Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เพิ่งอ่านบทสัมภาษณ์ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ในประชาไทจบไปเมื่อกี้นี้ รู้สึกเหนื่อย

ผมเหนื่อยกับปัญหาหนึ่งของปัญญาชนไทยที่หมกมุ่นกับทฤษฎีก็คือ เอา concept ใหญ่ๆโตๆ มาใช้ในสังคมไทยอย่างผิดฝาผิดตัวกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ของไทยอยู่เป็นประจำ ที่มีอิทธิพลก็ส่งผลให้เกิดการออกนอกลู่นอกทางเสียหายกันไปมาก เช่นความคิดเรื่องกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ที่ไม่ค่อยมีอิทธิพลไม่ส่งผลมากไปกว่าการสร้างฝักฝ่ายทะเลาะกันเพราะมักใช้ท่าทีราวกับว่า concept เหล่านี้เป็นสัจธรรม เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แทนที่จะถือเป็นแนวคิดเพื่อช่วยให้เราเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรยึดถือมันมากเกินไป

ความเห็นเก่งกิจที่น่าสนใจมีหลายประเด็นแต่ส่วนใหญ่เป็นประเด็นย่อย เช่น ข้อวิจารณ์เอ็นจีโอ  ประเด็นสำคัญเป็นหลักที่สุดของบทความนี้คือเห็นว่า รัฐไทยในปัจจุบันเป็นรัฐเสรีนิยมใหม่ กลุ่มพลังที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบันมองไม่เห็นข้อนี่จึงไม่ได้ต่อสู้กับรัฐเสรีนิยมใหม่

หากยึดเอาคำนิยามลัทธิเสรีนิยมใหม่ตามที่อยู่ท้ายบทสัมภาษณ์เก่งกิจนั่นแหละ “หลักการของเสรีนิยมใหม่ ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อว่า เงื่อนไขที่จำเป็นของการอยู่ดีมีสุขของมนุษย์นั้นคือ เสรีภาพของปัจเจกบุคคล (ในการประกอบการ)  ” ดังนั้น “โครงสร้างเชิงสถาบันที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่คือ การคุ้มครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลอย่างเข้มงวดและระบบตลาดแข่งขันเสรี”  แล้วรัฐไทยในปัจจุบันเป็นเสรีนิยมใหม่หรือ

ในขณะที่ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เพิ่งเสนอไม่กี่วันก่อนว่าชนชั้นนำไทยผนึกกำลังรัฐราชการ เก่งกิจบอกว่าปัจจุบันเป็นรัฐเสรีนิยมใหม่ รัฐสองประเภทนี้ตรงข้ามกันสุดๆเลย การต่อสู้กับรัฐสองประเภทนี้ก็ต้องตั้งเป้าจับประเด็นตรงข้ามกันเลย คือจะสู้กับรัฐราชการก็ต้องเพิ่มอำนาจนอกระบบราชการ ลดบทบาทรัฐ การสู้กับรัฐเสรีนิยมใหม่ต้องสนับสนุนรัฐเพื่อไปทานกับอำนาจของเอกชน  ตกลงรัฐไทยเป็นยังไงกันแน่ ใครกันแน่จับแพะชนแกะทางทฤษฎีผิดฝาผิดตัว

อ.กุลลดา เกษบุญชู  อ.ไชยันต์ รัชชกูล และอีกหลายคน ได้ชี้ตรงกันว่า ทุนอาณานิคมไม่ได้ทำให้รัฐไทยกลายเป็นรัฐอาณานิคมไปด้วย  แต่กลับทำให้เกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ ซึ่งก็คือการเปลี่ยนรัฐจักรวรรดิแต่เดิมให้ผ่านเข้าสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ โดยหยิบยืมเทคโนโลยีทางการปกครอง รูปของรัฐ และระบบราชการจากรัฐที่ตกเป็นอาณานิคมมาใช้เพื่อผนึกอำนาจของเจ้าจักรวรรดิ  ผลของการทำอย่างนี้ไม่ได้ทำให้รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์เป็นรัฐอาณานิคมแต่อย่างใด  มีความต่างกันโดยพื้นฐานหลายอย่าง ประเด็นก็คือ ภายใต้อิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องทำให้รัฐและสังคมไทยกลายเป็นเสรีนิยมใหม่ไปด้วยเสมอไป

ตรงนี้แหละที่ผมมีปัญหากับหลายๆคนที่พูดถึงเสรีนิยมใหม่ในสังคมและของรัฐไทย คือมักแค่อธิบายว่า เพราะสังคมไทยรัฐไทยเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลก ก็ต้องรับอิทธิพลของเสรีนิยมใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตรงนี้ผมเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ครับ

แต่แทบไม่มีใครเลยที่อธิบายว่า ในเมื่อสังคมไทยแต่เดิมไม่ใช่สุญญากาศที่ปราศจากรัฐอยู่เดิม จะเรียกรัฐราชการ หรือรัฐ ป ช ต ท ม พ ม ห ก ษ ป ป ม หรืออะไรก็ตามที ในเมื่อสังคมไทยที่เป็นอยู่เดิมก่อนเสรีนิยมใหม่ มีทุนนิยมที่พัฒนามาตามประวัติศาสตร์ของไทยซึ่งไม่ค่อยเสรีสักเท่าไร แต่มีพุทธศาสนาแบบไทยๆ  มี hyper-royalism ฯลฯ ระบบเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมเหล่านี้อิงแอบกับรัฐทรงอำนาจทั้งนั้น ไม่เคยผ่านการปฏิวัติศาสนาจนเกิด secularism ไม่เคยผ่านการปฏิวัติมนุษย์นิยมจนเกิด individuality ซึ่งเป็นฐานของ liberalism ทั้งเก่าใหม่ ไม่เคยเกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยจนเกิด citizenship ไม่เคยเป็นรัฐที่เก็บภาษีแบบก้าวหน้าเพื่อสร้างระบบสวัสดิการและประกันสังคมเพื่อทัดทานกับผลของทุนที่กระทำต่อประชากรโดยทั่วไป จนกระทั่งทุนเอกชนต้องตอบโต้กับรัฐด้วย “เสรีนิยมใหม่” อย่างในโลกตะวันตก  แถมรัฐไทยเป็นรัฐกระจุกไม่กระจายอำนาจมาตลอดร้อยกว่าปี เหล่านี้เป็นสภาพที่ดำรงอยู่เดิมก่อนอิทธิพลเสรีนิยมใหม่ คงต้องอธิบายให้ได้ว่า เสรีนิยมใหม่เข้ามาปะทะต่อรองกับสภาพที่ดำรงอยู่เดิมอย่างไร ส่งผลให้รัฐและสังคมไทยเปลี่ยนเคลื่อนไปอย่างไร  ผมไม่เห็นการอธิบายในแง่นี้สักเท่าไหร่ไม่ว่าจะใครทั้งสิ้น และผมยังรออ่านอยู่ 

ถ้าบทสัมภาษณ์ของเก่งกิจมีจุดประสงค์หลักต้องการโต้ อ.เสกสรรค์ ก็กรุณาอย่าทึกทักว่ารัฐไทยเป็นรัฐเสรีนิยมใหม่โดยไม่อธิบาย ผมไม่รู้ว่าด้วยซ้ำเสรีนิยมใหม่ในสังคมไทยปัจจุบันหน้าตาเป็นอย่างไร 

แต่หวังว่าคงไม่ใช่แค่กระโถนทางทฤษฎีที่มีไว้รับขยะอะไรก็ได้เวลาเราคิดอะไรยากๆไม่ออก

เอาละพอดีกว่า เหนื่อย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net