Skip to main content
sharethis

วงเสวนาวิชาการ ข้อเท็จและความจริง: เหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลยครั้งที่ 2 วิเคราะห์สถานการณ์การแก้ปัญหาเหมืองแร่ทองคำภายใต้ กฎหมายแร่ฉบับใหม่ และคำสั่งหัวหน้า คสช. พบ คำสั่งถูกใส่เกียร์ว่าง และไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน

29 มิ.ย. 2560 ที่ห้องประชุมพันธุม ดิษยมณฑล ชั้น 2 เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้จัดงานสัมนาวิชาการ “ข้อเท็จและความจริง: เหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลยครั้งที่ 2” โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ประเทศญีปุ่น โดยภายในงานได้มีการนำเสนอผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องการกรณีเหมืองแร่เมืองเลย ทั้งนี้ในช่วงท้ายของงานได้มีเวที วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ และการแก้ปัญหาพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ ภายใต้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 โดยมีวิทยากรคือ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม และดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโส มูลนิธิบูรณะนิเวศ

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เริ่มต้นด้วยการระบุถึง สถานการณ์การเคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนของ ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลย ในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า ได้ได้รับการตอบรับเช่นการข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย และถูกฟ้องคดีจำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่นำพาสังคมไทยไปสู่คำถามที่ว่า ในกรณีดังกล่าวจะมีการฟื้นฟู และเยียวยากระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไร

“ทำไมผมถึงบอกว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ค่อนข้างก้าวหน้า เนื่องจากว่าในความคิด ในกฎหมาย และนโยบายของรัฐที่มีอยู่นี้มันไม่ก้าว เพราะมันไม่บทบัญญัติ หรือกฎหมายฉบับไหนเลยที่อยากจะฟื้นฟูเหมือง แม้กระทั้ง พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ก็ไม่มีบทญัติมาตราไหนที่ชัดเจนว่า จะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเหมือง หรือจะเยียวยาอย่าง จะชดเชยอย่างไร” เลิศศักดิ์กล่าว

เลิศศักดิ์ เห็นว่าสถานการณ์ปัจุบันนี้ ประชาชนมีความก้าวหน้ามากไปกว่ากฎหมายที่บัญญัติไว้ เพราะกฎหมายที่มี หรือนโยบายที่มีอยู่ไม่เอื้อต่อการตอบสนองความต้องการของประชาชน แม้จะมีสิ่งที่มีสถานะเป็นกฎหมายคือ คำสั่ง คสช. ฉบับ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา ซึ่งมีสาระสำคัญคือการสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการเหมืองทองทั้งสองแห่งคือที่ เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย และจังหวัดพิจิตร แต่ในทางปฏิบัติแล้วคำสั่งดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริงเพราะไม่มีกฎหมายปกติวางแนวทางในการดำเนินการต่างๆ ไว้

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อไปถึงข้อดีของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ว่า ไม่ได้มีแค่สถานะของกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่มีสถานะของความเป็นนโยบายรวมอยู่ด้วย เนื่องจากมีโครงสร้างใหม่ที่อำนาจคณะกรรมการบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ออกแบบนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้เห็นแผนที่ทรัพยากรแร่ในประเทศ ว่าพื้นที่ไหนมีแร่ชนิดใดบ้าง และมีศักยภาพมากน้อยเพียงใด และประชาชนจะรับรู้ว่ารัฐจะมีนโยบายกับแร่ชนิดนั้นๆ และจะนำทรัพยากรแร่ต่างๆ ไปใช้อย่างไร กล่าวคือ คณะกรรมชุดดังกล่าวจะไม่ได้เป็นเพียงแค่คณะกรรมการที่ทำหน้าที่อนุมัติการสำรวจ และอนุญาตการประกอบกิจการเหมืองแร่ แต่เป็นคณะกรรมการที่จะเขียนนโยบายซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เลิศศักดิ์กล่าวมา ยังเป็นเพียงความคิดในเชิงรูปแบบเท่านั้น ต้องรอดูต่อไปว่าในทางปฏิบัติจริงจะมีทิศทางในการดำเนินงานอย่างไรต่อไป

สำหรับส่วนอื่นๆ ของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่นั้น เลิศศักดิ์เห็นว่า ค่อนข้างแย่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแบ่งการให้สัมปทานออกเป็น 3 ประเภทคือ เล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อที่หลีกเลี่ยงการทำ EIA สำหรับการขอสัมปทานระดับเล็ก ซึ่งเขาเห็นว่าการจัดประเภทดังกล่าวจะเป็นการเปิดช่องให้ผู้ประกอบการสามารถแบ่งพื้นที่ขนาดใหญ่ออกเป็นพื้นที่เล็กหลายๆ แปลง เพื่อของสัมปทานโดยไม่ต้องทำรายงาน EIA ประกอบการของสัมปทาน นอกจากนี้ยังมีเรื่องการกำหนดระยะห่างของเหมืองและชุมชน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร และการสร้างโรงประกอบโลหะกรรมในเขตเหมืองแร่ กฎหมายใหม่ได้กำหนดว่าไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณารายงาน EIA EHIA อีกต่อไป

“ฉะนั้นมันเลยมีคำถามว่า คำสั่งคสช. ที่บอกว่าให้ปิดและฟื้นฟูเหมือง แต่กฎหมายแร่ กฎหมายปกติ มันไม่แนวทางปฏิบัติเรื่องนี้ คำถามคือจะทำอย่างไร คำสั่ง คสช. เป็นคำสั่งที่ให้ปฏิบัติ แต่เมื่อปฏิบัติจริง หน่วยงานระดับปฏิบัติก็บอกว่าต้องไปดูกฎหมายปกติอีกทีว่ามีกฎหมายใดให้อำนาจหรือแนวทางปฏิบัติไว้บ้าง ซึ่งมันไม่มี และเมื่อไม่มีกฎหมายเที่จะมาใช้อ้างได้ มันก็ทำให้คำสั่ง คสช. มันเป็นหมั่น และพบทางตัน ไม่เป็นไปตามที่สั่ง” เลิศศักดิ์ กล่าว

เลิศศักดิ์ เห็นว่าช่องว่างระหว่างคำสั่ง คสช. และกฎหมายปกติ กำลังมีปัญหาในเมื่อไม่มีกฎหมายใดบอกให้ฟื้นฟูเหมือง สิ่งที่ทำได้ตามกฎหมายก็คือ การปล่อยให้เอกชนทำกิจการเหมืองแร่ทองคำต่อไป และตัวคำสั่ง คสช. เองก็ได้เปิดช่องว่าแม้จะมีการสั่งให้ปิดเหมือง และฟื้นฟู เว้นแต่ว่าในอนาคตคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ จะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น และสิ่งที่เห็นในเวลานี้ก็คือการใส่เกียร์ว่างของหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวของกับการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำ เนื่องจากกฎหมายแร่ จะประกาศใช้ในเดือน ส.ค. 2560 จึงทำให้หลายๆ หน่วยงานรอแนวนโยบายใหม่จาก คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า แม้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 จะดูมีความก้าวหน้า แต่เมื่อดูคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 31/2560 ที่มีการอนุญาตให้นำที่ดินของ ส.ป.ก. ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้เช่นทำประโยชน์ในเรื่องการทำเหมืองแร่ การขุดเจาะปิโตรเลียม ทำโรงไฟฟ้าโซล่าฟาร์มในที่ดินของ ส.ป.ก. ได้ ซึ่งคำสั่งนี้นำมาซึ่งความสับสนว่าตกลงแล้วจะฟื้นฟูเหมืองแร่ หรือจะเปิดให้มีการทำเหมืองแร่ได้โดยง่ายกันแน่

ด้านดาวัลย์ ชี้ให้เห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 ในข้อที่ 3 ระบุว่า ให้หยุดการให้ประทานบัตร แต่ผู้ประกอบการยังมีหน้าที่ในการฟื้นฟู ซึ่งหมายความว่าบริษัทที่เป็นผู้ประกอบการีหน้าที่ในการฟื้นฟู ตามมาตราที่กำหนดไว้ ไม่ว่าพื้นที่ประทานบัตรจะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใดก็ตาม บริษัทที่ประกอบกิจการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบฟื้นฟูตามรายงาน EIA ส่วนในข้อที่ 4 ได้ระบุให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่กำกับดูแลการฟื้นฟูตาม ขณะที่ข้อ 2 ระบุให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ในข้อ 5 ระบุให้ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มีหน้าที่ตรวจสอบ วิเคราะห์ และวินิจฉัยข้อเท็จจริง และปัญหา พร้อมทั้งเสนอมาตราการ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองทองคำ และโรงประกอบโลหะกรรมแร่ทองคำ รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียง

สำหรับแผนการฟื้นฟูของเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยที่ได้มีการยืนให้ กพร. เมื่อปี 2556 นั้น ดาวัลย์เห็นว่า มีลักษณะที่งบประมาณค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับความเสียหายหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมกับตั้งคำถามต่อไปว่า ใครเป็นผู้รับรองได้ว่าแผนการฟื้นฟูที่มีการยื่นนั่นจะสามารถทำได้จริง ภายใต้งบประมาณที่มีการตั้งไว้ในจำนวนน้อยเกินไป

ส่วนการยื่นแผนฟื้นฟูในปี 2560 ดาวัลย์ ระบุว่าในแผนดังกล่าว กลับมีการปรากฎขึ้นของบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สอง ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เนื่องจากการ EIA นั้นไม่ได้ระบุไว้ ซึ่งเมื่อดูจากแผนที่จะเห็นได้ว่าขุมเหมือง ได้ถูกเปลี่ยนเป็นบ่อกักเก็กกากแร่ ซึ่งคำถามที่ตามมาคือ ใครเป็นผู้อนุญาตว่าสามารถทำได้หรือทำไม่ได้ ทั้งนี้ดาวัลย์ ชี้ให้เห็นว่า การฟื้นฟูนั้นควรจะมีการฟื้นฟูในหลายระดับ และหลายจุด แต่นอกจากแผนการฟื้นฟูที่มีอยู่จะไม่ครอบคลุมแล้ว สิ่งที่ยังไม่มีให้เห็นอย่างชัดเจนคือ แผนการฟื้นฟูด้านสุขภาพ

ด้านสำนักข่าว Green NEWS ได้รายงานผลการศึกษาว่า อัครพล ตีบไธสง เจ้าหน้าที่เทคนิคและวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยตอนหนึ่งว่า จากผลศึกษาการปนเปื้อนโลหะหนักในตะกอนดินของพื้นที่รอบเหมืองทองคำ จ.เลย บริเวณร่องห้วยเหล็ก ห้วยผุก ลำน้ำฮวย และภูซำป่าบอน จำนวน 20 ตัวอย่าง ในปี 2559 พบว่ามีโลหะหนักปนเปื้อนที่สำคัญคือ สารหนู แคดเมียม และทองแดง โดยเฉพาะในบริเวณห้วยเหล็กใต้บ่อเก็บกากแร่ ทั้งฝั่งภูเหล็กและฝั่งตรงข้าม

ทั้งนี้ เมื่อนำผลการศึกษามาประเมินระบบความเสี่ยงทางสุขภาพ พบว่าสารหนูมีค่าความเสี่ยงหากเด็กได้รับอยู่ในระดับที่ยอมรับไม่ได้และอาจมีปัจจัยเสี่ยง ส่วนในผู้ใหญ่นั้นอยู่ในระดับเฝ้าระวัง ขณะที่สารโลหะหนักประเภทแคดเมียนในเด็กและผู้ใหญ่ มีระดับความเสี่ยงทางสุขภาพอยู่ในระดับไม่ปกติ และมีความรุนแรง

อัฏฐพร ฤทธิชาติ ฝ่ายเทคนิคและวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ในส่วนของการสื่อสารความเสี่ยงของหน่วยงามรัฐแก่ประชาชนในพื้นที่ พบว่ามี 4 ประเด็น คือ 1.ไม่มีการรายงานผลการดำเนินโครงการเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะ 2.ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเข้าไม่ถึงข้อมูลผลตรวจสุขภาพของตัวเอง 3.ขาดการวิจัยและการบ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างอาการเจ็บป่วยกับปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และ 4.ยังไม่มีมาตรการการเยียวยาและฟื้นฟูสุขภาพของประชาชนที่ชัดเจน

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า จากการตรวจสอบมาตรการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย พบว่าได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อปี 2541 แต่ต่อมาเกิดข้อเรียกร้องจากประชาชนในพื้นที่ให้มีการตรวจสอบ จนพบว่าบริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอีไอเอ เช่น ปล่อยให้มีไซยาไนด์เจือปนในกากแร่สูงเกินกว่าค่าที่กำหนด เป็นต้น

ด้าน วิมลิน แกล้วทนง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญพิเศษ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า คพ.ได้มีการร่างกรอบแผนปฏิบัติการลดและป้องกันการปนเปื้อนในพื้นทีลุ่มน้ำเลย บริเวณ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยประเด็นสำคัญในการดำเนินงานภายใต้แผนฯ คือการควบคุมการแพร่กระจายมลพิษจากแหล่งกำเนิด การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การถ่ายถอดความรู้ในการจัดการความเสี่ยง การเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและติดตามผลการแก้ปัญหา รวมทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

ศ.ทาคาชิ มิยากิตะ ผู้อำนวยการภาคสนาม ศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ทิศทางและการดำเนินงานที่สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ อ.วังสะพุง คือการนำทรัพยากรธรรมชาติและภูปัญญาท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยทางศูนย์วิจัยฯ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลให้กับชุมชนในหมู่บ้าน บุคคลภายนอกทั้งในและต่างประเทศที่ประสบปัญหาเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net