ชำแหละแก้ กม.บัตรทอง ‘ชนชั้นกลาง’ โดนก่อน เสี่ยงยา-หมอขาดแคลน ปชช.ต้องร่วมจ่าย

ภาคประชาชนจัดเวทีค้านแก้กฎหมายบัตรทอง เพราะกำลังทำลายหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ชำแหละข้อเสียทำหมอ-ยาขาดแคลน ปชช.อาจต้องร่วมจ่าย เสนอตัดคำว่าร่วมจ่ายและรวมระบบสวัสดิการทั้ง 3 ระบบเข้าด้วยกัน ย้ำพร้อมเคลื่อนไหวทุกวิถีทางหากรัฐบาลยังดึงดัน

วันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ขณะที่คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำลังพิจารณากฎหมายและความคิดเห็นต่างๆ ทางด้านภาคประชาชนและเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพก็ได้จัดเสวนาคู่ขนาน ในหัวข้อ ‘แก้ กม.บัตรทองอย่างไร ให้ประชาชนได้ประโยชน์?’ ที่โรงแรมไมด้า งามวงศ์วาน

ในงานดังกล่าว ตัวแทนจากภาคประชาชนและเอ็นจีโอ ได้อธิบายถึงความสำคัญของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและความจำเป็นที่จะต้องปกป้องไม่ให้เกิดการทำลายหลักการนี้ลงจากการแก้ไขครั้งนี้ โดยชโลม เกตุจินดา จากเครือข่ายผู้บริโภคสงขลา กล่าวถึงอดีตครั้งที่มีการรวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ เพื่อผลักดันกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น ซึ่งเป็นการร่วมมือของทุกกลุ่ม

บัตรทองคือหลักประกันชีวิตของประชาชน เสนอตัดคำว่าร่วมจ่ายออก

ภายหลังจากเกิดกฎหมายขึ้น ทำให้ภาคประชาชนในพื้นที่สามารถมีส่วนร่วมในการทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเข้าใจบริบทและมีความคล่องตัวมากกว่าหน่วยงานราชการ ชโลม เสนอว่า

“ให้ตัดคำว่าร่วมจ่ายออกและทำให้สามกองทุน (สวัสดิการข้าราชการ, ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ใช้ระบบรักษาพยาบาลร่วมกัน ต้องทำให้สิทธิใกล้เคียงกัน ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการเสนอการปรับปรุงกฎหมายมาตลอด แต่ข้อมูลเหล่านี้เข้าไม่ถึงคณะกรรมการแก้กฎหมายเลย”

ด้าน บุษยา คุณากรสวัสดิ์ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดเชียงใหม่ เล่าประสบการณ์ของตนว่า ครอบครัวของตน แม่ต้องผ่าตัดเข่าทั้งสองข้าง ส่วนพี่ชายก็เป็นลูคีเมีย ซึ่งต้องใช้เงินในการรักษาสูงมาก หากไม่มีหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง ครอบครัวของตนอาจล้มละลายไปแล้ว ดังนั้น บัตรทองจึงทำให้ชีวิตมีหลักประกันที่มั่นคง เมื่อหลักประกันนี้กำลังถูกสั่นคลอนจึงจำเป็นต้องออกมาสู้

“บัตรทองมีการใช้ข้อมูลจากการศึกษามหาศาล จึงมีการพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ แม้มีงบจำกัด บัตรทองก็สามารถให้ยารักษาโรคหัวใจได้ ถึงจะแพงมาก แต่เพราะมีกระบวนการต่อรองทำให้ค่ายาถูกลง แต่ข้าราชการและครอบครัว 5 ล้านคนกลับใช้เงินครึ่งหนึ่งของประชาชนในระบบหลักประกัน หรือข้าราชการ 1 คนใช้เงินเท่ากับประชาชนในระบบหลักประกัน 4.3 คน

“ยุคนี้ถ้าแก้กฎหมายบัตรทองได้ จบเลย เพราะจะเท่ากับตีเช็คเปล่า แม้ว่าที่ผ่านมากฎหมายจะมีเรื่องร่วมจ่าย แต่สัดส่วนกรรมการที่มีอยู่ทำให้ยันไว้ได้ตลอด ถ้าปล่อยให้แก้ได้ มีการเปลี่ยนสัดส่วนคณะกรรมการเท่ากับตีเช็คเปล่าให้คนที่ทำงานตามอำนาจ ตามกระแส ตามพรรคพวก”

ด้าน มีนา ดวงราศี จากเครือข่ายผู้หญิงภาคอีสาน มองว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้จะทำให้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนลดน้อยลง

“สถานการณ์จริงตอนนี้ให้สาธารณสุขจังหวัดควบคุมกำกับการขอเงินของ รพ.สต. (โรงพยาบาลสุขภาพตำบล) จะขอโครงการต้องส่งมาให้พิจารณาที่สาธารณสุขจังหวัดก่อน อ้างว่าเพื่อทำให้ถูกต้อง ทำให้ รพสต. ไม่มีสภาพคล่องในการทำงาน อยากทำให้สอดคล้องกับพื้นที่ก็ทำไม่ได้ กฎหมายที่จะแก้ก็ทำให้ขาดการมีส่วนร่วม ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ ถ้าผ่านจะเกิดการกระจุกตัวการให้บริการสาธารณสุขในแบบของรัฐเท่านั้น”

ชนชั้นกลางในระบบจะเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรกที่จะต้องร่วมจ่าย เพราะถูกตีความว่าไม่ใช่คนจน

มีนา กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันสุขภาพจะต้องยึดหลักการที่เป็นหัวใจ 3 ข้อไว้ให้ได้ คือต้องครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย, ต้องครอบคลุมทุกบริการสาธารณสุข และต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งการแก้ไขกฎหมายที่กำลังดำเนินการอยู่นี้กำลังทำให้ 3 หลักนี้สั่นคลอนและหดหาย

สิ่งที่ประชาชนจะสูญเสียจากแก้กฎหมายรอบนี้

ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า หลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือการแยกผู้ซื้อกับผู้ให้บริการออกจากกัน, เป็นระบบบริการที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ สำหรับคนทุกคนอย่างเท่าเทียม และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการให้ดียิ่งขึ้น แต่การแก้ไขกฎหมายรอบนี้กำลังจะทำให้ประชาชนต้องสูญเสียอะไรบ้าง เขาแจกแจงออกมาดังนี้

หนึ่ง-อาจมีการปรับเพิ่มจำนวนเงินร่วมจ่ายต่อครั้งที่ไปรักษาพยาบาล เพราะไม่ตัดคำนี้ออกจากมาตรา 5 วงเล็บ 2

สอง-ชนชั้นกลางในระบบจะเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรกที่จะต้องร่วมจ่าย เพราะถูกตีความว่าไม่ใช่คนจน อย่างไรก็ตาม นิมิตร์ย้ำว่าระบบหลักประกันหลักประกันสุขภาพไม่ใช่ระบบของคนจน แต่เป็นสิทธิประโยชน์ของทุกคนที่จะได้รับบริการจากรัฐ และถ้ามีการแก้สัดส่วนกรรมการได้ ชนชั้นกลางจะเป็นกลุ่มแรกที่เสี่ยง

สาม- เมื่อไหร่ที่ผู้ได้รับสิทธิประกันสังคมออกจากงาน ถ้าหางานไม่ได้ใน 6 เดือนหรือเมื่ออายุครบ 55 ปี จะถูกโยกมาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้ากฎหมายถูกแก้ตอนนี้ อนาคตคนกลุ่มนี้ก็จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น คนที่อยู่ในระบบประกันสังคมจึงเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย

สี่-โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงมีความเสี่ยงที่จะถูกเรียกเก็บเงินหรือร่วมจ่าย แต่รัฐธรรมนูญระบุว่าต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ เหตุนี้จึงควรแก้กฎหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีกลไกต่อรองราคายา ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้แก้กฎหมายไม่สนใจ

ห้า-ประชาชนจะเสียสิทธิการมีส่วนร่วมบริหารจัดการการส่งเสริมและป้องกันโรค เพราะกฎหมายจะแก้ว่าถ้าประชาชนต้องการทำงานส่งเสริมและป้องกันต้องติดต่อให้โรงพยาบาลเป็นผู้เขียนโครงการให้

หก-ประชาชนจะเสียสิทธิในการเสนอ ปรับปรุง หรือแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ เพราะสัดส่วนกรรมการจะหายไป

เจ็ด-ประชาชนอาจเสียโอกาสในการได้รับยาต่อเนื่องกรณีโรคเรื้อรัง หรือเสียโอกาสในการซื้อยาในราคาที่เป็นธรรม และอาจเผชิญปัญหาการขาดแคลนยาในบางช่วง

แปด-ในอนาคตอาจเสี่ยงกับการมีผู้ให้บริการไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย เพราะถ้ามีการแยกเงินเดือนจากค่าเหมาจ่ายรายหัว จะทำให้ค่าเหมาจ่ายรายหัวไม่สัมพันธ์กับจำนวนประชากร ในพื้นที่ที่มีประชากรมาก แต่ห่างไกล แพทย์อาจไม่ต้องการไปอยู่ เงินเหมาจ่ายรายหัวที่รวมเงินเดือนนี้ก็ยังสามารถนำไปจ้างลูกจ้างชั่วคราวได้ หากแยกออกจากกันอาจทำให้เกิดการขาดแคลนแพทย์ในบางพื้นที่ และเกิดการกระจุกตัวของแพทย์ในเขตเมือง

เก้า-ประชาชนต้องรีบป่วยตั้งแต่ต้นปี เพราะปลายปีเงินอาจหมด เนื่องจากในกฎหมายใช้คำว่า ให้คิดค่าใช้จ่ายที่สะท้อนต้นทุน ณ เวลาปัจจุบัน ตอนนี้หลักประกันสุขภาพจ่ายราคาตามรายโรคร่วม ซึ่งมีต้นทุนที่ถูกคิดไว้แบบถัวเฉลี่ยทั้งปี การแก้ว่าต้องสะท้อนต้นทุน ณ ปัจจุบัน หากต้นทุนเพิ่ม ผู้ป่วยก็ต้องร่วมจ่าย ประเด็นนี้เป็นการแก้โดยไม่บอกประชาชน

นิมิตร์ เสนอว่า หากจะแก้กฎหมายหลักประกันจะต้องตัดเรื่องร่วมจ่ายออกจากกฎหมาย รวมทั้งต้องรวมระบบสวัสดิการสุขภาพเข้าเป็นระบบเดียวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ที่ไม่ทำ เพราะตอนนี้รัฐไทยเป็นรัฐราชการ ข้าราชการเป็นใหญ่จึงทำให้แก้ยาก

ภายหลังการเสวนา นิมิตร์ ได้กล่าวในการแถลงข่าวว่า

“ถ้ายังมีการแก้ในประเด็นที่มีความขัดแย้งกันอยู่ เครือข่ายประชาชนจะจับตามอง และเราก็พร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ทุกวิถีทาง เพื่อหยุดยั้งการแก้ในประเด็นที่เห็นต่าง ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าพี่น้องทุกคนหวงแหนระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะเป็นหลักประกันด้านสุขภาพของคนทุกคน เราคิดว่าเราพร้อมที่จะลุกขึ้นมาปกป้อง ถ้าคุณแก้ แล้วทำให้แย่”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท