พวงทอง ภวัครพันธ์ุ: ไว้อาลัยแด่ Michael Vickery

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย-เขมรที่เราคิดว่าเก่งที่สุดคนหนึ่ง เสียชีวิตแล้วเมื่อวานนี้ที่เมืองพระตะบอง กัมพูชา ด้วยวัย 86 ปี

วิคเคอรี่เป็นชาวอเมริกัน เป็นมาร์กซิสต์ เป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โบราณของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พูดได้อย่างน้อย 10 ภาษา งานประวัติศาสตร์โบราณของเขามักอาศัยความสามารถทางภาษาในการวิเคราห์หลักฐาน หรือใช้วิธีการทางนิรุกติศาสตร์ในการศึกษา ซึ่งปัจจุบันแทบจะหาคนทำงานในลักษณะนี้ไม่ได้แล้ว งานแต่ละชิ้นของเขามักเริ่มจากการวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ช่วงที่ฉันทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกก็ได้เรียนรู้การวิพากษ์หลักฐานประวัติศาสตร์จากงานของวิคเคอรี่นี่เอง (เพราะตอน ป.ตรีไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ และระบบปริญญาเอกของออสเตรเลียในยุคนั้นไม่มีคอร์สเวิร์ค คนเรียนต้องเรียนรู้ทุกอย่างเองหมด)

ความที่เป็นตัวของตัวเองมาก เขาจึงไม่สามารถหางานประจำในมหาวิทยาลัยดัง ๆ ได้ แต่คนที่สนใจประวัติศาสตร์กัมพูชาตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน ถ้าไม่อ่านงานของวิคเคอรี่ ก็ถือว่าพลาดอย่างจัง เขาย้ายงานไปตามที่ต่าง ๆ ที่ ๆ สอนได้นานที่สุดน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยในมาเลเซีย ช่วงปลายชีวิต เขากับคู่ชีวิตย้ายมาอยู่เชียงใหม่ เดินทางไปมาระหว่างเชียงใหม่กับพนมเปญ แต่เขาผูกพันกับกัมพูชามากกว่าไทย

อาจารย์ที่ปรึกษาของฉันบอกว่าเขา eccentric เกินไป ตามใจตนเองเกินไปจนไม่มีใครอยากจ้างงาน ครั้งหนึ่งเขาเคยตกลงว่าจะทำวิจัยเรื่องนครวัดให้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในออสเตรเลียเป็นเวลา 3 ปี แต่พอหมดเวลา แทนที่จะมีงานวิจัยเรื่องนครวัด กลับมีหนังสือเรื่อง Cambodia, 1975-1982 ออกมาแทน ทำแบบนี้คนจ้างก็ไม่พอใจ แม้ว่าหนังสือจะสร้างความฮือฮาในวงวิชาการเรื่องเขมรแดงก็ตาม

ฉันเจอเขาครั้งแรกในงานสัมมนาที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้มีโอกาสเสนอประเด็นในวิทยานิพนธ์ของตนเอง วิคเคอรี่ฟังอย่างตั้งใจ เขาคอมเมนท์แบบกลาง ๆ ว่างานน่าสนใจและสำคัญ ยังไม่มีใครทำเรื่องนี้ จริง ๆ ฉันเสนองานด้วยใจเต้นตุ๋ม ๆ ต่อม ๆ เพราะได้อ่านงานเขามามาก จึงรู้ว่าเป็นคนทิ่วิพากษ์แบบถึงพริกถึงขิง แต่กลับพบว่าตัวจริงไม่ดุดันเกรี้ยวกราดเลย แสดงความเห็นตัวเองเป็นที่ชัดเจน แล้วก็จบ ยอมฟังความเห็นคนอื่น ไม่ใช่มุ่งเอาชนะ กดดันให้คนอื่นยอมรับว่า เขาถูกอยู่คนเดียว

ตอนเขียนวิทยานิพนธ์เสร็จ บอกอาจารย์ที่ปรึกษาสองคนว่าอยากส่งให้วิคเคอรี่อ่าน (ระบบออสเตรเลียต้องส่งให้คนนอกมหาวิทยาลัยอ่าน และเขาต้องไม่เคยอ่านงานเรามาก่อน) แต่ที่ปรึกษาบอกว่าอย่าเลย He is so unpredictable. ก็เลยส่งให้ Craig Reynolds กับ David Chandler อ่านแทน โชคดีผ่านแบบไม่ต้องแก้สักตัว ขอโทษ..คุยซะเลย)

ฉันเจอเขาหลังสุดสัก 10 ปีที่แล้วที่พนมเปญ เขารับงานเป็นล่ามให้กับทนายฝ่ายผู้นำเขมรแดง เป็นงานที่ทำให้คนในวงวิชาการต่างพากันเหลือกตา แต่เขาบอกว่านี่เป็นโอกาสที่จะทำให้เขาได้เข้าไปรับรู้ข้อมูลวงใน แถมเงินดีด้วย เจอกันครั้งสุดท้าย มีโอกาสได้ฟังเรื่องเล่าสนุก ๆ สมัยเขาผจญภัยอยู่ในไทยและกัมพูชาตั้งแต่ทศวรรษ 1960-1970
งานแต่ละชิ้นของวิคเคอรี่มีข้อถกเถียงสำคัญและตรงไปตรงมา

วิทยานิพนธ์ของเขา Cambodia After Angkor: The Chronicular Evidence for the Fourteenth to Sixteenth Centuries, Yale University, Ph.D., December 1977. ศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรอยุธยากับนครวัด โดยใช้ศิลาจารึกและพระราชพงศาวดารทั้งของไทยและเขมรเป็นหลักฐานสำคัญ งานชิ้นนี้เริ่มจากวิพากษ์พระราชพงศาวดารทั้งหมด เพื่อบอกว่าอันไหนใช้ได้ อันไหนใช้ไม่ได้ อันไหนลอกอันไหนมา การลอกกันทำให้เกิดการผลิตซ้ำข้อมูลที่ผิดเพี้ยนอย่างไร สำหรับวิคเคอรี่ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของไทยนั้นใช้ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาได้น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เต็มไปด้วยการเมือง และลอกต่อ ๆ กันมา อันที่น่าเชื่อถือที่สุดคือ พระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่เขียนขึ้นในสมัยพระนารายณ์ แต่ก็มีข้อมูลน้อยและสั้นที่สุด ส่วนพระราชพงศาวดารเขมรยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเขียนขึ้นทีหลัง แล้วมาลอกบางส่วนจากของไทยไป

วิทยานิพนธ์ของเขามีประเด็นสำคัญหลายประเด็น นอกจากความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงระหว่างราชสำนักสยามกับนครวัดแล้ว คือการเสนอว่าสยามบุกไปตีนครวัดเพียงครั้งเดียว ไม่ใช่ 3-4 ครั้งตามที่พระราชพงศาวดารไทยที่เขียนในยุคกรุงเทพฯระบุไว้ การตีเพียงครั้งเดียวนี้จึงไม่ใช่สาเหตุที่นำไปสู่การล่มสลายของนครวัด ตามที่ประวัติศาสตร์ไทยมักกล่าวอ้าง (รวมทั้งงานของนักวิชาการฝรั่งที่ใช้พระราชพงศาวดารอย่างไม่วิพากษ์ ก็ระบุตามนี้ เช่นงานของ David Wyatt) แต่การย้ายเมืองหลวงจากนครวัดลงสู่ใต้ (ย้ายลงมาที่ละแวก และอุดงมีไชยตามลำดับ) น่าจะเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ กล่าวคือ เมื่อราชสำนักจีนในศตวรรษ 14-15 เริ่มอนุญาตให้รัฐเล็กรัฐน้อยเข้าไปทำการค้าเรือสำเภากับจีนได้โดยตรง โดยก่อนหน้านี้มีเพียงไม่กี่รัฐที่จีนอนุญาตให้แต่งเรือสำเภาไปค้ากับตนได้ หนึ่งในนั้นคือ อาณาจักรศรีวิชัย (เชื่อว่าอยู่ในเกาะสุมาตราในปัจจุบัน)

การเปลี่ยนนโยบายของจีนเป็นหนึ่งในสาเหตุของการล่มสลายของศรีวิชัย ที่เคยเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมสินค้าจากภูมิภาคนี้ส่งไปขายจีน เมื่อรัฐเล็กสามารถค้าขายกับจีนได้โดยตรง เราจึงเริ่มเห็นปรากฏการณ์ที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐที่อยู่ใกล้ทะเลผงาดขึ้นมามีอำนาจ เมืองหลวงของรัฐเปลี่ยนมาอยู่ใกล้กับทางออกสู่ทะเล โดยชนชั้นนำที่ร่ำรวยจากการค้าทางทะเลสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ และทำให้ศูนย์กลางอำนาจเดิมยอมสวามิภักดิ์ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งในสยาม (จากสุโขทัย ลงสู่อยุธยา และบางกอก) ในพม่า (จากอังวะลงสู่หงสาวดี) ในกรณีเวียดนาม งานประวัติศาสตร์ของ Li Tana ก็ชี้ว่าการขึ้นมาของราชวงศ์เหงียนทางตอนใต้ ก็มาจากการค้าสำเภากับจีน งาน A History of Cambodia ของ David Chandler และงาน Southeast Asia in the age of commerce ของ Anthony Reid ก็รับแนวการอธิบายนี้ของวิเคอรี่ไว้

วิคเคอรี่เป็นหนึ่งในคนแรก ๆ ที่ชี้ว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ไม่ใช่ของแท้ที่ทำในสมัยสุโขทัย โดยเขาค้นพบความผิดปกติของคำจำนวนมากที่ปรากฏในศิลาจารึก แต่สิ่งที่วิคเคอรี่ต่างจาก ศ. พิริยะคือ เขาไม่ฟันธงว่าใครเป็นทำ เขาบอกว่าบอกไม่ได้ หลักฐานบอกเพียงแค่ว่าเป็นของที่ทำขึ้นทีหลัง แต่ ศ.พิริยะฟันธงว่ารัชกาลที่ 4 เป็นคนสร้างขึ้นมาเองโดยดูจากทั้งกลุ่มคำในศิลาจารึก และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่แวดล้อมอยู่

“Cambodia 1975-1982” เป็นหนังสือที่อ่านสนุกมาก เป็นหนังสือที่ฉันชอบมากที่สุดเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือวิชาการไม่กี่เล่มที่อ่านทั้งเล่ม และต้องกลับไปดูอีกหลายครั้ง เขาวิพากษ์ตั้งแต่สื่อมวลชนรายใหญ่ของฝรั่ง มหาอำนาจสหรัฐฯ จีน ไทย ยันบรรดานักวิชาการเขมรศึกษา รวมทั้งอดีตอาจารย์ที่ปรึกษาเราด้วย เขาไม่เห็นด้วยกับการเรียกระบอบเขมรแดงว่าเป็นระบบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ไม่ใช่เพราะสนับสนุนเขมรแดง ไม่เลย เขาค่อนข้างเห็นใจเวียดนามและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (People’s Republic of Kampuchea) ที่นำโดยเฮง สัมริน

แต่เขาเห็นว่าการสังหารผู้คนจำนวนมากและหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ คนเมือง คนมีการศึกษา คนจีน จามมุสลิม พระสงฆ์ เป็นเหตุผลทางชนชั้น ไม่ใช่เหตุผลทางชาติพันธุ์ ถ้าจะมีการฆ่าที่เข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็มีกลุ่มเดียวเท่านั้น คือ การฆ่าชาวเวียดนาม และแขมร์กรอม (คนเขมรเชื้อสายเวียดนาม ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ชายแดนเวียดนาม) เขาเสนอว่าควรฟ้องร้องเอาผิดผู้นำเขมรแดงด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crimes against humanity) มากกว่าข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

งานเขียนชิ้นสำคัญของเขาอีกชิ้นหนึ่งคือ Society, Economics and Politics in Pre-Angkor Cambodia: The 7th-8th Centuries, Tokyo, The Centre for East Asian Cultural Studies for Unesco, The Toyo Bunko, 1998. ฉันถามเขาว่าทำไมให้ญี่ปุ่นพิมพ์ หาซื้อยาก การจัดจำหน่ายแย่ ตอนสั่งซื้อต้องทำเรื่องโอนเงินข้ามประเทศวุ่นวายมาก

เขาบอกว่าไม่ได้คิดว่าจะมีใครตีพิมพ์ให้ด้วยซ้ำ แต่วันหนึ่งในที่สัมมนาอะไรสักอย่าง ระหว่างที่กำลังยืนฉี่อยู่ ศ.โยนิโอะ อิชิอิ เดินเข้ามายืนฉี่ข้าง ๆ แล้วถามว่าทำอะไรอยู่ เขาก็เล่าว่าเพิ่งเขียน manuscript เรื่องนี้เสร็จ ศ. อิชิอิ ก็เลยบอกว่าช่วยส่งมาให้ดูหน่อย ก็เลยได้ตีพิมพ์ สารภาพว่าฉันอ่านไปได้นิดเดียว ไม่มีเวลา ความสนใจเปลี่ยน แต่เห็น @Niti Pawakapan ตั้งใจอ่านมาก

ถามวิคเคอรี่เมื่อ 10 ปีก่อนว่ากำลังทำอะไรอยู่ เขาบอกว่ากำลังศึกษาประวัติศาสตร์อาณาจักรจาม โดยอ่านศิลาจารึกภาษาจาม ถามต่อว่าแล้วเรียนภาษาจามโบราณที่ไหน เขาบอกว่าสอนตัวเอง เพราะไม่มีใครอ่านเป็น ฮาๆๆ สุดยอดจริง ๆ

เสียดาย อยากให้คนแบบนี้อยู่ยงคงกระพัน จะได้มีงานดี ๆ ที่ไม่มีใครอยากทำออกมาอีก

Rest in peace, Michael Vickery, a true scholar, one of a kind.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท