Skip to main content
sharethis

สปสช.เผยข้อมูลการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นบุคลากรสาธารณสุข เช่น พยาบาล, ผู้ช่วยเหลือคนไข้, แพทย์, เจ้าพนักงานสาธารณสุข, เภสัชกร และคนงาน ที่ได้รับความเสียหายตั้งแต่ปี 47 ถึงปัจจุบัน 51 ล้านบาท

30 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีระบบการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการหรือบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข และผู้รับบริการหรือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหาย โดยผู้รับบริการมีมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สำหรับในส่วนของผู้ให้บริการหรือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น เดิมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 18 (4) ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้การคุ้มครองดูแล เนื่องจากที่ผ่านมา มีบุคลากรสาธารณสุขได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข เช่น ติดเชื้อโรคจากผู้ป่วยด้วยเหตุสุดวิสัย การมีระบบช่วยเหลือเบื้องต้นดังกล่าว ก็เพราะบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อระบบสาธารณสุข เมื่อมีระบบการช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ จึงต้องมีระบบการช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นหลักประกันให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึง ม.ค.2559 มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหาย 4,570 ราย รวมเป็นเงิน 51,086,850 บาท มีทั้ง พยาบาล, ผู้ช่วยเหลือคนไข้, แพทย์, เจ้าพนักงานสาธารณสุข, เภสัชกร และคนงาน ประเภทความเสียหาย เช่น ติดเชื้อวัณโรคจากผู้ป่วย, เข็มตำ, ผู้ป่วยกระทำ, สัมผัสสารคัดหลั่ง, ของมีคมบาด และอุบัติเหตุรถส่งต่อ

โฆษก สปสช. กล่าวต่อว่า สาเหตุที่มีข้อมูลจนถึง ม.ค.59 เนื่องจาก บอร์ด สปสช.ต้องหยุดการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นอันเนื่องมาจากผลการตรวจสอบที่ระบุว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ไม่อนุญาตให้ทำได้ โดยระบุว่าเป็นการดำเนินการผิดวัตถุประสงค์ ภายหลังต่อมาจึงมีคำสั่ง คสช.ที่ 37/2559 เมื่อวันที่ 5 ก.ค.59 ให้ดำเนินการได้จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมาย เพราะไม่ต้องการให้สร้างผลกระทบกับผู้ให้บริการ ซึ่งหลังจากมีคำสั่งก็มีการส่งคำร้องจากผู้ให้บริการเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามกระบวนการปกติ

ทั้งนี้อัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น มีดังนี้ .กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวรหรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการ รักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีวิต 240,000-400,000 บาท 2.สูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต 100,000-240,000 บาท และ 3.บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 100,000 บาท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net