ผอ.รพ.พรานกระต่ายชี้แยกเงินเดือนจากงบรายหัว รพ.ต่างๆ ปรับตัวจนไม่น่ากลับไปเริ่มใหม่แล้ว

ปมแก้บัตรทอง ผอ.รพ.พรานกระต่าย กำแพงเพชร ชี้แยกเงินเดือนออกจากงบรายหัวจะกระทบกับโรงพยาบาลที่จ้างบุคลากรนอกระบบงบประมาณจำนวนมาก ย้ำตลอด 15 ปีของระบบบัตรทองโรงพยาบาลต่างๆ ปรับตัวไปไกลจนถึงจุดที่ไม่น่ากลับไปเริ่มใหม่แล้ว แนะยังมีอีกหลายวิธีบริหารจัดการที่ทำได้

 
30 มิ.ย.2560 รายงานข่าวระบุว่า นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร ให้ความเห็นถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ในประเด็นเรื่องการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวว่า การผูกเงินเดือนเข้ากับงบรายหัวเริ่มตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพจนถึงปัจจุบันก็ประมาณ 15 ปีแล้ว ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาโรงพยาบาลต่างๆได้ปรับตัวไปพอสมควรจนถึงระดับที่ไม่น่ากลับไปเริ่มใหม่แล้ว และหากมีการแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัวจะทำให้เกิดปัญหาทันทีกับโรงพยาบาลที่มีข้าราชการน้อยและมีการจ้างบุคลากรโดยใช้เงินนอกงบประมาณจำนวนมาก
 
นพ.บัลลังก์ ขยายความว่า ในภาพใหญ่แล้วโรงพยาบาลที่มีข้าราชการมากแต่ประชากร UC น้อยและโรงพยาบาลที่มีข้าราชการน้อยแต่ประชากร UC มาก มี Labour Cost ไม่หนีกัน เพราะหากมีข้าราชการมากก็จะมีการจ้างบุคลากรนอกงบประมาณน้อย แต่ถ้ามีข้าราชการน้อยก็จ้างบุคลากรนอกงบประมาณมาก
 
“โรงพยาบาลที่ประชากร UC เยอะแต่บุคลากรน้อยก็มีเยอะเลยโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล ถามว่าเขาทำงานอย่างไร เขาก็จ้างบุคลากรเพิ่มเอง เช่นลูกจ้างชั่วคราว พกส. ก็เอาเงินรายหัวที่ได้เยอะกว่าที่อื่นเนื่องจากเงินเดือนมันน้อยมาจ่าย เพราะฉะนั้นภาพใหญ่สถานการณ์การเงินไม่หนีกัน ถ้าถามว่าสมควรแยกหรือไม่แยกเงินเดือน มันมี 2 มุมเสมอ ถ้าผมจ้างนอกงบประมาณเยอะ ผมก็ตอบว่าไม่ควรแยกเพราะถ้าแยกแล้วจะเกิดปัญหาทันที ลูกน้องที่จ้างนอกงบประมาณจะเอาเงินที่ไหนไปจ่าย โดยเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล”นพ.บัลลังก์ กล่าว
 
นพ.บัลลังก์ กล่าวอีกว่า นอกจากการแยกเงินเดือนแล้ว ยังมีทางเลือกอื่นๆในการปรับการบริหารจัดการ เช่น การจัดการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งการมีกรรมการ 7x7 การบัฟเฟอร์ การมีค่า K ในการจ่าย คิดว่ามาถูกทางแล้ว เพียงแต่ถ้ายังไม่มีประสิทธิภาพมากพอก็เพิ่มค่า K เข้าไปอีก หรือหาเหตุผลไปอธิบายกับสำนักงบประมาณเพื่อของบรายหัวเพิ่มขึ้นสำหรับโรงพยาบาลที่มีวิกฤติ ซึ่งสามารถทำเป็นเคสเฉพาะได้ หรือจะใช้งบประมาณของ สธ.ไปช่วยก็ทำได้ หรือจะใช้วิธีช่วยค่าน้ำค่าไฟ Fixed Cost โดยใช้งบอีกก้อนของกระทรวงไปบัฟเฟอร์ก็ได้
 
“หรือโรงพยาบาลที่ประชากร UC น้อยแต่เจ้าหน้าที่มาก ก็ต้องพยายามใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ ไม่จ้างเพิ่มหรือถ้าจ้างเพิ่มก็ควรมีปริมาณงานรองรับ ถ้าพลิกวิกฤติเป็นโอกาสก็สามารถรับส่งต่อในเคสยากๆเพื่อหารายได้ หรือพัฒนาเป็น Excellence Center เพื่อฉีกแนวทางบริการไม่ซ้ำซ้อนกับโรงพยาบาลอื่น หรือกระจายทรัพยากรลงสู่พื้นที่ห่างไกล มันมีวิธีบริหารจัดการ ซึ่งผมเชื่อว่าทุกแห่งก็ปรับตัวมาตลอด ส่วนปัญหาปลีกย่อยผมคิดว่าค่อยๆแก้ ไม่มีอะไรที่แก้ไม่ได้ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลา การแก้จุดหนึ่งแน่นอนว่ามีกลุ่มหนึ่งพอใจ อีกกลุ่มเสียเปรียบ ก็ต้องปรับไปเรื่อยๆสุดท้ายก็บาลานซ์ไปจนได้ และถ้าดูในภาพรวม โรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงเหลือเยอะหรือมีงบประมาณมากๆก็เริ่มลดลง หรือโรงพยาบาลที่ขาดทุดเยอะๆก็เริ่มดีขึ้น ฉะนั้นในภาพใหญ่มันเริ่มไปกันได้แล้ว” นพ.บัลลังก์ กล่าว
 
ขณะเดียวกันในเพจของชมรมแพทย์ชนบท ได้เรียกร้องให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดข้อมูลการจัดสรรงบประมาณนอกเหนือจากงบบัตรทองในส่วนของโรงพยาบาลต่างๆ แต่ให้เปิดเผยการจัดสรรงบประมาณ อีก 2 กองทุน ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข
 
"ไหนๆจะเปิดแล้ว ก็เปิดกันให้หมดขอเรียกร้องให้ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลการจัดสรรงบประมาณ อีก 2 กองทุน ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข คือ งบกองทุนคืนสิทธิ์ตามมติ ครม.23 มีนาคม 2553 และ งบแรงงานต่างด้าวที่กันไว้ส่วนกลาง ว่าจัดสรรอย่างไร เอาไปใช้อะไรบ้าง? และต้องจัดการให้เอาขึ้นเวบไซด์ เป็นปัจจุบัน เหมือนงบกองทุนบัตรทอง" นพ.บัลลังก์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท