Skip to main content
sharethis
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเสนอแนะให้ใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว ไปก่อนอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากนั้นจึงให้ออกเป็นพระราชบัญญัติแทนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย
 
2 ก.ค. 2560 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง การผ่านพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ว่า เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นในการจัดระเบียบการทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยเนื่องจากมีจำนวนเกือบสี่ล้านคนและในจำนวนนี้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคนเป็นผู้ที่เข้ามาทำงานแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่มีใบอนุญาตทำงาน การจัดระเบียบนี้จะช่วยก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว การบริหารระบบแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถดูแลสวัสดิการแรงงานและคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวได้ดีขึ้น จัดการระบบกองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทาสลงได้ ควบคุมดูแลโรคติดต่อ การจัดการศึกษาให้กับลูกของคนงานต่างด้าวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้การจัดการในมิติความมั่นคงมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
 
อย่างไรก็ตาม กฎหมายออกมาบังคับใช้โดยไม่ได้ให้ระยะเวลาการปรับตัวและเตรียมการน้อยเกินไป ประกอบกับ มีแรงงานจำนวนมากเกือบหนึ่งล้านคนที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมาย สะท้อนว่า ไทยมีภาวะการขาดแคลนแรงงานระดับล่างขั้นรุนแรง ซึ่งรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุกในการแก้ปัญหา 
 
สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานและการปิดดำเนินงานชั่วคราวของกิจการต่างๆที่อาศัยแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการบรรเทาลงหากมีการใช้มาตรา 44 ในการชะลอการบังคับใช้ พรก แรงงานต่างด้าวไปก่อน ส่วนการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว และ มีแรงงานจำนวนมากได้กลับประเทศและส่วนหนึ่งคงจะไม่กลับมาทำงานที่เมืองไทย การกลับมาทำงานอาจมีต้นทุนสูงเกินไปสำหรับแรงงานบางส่วน ภาระนี้อาจเกิดขึ้นกับนายจ้างที่ต้องการแรงงานและไม่สามารถหาแรงงานมาทำงานจากตลาดแรงงานในไทยได้ คาดว่า ผลกระทบ พรก แรงงานต่างด้าวน่าจะทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสสามชะลอตัวลง อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 3% ได้ในไตรมาสสาม เกิดการชะงักงันในการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังเร่งรัด 
 
ขณะเดียวกัน เมื่อกฎหมายออกมาโดยไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน มีโทษสูงและขึ้นอยู่กับอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการจึงอาจก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันอย่างแพร่หลายและเป็นการยากที่จะควบคุม ในระยะยาวแล้ว พรก แรงงานต่างด้าวจะทำให้แรงงานต้องขึ้นทะเบียนและเข้ามาอยู่ในระบบ จะลดปัญหาการทุจริตติดสินบนได้อย่างเป็นระบบ แต่ พรก แรงงานต่างด้าวจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการปัญหาทุจริตติดสินบนในตลาดแรงงานเมื่อทำให้การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีต้นทุนต่ำกว่าการติดสินบนกับเจ้าหน้าที่ หากการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีขั้นตอนความยุ่งยาก ใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูงจะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย 
 
อย่างไรก็ตาม จะเกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอุตสาหกรรมและงานบางลักษณะ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะ กรรมกรก่อสร้าง ช่างประเภทต่างๆและวิศวกร อุตสาหกรรมบริการท่องเที่ยว พนักงานบริการในร้านอาหารและโรงแรม คนขายของตามตลาดสด อุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์ งานแม่บ้านและกิจการดูแลผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น มีแรงงานไทยจำนวนมากขึ้นตามลำดับที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ การไหลออกของแรงงงานทักษะสูงและช่างเทคนิคต่างๆทำให้ตลาดแรงงานตึงตัวและขาดแคลนแรงงาน ขณะที่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านทักษะต่ำไม่สามารถทดแทนได้ เกิดความไม่สมดุลในตลาดแรงงาน การปรับค่าแรงตามมาตรฐานแรงงานฝีมือแรงงานจึงมีความจำเป็นต่อการรักษาแรงงานทักษะและช่างเทคนิคให้ทำงานในระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป 
ภาวะ การเลิกจ้าง ยังคงมีอยู่ในกิจการอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า เป็นต้น กิจการบริการสถานบันเทิงมีการเลิกจ้างสูงในช่วงที่ผ่านมา กิจการก่อสร้างขนาดเล็ก กิจการสื่อสารมวลชน (กระทบหนัก คือ สื่อสิ่งพิมพ์ ทีวีดิจิทัลและธุรกิจโฆษณาผ่านสื่อดั้งเดิม) กิจการทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นต้น ภาพรวมในช่วงครึ่งปีหลัง การเลิกจ้างน่าจะมีแนวโน้มลดลงแม้นอัตราว่างงานจะสูงที่สุดในรอบ 7 ปีแต่อัตราการว่างงานยังคงต่ำกว่า 2% และตลาดแรงงานยังค่อนข้างตึงตัวในหลายส่วน และแรงงานในบางประเภทยังคงขาดแคลน รัฐบาลจึงควรพิจารณาให้มีการเปิดกว้างอนุญาตให้แรงงานบางประเภทเข้ามาทำงานได้เพิ่มขึ้นหรือพิจารณาให้มีการเปิดเสรีตลาดแรงงานในส่วนที่ขาดแคลนอย่างชัดเจน 
 
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้มีข้อเสนอเจ็ดข้อต่อรัฐบาลเพื่อลดผลกระทบจาก พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว และ ปฏิรูประบบแรงงานต่างชาติ ดังนี้
 
ข้อหนึ่ง เสนอแนะให้ใช้ มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ไปก่อนอย่างน้อย 6 เดือน และให้มีศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวและขอใบอนุญาตทำงานตามสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ไม่ใช่ให้กลับไปที่ชายแดน ส่วนพวกที่เข้าเมืองผิดกฎหมายและต้องพิสูจน์สัญชาติจึงให้ไปขึ้นทะเบียนที่ชายแดน 
 
ข้อสอง เสนอให้ออกเป็น พระราชบัญญัติการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและจัดระเบียบแรงงานต่างชาติ พ.ศ. 2561 แทน พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย และให้เกิดการบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยคำนึงถึง มิติของแรงงานวิชาชีพชั้นสูงและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆชาวต่างชาติ มิติทางด้านการศึกษาวิจัยและ การถ่ายทอดเทคโนโลยี มิติด้านสวัสดิการและความเป็นธรรมในการจ้างงาน มิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง มิติด้านสาธารณสุขและสุขอนามัย มิติด้านการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทาส มิติด้านโครงสร้างประชากร, สังคมสูงวัยและกระบวนการให้สัญชาติไทย มิติด้านความสมดุลการเปิดเสรีตลาดแรงงานและการปกป้องตลาดแรงงานของคนไทยหรือการสงวนอาชีพ มิติความยั่งยืนทางการเงินของระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มิติผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและภาคการผลิต มิติภาระทางการคลัง เป็นต้น 
 
ข้อสาม เนื้อหาของพระราชบัญญัติการปฏิรูประบบแรงงานต่างชาติ ควรครอบคลุมถึงการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ 8 สาขาภายใต้ข้อตกลงประชาคมอาเซียน เตรียมกลไกและระบบรองรับสำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตภายใต้ข้อตกลงองค์การการค้าโลก ประเด็นผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประเด็นความเป็นธรรมและสวัสดิการในการจ้างงานให้ชัดเจน 
 
ข้อสี่ รัฐบาลไทยควรทำสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิพื้นฐานในการรวมกลุ่ม และ อำนาจในการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานพื้นฐานและเป็นสิทธิมนุษยชนอีกด้วย และ แรงงานต่างชาติในไทยควรได้รับสิทธินี้เช่นเดียวกันอันเป็นมาตรฐานสากลขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ 
 
ข้อหก รัฐควรส่งเสริมให้อุตสาหกรรมและโรงงานที่ใช้แรงงานทักษะต่ำเข้มข้นซึ่งต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก นำเทคโนโลยี Automation และ หุ่นยนต์มาทำงานแทนสำหรับการผลิตแบบซ้ำๆ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์การเคลื่อนย้ายกลับประเทศในอนาคตของแรงงานต่างด้าว
 
ข้อเจ็ด รัฐและเอกชนต้องจัดระบบการศึกษาและฝึกอบรมที่จำเป็นสำหรับคนงานต่างด้าวและครอบครัวของแรงงานเพื่อให้ แรงงานรวมทั้งครอบครัว เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจของไทย รวมทั้ง เป็น พลเมืองต่างชาติที่มีคุณภาพ ในสังคมไทย อันนำไปสู่ การพัฒนาเศรษฐกิจไทยและความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ อย่างน้อยที่สุด ควรให้การศึกษาเรื่องภาษาไทย ความปลอดภัยในการทำงานและกฎหมายพื้นฐานของไทย 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net