากแผนงานของเรามีส่วนร่วมในการวางแผนด้วย บางองค์กรให้คนนอกเข้ามาช่วยวางแผนเพราะเขาจะได้ให้มุมมองใหม่ๆ แก่องค์กรของเรา

“ขอให้มองออกไปนอกหน้าต่าง มองสภาพภายนอกด้วย ไม่ใช่แค่ส่องกระจกเห็นแต่องค์กรเรา ลำพังแค่ส่องกระจกเราจะมองไม่เห็นว่าข้างนอกเขาไปถึงไหนกันแล้ว ซึ่งจะทำให้วางแผนออกมาแล้วอาจไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เป็นจริง”

ข้อควรระวังในการวางแผน คือ หนึ่ง ไม่ควรวางแผนขณะเผชิญหน้ากับวิกฤต เพราะช่วงวิกฤตนั้นสมองเราจะคิดคำนวณไม่ได้ดีเท่าไร สอง หลังจากวางแผนแล้วเราไม่ควรยึดติดกับแผนงานนั้นๆ จนเกินไป แผนงานจะต้องมีความยืดหยุ่นเพราะบริบทต่างๆ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และสาม คือไม่ควรทิ้งแผนงานที่วางไว้แล้วหรือวางแผนเสร็จแล้วไม่เคยกลับไปดูแผนอีกเลย เหล่านี้คือข้อไม่ควรปฏิบัติในการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กร

ลักษณะของแผนกลยุทธ์ที่ดี

ไม่ว่าใครก็อยากให้แผนงานออกมาดี แล้วแผนเชิงกลยุทธ์ที่ดีมีลักษณะอย่างไร

1.มีเป้าหมาย การตั้งเป้าหมายนั้นต้องมีภาพฝันหรือภาพวิสัยทัศน์ขององค์กรเรา เพราะผลลัพท์ของสิ่งดีๆ ที่ออกมาได้นั้น เบื้องหลังที่ขับเคลื่อนอยู่คือภาพฝัน แผนงานที่ดีจะสร้างพลังให้คนทำงาน มิใช่บั่นทอนคนในองค์กร

วิสัยทัศน์หรือภาพฝันที่เรามีต่อชุมชนหรือคนที่เราทำงานด้วยคืออะไร? คุณค่าขององค์กรเราคืออะไร? เราให้คุณค่ากับสิ่งไหน สิ่งที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังงานของเราคืออะไร เป้าหมายหลักขององค์กรเราคืออะไร?

2.มีความเป็นเหตุเป็นผล  เพราะอะไรสิ่งนี้ถึงจำเป็นหรือสำคัญในมุมมองของเรา เมื่อเราเลือกเป้าหมายขึ้นมาแล้วจำเป็นต้องสามารถอธิบายให้เหตุผลได้ว่าเพราะอะไรเป้าหมายนี้ถึงสำคัญ

3.ระบุทรัพยากรที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรการเงิน บุคคล เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร พื้นที่ ฯลฯ สิ่งที่สามารถช่วยให้เราบรรลุเป้าหมาย

4.มีขั้นตอนสู่เป้าหมาย ระบุการกระทำที่จะนำไปสู่เป้าหมาย เป็นเหมือนโรดแม็ปขององค์กรเรา

5.มีตารางเวลา  อะไรเป็นสิ่งที่เราต้องทำทันทีหรืออีกสามเดือนค่อยทำ ตารางงานจะกำหนดการเดินทางไปสู่เป้าหมายของเรา

6.มีการติดตามประเมินผล ส่วนประกอบต่างๆ ที่เราเอามาใช้ประเมินผล เช่นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลงมือกระทำเมื่อไร และจะรู้ได้อย่างไรว่าแผนนี้ประสบความสำเร็จ  เวลาที่เราวัดผลความสำเร็จไม่ใช่วัดผลเฉพาะตัวเลขว่าเราทำงานกับคนกี่คนแต่วัดด้วยว่าชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เราได้พัฒนาปรับปรุงสภาพต่างๆ ขึ้นได้อย่างไรบ้าง ตัวอย่างเช่น เราไม่ใช่แค่รายงานผลว่าเราให้ความรู้เรื่องสิทธิแก่คน 50 คน แต่เราบอกผลได้ด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง 50 คนนี้ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

เริ่มต้นวางแผนด้วยการระดมสมอง

- เราคือใคร องค์กรของเราอยู่ตรงไหนในสังคม

- แบ่งส่วนองค์กร แบ่งงานออกเป็นชิ้นๆ เช่น ส่วนงานจัดการบริหารองค์กร ส่วนงานระดมทุน ส่วนงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ เป็นต้น วิเคราะห์ว่าองค์ประกอบขององค์กรเรามีอะไรบ้าง แล้วประเมินองค์กรขณะนี้ว่าอยู่ในภาวะไหนแล้ว

- ประชุมว่าเราจะทำอะไร หลังจากระดมสมองกันว่าแล้วเราจะไปในทิศทางไหน เวลาเราคิดว่าเราจะทำอะไรขอให้คิดออกมาเป็นคำพูดที่สื่อถึงการกระทำ เช่นเราจะพัฒนาโครงการที่จะช่วยให้คนไร้บ้านได้ประโยชน์อะไรบ้าง การใช้คำเฉพาะเจาะจงจะทำให้เราชัดเจนมากกว่าการพูดลอยๆ

ช่วงระดมสมองนี้ควรจะเป็นช่วงที่ทุกคนในองค์กรได้เสนอความเห็น เป็นช่วงของการรับฟังกันและกัน ใส่ใจและเคารพเสียงทุกเสียง จากนั้นจึงค่อยมาจัดลำดับความสำคัญและโต้เถียงอภิปรายต่อไป

สิบขั้นตอนในการวางแผน

1.Analyzing  วิเคราะห์

2.Brainstorming ระดมสมองฟังความเห็นของแต่ละคน

3.Marinating  บ่ม เหมือนบ่มเนื้อ แผนต้องบ่มจนสุกพอดี

4.Defending/refining ปรับแผนโดยดูจากเป้าหมายที่มีเหตุมีผล

5.Prioritizing  จัดลำดับความสำคัญ

6.Developing  ปรับปรุงและพัฒนาแผน

7.Approving  ผ่านกระบวนการอนุมัติ

8.Implementing ดำเนินงาน ลงมือกระทำตามแผน

9.Evaluating  ประเมินผลพัฒนาแผนงานของเรา

10.Revisiting  กรณีที่ปัจจัยภายนอกภายในเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีการปรับปรุงแผนด้วย

การวางแผนกลยุทธ์ควรใช้เวลา 3-6 เดือน ในการบ่มจนได้ที่แต่อย่าปล่อยทิ้งให้ยืดเยื้อ แผนจะทำให้เราชัดเจนในการทำงานว่าเราจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ดังนั้นการทุ่มเวลาให้แก่การวางแผนจะช่วยในการทำงานภายหลังได้มาก

แผนกลยุทธ์ที่ดีจะไม่ซับซ้อนเกินไป เป็นจริงได้ แสดงวิสัยทัศน์หรือภาพฝัน เราวางแผนเพื่อให้เกิดสิ่งใดขึ้นแล้วเราก็ใช้ทรัพยากรของเรามุ่งไปสู่สิ่งนั้น ทุกคนในองค์กรเข้าใจแผนและมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามแผนนั้นแม้ไม่เห็นด้วยในรายละเอียด แต่เห็นตรงกันในภาพใหญ่

แผนงานที่ดีจะช่วยให้เราสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นรับรู้เกี่ยวกับงานของเราได้ด้วย เหมือนทำการตลาดประชาสัมพันธ์หรือสามารถสร้างความร่วมมือกับคนอื่นได้ด้วย
แผนงานที่ดีจะทำให้เกิดภาวะที่เกื้อกูลกันและกัน แผนที่ดีจะยังประโยชน์ซึ่งกันและกันในหมู่คนทำงานด้วย

เราทุกคนต่างอยากได้แผนงานที่เป็นเลิศ แผนงานที่เป็นเลิศจะมีลักษณะดังนี้

- มีภาพฝัน วิสัยทัศน์ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน ผลักดันผู้คนทำตามภาพฝันนั้น

- เป็นจริงได้ ทำได้จริง

- มีตารางเวลาการทำงานที่ไม่ใช่ทำงานแบบรีบร้อน มีเวลาที่สามารถแสดงให้คนอื่นเห็นให้คนมีส่วนร่วม เห็นว่าทำได้จริง ค่อยเป็นค่อยไป

- มีการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอบ่อยๆ และชัดเจน

- มีศักยภาพที่จะกลับไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนงานได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็น

เมื่อเรามีแผนแล้ว แผนจะเป็นตัวขับเคลื่อนโครงการของเรา โครงการของเราจะถูกออกแบบมาเพื่อสอดรับกับแผนที่เราวางไว้ นั่นเองเป็นตัวกำหนดงบประมาณว่าเราจำเป็นต้องมีเงินที่ทำโครงการของเราเท่าไร

PLAN >>>> PROGRAM >>>> BUDGET

ทุกวันนี้แหล่งทุนจะพยายามถามถึงผลลัพธ์รูปธรรมหรือผลกระทบในระยะยาวที่เราทำงานจะสร้างผลอะไรได้บ้าง

จากแผนภาพด้านล่างนี้คือการวางแผนที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เป็นลำดับขั้นที่จะไปถึงเป้าหมาย เริ่มจากผลที่เกิดขึ้นหลังจากกิจกรรม เช่น เราได้สอนการจัดการเคสไปกี่คนแล้ว มีกี่คนที่มาเข้าชั้นเรียนกับเรา หรือถ้าเราเป็นคนบริจาคอาหารเราได้ให้อาหารไปกี่กิโลฯ กี่ครอบครัวแล้ว เป็นต้น นี่คือผลในเชิงตัวเลขหรือปริมาณ จากนั้นอะไรเป็นผลในเชิงคุณภาพ ผลที่เกิดขึ้นกับคนที่เราลงไปทำงานด้วย เขามีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างไรบ้าง สภาวะต่างๆ ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง สุดท้ายคือผลระยะยาวในภาพกว้างคืออะไร (Long-term Impact) โครงการของเราส่งผลกระทบอะไรในภาพใหญ่บ้าง

Performance Measurement & Accountability

“การวางแผนกลยุทธ์ก็เหมือนเดินขึ้นบันไดไปทีละขั้น เราอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อให้อะไรบางอย่างเกิดขึ้น และเพื่อให้อะไรบางอย่างเกิดขึ้นได้อีก เพื่อจะให้เราไปสู่เป้าหมายสูงสุดของเรา เราต้องเริ่มจากการมองภาพ จากจุดเล็กๆ ที่เราจะเริ่มคือจุดที่เราสามารถควบคุมได้มากที่สุด จุดเล็กๆ ที่นำไปสู่อีกจุดหนึ่ง อีกจุดหนึ่ง จนนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดที่เราต้องการ”

(บรรยากาศงานเสวนา มีเวิร์กช็อปให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองวางแผนเชิงกลยุทธ์และนำเสนอแผน)





 

การระดมทุนเพื่อสังคม

“เป้าหมายของการระดมทุน คือทำให้ผู้คนได้รู้ประเด็นปัญหาสังคม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำงานเพื่อสังคมและยังส่งผลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะอีกด้วย”

ประเด็นเรื่องการระดมทุน ซูซานเริ่มด้วยการฉายภาพให้เห็นวัฒนธรรมการให้ของคนอเมริกันซึ่งอยู่บนฐานคิดที่ว่าการประสบความสำเร็จของแต่ละคนเชื่อมโยงกับส่วนรวม ถ้าฉันประสบความสำเร็จฉันมีความรับผิดชอบที่ต้องช่วยให้คนอื่นประสบความสำเร็จเช่นกันดังคำพูดที่ว่า“เวลากระแสน้ำขึ้นจะยกเรือทุกลำขึ้นด้วย” วัฒนธรรมการให้นี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า philanthropy 

สังเกตได้ว่าคนร่ำรวยที่มีอิทธิพลระดับโลกไม่ว่าจะ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก, บิล เกตส์, วอร์เรน บัฟเฟต์ ต่างก็บริจาคเงินให้องค์กรสาธารณกุศลจำนวนมาก วอร์เรน บัฟเฟต์ กล่าวว่า “ทุกวันนี้มีคนบางคนที่นั่งอยู่ใต้ร่มไม้ได้เพราะคนบางคนในอดีตได้ปลูกต้นไม้เมื่อนานมาแล้ว” เราเองก็เช่นกัน เราได้นั่งอยู่ใต้ร่มไม้ที่ใครบางคนในอดีตปลูกไว้ และตอนนี้เราก็กำลังปลูกต้นไม้ให้คนรุ่นหลังต่อไปโดยที่ตัวเราเองอาจไม่มีโอกาสได้นั่งใต้ร่มไม้นั้นเลยก็ได้

ไม่เฉพาะคนรวยเท่านั้นวัฒนธรรมการให้ยังปรากฏในคนทุกชนชั้น ตัวอย่างเช่น โอเซียวลา แมคคาร์ตี้ (Oseola McCarty) เธอจบ ป.6 แล้วออกมาหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานซักรีด จนอายุ 86 ปีป่วยเป็นโรคไขข้อเธอต้องหยุดทำงาน เธอตัดสินใจมอบเงินเก็บทั้งหมดเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนผิวดำให้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้ตอนใต้ (The University of Southern Mississippi’s) จนในที่สุดสามารถก่อตั้งทุนการศึกษาทุกปีเป็นเงินแสนเหรียญสหรัฐฯ เธอไม่ใช่คนร่ำรวยแค่ตัดสินใจอยากจะเก็บเงินเพื่อทำให้โลกนี้ดีขึ้น  อีกตัวอย่างเป็นเด็กนักเรียน 3 คนในมิสซูลาชักชวนเพื่อนๆ บริจาคเงินสนับสนุนองค์กรที่ทำงานอนุรักษ์เต่าทะเล สามารถระดมเงินบริจาคได้จำนวนมากและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

การระดมทุนจึงไม่ใช่แค่ขอเงินเท่านั้น เป้าหมายของการระดมทุน คือทำให้ผู้คนได้รู้ประเด็นปัญหาสังคม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำงานเพื่อสังคมและยังส่งผลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะอีกด้วย


ระดมทุนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ?

องค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมมักมองการระดมทุนเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ซูซานชี้ให้เห็นว่าที่จริงแล้วการระดมทุนเป็นเรื่องเรียบง่ายเอามากๆ เริ่มต้นจากการหาว่าใครน่าจะให้เงินเรา เมื่อระบุได้แล้วก็จัดการศึกษา บ่มเพาะเขาขึ้นมา ดูแลเขาเหมือนต้นไม้ จากนั้นก็ขอเงินเขา แล้วจึงขอบคุณเขา และพยายามทำให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในงานของเรา วงจรนี้เวียนกลับไปเรื่อยๆ เป็นวัฏจักรดังภาพ


วัฏจักรการระดมทุน

ซูซานแบ่งปันเทคนิคที่องค์กรของเธอใช้ระดมทุนซึ่งเธอยืนยันว่าสามารถนำไปใช้ได้กับทุกองค์กร ทุกชุมชนและกับคนทุกระดับรายได้ เธอกล่าวว่าแม้สังคมไทยจะไม่ได้มีวัฒนธรรมการให้ philanthropy แบบอเมริกา แต่เราก็สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้โดยเริ่มจาก

อันดับแรก ทำในสิ่งที่ค้านกับความเชื่อเดิมของเรา เรามักจะรู้สึกว่าต้องบากหน้าไปขอเงิน กำจัดความรู้สึกนี้ให้ได้ก่อน การไปขอเงินเราไม่จำเป็นต้องขอโทษ พึงตระหนักว่าเรากำลังให้โอกาสคนอื่นๆ ได้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ให้ดีขึ้น

การขอเงินคือการให้โอกาสคนคนนั้นได้เป็นผู้ให้ ฉะนั้นสิ่งที่เราพึงทำก็คือทำให้ชัดเจนว่าเงินที่เขาให้มานั้นจะช่วยเติมเต็มความต้องการอะไรขององค์กรของเราได้บ้าง และเมื่อเขาให้เงินเราแล้วเขาจะได้อะไรกลับไป เขาอยากมีส่วนช่วยให้โลกนี้ดีขึ้น หรือเพียงเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี หรืออยากสนับสนุนงานของเรา ฯลฯ เราจำเป็นต้องค้นหาว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เขาให้เงินช่วยเหลือบริจาค

โดยส่วนใหญ่ผู้คนมักจะให้เงินแก่คนที่เขามีสายสัมพันธ์ด้วย ดังนั้นกฎข้อต่อมาของความสำเร็จในการระดมทุนคือ “สร้างความสัมพันธ์”  เริ่มจากคนรู้จักแล้วขยายวงออกเรื่อยๆ เปรียบได้กับการโยนหินลงน้ำ น้ำกระเพื่อมออกเป็นวงกว้าง จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ค่อยๆ ขยายออก ยิ่งเราขอเงินคนวงกว้างเท่าไรก็ยิ่งจัดการศึกษาประเด็นงานของเราได้มากเท่านั้นและขยายผลต่อไปได้เรื่อยๆ

ในสหรัฐอเมริกายอดเงินบริจาคแก่องค์กรทางสังคมกว่า 80% มาจากปัจเจกบุคคลฐานะปานกลาง ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายคนที่สนับสนุนงานของเรา สิ่งนี้จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรของเรา มากกว่าที่จะผูกติดกับแหล่งทุนองค์กรใดองค์หนึ่ง

ความสำเร็จในการระดมทุนต้องอาศัยความอดทน ขอแล้วขออีกไม่ลดละ ความเชื่อมั่นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ชี้ว่าเราจะระดมทุนได้สำเร็จหรือไม่ เราจำเป็นต้องมีทัศนคติแง่บวกโดยเฉพาะในยามที่เรากำลังพยายามสร้างวัฒนธรรมแห่งการให้ให้เกิดขึ้นในประเทศของเรา การที่คนปฏิเสธเราในวันนี้ไม่ได้หมายความว่าเขาจะปฏิเสธเราไปตลอดกาล เรามีหน้าที่สานความสัมพันธ์ด้วยการให้การศึกษาเขา ให้เขามีส่วนร่วม ดูแลเขาเหมือนเป็นต้นไม้ตามวัฏจักรข้างต้น

เราจำเป็นต้องชัดเจนต่อเป้าหมายขององค์กร โดยต้องอธิบายได้ว่างานของเราสำคัญอย่างไร เวลาที่มีคนถามว่าทำไมต้องให้เงินองค์กรเราด้วย เราต้องตอบได้ทันทีชัดเจนและสั้นกระชับด้วย เพราะคนทั่วไปสามารถตั้งใจฟังได้แค่ 8 วินาทีเท่านั้น วิธีบอกว่างานเราสำคัญอย่างไรก็อาจใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อีเมล ฯลฯ หรือเวลาจัดกิจกรรมต่างๆ ก็ต้องเน้นย้ำประเด็นนี้ด้วย

ความมุ่งมั่นต่องานที่ทำจะทำให้คนอื่นรับรู้ได้ถึงพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น ในการบอกถึงความสำคัญของงานที่เราทำนั้นไม่ใช่เพียงอธิบายว่าเราทำอะไร แต่ต้องบอกได้ว่า “ผลลัพธ์ที่ได้คืออะไร” อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่โตระดับประเทศ อาจเพียงแค่พูดถึงชีวิตคนคนหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากงานที่เราทำ คนส่วนใหญ่จะเข้าใจและเข้าถึงเรื่องราวชีวิตคนได้มากกว่าข้อมูลตัวเลข

วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการขอเงินคือการไปปรากฏตัวต่อหน้าผู้ให้เงิน การปรากฏตัวต่อหน้าผู้ให้เงินนั้นจะช่วยสร้างความชัดเจนมากกว่าส่งจดหมายหรืออีเมล เราสามารถอธิบายได้ว่าถ้าคุณให้เงินองค์กรเรา เราจะเอาไปทำอะไรบ้าง และสิ่งนั้นจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนอย่างไร

สุดท้าย ความรู้สึกขอบคุณเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการระดมทุน สำหรับคนที่ช่วยให้ทุนสนับสนุนองค์กรเราเราต้องหาวิธีที่จะแสดงความขอบคุณนี้ออกไป

ซูซานทิ้งท้ายไว้ว่า ในเมื่องานของเรามีความสำคัญและเรากำลังทำงานเพื่อคนรุ่นต่อไปและคนรุ่นต่อไปจากรุ่นต่อไปนี้ ฉะนั้นจงอย่าให้ความไม่ชัดเจนในแผนงานและการไม่มีทุนทำงานมาเป็นอุปสรรคขัดขวางงานเปลี่ยนแปลงสังคมของเรา

ขอขอบคุณ คุณไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ ล่ามแปลภาษาไทย
หมายเหตุ: รายงานวงเสวนาฉบับเต็มดูได้ที่ http://roottogether.net/ หรือ https://www.facebook.com/grassrootslead/
14:01

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net