Skip to main content
sharethis

องค์การแรงงานระหว่างประเทศชี้บทบัญญัติ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว บางประการอาจกระทบสิทธิของ เช่น อำนาจในการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย กำหนดบทลงโทษอาจมากเกินไป ร้องปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งองค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้าง

4 ก.ค. 2560 รายงานข่าวจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แจ้งว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายแรงงานข้ามชาติในช่วงเวลาสั้นๆ ได้ก่อให้เกิดความยากลำบากแก่แรงงานและภาคอุตสาหกรรมในช่วงเวลาที่แรงงานและภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญความท้าทายในการปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ความท้าทายเหล่านี้มีผลกระทบโดยตรงต่อการวางแผนธุรกิจและการสร้างความมั่นใจเรื่องการคุ้มครองแรงงานสำหรับแรงงานข้ามชาติ

พัฒนาการล่าสุดยืนยันว่าการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและกับทางสังคมมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ILO ขอย้ำถึงความสำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายในการใช้การเจรจาแบบไตรภาคีอย่างเป็นประจำ และความจำเป็นในการพัฒนาและการบังคับใช้นโยบายตามหลักฐาน

ระยะเวลาผ่อนผันตามแผนที่ประกาศโดยรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นโอกาสที่จะใช้การเจรจาแบบไตรภาคีในการที่จะพิจารณาถึงผลประโยชน์ของนายจ้างในด้านความต่อเนื่องทางธุรกิจและการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและความมั่นคงในการทำงานและสถานะการทำงานของแรงงาน

การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายต้องการการมีส่วนร่วมและการเจรจากับแรงงานและนายจ้างโดยผ่านกลไกการปรึกษาหารือรวมทั้งการให้ข้อมูลล่วงหน้า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. พ.ศ. 2560 พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ได้รับการประกาศใช้และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. พ.ศ.2560 เพียงแค่หนึ่งวันหลังจากการประกาศใช้


พ.ร.ก. ฉบับนี้มีบทบัญญัติที่ดีเกี่ยวกับการจ้างงาน เช่นการไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ กองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรได้ถูกแทนที่ด้วยการกองทุนการจัดการการจ้างงานแรงงานข้ามชาติซึ่งมีการคุ้มครองที่กว้างขวางขึ้นและไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากแรงงาน

แม้จะมีพัฒนาการที่สำคัญเหล่านี้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ก็มีบทบัญญัติบางประการที่อาจกระทบสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เช่น อำนาจในการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย นอกจากนี้พระราชกำหนดดังกล่าวได้กำหนดบทลงโทษที่หนักสำหรับนายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฏหมายและยังคงมีบทลงโทษทางการเงินและทางอาญาต่อตัวแรงงานซึ่งอาจมากเกินไป

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเรียกร้องให้มีการปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องหลัก อันได้แก่ องค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้าง ในขณะที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ มีความยินดีสำหรับบทบัญญัติที่มีการพัฒนาที่ดีที่เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ องค์การแรงงานระหว่างประเทศขอแนะนำว่ารัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยวิเคราะห์ผลกระทบทางกฎหมาย ทบทวนข้อกำหนดเรื่องการแบ่งเขตและพิจารณาขอบเขตการลงโทษที่บังคับใช้กับนายจ้างและลูกจ้าง

ILO จะยังคงสนับสนุนรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและภาคประชาสังคมให้ทำงานร่วมกันในการปรับปรุงกรอบกฎหมายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการเพิ่มการคุ้มครองทางกฎหมายต่อแรงงานบังคับตามพิธีสารบังคับแรงงานของ ILO (Forced Labour Protocol ) และการให้บริการตรวจสอบแรงงานจะเป็นบททดสอบที่สำคัญของความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา การจัดระเบียบและการเจรจาต่อรองสิทธิสำหรับแรงงานที่ปรากฏในอนุสัญญาหลักของ ILO เช่น อนุสัญญาฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ยังคงเป็นส่วนสำคัญที่ในการใช้แก้ปัญหา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net