ประยุทธ์ ชูแผนพัฒนาฯ ฉ.12 - ยุทธศาสตร์ 20 ปี ดันไทยเป็นประเทศ 'พัฒนาแล้ว'

ประยุทธ์ เปิดการประชุม 60 ของสภาพัฒน์ ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมในเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนา โดยกำหนดเป้าหมาย “ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว” เช่นเดียวกับนานาอารยะประเทศ

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

3 ก.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (3 ก.ค.60) เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมประจำปี 2560 ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ หรือ สศช.) เรื่อง “ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย” ในโอกาสเปิดการประชุมประจำปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมในเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประทศ โดยมีผู้แทนทุกภาคส่วนเข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 2,000 คน ประกอบด้วย  คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้แทนจากภาครัฐ และสื่อมวลชน ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การประชุมประจำปี ประจำปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในหัวข้อเรื่อง “ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย” ว่า เพื่อนำเสนอการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาที่มีความสำคัญภายใต้ 10 ยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้วและต้องเร่งรัดดำเนินการต่อไป รวมทั้งวางกลไกการขับเคลื่อนไปสู่ระดับปฏิบัติในมิติต่าง ๆ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศในช่วงระยะ 5 ปี ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อีกทั้งยังเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่อนาคต และสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 

พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึง เรื่อง “ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย” ว่า เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ได้ถูกนำไปปฏิบัติ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง  โดยขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดตามโรดแมปที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางไว้ โดยเฉพาะหลักคิดวิสัยทัศน์ที่จะนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด แต่หากยังติดกับปัญหาเดิม ๆ ก็จะทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้  ขณะที่ประชากรก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ทรัพยากรธรรมชาติมีจำนวนจำกัด ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องมาคิดร่วมกันในการที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนดไว้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในช่วง 5 ปี ของแผนฯ ฉบับที่ 12 นับเป็นก้าวแรกและก้าวย่างที่สำคัญของการวางรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศ ซึ่งต้องเร่งกำจัดจุดอ่อนก่อนที่จะเร่งพัฒนาและเสริมจุดแข็งในช่วงเวลาต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภูมิศาสตร์ที่ตั้งประเทศ การเชื่อมโยงกับ CLMV และประชาคมอาเซียน ฯลฯ โดยมียุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี เป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องบรรลุเป็นเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามเกณฑ์มาตรฐานนานาประเทศ และเป็นสังคมที่คนไทยมีความสุข กินอิ่ม นอนหลับ ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สังคมมีความปรองดองสมานฉันท์ ทุกคนมีที่ยืนสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตามการดำเนินการต่าง ๆ ต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อให้การดำเนินงานและบริหารจัดการการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมทั้งในระดับบุคคล ภูมิภาค และพื้นที่ น้อมนำศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ไปปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจทั้งคนและพื้นที่ ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงปัญหาและแก้ไขได้ถูกต้องและตรงจุด อันจะนำไปสู่การพัฒนาทั้งภายใน คือประชากรของประเทศในระดับต่าง ๆ และภายนอกอย่างแท้จริง โดยเน้นประชาชนในระดับฐานรากให้มีรายได้อย่างเพียงพอสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ รวมทั้งรู้จักใช้ชีวิตและบริหารจัดการใช้จ่ายเงินอย่างพอเพียง พอประมาณ ตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ทั้งนี้ เป้าหมายที่ต้องการเห็นคือ “ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว” เหมือนกับนานาอารยะประเทศ ทั้งทางด้านกายภาพ เช่น เส้นทางคมนาคม ที่อยู่อาศัย รวมทั้งการพัฒนาด้านจิตใจ ความคิด การสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง และศักยภาพของคน เป็นต้น

พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงภาพอนาคตประเทศไทยในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. .... ซึ่งภายใต้พระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับจะมีการจัดตั้งกรรมการเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศไทยในด้านต่างๆ ว่า รัฐบาลต้องการจะสร้างความเข้าใจและเน้นย้ำว่ายุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ซึ่งรัฐบาลนี้ได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาประเทศและสร้างความสุขให้กับคนไทยทุกคนได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายอนาคตของประเทศเป็นหลักชัยที่ประชาชนชาวไทยทุกคนต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น โดยมองถึงภาพของอนาคตที่ต้องการจะให้เกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งการกำหนดเป้าหมายระยะยาวสำหรับการพัฒนาประเทศมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งเพื่อเป็นเป้าหมายร่วมที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยต้องร่วมมือกันผลักดันอย่างต่อเนื่อง เป็นกรอบในการจัดลำดับความสำคัญประเด็นการพัฒนาในระยะสั้นและระยะกลางได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติจะช่วยวางแนวทางสำหรับการจัดประเด็นการบูรณาการในการจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนการแก้ปัญหาพื้นฐานสำคัญและพัฒนาเพื่อเสริมจุดแข็งสำคัญของประเทศจะได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงการจัดทำแผนการจัดสรรงบประมาณอย่างเร่งรีบสำหรับวาระสำคัญๆ ของประเทศภายใต้เวลาที่จำกัด 

พร้อมทั้ง ขอให้ทุกคนคิดร่วมกันถึงภาพอนาคตของประเทศไทยว่า ควรมีลักษณะหรือโฉมหน้าอย่างไร  เช่น คนไทยที่ตื่นรู้ มีการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจ จิตวิญญาณ เป็นพลเมืองไทย พลเมืองอาเซียน และพลเมืองโลกมีรายได้ต่อหัวตามเกณฑ์ของประเทศรายได้สูง คนไทยเป็นนวัตกร ทำเองได้ และขายเป็นโดยทำให้ครบวงจรทั้งระบบตั้งแต่กระบวนการผลิต แปรรูป และการตลาด สังคมแห่งโอกาส เป็นธรรม มีคุณธรรม และเกื้อกูลกันความเจริญกระจายสู่ทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง มีการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสมตามศักยภาพและเกิดความโดดเด่นของเมืองที่น่าอยู่ เมืองที่แข่งขันได้ เมืองอัจฉริยะ แต่ละภาคมีความโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์และจุดเด่น  มีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ ภาครัฐดิจิทัล กระทัดรัด ทันสมัย โปร่งใส ประสิทธิภาพ เป็นระบบเปิดและเชื่อมโยงถึงกัน (Open and Connected) เป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านอาหาร น้ำ และพลังงาน ทั้งนี้ เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจึงได้เริ่มต้นวางกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมาตั้งแต่ปี 2558 โดยนำนโยบายของรัฐบาล ประเด็นปฏิรูป รวมถึงข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาใช้เป็นกรอบในการจัดทำ จนสามารถจัดทำร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แล้วเสร็จในปี 2559 ซึ่งกรอบยุทธศาสตร์ชาติจะประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความมั่นคงในการแข่งขัน (3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน (4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสังคม (5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้เป็นการพัฒนาที่เป็นการผสมผสานความเจริญระหว่างตะวันตกและตะวันออกเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน และ (6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งกรอบยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้านนี้ จะเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาวที่มีผลในทางปฏิบัติ โดยในปี 2560 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติขึ้น ภายใต้คณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อทำหน้าที่จัดเตรียมสาระของยุทธศาสตร์ชาติให้มีความสมบูรณ์ที่สุด และตรงกับความต้องการของประชาชน และจะส่งมอบต่อให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2560

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวอีกว่า เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยในการขับเคลื่อนการทำงานให้ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ทั้งในส่วนของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ประกาศใช้ไปเมื่อเดือนตุลาคม 2559 และแผนพัฒนาฉบับต่อ ๆ ไป เพราะยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเป็นการเริ่มต้น สานต่อ และรองรับการพัฒนาที่ต่อเนื่องกันไปตลอด 20 ปี โดยเฉพาะแผนพัฒนาฉบับที่ 12 ที่เป็นเหมือนก้าวแรกในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต เป็นการวางรากฐานการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ในระยะยาวทั้ง 6 ด้านของยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้ง 10 ด้านของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 สะท้อนการไปถึงเป้าหมายในระยะ 20 ปีของยุทธศาสตร์ชาติอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นใน 6 ยุทธศาสตร์แรกของแผนฯ ที่ตอบสนอง 6 ยุทธศาสตร์หลักของยุทธศาสตร์ชาติโดยตรง ได้แก่ (1) การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ (2) การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม (3) การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (4) การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (5) การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน และ (6) การบริหารจัดการในภาครัฐ ป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ และธรรมาภิบาลในสังคมไทย  รวมถึงอีก 4 ยุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ (7) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์  (8)  การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม  (9)  การพัฒนาภาคเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ และ (10)  การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการนำพาประเทศไปสู่จุดเปลี่ยนแห่งอนาคต ได้แก่ การสร้างคนพันธุ์ใหม่  ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกมิติ การเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น อย่างไรก็ตามความสำเร็จของการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายที่เป็นพลังประชารัฐเข้ามาร่วมรับผิดชอบและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในการดำเนินการให้ประสบผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเพื่อให้พลังประชารัฐเป็นพลังที่สามารถนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายได้  รวมถึงการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในหลายเรื่องในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการดำเนินชีวิต วัฒนธรรมการเรียนรู้ วัฒนธรรมการทำงาน และวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นภาครัฐที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน และเป็นภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการให้บริการสาธารณะมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส เป็นธรรม ส่วนภาคธุรกิจเอกชน ต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงธุรกิจกับการพัฒนา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม ทำงานร่วมกับภาคีต่าง ๆ อย่างเป็นพันธมิตรตามแนวทางประชารัฐ ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม วัฒนธรรมการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ขณะที่ประชาชน ต้องปรับตัวให้เรียนรู้ตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้เพื่อนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง และเรียนรู้ในการที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนา ตลอดจนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ เคารพกฎหมาย สิทธิเสรีภาพของผู้อื่น มีจิตสาธารณะ

พล.อ.ประยุทธ์ ยังขอให้ทุกภาคส่วนของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ประชาสังคม ประชาชน และNGOs ร่วมมือกันในการที่จะมุ่งมั่นปรับเปลี่ยนไปสู่การปฏิรูปประเทศให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยขับเคลื่อนจากแผนฯ 12 ไปสู่แผนฯ อื่น ๆ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยประชาชนทุกกลุ่มทั้งในส่วนของ 1.0 2.0 และ 3.0 ต้องพัฒนาตนเองเพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้าและก้าวไปสู่ 4.0 ด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยร่วมกับประชาชนทุกระดับ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท