หรือ 'ทรัมป์แคร์' จะสะท้อนความย่ำแย่ของทัศนคติแบบอเมริกัน?

ในประเด็นที่วุฒิสภารีพับลิกันกำลังพยายามผลักดันกฎหมายใหม่มุ่งลิดรอนสิทธิด้านสวัสดิการสุขภาพของประชาชนอเมริกันหลายล้านคน คอลัมนิสต์ของวอชิงตันโพสต์ชวนเปรียบเทียบสวัสดิการสหรัฐฯ ว่ามาจากแนวคิดแบบใด มาจากการที่ชาวอเมริกันคิดว่าตัวเองไม่เหมือนใครในโลกจริงหรือไม่

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (ที่มา: Gage Skidmore/Wikipedia/CC BY-SA 2.0)

30 มิ.ย. 2560 เมื่อไม่นานมานี้ในสหรัฐฯ มีประเด็นโต้แย้งกันอย่างหนักในเรื่องสวัสดิการสุขภาพหลังจากที่วุฒิสมาชิกพยายามออกบัญญัติใหม่เกี่ยวกับเรื่องการประกันสุขภาพที่เรียกกันว่า "ทรัมป์แคร์" ซึ่งจะจำกัดสิทธิผู้ประกันสุขภาพที่มีอยู่เดิมจนอาจจะทำให้ชาวอเมริกันนับ 10 ล้านคนเสียประกันสุขภาพไป

อย่างไรก็ตามหลังจากการประท้วง การวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักวิจารณ์ รวมถึงการต่อต้านจากเหล่าวุฒิสภาบางส่วนเอง ก็ทำให้มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำวุฒิสมาชิกเสียงข้างมากจากพรรครีพับลิกันต้องพักแผนการโหวตลงมติกฎหมายนี้ไว้ชั่วคราวแล้วเลื่อนการโหวตออกไปเป็นหลังการหยุดวันชาติสหรัฐฯ 4 ก.ค.

ขณะเดียวกันอิชาน ธารูร์ นักเขียนเรื่องการต่างประเทศให้กับวอชิงตันโพสต์และบรรณาธิการอาวุโสแห่งไทม์ก็มีข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสวัสดิการสุขภาพในสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ และตั้งคำถามว่าระบบสวัสดิการสุขภาพของสหรัฐฯ รวมถึงนโยบาย "โอบามาแคร์" เองว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนด้านแย่ๆ ของแนวคิดความเชื่อว่า "อเมริกันพิเศษกว่าชาติอื่นและไม่เหมือนชาติใดในโลก" (American Exceptionalism) จริงหรือไม่?

ธารูร์มองว่าสวัสดิการสุขภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นกับทุกสังคม มีหลายประเทศทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาต่างก็มีรัฐบาลที่จริงจังกับเรื่องสวัสดิการสุขภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการพยายามลดราคาการเข้าถึงหรือเรื่องการให้บริการ แน่นอนว่าไม่มีประเทศใดที่มีระบบเดียวกันเหมือนกันหมดและแต่ละประเทศก็ยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์หรือแม้กระทั่งคนให้ร้ายสวัสดิการสุขภาพอยู่ แต่จากมุมมองของธารูร์แล้วเขาเห็นว่าน้อยมากที่จะเห็นประเทศร่ำรวยใดๆ ในโลกที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะทำให้เกิดการแบ่งแยกฝักฝ่ายมากเท่าสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้นโยบายโอบามาแคร์เป็นความพยายามขยายประกันสุขภาพให้คนอีกหลายล้านคนในสหรัฐฯ ที่จนเกินกว่าจะซื้อเองหรือป่วยเกินกว่าจะจ่ายให้บริษัทประกันสามารถเข้าถึงได้ แต่สำหรับชาวยุโรปส่วนมากคงมองว่านโยบายนี้ก็ยังคงให้อำนาจบริษัทประกันของเอกชนอยู่ดีรวมถึงชาวอเมริกันเองก็ยังคงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้ชาวยุโรปส่วนมากจะมองว่าโอบาม่าแคร์ไม่ได้ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแต่เป็นสายกลาง หรืออาจจะจัดเป็นสายขวากลางๆ ที่มีการอะลุ่มอล่วยทางการเมือง และในความเป็นจริงแล้วก่อนหน้านี้แนวคิดของโอบามาแคร์ก็ได้รับการสนับสนุนมานานจากข้าราชการนโยบายสุขภาพสายอนุรักษ์นิยม

แม้ว่าโอบามาแคร์จะประนีประนอมกับฝ่ายขวาขนาดนี้แต่ชาวรีพับลิกันหลายคนก็มองว่าโอบามาแคร์เป็นพวก "สังคมนิยม" เลวร้ายที่บีบบังคับให้ผู้คนต้องจ่ายเงินประกันที่พวกเขาไม่ได้ต้องการ รีพับลิกันพยายามเบี่ยงเบนความคิดเห้นของประชาชนมาเป็นข้ออ้างเรื่อง "ความรับผิดชอบส่วนตัว" ใช้วาทกรรมอย่างถ้าอยากได้บริการสุขภาพก็หางานทำและทำอะไรให้จ่ายค่ารักษได้เอง อ้างว่าตลาดเสรีก็มีทางเลือกให้เพียงพออยู่แล้ว ซึ่งขัดกับสภาพความเป็นจริงที่บริษัทประกันสรรหาทุกวิถีทางในการวางเพดานเรื่องเงินรักษาหรือทำโทษคนที่มีสภาพอาการต่างๆ อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว

ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันระบุว่าทรัมป์แคร์ที่จะมาแทนโอบามาแคร์นั่นเป็นเน้น "การแข่งขันแบบตลาดเสรี" นั่นหมายความว่าจะเป็นการยกระบบสุขภาพไปอยู่ใต้อำนาจการควบคุมของบริษัทและโรงพยาบาลที่แสวงหาผลกำไรทั้งหมด

แต่เรื่องนี้จะส่งผลดีต่อผลผลิตของประเทศจริงหรือ? จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่าสหรัฐฯ ใช้จีดีพีร้อยละ 20 ไปกับด้านสุขภาพเปรียบเทียบได้ว่าประชาชนต้องใช้จ่ายในด้านนี้เกือบ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 330,000 บาท ต่อคน) มากกว่าชาวอังกฤษที่มีบริการประกันสุขภาพของรัฐราว 2 เท่า นั่นหมายความว่าชาวอเมริกันต้องจ่ายมากกว่าแต่ได้รับผลกลับมาน้อยกว่า

อลิซาเบธ โรเซนธาล หัวหน้ากองบรรณาธิการของสื่อด้านสาธารณสุขไคเซอร์เฮลท์นิวส์ กล่าวว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ว่าบริการสุขภาพของสหรัฐฯ ราคาแพงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เท่านั้น การตั้งราคาสูงลิ่วในสหรัฐฯ ยังขัดกับกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงเรื่องความถูกต้องเหมาะสมและสามัญสำนึกด้วย ในขณะที่ค่าพยาบาลต่างๆ ในสหรัฐฯ มีแต่จะสูงขึ้นมากแต่ค่าพยาบาลต่างๆ ในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ มีแต่จะลดลง

เรื่องนี้ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากวัฒนธรรมและทัศนคติต่อชีวิตที่ต่างกันของสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป จากปี 2554 ที่ศูนย์วิจัยพิวสำรวจพบว่าชาวอเมริกันักจะให้คุณค่าต่อเสรีภาพในระดับบุคคลมากกว่าชาวยุโรปที่มองบทบาทของรัฐในทางบวกมากกว่า จากการสำรวจในสหรัฐฯ มีร้อยละ 58 ที่เชื่อว่าการที่อนุญาตทุกคนควรจะได้รับอนุญาตให้ไล่ตามเป้าหมายในชีวิตของตัวเองโดยไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐถือเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่ส่วนใหญ่ในยุโรปมองว่าการันตีว่าจะไม่มีใครต้องอดอยากยากแค้นเป็นเรื่องสำคัญกว่า

แต่ธารูร์ก็มองว่าการอ้างเรื่องวัฒนธรรมทางความคิดของอเมริกันที่ต่างจากชาติยุโรปคงเป็นคำตอบที่ "ขี้เกียจ" เกินไป โดยธารูร์ยกตัวอย่างระบบของแคนาดาประเทศที่อยู่ติดกับสหรัฐฯ ที่รับเอาความเชื่อเรื่องการทำงานหนักและการพึ่งตัวเองนำหน้าแต่ก็มีระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถ้วนหน้า

เคยมีแพทย์ของแคนาดาสองคนที่เขียนบทความในเรื่องนี้ไว้ในเอสทีเอทีนิวส์ว่าระบบแบบรัฐจ่ายอย่างเดียว (Single-Payer) แบบแคนาดาหรือระบบที่รัฐเป็นผู้ให้บริการอย่างเดียวอย่างอังกฤษหรือประเทศอื่นๆ ทำให้เป็นการนำการดูแลสุขภาวะทุกภาคส่วนเข้ามาอยู่ใต้ร่มเดียวกันอันสามารถตรวจสอบดูแลได้ หมอทั้งสองคนนี้ระบุอีกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สังคมนิยมหรือการโจมตีเสรีภาพระดับบุคคลใดๆ เลย มันเปรียบเสมือนการสร้างสัญญาร่วมกันว่าจะปกป้องพวกเรากันเองจากโรคภัย รวมถึงยอมรับในศักยภาพของพวกเราในการปกป้อง ถือเป็นมาตรการที่มีคุณค่าความหมายต่อสังคมเรา

ธารูร์ชี้ว่าการที่ชาวอเมริกันออกมาต่อต้านการที่พรรครีพับลิกันพยายามล้ม "โอบามาแคร์" ก็แสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันจำนวนมากก็ตองการระบบที่ทำให้ผู้คนในสังคมต่างก็มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกันถ้วนหน้า แต่การที่สหรัฐฯ ยังไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ก็สะท้อนการแบ่งแยกในสังคมสหรัฐฯ ที่อาจลบเลือนได้

เรื่องนี้แวนน์ นิวเคิร์ก ทู คนเขียนบทความให้สื่อดิแอตแลนติคเขียนถึงความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงสวัสดิการที่คนดำเคยต่อสู้มาตั้งแต่ยุคคริสตทศวรรษ 60s เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกอีกกันพวกเขาเข้าถึงบริการ นิวเคิร์ก ทู ชี้ว่าสหรัฐฯใช้วิธีทำให้การประกันสุขภาพกลายเป็นระบบเอกชนที่แยกจากส่วนกลางเน้นบำนาญจากอาชีพที่กีดกันคนงานที่เป็นคนดำรายได้น้อยไม่ให้เข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ และถึงแม้ว่าพวกเขาจะเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกันในความเป็นพลเมืองมาตั้งแต่ปี 2507 แล้ว แต่ก็เพิ่งมีโครงการสุขภาพที่ได้เงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากรัฐเมื่อไม่นานมานี้เอง และนโยบายสวัสดิการของรีพับลิกันก็กำลังจะขโมยสิทธิของพวกเขาไปอีกครั้ง

 

เรียบเรียงจาก

American health care is a bad case of American exceptionalism, Washington Post, 28-06-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท