Skip to main content
sharethis

ประยุทธ์ นั่งประธานประชุมบอร์ด EEC ครั้งที่ 2/60 เห็นชอบแนวทางการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง สัตหีบ มาบตาพุด ให้มีรถไฟทางคู่เข้าเชื่อมโยง-มีระบบบริการการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ เป็นโครงการหลัก EEC ยกระดับไทยสู่การเป็นศูนย์ทางเศรษฐกิจระดับโลก

6 ก.ค. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2560 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญของผลการประชุม ดังนี้

ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหลัก 3 แห่ง (แหลมฉบัง สัตหีบ มาบตาพุด) โดยมีรถไฟทางคู่เข้าเชื่อมโยงและมีระบบบริการการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) เป็นโครงการหลักของ EEC ที่จะยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับโลก ดังนี้ ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะมีระบบการจัดการแบบอัตโนมัติที่ทันสมัย สามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้า เพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านตู้/ปี จากปัจจุบัน 7 ล้าน ตู้/ปี และขนส่งรถยนต์เพิ่มจาก 1 ล้านคัน/ปี เป็น 3 ล้าน คัน/ปี และเป็นท่าเรือใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก  โครงการนี้อยู่ภายใต้การดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนได้ในปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จอย่างช้าในปี 2568  ด้านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 จะช่วยขยายการนำเข้าวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูง และ Bio-economy และรองรับ LNG เพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านตัน/ปี เป็น 62 ล้านตัน/ปี อยู่ภายใต้การดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะเปิดให้เอกชนลงทุนในปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ขณะที่ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ จะพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เพื่อรองรับการเชื่อมอ่าวไทย (สัตหีบ-กรุงเทพ-หัวหิน)  ซึ่งจะเร่งรัดการออกแบบ-ก่อสร้างอาคารท่าเรือเฟอร์รี่ให้แล้วเสร็จเพื่อดำเนินการได้ ภายในปี 2561  ส่วนท่าเรือสำราญกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเตรียมการ

สำหรับการมีรถไฟทางคู่เข้าเชื่อมโยง 3 ท่าเรือ และมีระบบบริการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) มีสาระสำคัญคือจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบการขนส่งของประเทศ ทำให้เพิ่มการขนสินค้าทางรางที่มาถึงท่าเรือ จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30  และทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลดลงจากร้อยละ 14 ของ GDP เป็นประมาณร้อยละ 12 หรือประหยัดลงได้ประมาณ 250,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบทางคู่สมบูรณ์จะมีการลงทุนปรับปรุงและสร้างทางคู่รวมทั้งสร้างศูนย์กระจายและรวบรวมสินค้า (ศูนย์ขนส่งตู้สินค้า In-land Container Depot: ICD และ ศูนย์รวมสินค้า Container Yard: CY ) เป็นเงินลงทุนประมาณ 68,000 ล้านบาท โดยสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม พิจารณาเห็นว่า สามารถปรับให้มีการให้บริการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Operation) เพื่อให้สามารถลดระยะเวลาขนส่งเฉลี่ย จากเดิม 24 ช.ม.หรือนานกว่า เหลือประมาณ 8 ช.ม. และจะรับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 รวมทั้งการพิจารณาจัดศูนย์ขนส่งตู้สินค้า (In land Container Depot: ICD) และ ศูนย์รวมสินค้า (Container Yard: CY) ตามความเหมาะสมระหว่างเส้นทางรถไฟจาก หนองคายถึงท่าเรือ แหลมฉบัง

ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ การร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน เพื่อให้การลงทุนสำคัญๆ ใน EEC สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว เพื่อรักษากระบวนการและมาตรฐานความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล ตรวจสอบ ตามการร่วมลงทุนกับเอกชน โดยทั่วไปตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 และจะสามารถลดระยะเวลาการอนุมัติโครงการโดยการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนร่วมกัน และคู่ขนานกัน ทำให้สามารถลดระยะเวลาในการดำเนินการเหลือ 8-10 เดือน (กรณีปรกติ 40 เดือน กรณี Fast Track 20 เดือน) ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะให้กับโครงการลงทุนหลักที่มีสำคัญสูงเท่านั้น โดยที่ประชุมได้อนุมัติ โครงการหลัก 4 โครงการ ได้แก่ (1) สนามบินอู่ตะเภา (2) รถไฟความเร็วสูง (3) ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 และ (4) ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบสถิติขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน EEC และ เห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ดังนี้ รับทราบสถิติขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน EEC (1) ระหว่างปี 2558 – 2559 มีการขอการลงทุนประมาณ 280,000 ล้านบาท (ร้อยละ 36 ของทั้งประเทศ) เป็น คำขอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายประมาณ 198,000 ล้านบาท  (2) ใน 5 เดือนแรกของปี 2560 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน EEC ประมาณ 23,400 ล้านบาท  โดยเป็น คำขอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกว่า 14,200 ล้านบาท

เห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC และให้ดำเนินการ ดังนี้ - เน้นการใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของการนิคมอุตสาหกรรมและเอกชนที่เหลือประมาณ 12,000 ไร่ และที่รอขอจัดตั้งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้วประมาณ 20,000 ไร่  มาใช้ให้เป็นประโยชน์ - ให้ประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในพื้นที่ 1,466 ไร่ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ประสานงานกับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีที่ดินเหลืออยู่เพื่อกำหนดให้เป็นเขตส่งเสริม อุตสาหกรรมเป้าหมายในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อให้สามารถระบุพื้นที่ลงทุนให้กับนักลงทุนที่สนใจทั้งไทย และต่างประเทศมาลงทุนได้ทันที

ที่ประชุมเห็นชอบให้ประกาศเขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) และ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรม ดิจิทัล (Digital Park Thailand: EECd) โดย EECi อยู่ภายใต้การดูแลของ  สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะทำหน้าที่เป็นฐานเชื่อมโยง และถ่ายทอดวิจัยและนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งอยู่ในบริเวณวังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง ขนาด 3,000 ไร่ และบริเวณอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขนาดพื้นที่ 120 ไร่ ส่วน EECd  อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะทำหน้าที่เป็นแหล่งลงทุนในอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลขนาดใหญ่ และพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงตามนโยบายของรัฐบาล ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขนาดพื้นที่ 709 ไร่ ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตามแผนงานและปัจจัยความสำเร็จ และนำความคิดเห็นของประชาชน ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไปประกอบการดำเนินงานด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการทำความเข้าใจในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC และแนวทางการพัฒนาคน และการศึกษา ที่ประชาชนในพื้นที่สนับสนุนและเห็นโอกาสที่จะได้รับการพัฒนา EEC และจะร่วมกันแก้ไขข้อกังวลโดยเห็นด้วยว่า EEC จะทำให้อนาคตดีขึ้น โครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น โอกาสประกอบอาชีพดีขึ้น ลูกหลานได้ประโยชน์ในอนาคต และประชาชนในพื้นที่ขอให้ช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม เช่น ความพอเพียงของน้ำ ระบบขนส่งสาธารณะ รวมทั้งให้เร่งการฝึกอบรมเยาวชนให้ทันการพัฒนา EEC ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดแนวทางดำเนินการ ให้ สกรศ. ผนวกแผนจังหวัดเข้ากับแผนปฏิบัติการ EEC โดย สกรศ. เพื่อนำไปสู่การแก้ไขในระบบเดียวกัน และให้ สกรศ. ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำโครงการยกระดับการพัฒนาความรู้ของคน โดยเฉพาะเยาวชนและผู้ทำงานในพื้นที่ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยเน้นให้สถานประกอบการ โรงงานมาช่วยสร้างหลักสูตรและฝึกอบรมกับสถานศึกษา โดยเฉพาะกับอาชีวะ ซึ่งมีโอกาสที่จะมีงานรายได้สูงจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย และให้เร่งทำหลักสูตรเฉพาะร่วมกับบริษัทที่มาลงทุนและมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก (ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2560 เรื่องการส่งเสริมการจัดการการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ)  

ที่ประชุมยังรับทราบโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และ Start Up ในพื้นที่ EEC ตามที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดพื้นที่บริเวณด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมแหลม ฉบัง พื้นที่ประมาณ 350 ตารางเมตร ให้เป็น Co Working Space สำหรับกลุ่ม Start up ในพื้นที่  ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนระบบ Internet ความเร็วสูง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงการจัดหลักสูตรสำหรับ SMEs และรับทราบการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมในอนาคต (Industry Transformation Center : ITC) ที่กรุงเทพฯ (กล้วยน้ำไท) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ในทุกคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ จะเปิดศูนย์ให้บริการอย่างเป็นทางการปลายเดือนกรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC ให้มีการปรับการเกษตรให้สอดคล้องกับการพัฒนาของ EEC และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้พื้นที่ EEC ได้รับความมั่นใจเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นผู้รวบรวมและนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกต่อไป และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดดำเนินการโครงการรถไฟทางคู่เชื่อมโยงจาก EEC ต่อไปยังทวาย-ย่างกุ้ง-ติลาวา เพื่อให้เชื่อมโยงไปจนถึงอินเดีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net