Skip to main content
sharethis

‘ปกป้อง’ ชี้ หลังรัฐประหาร ไทยพีบีเอสควรกล้าชนกับฝ่ายรัฐ เปิดพื้นที่ให้ความจริงหลากหลาย ต้องแก้โจทย์ ‘ทำรายการดีที่มีคนดู’ ให้คุ้มเงินภาษี 2,000 ล้าน หากประชาชนเห็นคุณค่าก็จะปกป้องหากรัฐเข้าแทรกแซง เสนอ ควรทบทวนระบบบริหารงานภายใน ทำไมคนมีศักยภาพไม่อาจอยู่ในองค์กร พบ รายงานการประชุมนโยบายไม่ถูกนำเสนอในเว็บไซต์ตั้งแต่ปี 57

ปกป้อง จันวิทย์: รูปจากเพจ นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)

วงเสวนาเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเชิงสร้างสรรค์ The Creative Forum “วงแชร์ : สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะประมาณไหน" ร่วมมองอนาคตใหม่สื่อสาธารณะ วันที่ 5 ก.ค. 2560 ณ ไทยพีบีเอส Convention Hall 2 อาคาร D ชั้น 2 ดำเนินรายการโดย หทัยรัตน์ พหลทัพ และ โกวิท โพธิสาร

ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการร่วม the101.world และผู้วิจัย โครงการประเมินผลการดำเนินงานไทยพีบีเอสประจำปี 2552 กล่าวว่า

“10 ปีของไทยพีบีเอสเป็นการทำงานที่ท้าทายและเต็มไปด้วยความคาดหวัง ผมอยากเห็นเหมือนหลายๆ คน ที่อยากเห็นสื่อมืออาชีพที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ขึ้นต่ออำนาจรัฐและทุน มีพื้นที่ให้กับประเด็นและผู้คนที่ไร้อำนาจต่อรองหรือเห็นต่างจากรัฐ และมีพื้นที่ให้ประเด็นและผู้คนที่ตลาดไม่สนใจ ที่มีค่าแต่ไม่มีมูลค่าตลาด เราต้องการสื่อที่ให้ปัญญาความรู้แก่สังคม ทำหน้าที่ตลาดวิชาที่เข้าถึงคนวงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำรายการดีที่มีคนดู ซึ่งยาก ต้องอาศัยองค์ความรู้ในวิชาชีพสื่อมาแปลงความรู้ไปสู่สังคมได้อย่างมีพลังW

ในช่วงวิกฤตเรายิ่งต้องการสื่อที่ทำหน้าที่รายงานความจริงแต่ละชุดอย่างรอบด้านครบถ้วน เปิดพื้นที่ให้ความจริงหลากหลาย

คนทำสื่อต้องเก่งพอที่จะขุดความจริงมาตีแผ่และมองเห็นถึงความสัมพันธ์และเชื่อมโยงความจริงแต่ละชุด กล้าหาญพอที่จะเอาความจริงที่ไม่มีใครกล้าพูดหรือผู้มีอำนาจไม่อยากฟังออกมารายงานสู่สาธารณะแม้ว่าต้องชนกับรัฐบาลก็ตาม

ถ้าสื่อสาธารณะทำหน้าที่ได้ดีก็จะมีศักยภาพที่จะกำหนดหรือชี้นำทั้งวาระ ทิศทาง ผลลัพธ์ในเรื่องสำคัญของสังคมได้ ต้องถามตัวเองว่าเราสามารถ ask the right question ในประเด็นถกเถียงสำคัญหรือยัง บทบาทที่ถ้าเราทำได้เต็มที่เราคงมีโอกาสผลักดันนโยบายสาธารณะที่ดี สร้างพลังทางการเมืองและปัญญาความรู้ให้พลเมือง สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย และช่วยทำหน้าที่กำกับทางสังคม ให้สังคมข้ามพ้นวิกฤตเปลี่ยนผ่านได้อย่างสันติ มีสติ และมีปัญญา ถ้าทำหน้าที่ให้ดีแล้วก็จะเป็นตัวแบบที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพสื่อในเมืองไทยให้สูงขึ้นได้

ในช่วงหลังรัฐประหารสังคมไทยอาจต้องการสื่อสาธารณะมากที่สุด ในการรายงานความจริงชุดที่แตกต่างจากความจริงของรัฐ ในการเป็นธงนำส่งเสียงปกปักษ์รักษาเสรีภาพของทั้งสื่อและพลเมือง และในการติดตามตรวจสอบรัฐบาลที่ตรวจสอบไม่ได้เพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะ แต่คนจำนวนมากในสังคมได้ยินแต่เสียงแห่งความเงียบของไทยพีบีเอส

ถ้าเงียบจริงก็เป็นปัญหาใหญ่ว่าไทยพีบีเอสมีไว้ทำไม

ถ้าส่งเสียงแล้วคนไม่ได้ยินก็เป็นปัญหาอีกแบบหนึ่งที่ต้องทบทวนว่าพลังของไทยพีบีเอสหายไปไหน ทั้งที่มีคนทำงานภายใน มีผู้ผลิตภายนอก และมีเครือข่ายคนทำงานที่ตั้งใจดีมีคุณภาพ และมีสำนึกของคนทำสื่อสาธารณะอยู่เต็มไปหมด คำถามคือพลังของคนเหล่านี้ไม่ส่งผ่านไปสร้างพลังที่หน้าจอ ในช่วงสามปีหลังพลังของเราในการเขย่าสังคมลดน้อยถอยลงไปอย่างน่าใจหาย และคนรับรู้ถึงการมีอยู่ของเราน้อยลงเรื่อยๆ จากเรตติ้งที่เคยอยู่อันดับ 4 ของฟรีทีวี เดี๋ยวนี้ลงไปอยู่ต่ำกว่าที่ 15 ทั้งที่เราไม่ต้องลงสนามแข่งขันทางธุรกิจเหมือนอย่างช่องทีวีดิจิทอลส่วนใหญ่ที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกัน

เราได้รับเงินที่ส่งมาสร้างสรรค์ผลงานปีละ 2,000 ล้านทุกปี ไม่ต้องออกแรง หรือการไม่ต้องออกแรงนี่เองที่ทำให้เราเฉื่อย ไม่ต้องปรับตัว แต่น่าสนใจว่าทรัพยากรที่ลงไปกับผลลัพธ์ที่ออกมาทำไมห่างไกลจากความคาดหวังของเรามาก กระบวนการบริหารจัดการภายในองค์กรมีปัญหาอะไร ถึงเราไม่ต้องแข่งขันในสนามธุรกิจแต่เราต้องแข่งขันในหน้าจอ เพราะคนมีทางเลือกมาก เราต้องปรับตัวให้เป็นทางเลือกที่โดดเด่นแก่คนดูได้

วิธีคิดของบางคนที่นี่ เราทำของดีไปไม่ต้องสนใจเรตติ้ง หรือโทษคนดูเป็นหลัก จึงไม่ใช่ ผมเชื่อว่าหน้าที่ไทยพีบีเอสคือทำรายการที่ดีมีคุณภาพนั้นเป็นเงื่อนไขจำเป็นแต่ยังไม่เพียงพอ ถ้าเพียงพอต้องสู้กับคนดู ดึงคนดูให้กว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เป็นคนละเรื่องกับการ ประนีประนอม (compromise) บทบาทหน้าที่ของไทยพีบีเอส

นี่คือความท้าทายใหญ่ ถ้าคนไม่ดูเราต้องโทษตัวเอง ต้องเพิ่มการเข้าถึง (reach) ให้คุ้มกับเงินภาษีประชาชนและคุ้มกับความตั้งใจของทีมงาน

ถ้าเราโทษระบบเรตติ้งที่มีอยู่ ไม่ต้องสนใจ ใช้ไม่ได้ ไม่ดี ก็ต้องออกแบบเรตติ้งของตัวเองที่คิดว่ามันสะท้อนการทำงานของสื่อสาธารณะได้ดีแล้วใช้ประเมินตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่ไม่ผูกตัวเองกับการประเมินใดๆเลย แม้เรตติ้งจะมีข้อจำกัด มันก็เหมือน GDP ที่บอกอะไรเราหลายอย่าง และทำให้เราเทียบเคียงกับเพื่อนร่วมวงการได้ และมีประโยชน์ในการวางแผนการทำงานของเรา เราอยู่กับเรตติ้งที่เราเข้าใจข้อจำกัดของมัน แต่ไม่ใช่ใช้มันเป็นเป็นข้ออ้างในการไม่ต้องลงแรง

ในยุคที่มีการแข่งขันทางทีวีมากที่สุดและไทยพีบีเอสได้แต้มต่อจากเงิน 2,000 ล้าน เรากลับไม่มีความสามารถไปแข่งกับเพื่อนๆ ในการสร้างสรรค์หน้าจอคุณภาพ ยกระดับวงการทีวี

ต้องหันมาทบทวนว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เพราะระบบราชการที่ผลิตสร้างกันเองภายในที่ฉุดการเติบโตไปข้างหน้าและความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรไหม เรายังจัดซื้อจัดจ้างรายการเหมือนซื้อโต๊ะซื้อเก้าอี้กันอยู่ไหม หรือเป็นเพราะการกำกับดูแล (governance) ขององค์กรที่ถูกกำหนดมาตามกฎหมาย ซึ่ง 10 ปีแล้วอาจต้องมาคิดจริงจังว่ามันเหมาะกับการบริหารองค์กรสื่อไหม เช่น การมีผอ.และบอร์ดบริหาร มีคณะกรรมการ 9 คนซ้อนกัน มันเหมาะกับการบริหารองค์กรสื่อขนาดใหญ่ไหม องค์ประกอบของกรรมการนโยบายถ้าคิดว่ายังต้องมีอยู่เหมาะสมไหม คนเยอะไปไหม บทบาทหน้าที่ควรจะเป็นอย่างไร หรือไม่ต้องมีเลย ถ้าไม่ต้องมีแทนที่ด้วยอะไร ถ้ามี คนที่รู้เรื่องสื่อจริง ๆ มีน้อยเกินไปไหม คนที่เป็นมืออาชีพมีประสบการณ์การบริหารองค์กรขนาดใหญ่ที่มือถึงมีน้อยไปไหม รูปแบบการสรรหาเพื่อให้ได้คนที่หลากหลายจะเป็นอย่างไร ในที่สุดอาจถึงเวลาที่ต้องทบทวนเรื่องเหล่านี้

เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กร โดยเฉพาะพนักงาน มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและกระบวนการตรวจสอบฝ่ายบริหารมากน้อยแค่ไหน นอกจากนั้นผู้ชมทั่วไปที่ต้องเป็นเจ้าของไทยพีบีเอส มีส่วนร่วมในการแนะนำและตรวจสอบไทยพีบีเอสอย่างไร ประชาชนกับไทยพีบีเอสจะสัมพันธ์กันอย่างไรเพราะเราใช้เงินภาษีประชาชน

ผมเข้าไปในเว็บไซต์พยายามดูว่าเดี๋ยวนี้กรรมการนโยบายเขาประชุมอะไรกัน ซึ่งแต่ก่อนมีการลงรายงานการประชุมนโยบายให้คนทั่วไปดูได้ ตอนนี้รายงานการประชุมล่าสุดที่ลงในเว็บไซต์คือ 19 มิถุนายน 2557 เราไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นในนั้น มีข้อมูลอะไรที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะบ้าง

หรือเพราะการเมืองภายในองค์กรที่ฉุดรั้งไม่ให้เราไปข้างหน้า องค์กรไม่สามารถประสานคนจากหลากหลายที่มา หลากหลายความคิด ให้ทำงานร่วมกันและเห็นคุณค่าร่วมขององค์กรสื่อสาธารณะได้ กลับตีกันเอง ชิงอำนาจกันไปมา ไม่รู้บทบาทหน้าที่ของแต่ละคนที่ควรจะทำหรือเปล่า?

หรือเพราะการบริหารคน ทำไมคนที่มีจิตสำนึกสาธารณะด้วย เก่งด้วย มีวิสัยทัศน์ด้วย ถึงไม่เลือกมาทำงานที่นี่ ทำไมคนที่มีจิตสำนึกสาธารณะมีคุณภาพในไทยพีบีเอส ไม่สามารถใช้ศักยภาพในตัวเขาได้อย่างเต็มที่ ทำไมเรารักษาคนเหล่านี้ในองค์กรไม่ได้ ถ้าองค์กรไม่สามารถรักษาคนเหล่านี้ได้ แสดงว่าองค์กรมีปัญหาจริง ๆ เพราะสำหรับเขาเท่าที่ผมรู้จัก ใจเขาอยู่ที่นี่ จิตวิญญาณเขาอยู่ที่นี่ แต่เขาเหนื่อยและท้อจนสุดท้ายต้องลาออกไป

สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะก็ประมาณนี้แหละ จะเอาอะไรมาก ยังดีไม่พอ เราไม่ได้เทียบกับช่องอื่น เราต้องเทียบกับอุดมคติที่เราอยากไปถึงต่างหาก การมีอยู่ของสื่อสาธารณะต้องเพื่อผลักดันวงการสื่อและเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า ไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่ อยู่ตรงที่สังคมหยุดนิ่ง

สื่อสาธารณะต้องอยู่ข้างๆ กับสังคม แต่ต้องมีส่วนในการเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ถ้าล้ำหน้าสังคมได้ก็ดี แต่ต้องไม่ลืมที่จะพาสังคมให้ยกระดับตามไปด้วย ถ้าสังคมถอยหลังเราไม่ต้องถอยหลังตาม เป็นหน้าที่เราที่ต้องดึงรั้งสังคมไว้ แต่เมื่อไหร่ที่สื่อสาธารณะตามสังคมไม่ทัน ตามความเป็นจริงของสภาพของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมทั้งไทยและโลกไม่ทัน อาจรวมถึงการตามวงการสื่อไม่ทัน ยิ่งน่าเป็นห่วง

ไทยพีบีเอสต้องกล้าพูดความจริง กล้าวิจารณ์รัฐบาลแบบไม่กลัวถูกยุบ วัตถุประสงค์ของไทพีบีเอสก็กำหนดให้มีส่วนในการสร้างสังคมประชาธิปไตย ถ้าทำหน้าที่สื่อสาธารณะเต็มที่คนก็จะเห็นคุณค่าและปกป้องเวลาที่รัฐจะเข้ามารังแกหรือแทรกแซง แต่ถ้ากล้าๆ กลัวๆ ไม่แตกต่างอย่างชัดเจน คนก็ไม่รู้สึกหวงแหน ไม่เห็นความหมายของการมีอยู่ของไทยพีบีเอส ยิ่งถ้าคิดไปตามใจรัฐสุดท้ายโดนยุบด้วย แทรกแซงด้วย คนก็จะยิ่งหัวเราะเยาะแทนที่จะเข้ามาช่วยปกป้อง

ผมในฐานะคนรักไทยพีบีเอส รักมากก็ต้องวิจารณ์หนักมาก ผมหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งหน้าจอ ข่าว สารคดี และรายการ ที่ทำให้พวกเรากลับมาตื่นเต้นกับไทยพีบีเอสได้อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นอย่างนั้นได้หน้าจอและหลังจอต้องถูกปฏิรูปใหญ่ไปพร้อมกัน และที่สำคัญต้องกลับมายืนนิ่งๆ แน่นๆ ในจุดยืนที่สื่อสาธารณะควรตั้งมั่นอยู่ เชื่อว่าคนในที่นี้รู้อยู่แล้ว ปัญหาคือคิดจะทำรึเปล่า ยอมเหนื่อยไหม และกล้ารึเปล่าเท่านั้นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net