Skip to main content
sharethis

ศรีลังกาเป็นประเทศที่กู้ยืมจีน และเปิดให้จีนเข้าไปลงทุนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในประเทศ แต่นอกจากพวกเขาจะได้ท่าเรือร้างๆ สนามบินที่มีไม่กี่ไฟล์ท และสิ่งก่อสร้างที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้านแล้ว ยังก่อหนี้จำนวนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่ส่งผลกระทบทำให้ต้องยอมให้จีนเอาเปรียบในโครงการอื่นๆ

ที่มาภาพจาก pxhere.com

4 ก.ค. 2560 ในขณะที่จีนกำลังรุกคืบด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาในศรีลังกา ประชาชนชาวศรีลังกาจำนวนมากก็รู้สึกว่ารัฐบาลตัวเองกำลังขายชาติให้กับจีน

บีบีซีรายงานเรื่องนี้เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา พวกเขาระบุถึงสภาพของท่าเรือฮัมบันโตตาในทางตอนใต้ของศรีลังกาว่ามีสภาพแตกต่างจากท่าเรือของเอเชียอื่นๆ ถนนที่นำไปสู่ท่าเรือเอเชียอื่นๆ มักจะดูคึกคัก มีรถบรรทุกสินค้าผ่านไปมา มีร้านรวงเล็กๆ หลายแห่งที่คนขับรถส่งของและคนงานมักจะเข้าไปใช้บริการพักดื่มน้ำชา

แต่สภาพของท่าเรือฮัมบันโคตาที่จีนสนับสนุนการสร้างกลับเงียบเหงา ถึงแม้ว่าท่าเรือนี้จะเปิดมาเป็นเวลา 7 ปี แล้ว ถนนทางเข้าสู่ตัวท่าเรือแทบไม่มีรถเหยียบ แม้แต่คนในพื้นที่ก็บางคนก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าท่าเรือนี้อยู่ตรงไหน รถคันเดียวที่เข้าไปในวันนั้นคือรถของนักข่าว ที่ตัวท่าเรือเองก็ไม่มีใครอยู่เลยแม้แต่คนเดียวนอกจากนักข่าวบีบีซี และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ติดตามไป พวกเขาเห็นเรือบรรทุกยานพาหนะกำลังลำเลียงยานพาหนะจากบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของเอเชีย แต่เรือลำถัดไปจะไม่มาจนกว่าจะพ้นไปอีกสองวัน

บีบีซีระบุว่าท่าเรือฮัมบันโตตาแห่งนี้ได้เงินกู้ยืมทุนสร้างจากจีนและสร้างโดยบริษัทจีน โดยมีบูลค่าถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 34,000 ล้านบาท) แต่ก็กลายเป็นท่าเรือที่ดูเงียบเหงาไม่มีใครมาทำธุรกิจมากพอ ประเทศศรีลังกาเองก็ดิ้นรนอย่างหนักในการหาเงินมาใช้หนี้จีนทำให้พวกเขาถูกบีบให้ลงนามในข้อตกลงที่จะให้จีนถือหุ้นท่าเรือดังกล่าวเพื่อหักหนี้บางส่วน แต่สัญญาขอถือหุ้นดังกล่าวให้จีนถึงหุ้นมากถึงร้อยละ 80

ราวี การุณานายาเก รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของศรีลังกาเปิดเผยว่าการสร้างท่าเรือนี้เป็นการกระทำที่ราคาแพงเกินกว่าจะจ่ายได้แต่ก็ไม่ได้ส่งผลดีอะไรทางเศรษฐกิจกลับมาเลยบีบให้พวกเขาต้องมองหาทางเลือก

ก่อนหน้านี้มีการวางเล็งให้ท่าเรือฮัมบันโตตาเป็นท่าเรือที่จะนำเรือมาที่ศรีลังกามากขึ้นและลดความหนาแน่นของท่าเรือโคลอมโบที่เป็นแหล่งขนส่งที่สำคัญของเอเชีย ประเทศศรีลังกาเองก็เป็นแหล่งเส้นทางขนส่งน้ำมันทางเรือจากตะวันออกกลางทำให้จีนมองว่าเป็นสาเหตุหลักที่พวกเขาจะเลือกลงทุน นอกจากนี้ยังเข้ากับโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (One Belt, One Road) ที่เป็นความทะเยอทะยานของจีน แต่ก็เป็นโครงการที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้ง

บีบีซีระบุว่าสาเหตุที่ฮัมบันโตตาทำกำไรน้อยมากส่วนหนึ่งเป็นเพราะท่าเรือนี้อยู่ในที่ที่ค่อนข้างห่างไกลผู้คน ไม่มีแหล่งอุตสาหกรรมอยู่ใกล้ๆ เลย ทำให้ไม่มีผู้ใช้บริการประจำที่อยู่ใกล้ๆ แต่ในตอนนี้จีนเริ่มพยายามหารือกับรัฐบาลศรีลังกาเพื่อต้องการสร้างเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยต้องการซื้อที่ดิน 15,000 เอเคอร์เอาไว้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงาน

แต่การพยายามสร้างเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีนก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกับคนในท้องถิ่น เมื่อผู้อาศัยในพื้นที่ไม่ยอมยกบ้านและไร่นาของตัวเองให้ มีการประท้วงใหญ่จากชาวบ้านตั้งแต่ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ตำรวจใช้แก็สน้ำตาและปืนน้ำยิงสลายการชุมนุมมีผู้ชุมนุมบางคนถูกจับคุมขังหลายสัปดาห์ เรื่องนี้มีแต่จะยิ่งทำให้ความโกรธแค้นไม่พอใจหนักขึ้น หนึ่งในผู้ชุมนุม เคพี อินดรานี บอกว่าพวกเขาต้องการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาต่อต้านโครงการนี้ ไม่ใช่เพราะพวกเขาต่อต้านการพัฒนาแต่เพราะพวกเขาไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการโครงการนี้

ศรีลังกาติดหนี้จีนอยู่รวม 64,000 ล้านดอลลาร์ โครงการที่มีคนประท้วงนี้เป็นโครงการที่ทำกับจีนเพื่อให้จีนลดหนี้ให้ 8,000 ล้าน โดยในตอนนี้รายได้ร้อยละ 95 ของศรีลังกาหายไปกับการชดใช้หนี้ให้จีน ส่วนหนี้จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่ได้ทำกำไรอะไรเลยมีแต่จะสร้างความเสียหาย

นอกจากท่าเรือเกือบร้างอย่างฮัมบันโตตาแล้ว โครงการอื่นๆ ที่จีนเข้าไปสร้างก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรมาก อย่างสนามบินนานาชาติที่ห่างจากฮัมบันโตตาไปเพียง 30 กม. มีเที่ยวบินออกจากสนามบินเพียงแค่ 5 ไฟล์ทต่อ 1 สัปดาห์มีผู้โดยสารขึ้นเครื่องเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ศูนย์ประชุมสุดทันสมัยก็มีการใช้งานแค่ไม่กี่ครั้ง สนามแข่งกีฬาคริกเก็ตก็มีคนเอาไว้เช่าจัดงานแต่งงานนานๆ ครั้งเท่านั้น

แต่ก็มีโครงการบางอย่างของจีนที่ใช้ได้จริงในศรีลังกา เช่นพวกโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนและทางหลวงที่เอื้อต่อการเดินทางข้ามเมืองทำให้การท่องเที่ยวศรีลังกาดีขึ้นโดยที่กาท่องเที่ยวศรีลังกาเป็นแหล่งรายได้อันดับแรกของประเทศ

แองเจลา มานซีนี ทีปรึกษาด้านธุรกิจและการลงทุนของรัฐบาลกล่าวว่าผลในระยะสั้นคือจะเป็นการสร้างงานให้คนศรีลังกา ส่วนผลในระยะยาวคือจะทำให้ศรีลังกาเข้าสู่ส่วนหนึ่งของระบบเส้นทางการค้าโลกที่จีนหนุนหลังอยู่

โครงการของจีนส่วนมากสร้างขึ้นในสมัยของอดีตประธานาธิบดี มหินทรา ราชปักษา เมื่อรัฐบาลใหม่ขึ้นสู่อำนาจในปี 2558 ก็มีการให้สัญญาว่าจะลดการพึ่งพาจีนลงแต่แรงกดดันทางการเงินก็บีบให้พวกเขาต้องกลับมาตามใจจีน รัฐบาลใหม่ของศรีลังกาเคยสั่งระงับโครงการใหญ่ที่จีนลงทุนอย่างการสร้างเมืองแถบชายฝั่งโคลอมโบ แต่พวกเขาก็กลับมาดำเนินโครงการต่ออีกครั้งเพราะไม่สามารถปฏิเสธเงิน 1,400 ล้านดอลลาร์ได้

แผนการของจีนต้องการเปลี่ยนชายหาดชายหาดประวัติศาสตร์ที่มีทางเดินและสวนสาธารณะทอดยาวริมหาดอย่างกัลล์เฟซให้กลายเป็นเมืองใหญ่ภายในปี 2573 ที่เต็มไปด้วยอาคารบรรษัทอวดความฟุ่มเฟือย รวมถึงอพาร์ทเมนต์ โรงแรม รีสอร์ท ห้างสรรพสินค้า และท่าจอดเรือขนาดเล็ก โครงการนี้มีผู้สร้างและผู้ที่ได้ประโยชน์ใหญ่ๆ คือ บริษัทไชนาฮาร์เบอร์เอนจิเนียร์ริงจากจีน (CHEC) ที่จะมีสิทธิเหนือที่ดิน 2 ใน 3 ที่ทำการค้าได้เป็นเวลา 99 ปี ซึ่งผู้ร่วมทำโครงการเมืองท่ามองว่าจะเป็นการกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติให้กับศรีลังกาได้

แต่โครงการเมืองริมหาดนี้ก็ถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่รวมถึงกลุ่มชาวประมงที่ทำการชุมนุมประท้วง พวกเขากังวลว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยที่พวกเขาไม่เชื่อผลการศึกษาจากองค์กรของรัฐบาล นอกจากนี้ประชาชนยังกังวลว่าจีนจะเข้ามามีอิทธิพลกับศรีลังกามากขึ้น อรุณา โรจันธา ชาวประมงในพื้นที่กล่าวว่า "รัฐบาลควรจะปกป้องผืนแผ่นดินของพวกเราเอง ไม่ใช่ขายมัน"

ทางด้านรัฐบาลศรีลังกาไม่ได้มีอำนาจต่อรองมากนัก รัฐมนตรีต่างประเทศของศรีลังกาก็อ้างว่าพวกเขาต้องการให้ต่างชาติเข้าหาชาติใดก็ได้ พวกเขาจำเป็นต้องขายประเทศตัวเองโดยทำให้ "การทูตเชิงเศรษฐศาสตร์" เป็นจุดขายของศรีลังกา

 

เรียบเรียงจาก

Sri Lanka: A country trapped in debt, BBC, 26-05-2017

http://www.bbc.com/news/business-40044113

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net