Skip to main content
sharethis

ผู้แทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐระบุกฎหมายไทยริเริ่มแนวทางจริงจังหลังจากประชุมมติ ค.ร.ม. แต่กฎหมายยังไม่ครอบคลุมถึงสิทธิผู้ลี้ภัยให้คุ้มครองได้อย่างเต็มที่ ด้านอาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา ชี้ว่า ควรจัดการผู้ลี้ภัยอย่างมีมนุษยธรรม พบยังมีผู้ลี้ภัยและปัญหาผู้ลี้ภัยในไทยต่อเนื่องยาวนาน

ซ้ายไปขวา: นวลน้อย ธรรมเสถียร ศรีประภา เพชรมีศรี ศิววงศ์ สุขทวี อดิศร เกิดมงคล

สืบเนื่องจากงานเสวนาหัวข้อ “เปิดสถานการณ์ผู้ลี้ภัยกว่า 40 ชาติในประเทศไทย: สู่ความคุ้มครองและการจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย” วันที่ 22 มิ.ย.2560 ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เวลา 10.00-13.00 น.โดยมีศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, ศิววงศ์ สุขทวี และ อดิศร เกิดมงคล ผู้แทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐเป็ํนวิทยากร ดำเนินรายการโดย นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวอิสระและผู้ผลิตสารคดี

ปัญหาผู้ลี้ภัยยังมีต่อเนื่อง เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัย ระบุ กฎหมายควรพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัย

ศิววงศ์ กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยที่อยู่ภายในประเทศไทยไม่ได้มีแค่ชาวเมียนมาร์ แต่มีประเทศอื่นๆ ราว 40 ประเทศ ซึ่งมีทั้งกลุ่มคนที่ถือวีซ่าเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย และไม่มีเอกสารเดินทางอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะตกอยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์ เป็นเสมือนสินค้าสูงมาก โดยไม่ได้มีกฎหมายรองรับการจัดการผู้ลี้ภัยทำให้เกิดการขยายตัวของขบวนการนอกกฎหมาย เพราะ เขาไม่มีทางเลือกหาที่ทำกิน ผู้ลี้ภัยมาจากทั้งปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย ปาเลสไตน์ ซึ่งในประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายผู้ลี้ภัย นั่นแสดงถึงชีวิตทางสังคมไม่สามารถทำสิ่งใดได้ ตั้งแต่การหางาน การมีสิทธิพลเมืองในประเทศที่มาลี้ภัย  ดังนั้น พวกเขาจึงถูกกดขี่ให้ไปทำงานผิดกฎหมาย

จากคลิปสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย มีใจความว่า ผมไม่มีบ้าน อยู่ด้วยความลำบาก หนีภัยมาจากสงคราม ไม่สามารถเรียนหนังสือ หรือหางานทำในเมืองไทย นอกจากนี้ยังมีภาวะอุปสรรคทางการสื่อสารกับชุมชนคนไทยอีกด้วย เขาอยากให้มองว่าผู้ลี้ภัยเป็นแค่สถานะชั่วคราว ไม่อยากให้ยึดติดกับสถานะดังกล่าว

ชวรัตน์ ชวรางกูร ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบาย องค์กร Asylum Access Thailand กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศกว่า 120,000 คน ซึ่งเป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบจากประเทศเมียนมา กว่า 110,000 คน โดยอาศัยอยู่ในศุูนย์พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดน ไทย-พม่า เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี และผู้ลี้ภัยจากประเทศปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์  ซีเรีย และอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ภายนอกศูนย์พักพิงชั่วคราวที่กระจายอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกประมาณ 7,400 คน โดย จำนวนผู้ลี้ภัยได้เพิ่มขึ้นมาตลอดในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มคงที่ ณ ปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังมีผู้อพยพกลุ่มอื่นๆ ที่หลบหนีเข้ามายังประเทศไทยเพื่อแสวงหาการปกป้องคุ้มครองไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพชาวโรฮิงญาหรือผู้อพยพชาวอุยกูร์

ขณะที่ศิววงศ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 ไม่มีกฎหมายและนโยบายในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัย ประกอบกับการใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็นกรอบการดำเนินการหลักในลักษณะของการปราบปรามมากกว่าการปกป้องคุ้มครอง ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ลี้ภัยถูกจับกุมและถูกกักขังโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา  รวมถึงการถูกผลักดันกลับไปเผชิญอันตรายในประเทศบ้านเกิดบ่อยครั้ง ทั้งนี้สถิติผู้ลี้ภัย ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2560 มีผู้ที่ได้รับการรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจาก UNHCR จำนวนประมาณ 4,100 คน และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ที่รอผลการพิจารณาจาก UNHCR ประมาณ 3,300 คน  ในจำนวนผู้ลี้ภัยนี้มีผู้ถูกกักอย่างไม่มีกำหนด ณ สำนักงานตรวจคนเมืองอยู่ประมาณ 260 คน นอกจากนี้ผู้ลี้ภัยยังเผชิญปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ที่มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาในการเข้ารักษาในสถานพยาบาลของรัฐ รวมถึงการไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ครบถ้วน จากการไม่มีระบบประกันสุขภาพพื้นฐานที่ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงได้ ขณะที่สถานพยาบาลเอกชน แม้จะได้รับการบริการที่ดีกว่า แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูง  ขณะที่การเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยก็ยังมีปัญหาในภาคปฏิบัติ แม้ไทยจะมีนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน (Education For All) เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนโยบายซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กผู้ลี้ภัยเข้าถึงการศึกษาของภาครัฐและผู้ลี้ภัยยังไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจนทำให้ไม่สามารถขออนุญาตทำงานตาม พ.ร.บ. การทำงานของคนต่างด้าวได้ จึงต้องทำงานเพื่อความอยู่รอดแบบผิดกฎหมาย ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเข้าถึงการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

ผู้แทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐกล่าวเสริมว่า ผู้ลี้ภัยไร้รัฐชาวโรฮิงยายังคงลี้ภัยเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจุดมุ่งหมายของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องการไปต่อยังประเทศที่สาม โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ผู้ลี้ภัยไร้รัฐชาวโรฮิงยาจำนวนมากอาศัยการพึ่งพาจากขบวนการนำพาคนหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งหลายครั้งกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์ และเมื่อเจ้าหน้าที่ไทยดำเนินการจับกุมมาได้ จำนวนหนึ่งก็จะถูกกักขังอย่างไม่มีกำหนด หรืออยู่ในสถานะที่ได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะเหยื่อ หรือพยานจากการค้ามนุษย์ ทั้งยังได้ยกตัวอย่างมาตรการทางเลือกแทนการกักตัวผู้อพยพลี้ภัยในต่างประเทศ อาทิ มาเลเซียที่ไม่จับกุมและกักตัวผู้ที่เป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยหากมีบัตรสถานะการขอลี้ภัยที่ทาง UNHCR ออกให้ ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียมีกฎหมายคนเข้าเมืองอนุญาตให้กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิงตั้งครรภ์ และคนป่วย ไปพักอาศัยชั่วคราวในบ้านพักอาศัยในชุมชนได้ โดยไม่ต้องถูกควบคุมตัวในสถานกักตัวคนต่างด้าว

ศิววงศ์กล่าวว่า ประเทศแคนาดามีกฎหมายคุ้มครองผู้ลี้ภัยโดยมีหน่วยงานอิสระในการออกคำสั่งการกักตัวหรือปล่อยตัวผู้ต้องกัก โดยมีการพิจารณาคำตัดสินการกักตัวเป็นระยะๆ ซึ่งช่วยทำให้บุคคลไม่ถูกกักขังโดยไม่จำเป็น และยังมีโครงการนำร่องการประกันตัวโดยไม่ต้องใช้เงินประกัน ขณะที่ประเทศแซมเบียมีกลไกระดับชาติด้านการส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการให้ความคุ้มครองแก่ผู้อพยพที่เปราะบาง  และฮ่องกงมีระบบคัดกรองผู้ลี้ภัย โดยผู้ที่เข้าสู่กระบวนการคัดกรองสามารถได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐกำหนดและได้รับการคุ้มครองจากการผลักดันไปสู่อันตราย

นักวิชาการสิทธิมนุษยชนระบุ กฎหมายไทยสามารถแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยได้มีมนุษยธรรม แต่ยังไม่มีเข็มนโยบายชัดเจน

ศรีประภา กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ลี้ภัยเป็นเด็กและผู้หญิงมากขึ้น จากกรณีโรฮิงญาเข้ามาในเมืองไทยเป็นจำนวนมากในปี 2015 โดยนโยบายรัฐไทยในการจัดการผู้ลี้ภัยเป็นแนวทางป้องกันโดยควบคุมจำนวนผู้ลี้ภัยให้ได้มากที่สุดสะท้อนมิติของความมั่นคงมากกว่ามนุษยธรรม อย่างไรก็ตาม กฎหมายหลายๆ ฉบับของไทยก็ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัย อย่าง พ.ร.บ. เด็กและการศึกษา บังคับใช้อย่างครอบคลุมแก่ทุกคนที่อยู่ในประเทศ หรือ การแจ้งเกิดลูกของผู้ลี้ภัยก็ครอบคลุมและดูแลสิทธิพลเมืองของเด็กที่เกิดมา ซึ่งมีแนวคิดในการระบุตัวตนมากกว่าที่จะมองในแง่มุมมนุษยธรรมกับกลุ่มผู้ลี้ภัย แต่เธอเห็นด้วยว่าควรจัดการกับกลุ่มผู้ลี้ภัยอย่างมีมนุษยธรรม

ทั้งนี้ วาทกรรมการค้ามนุษย์และการค้ายาต่างๆ ที่ถูกผูกโยงกับผู้ลี้ภัย ทำให้ถูกมองว่าเป็น Irregular Migrants หรือเป็นผู้ลี้ภัยไม่มีเอกสารอนุญาตเข้ามาเป็นจำนวนมาก ศรีประภา กล่าวว่า กรณีศึกษาอุยกูร์ที่เป็นข่าวถูกนำส่งกลับจีนในช่วง 2 ปีก่อน จำนวน 109 คน ต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ในตอนนั้นไม่มีอิสระทางการเมืองสำหรับกลุ่มผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ การเมืองระหว่างประเทศที่กดดันให้ต้องส่งผู้ลี้ภัยกลับไปประเทศต้นทาง หรือส่งไปที่อื่น สะท้อนให้เห็นว่าการดูแลผู้ลี้ภัยของประเทศไทยไม่มีนโยบายที่ต่อเนื่องอย่างแน่ชัด

ด้าน อดิศร กล่าวว่า วิธีการจัดการกับผู้ลี้ภัยนั้นจัดการไปตามสถานการณ์ โดยปฏิบัติกันตั้งแต่สงครามอินโดจีน อย่างในล่าสุด มีมติ ค.ร.ม. ผู้ลี้ภัย ซึ่งได้ใช้คำนี้อย่างเป็นครั้งแรกและมีแนวทางชัดเจน ระบุไว้ว่า เห็นชอบกับการมีแนวทางให้จัดการผู้ลี้ภัยโดยสำนักนายกฯ และหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จัดการ และ การให้มีหน่วยงานผ่านการตั้งของกระทวงมหาดไทย

ตัวแทนเครือข่ายองค์กรระบุมติ ค.ร.ม. ไม่จับกุมสตรีและเด็ก วอนคำนึงสิทธิผู้ลี้ภัยก่อนออกนโยบาย

อดิศร กล่าวว่า   กรณีที่ประเทศไทยเห็นชอบการจัดตั้งกลไกการคัดกรองผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา มีคำถามว่า จะสามารถแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา จะเห็นว่า ก่อนการออกมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ไม่มีตัวแทนจากภาคประชาสังคม นักวิชาการ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ เข้าไปมีส่วนร่วมในการดูหรือร่วมแสดงความคิดเห็นในกฎหมายนี้เลย

อย่างไรก็ตามในระหว่างรอการดำเนินการออกกฎหมายและแนวทางในการคัดกรองผู้ลี้ภัย ภาครัฐควรพิจารณาให้มีมาตรการและแนวปฏิบัติระยะสั้นที่จะไม่จับกุมคุมขังกลุ่มผู้ลี้ภัยเปราะบาง ประกอบด้วยเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วย และพิจารณาผ่อนผันให้ผู้ลี้ภัยซึ่งถือเอกสาร UNHCR พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว

ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า "กรณีเด็กลี้ภัยอายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจากทางภาครัฐจะไม่จับกุมแล้ว ควรเพิ่มสวัสดิการให้กับเด็กเหล่านี้ด้วย ทั้งเรื่องการดูแลผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือ พม. รวมถึงการอนุญาติให้ซื้อหลักประกันสุขภาพ และสิทธิการได้เรียนหนังสือ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ควรระบุให้ชัดในร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย"

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องระบุให้ชัดในการดำเนินการคือ กรณีการขอประกันตัว ควรมีหลักเกณฑ์ในการประกันตัวที่ชัดเจน และมีอัตราจำนวนเงินประกันที่ไม่ควรสูงจนเกินไป เพราะปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 50,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมาก พร้อมกันนี้ นายอดิศร ยังมีข้อเสนอไปยังหน่วยงานรัฐ เกี่ยวกับมาตรการระยะยาว โดย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง และการจัดทำกลไกการคัดกรองผู้ลี้ภัยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2560 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  และคำนึงถึงถึงประสิทธิภาพ และการปกป้องสิทธิผู้ลี้ภัยเป็นสำคัญ รวมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุดในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัย ได้แก่   คณะอนุกรรมการคัดกรอง คณะอนุกรรมการด้านดูแลช่วยเหลือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัย และ คณะอนุกรรมการด้านอุทธรณ์การอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวในประเทศไทย ตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ผู้ลี้ภัยควรมีต่อไป

รายงานแนวโน้มผู้ลี้ภัยทั่วโลกประจำปี 2558 ของ UNHCR ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลของผู้พลัดถิ่นทั่วโลกจาก UNHCR รัฐบาลประเทศต่างๆ รวมถึงองค์กรพันธมิตร เช่น ศูนย์ติดตามผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internal Displacement Monitoring Centre)  ชี้ให้เห็นว่า ณ สิ้นปี 2558 นั้นจำนวนผู้พลัดถิ่นได้พุ่งขึ้นสูงถึง 65.3 ล้านคน เมื่อเทียบกับ ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 59.5 ล้านคน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกได้ข้ามผ่านสถิติ 60 ล้านคน โดยในจำนวนผู้พลัดถิ่น 65.3 ล้านคนนั้น กว่า 3.2 ล้านคนเป็นผู้ที่มาจากประเทศอุตสาหกรรมซึ่ง ณ สิ้นปี 2558 นั้นยังคงรอคอยที่จะได้รับสถานะผู้ลี้ภัย ถือเป็นจำนวนมากที่สุดที่ UNHCR เคยบันทึกมา โดย 21.3 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัยทั่วโลก ซึ่งมากกว่าปี 2557 ถึง 1.8 ล้านคน

กล่าวถึงสาเหตุผู้ลี้ภัยที่มีจำนวนมากขึ้นพบว่า “จำนวนของผู้ที่ต้องพลัดถิ่นเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากสงครามและการประหัตประหารเป็นสิ่งที่น่ากังวลอยู่แล้ว หากแต่ปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลด้านลบต่อผู้ลี้ภัยก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน” นายฟิลิปโป แกรนดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว   “จำนวนของผู้อพยพที่ต้องเสียชีวิตทางทะเลเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัว ซึ่งในขณะเดียวกันผู้พลัดถิ่นที่แสวงหาที่หลบภัยก็ยังโดนปิดกันโดยมาตรการชายแดนที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเมืองในประเทศนั้นที่ต้องการนำปัญหาของผู้ลี้ภัยมาเป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง ซึ่ง ณ ขณะนี้ความท้าทายที่สุดของเราคือความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในการหาทางออกไม่เฉพาะปัญหาผู้ลี้ภัย แต่หากรวมถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมนุษยชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจิตวิญญาญแห่งความสามัคคีจะนำพาพวกเราก้าวข้ามผ่านสถานการณ์ที่ต้องเผชิญอยู่”

อ้างอิงจาก https://www.unhcr.or.th/news/GlobalTrend_2015

ภาพประกอบจากงาน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net