Skip to main content
sharethis

เสวนาโดยกลุ่ม “พลเรียน” “จรรยาปัญญา: ว่าด้วยคุณงามความดีในโรงเรียนไทย” เอกศักดิ์ ยุกตะนันท์ ไล่เรียงแนวคิดเรื่องศีลธรรมผ่านมุมมองนักปรัชญาจากโสกราตีสถึงเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ และศีลธรรมในฐานะการปลูกฝังในโรงเรียนทำงานอย่างไรโปรดติดตาม

เอกศักดิ์ ยุกตะนันท์ ร่วมเสวนา "จรรยาปัญญา: ว่าด้วยคุณงามความดีในโรงเรียนไทย" (ที่มาของภาพประกอบ: เพจพลเรียน)

 

สรุปประเด็นจากเวที จรรยาปัญญา: ว่าด้วยคุณงามความดีในโรงเรียนไทย วงเสวนาซึ่งจัดโดยกลุ่ม "พลเรียน" ซึ่งจัดเมื่อ 17 มิถุนายน 2560 ที่้ห้อง EB4509 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วิทยากรประกอบด้วย เอกศักดิ์ ยุกตะนันท์ รองศาสตราจารย์ ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ผ่องฉวี ไวยาวัจมัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อภิสิทธิ์ บุตรวงศ์ นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย สหรัฐ เพิ่มทรัพย์

 

เอกศักดิ์ ยุกตะนันทน์

นักคิดที่สอนให้ตั้งคำถามต่อศีลธรรม โสกราตีส นิตเช่ มาร์คซ์ ฟรอยด์

เอกศักดิ์เริ่มอภิปรายโดยนำเสนอแนวคิดเชิงศีลธรรมของนักปรัชญา เริ่มตั้งแต่สมัยกรีก-โรมัน โดยคนแรกที่เขากล่าวถึงก็คือ โสกราตีส นักปรัชญาที่ชวนผู้คนให้ตั้งคำถามเรื่องชีวิต ผู้ตั้งคำถามว่า “ความดีคืออะไร ?” “ชีวิตที่ดีคืออะไร?” เขาพยายามจะบอกผู้คนว่า “ไม่มีใครหรอกที่ทำความเลว โดยรู้ว่ามันเป็นความเลว” ดังนั้น ความดีกับความรู้ต้องสัมพันธ์กัน และเราต้องหาให้ได้ว่าดีกับเลวคืออะไร ทีนี้เขาก็ชวนให้ตั้งคำถามอีกว่า “ที่มันดี ดีเพราะอะไร” “ที่มันเลว เลวเพราะอะไร” จากคำถามเหล่านี้นำไปสู่กรถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าไม่เชื่อฟังในศาสนา ในที่สุดก็ไม่เป็นที่พอใจของนักการเมือง เพราะนักการเมืองชอบให้ผู้คนเชื่อในศาสนา รวมทั้งรัฐบุรุษและประชาชนจำนวนหนึ่งไม่ชอบสิ่งที่โสกราตีสทำ ทำให้โสกราตีสถูกดำเนินคดี ในที่สุดก็ถูกตัดสินให้ถูกประหารชีวิต ตัวโสกราตีสเองก็ยอมรับโทษประหารชีวิต อันที่จริงโสกราตีสมีทางเลือกก็คือการเลิกสอนให้คนตั้งคำถาม แต่เขาตอบกลับไปว่า เขาไม่สามารถเลิกสอนได้ เพราะสิ่งที่เขาทำมันถูกต้องที่สุดแล้วต่อสังคม เพราะฉะนั้นก็จะยังยืนยันที่จะทำอย่างนี้แม้มีชีวิต

กลับมาที่คำถามว่า ความดีกับความรู้สัมพันธ์กันอย่างไร นั่นคือหัวใจของปรัชญาตะวันตกที่มีมายาวนานกว่า 2500 ปีมาแล้ว โสกราตีสไม่มีคำตอบว่าสองสิ่งนี้สัมพันธ์กันอย่างไร เขาแค่บอกว่า “คุณต้องตั้งคำถามและต้องหา” นี่จึงเป็นต้นกำเนิดของความพยายามของโลกตะวันตกที่พยายามสร้างวิชาจริยศาสตร์ขึ้นมา แล้วก็พัฒนาเรื่อยมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19-20

นิชเช่ (Friedrich Wilhelm Nietzsche) บอกว่า “ศีลธรรมเป็นเรื่องน่ากลัว” โดยอธิบายจากประเด็นของคนยิวที่สามารถเอาความตายของตัวเองไปเอาชนะคนโรมันได้ด้วยศาสนาคริสต์ เขามองว่าศีลธรรมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง ในที่สุดคนยิวสามารถเอาชนะคนโรมันได้ด้วยศาสนาของพระเยซู เพราะฉะนั้นศาสนาก็คือเครื่องมือทางการเมือง ศาสนาคือเครื่องมือทางอำนาจ ความอ่อนน้อมของชาวยิว การยอมให้ตบหน้าซ้ายแล้วเอาแก้มขวาให้ตบ เอาชีวิตเข้าแลก มันคือความกระหายที่อยากจะเป็นนายเหนือชาวยิว

เอกศักดิ์ นำเอาแนวคิดของนิชเช่มาอธิบาย ‘ความเป็นไทย’ โดยนิยามเกี่ยวกับ ‘ความอ่อนน้อมของความเป็นไทย’ ไว้ว่า ความอ่อนน้อมของความเป็นไทย คือความอ่อนน้อมแบบทาสที่ซ่อนความปรารถนาอยากเป็นนายอยู่ในเบื้องหลัง นี่เป็นศีลธรรมที่นิชเช่บอกว่าเป็นศีลธรรมนายกับทาส ศีลธรรมทาสกับนาย ความอ่อนน้อมมักจะซ่อนสิ่งนี้เอาไว้เสมอ เพราะฉะนั้น นิชเช่บอก ศีลธรรมคือเครื่องมือของอำนาจ ศีลธรรมไม่ได้มาเพียว ๆ (Pure) แต่ก่อนจะมาได้มันมีการสร้างความจริงมาก่อน ความจริงถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออ้างเหตุผลให้กับศีลธรรม

มาร์คซ์ (Karl Heinrich Marx) บอกว่า “ศีลธรรมไม่เคยบริสุทธิ์ ศีลธรรมรับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้น” เขาอธิบายไว้เพียงเท่านี้ แต่หลังจากนั้น คำอธิบายของเขาได้กลายเป็นสำนักแฟรงค์เฟิร์ต (Frankfurt) กลายเป็น Critical Theory กลายเป็นทฤษฎี False Consciousness ถ้าอยากจะดู ก็ให้ดู False Consciousness แบบ ‘เจ๊ระเบียบรัตน์’ ความคิดของผู้หญิงที่บอกว่าความดีของผู้หญิงก็คือ จะต้องรักนวลสงวนตัว บริสุทธิ์ สะอาด อะไรทำนองนี้ ถามว่าศีลธรรมอันนี้ ความดีอันนี้ มันรับใช้ผลประโยชน์ทางชนชั้นของใคร ? ก็คือชนชั้นของผู้ชาย เพราะผู้ชายมีอำนาจ แล้วก็แบบเดียวกัน คำสอนในสังคมไทยที่สอนเรื่องความกตัญญู มันรับใช้ใคร ? มันรับใช้ระบบอุปถัมภ์

ฟรอยด์ (Sigmund Freud) บอกว่า ศีลธรรมของมนุษย์เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคจิตและเป็นอาการของโรคจิต ตัวอย่างก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เอกศักดิ์ได้ยินข่าวมาว่าพระอาจารย์ใช้ระบบ ‘SOTUS’ กับเด็ก ใช้จิตวิทยากับเด็ก เป็นความโรคจิตบนพื้นฐานของศีลธรรม (อ้างอิงแหล่งข้อมูล [1], [2])

 

ศีลธรรมที่แท้ ศีลธรรมจอมปลอม

เราต้องแยกให้ได้ ว่าศีลธรรมใดที่แท้ และศีลธรรมใดที่จอมปลอม อาจไม่จริงว่าศีลธรรมจะจอมปลอมไปทั้งหมด ความกตัญญูมันก็ไม่ได้จริงว่ามันจะต้องรับใช้ชนชั้นไปซะทั้งหมดถ้ามันมีสติ แต่หากกตัญญูจนกระทั่งปล่อยให้ผู้ที่เคยอุปถัมภ์เราสามารถทุจริตคดโกงได้ ทำให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก เล่นสี เล่นสถาบัน มันก็กลายเป็นความชั่วในสังคม เราจะได้คำตอบว่าศีลธรรมใดที่แท้และศีลธรรมใดที่จอมปลอมก็เมื่อเราเข้าใจศีลธรรมจริง

เวลาที่เราเข้าใจศีลธรรมจริงๆ ก็ต้องไปดูว่าศีลธรรมเป็นสิ่งมนุษย์ปฏิเสธไม่ได้ ในฐานะมนุษย์อย่างไรก็ต้องมีศีลธรรม แต่เราต้องเอาปัญญาไปกำกับให้ได้ ซึ่งมันก็จะเป็นอย่างที่โสกราตีสพูดว่า ต้องสร้างปัญญามากำกับศีลธรรมของตัวเองให้ได้ การศึกษาไทยทำอะไรลงไปกับพลเมืองไทย การศึกษาไทยทำลายปัญญาของพลเมืองซึ่งในที่สุดแล้วทำให้คนไทยมีศีลธรรมที่ต่ำมาก ใช่หรือไม่ ? ในที่สุดแล้ว ผู้ที่มีการศึกษาของสังคมไทยคือชนชั้นกลางทั้งหลาย กลายเป็นพวกคนดีซึ่งอยากจะสู้กับการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง แต่พวกเขาเลือกที่จะสู้ด้วยการละเมิดสิทธิของประชาชนทั้งเทศ โดยที่เขาไม่คำนึงเรื่องความยุติธรรมทางสังคมใด ๆ ทั้งสิ้น เขามีคอนเซ็ป (Concept) เดียวคือ ‘โกง-ไม่โกง’ แต่ไม่มีคอนเซ็ปเรื่อง ‘อะไรคือความยุติธรรม’ ดังนั้นเลเวล (Level) ในความเข้าใจทางศีลธรรมของเขามันต่ำจริง ๆ เป็นเช่นนี้เพราะอะไร เอกศักดิ์อธิบายต่อไปว่า เป็นเพราะการศึกษาไม่ยกเขาให้ไปมีระดับความสามารถที่จะคิดถึงตรงนั้น อาจเพราะมัวแต่ไปพูดเรื่องศีล 5 ซึ่งมันก็ไม่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมอยู่แล้ว ศีล 5 สอนเรื่องโกง-ไม่โกง เช่น ห้ามลักทรัพย์ เบียดเบียนทรัพย์โดยมิชอบ ฯลฯ แต่ศีล 5 ยังเข้าไปถึงความยุติธรรม ประเด็นก็คือ ครูทั้งประเทศ โรงเรียนทั้งประเทศผลิตพลเมืองซึ่งออกมาให้เชื่อแบบนั้นได้อย่างไร คิดแต่เรื่องว่าใครโกง-ไม่โกง แต่ไม่คิดเรื่องความยุติธรรม

 

ปัญหาเรื่องต้นแบบทางศีลธรรมสำหรับโรงเรียน เพียเจ รัสเซิล

เอกศักดิ์กล่าวด้วยว่า คนที่พูดเรื่องโมเดลการสอนศีลธรรม มี 2 คนที่พูดไว้ดีมาก โดยพูดคล้าย ๆ กัน คนหนึ่งพูดในเชิงวิชาการเต็มที่ ก็คือ เพียเจต์ นักจิตวิทยา ส่วนอีกคนเป็นนักปรัชญาที่พูดไว้อย่างง่าย ๆ ก็คือ รัสเซิล

เพียเจต์ (Jean Piaget) นักจิตวิทยาพัฒนาการ จริง ๆ แล้ว เพียเจต์เป็นนักปรัชญา จบ ปริญญาเอกทางปรัชญาก่อน แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มต้นทำวิจัยทางจิตวิทยา แต่ไม่ได้เรียนจิตวิทยา เขาจบวิจัยทางปรัชญา แล้วเขาเชื่อในแบบของ “Kantianism” เขาเปลี่ยนความคิดแบบ Kantianism ให้เป็นงานวิจัยเชิงประจักษ์ ก็คือเปลี่ยนความคิดของ Kantianism ในเชิงทฤษฎีเป็นงานวิจัยเชิงประจักษ์ เพราะฉะนั้นเขาสร้างสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ญาณวิทยาเชิงประจักษ์’ เพื่อหาดูว่าคนสร้างความรู้อย่างไร โดยเข้าไปพูดคุยกับเด็กเล็กที่สุดที่พูดรู้เรื่อง เพื่อดูพัฒนาการวิธีคิดในแต่ละช่วงวัย

ในหนังสือ Morality of the child (ศีลธรรมของเด็ก) เพียเจต์โต้เถียงกับนักสังคมวิทยาที่ชื่อ เดอร์ไคห์ม (David Emile Durkheim) เดอร์ไคหม์ เสนอว่า โรงเรียนต้องใช้โมเดลทางการสอนศีลธรรม แบบที่สังคมไทยใช้อยู่ แบบที่เป็นสัญชาตญาณของคนทั่วไป ก็คือ อำนาจจากบนลงล่าง ก็คือ โรงเรียนต้องเป็นเหมือนราชอาณาจักร มีศูนย์กลางแห่งอำนาจ อำนาจกระจายไปยังครูแต่ละห้องเรียนที่เป็นเหมือนจังหวัด นักเรียนเหมือนพลเมืองในแต่ละจังหวัด แล้วครูก็เป็นผู้ควบคุมกฎ ถ้ามีกฎเยอะก็ยิ่งดี เพราะนักเรียนมีหน้าที่เดียวก็คือเรียนรู้ที่จะทำตามกฎ คำอธิบายของเดอร์ไคห์มคือ นี่เป็นการจำลองมาจากความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่าง พ่อ แม่ และลูก ในครอบครัว เด็กเรียนรู้ที่จะเป็นคนดีจากการที่ยอมอยู่ใต้อำนาจของพ่อแม่ อันนี้คือโรงเรียนสมัยเก่า อันนี้คือความคิดของเดอร์ไคห์ม นอกจากนี้ เดอร์ไคห์มอธิบายว่าโมเดลนี้ถูกใช้มาในประวัติศาสตร์มนุษย์แทบจะทั้งหมด ทั้งศาสนา จารีตประเพณี กฎหมาย และโมเดลทางสังคมวิทยา ก่อนหน้าที่จะเป็นประชาธิปไตย เพียเจต์ จึงได้นำคำอธิบายพวกนี้มาวิพากษ์

โดยอธิบายว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เด็กเจอ มันจริงอยู่ที่ความสัมพันธ์แรกที่เจอ เป็นความสัมพันธ์จากบนลงล่าง แต่ทันทีที่เด็กมีพี่น้องหรือเจอกันเอง เด็กจะเริ่มมีความสัมพันธ์แนวราบ ทันทีที่เด็กมีความสัมพันธ์แนวราบจะทำให้เด็กเริ่มต้นความสัมพันธ์แบบเพื่อน ความสัมพันธ์ของการเล่นเกม ในหนังสือ Moraliity of the child พูดถึงสิ่งที่เพียเจต์เข้าไปทดลอง ศึกษา สังเกตปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของเด็กในวัยต่าง ๆ เพียเจต์พบว่า แม้เด็กจะมีอายุที่แตกต่างกัน เด็กจะมีความเสมอภาค พวกเขาจะพลัดกันออกกฎและเคารพกฎของกันและกัน เพียเจต์บอกว่าอันนี้เป็นโมเดลที่ดีกว่าที่คนจะสามารถเรียนรู้ในการอยู่กับกฎได้ แล้วมันเกิดการเต็มใจที่จะยอมรับ เพียเจต์ได้สรุปลงในหนังสือ Morality of the child ว่า โรงเรียนประชาธิปไตย โรงเรียนซึ่งเด็กอยู่ร่วมกัน สร้างกฎร่วมกัน มันเป็นโมเดลที่ดีกว่าเยอะในการเสริมสร้างการอยู่ร่วมกัน ครูควรเป็นส่วนหนึ่งของเพื่อนที่จะอยู่กับเด็กแบบนั้น ครูไม่ใช่ผู้ควบคุมเด็ก ครูควรจะอยู่ร่วมกับเด็กเพื่อให้เด็กช่วยกันสร้างกฎของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งตัวอย่างก็คือโรงเรียน Summerhill

สรุปก็คือ มี 2 โมเดล คือ โมเดลของการสอนศีลธรรม ทำให้คนยอมอยู่ใต้กฎด้วยการใช้อำนาจการบนลงล่าง อีกโมเดลหนึ่งก็คือ การทำให้คนยอมรับกฎด้วยความสัมพันธ์แนวราบ โมเดลที่สองเหมาะสมประชาธิปไตยมาก แต่ว่าครูทั้งประเทศเคยชินกับการอยู่ในโมเดลที่หนึ่ง ดังนั้นจึงใช้โมเดลที่หนึ่ง แต่ทำอย่างไรจึงจะให้ครูเชื่อในโมเดลที่สอง ซึ่งหากมีใครอธิบายแนวคิดของเพียเจต์อย่างละเอียดได้ คนก็น่าจะยอมรับ เพราะในโลกตะวันตกที่ความคิดของเพียเจต์ถูกเผยแพร่ออกไป โรงเรียนมันก็เปลี่ยน

เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) นักปรัชญา มีงานศึกษา “ความรู้ในมือของความรัก” โดยโจมตีว่า การสอนศิษย์ด้วยศาสนาศีลธรรมมีอันตรายสูง เพราะศีลธรรมใส่ความรุนแรงทางจิตใจ เช่น นรก สวรรค์ บาป กรรม ของพวกนี้เป็นความรุนแรงทางจิตใจ แล้วก็ความไร้เหตุผล อาศัยศรัทธา ซึ่งในที่สุดแล้วมันไม่เคยถูกยอมให้ตั้งคำถามและหาคำอธิบาย เพราะฉะนั้นมันมีปัญหาในตัวมันเองสูง มีแต่จะทำร้ายสติปัญญา นี่คือข้อโจมตีที่หนึ่งของรัสเซิลต่อวิธีการสอนศีลธรรมด้วยศาสนาต่อเด็กในโรงเรียน ข้อที่สอง รัสเซิลตั้งคำถามว่า เมื่อเข้ามาในระดับของโรงเรียนแล้ว เมื่อเด็กเข้ามาสู่วัยที่เริ่มรู้ตัวเองว่ามีเป้าหมายที่จะมาเพื่อมาเรียนรู้ เด็กต้องเรียนศีลธรรมอะไรบ้าง รัสเซิลบอกว่า “ไม่มีเลย เด็กไม่ต้องเรียนจริยธรรมอะไรทั้งสิ้นนอกจากศีลธรรมหรือคุณธรรมทางปัญญา เด็กต้องการแค่ถูกฝึกให้มีคุณธรรมทางปัญญาเท่านั้น” คุณธรรมทางปัญญาก็คือรักที่จะรู้ รักที่จะเรียน รัสเซิลบอกว่า คุณธรรมอื่น ๆ มันถูกสอนมาตั้งแต่ที่บ้าน ตั้งแต่อยู่ที่โรงเรียนอนุบาล ก็เหมือนกับที่เพียเจต์พูดก็คือ เด็กสามารถเรียนรู้การอยู่ร่วมกันได้ตั้งแต่พวกเขาเล่นกับพี่-น้อง-เพื่อนของเขาตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาลแล้ว พอเข้ามาประถมเขาก็รู้วิธีการอยู่ร่วมกันแล้ว มัธยมก็รู้วิธีการอยู่ร่วมกันแล้ว อยู่ประถมหรือมัธยมก็ต้องการเพียงแค่คุณธรรมกับการที่จะเอาจริงเอาจังกับการค้นหาความรู้เท่านั้น เขาไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ เอกศักดิ์ได้ยกตัวอย่างในชั้นเรียนที่เขาเป็นผู้สอนในมหาวิทยาลัย ว่า “ในชั้นเรียนนี้ไม่มีสัมมาคารวะ เพราะว่าถ้ามีสัมมาคารวะเมื่อไร เดี๋ยวคุณก็จะบอกว่า ‘ผมไม่กล้าถามอาจารย์ ผมไม่กล้าเถียงอาจารย์’” นอกจากนี้ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “ไม่ได้ ผมกับคุณเท่ากัน หน้าที่ของคุณคือถามผม เถียงผม เอาให้แน่ใจให้ได้ว่าคุณเข้าใจทุกอย่างที่คุณอยากจะเข้าใจ คุณรู้ทุกอย่างที่คุณอยากจะรู้ ถ้าคุณคิดว่าผมมีคำตอบ คุณต้องเอาไปจากผมให้ได้ ถ้าสัมมาคารวะมันขวางของพวกนี้ มันก็ต้องไม่มีของแบบนี้ เรามีกันแค่ความเคารพซึ่งกันและกันในฐานะสุภาพชนก็พอแล้ว” เพราะสัมมาคารวะมันหมายความว่า ข้างบนลงล่างใช่หรือเปล่า มันไม่มีสัมมาคารวะแบบครูมีสัมมาคารวะกับศิษย์ มันมีแต่สัมมาคารวะแบบศิษย์มีสัมมาคารวะต่อครูฝ่ายเดียว

000

หลังการนำเสนอของเอกศักดิ์ ผู้ดำเนินรายการคือ สหรัฐ เพิ่มทรัพย์ นำเสนอ 3 คำถามเพื่อให้วิทยากรตอบ ก็คือ 1. คุณธรรม จริยธรรมและความดีงามในโรงเรียนไทย ในมุมมองของแต่ละท่านเป็นอย่างไรบ้าง และใครเป็นผู้กำหนด?

2. ถ้ามองผ่านแง่มุมพัฒนาการการศึกษาไทย ท่านคิดว่า กระบวนการเล่าเรียนหรือบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรมที่ผ่านมาได้ ดำเนินมาอย่างไร และสะท้อนให้เห็นอะไรในบริบทการศึกษาและสังคมไทย ในปัจจุบันได้บ้าง?

3. ถึงเวลาที่เราควรจะก้าวข้ามคุณธรรมจริยธรรมแบบศาสนา (moral education) ไปสู่การศึกษาด้านคุณลักษณะ (character education) หรือไปสู่การศึกษาแบบอื่นๆ หรือยัง?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net