'ผสานวัฒนธรรม' ขอ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ยุติการคุกคาม 'อัญชนา นักปกป้องสิทธิฯ'

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอให้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ยุติการคุกคาม อัญชนา หีมมีหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ นักปกป้องสิทธิฯ หลังบันทึกข้อร้องเรียนลงในเฟซบุ๊ก พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย 

อัญชนา หีมมีหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ

5 ก.ค.2560  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ ขอให้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 อัญชนา หีมมีหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ ซึ่งทำงานด้านการช่วยเหลือหญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ ได้เยี่ยมและสอบถามหญิงคนหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ซึ่งเป็นคุณแม่ท้อง 9 เดือนและสามีของเธอได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัวไว้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพราะต้องสงสัยว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ หญิงคนดังกล่าวได้ร้องเรียนว่าในระหว่างที่สามีเธอถูกควบคุมตัว เธอพยายามขอเข้าเยี่ยมสามี แต่ต้องประสบกับความยากลำบากเพราะได้รับอนุญาตให้เยี่ยมเพียงครั้งละหนึ่งนาทีเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ระเบียบที่ทางค่ายอิงคยุทธบริหารได้กำหนดไว้ที่ให้ญาติเยี่ยมได้ครั้งละ 30 นาที เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้เหตุผลแก่เธอว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ อัญชนาได้บันทึกข้อร้องเรียนดังกล่าวและได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย ทั้งนี้โดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้หน่วยราชการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติ และเพื่อลดความคับข้องใจของประชาชนในสถานการณ์ความไม่สงบ

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2560 เวลาประมาณ 14:00 น. มีชายจำนวน 6 คน แต่งกายด้วยเสื้อผ้าลำลองมีสัญลักษณ์ป้ายชื่อทหารและใส่เสื้อยืดของกองทัพ ได้ไปยังร้านค้าของครอบครัว อัญชนา โดยหัวหน้ากลุ่มได้แจ้งให้ทราบว่าพวกตนเป็นเจ้าหน้าที่ทหารภาคประชาสังคมของ กอ.รมน.สงขลา หน่วยเฉพาะกิจ จ"สงขลา และ ภาคประชาสังคมของ กอ.รมน.ภาค 4  และได้แจ้งเหตุผลที่มา “เยี่ยม” อัญชนา ว่า “นาย” ได้กล่าวในที่ประชุมว่า อัญชณา โพสต์ข้อความบน เฟซบุ๊ค ทำให้ทหารได้รับความเสียหาย จึงได้ให้ทหารมาพบและแจ้ง อัญชนา เพื่อเตือนเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความโดยข้อความที่เจ้าหน้าที่ได้กล่าวถึงนั่นก็คือ 1. การโพสต์ข้อความเรื่องผู้หญิงท้องที่สามีถูกควบคุมตัวไปค่ายอิงคยุทธและไม่สามารถติดต่อได้และได้เยี่ยมแค่วันละหนึ่งนาที 2. การโพสต์ข้อความว่า กอ.รมน. ยังไม่ได้ถอนฟ้องในคดีสามนักสิทธิทั้งที่ กอ.รมน.ได้มีการให้คำมั่นสัญญาไว้แล้ว และ 3. การโพสต์เรื่อง ดาโห๊ะ มะถาวรที่อ้างว่าตนถูกทหารอุ้มตัวไป

เจ้าหน้าที่อ้างว่าการโพสต์เรื่องดังกล่าวนั้นทำให้ กอ.รมน.เสียหาย และแจ้งว่าทางราชการกำลังมีการจัดตั้งกลไกการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ยุติการดำเนินการการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก และให้แจ้งเรื่องที่จะโพสต์ไปยังหน่วยราชการก่อน  เจ้าหน้าที่ทหารที่ไปพบได้พูดคุยอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนจะเดินทางกลับ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า การที่บุคคลเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็นเพื่อตรวจสอบและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ นโยบายของรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่ประชาชนหรือไม่ เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนสามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิพลเมืองเมืองขั้นพื้นฐานในการตรวจสอบหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ ในการแสดงความคิดเห็น  และการเผยแพร่โฆษณา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 และตามกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2539 และมีผลใช้บังคับกับไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 การที่เจ้าหน้าที่หลายนายไปพบนักปกป้องสิทธิคนดังกล่าวและตักเตือนในลักษณะเช่นนี้ อาจทำให้ถูกมองไปได้ว่ามีเจตนาข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิได้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยเฉพาะกองทัพภาค 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ดังนี้ 1.  ให้เจ้าหน้าที่ยุติการกระทำใดๆที่อาจถูกมองได้ว่าเป็นการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในทุกรูปแบบทันที รวมทั้งยุติการฟ้องร้องดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้การคุ้มครองการดำเนินงานอย่างชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย 2. ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวกับความไม่สงบหรือผู้ต้องหาในทุกกรณี ขอให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบที่สอดคล้องกับกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน โปร่งใส่ตรวจสอบได้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาได้รับสิทธิเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเฉพาะสิทธิในการพบทนายความ สิทธิในการได้เยี่ยมจากญาติ เพื่อประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ไม่เสียงต่อการถูกทรมานหรือการปฏิบัติที่มิชอบด้วยประการต่างๆ

3. ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้มีการตราฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมานและการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหายอย่างเร่งด่วน เพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และอนุสัญญาป้องกันบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหายแห่งสหประชาชาติ เป็นการป้องกัน ปราบปราม และแก้ปัญหาการใช้อำนาจที่ผิดของหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งจัดตั้งกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด เพื่อประกันว่าผู้เสียหายสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว 4. ให้รัฐบาลดำเนินมาตรการตามที่คณะกรรมการการต่อต้านการทรมานได้เสนอแนะต่อรัฐบาลไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 เกี่ยวกับการตรวจสอบและการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง ในย่อหน้าที่ 24 ว่า “…ประเทศไทยรายงานว่า หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานสามารถเข้าตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังได้ รวมทั้งองค์กรเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ เมื่อมีการร้องขอและได้รับอนุญาตก่อน...”

และ 5. ให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนตามที่ได้สัญญาไว้กับนานาชาติเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559  ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรายประเทศตามกลไก UPR (Universal Periodical Review) เพื่อภาคยานุวัติพิธีสารเลือกรับต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน OPCAT (Optional Protocol, Convention against Torture) ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และเร่งให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติในการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวเพื่อป้องกันการทรมานที่อาจเกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท