Skip to main content
sharethis
 
"ผวจ.เมียวดี"ข้องใจ จนท.ไทยรีดเงินแรงงานเมียนมา
 
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 แรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ยังคงเดินทางกลับไปฝั่งประเทศเมียนมา ไม่ขาดสาย แม้ว่าทางตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก ได้จัดระเบียบให้ข้ามผ่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา (แม่สอด-เมียวดี ) ก็ตาม แต่แรงงานชาวเมียนมา จำนวนมากเดินทางกลับไปผ่านท่าขนส่งสินค้า ที่บ้านท่าอาจ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด ผ่านเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยง
 
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2560 จนถึงขณะนี้มีแรงงานเมียนมา เดินทางกลับไปภูมิลำเนาแล้วกว่า 15,000 คน แล้ว เนื่องจากส่วนมากเป็นแรงงานที่ผิดกฏหมาย ที่ถูกนายจ้างลอยแพ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการเมียนมา โดยรัฐบาลกลางได้ส่งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงาน ไปซักถามแรงงานเมียนมาที่กลับไปภูมิลำเนา โดยเน้นเรื่องการเรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่ไทย ทราบว่ายังคงมีแรงงานที่กลับมาถูกเรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่ไทย ระหว่างเส้นทางสายอำเภอเมืองตาก - อำเภอแม่สอด ที่มีจุดตรวจหลายแห่ง
 
เรื่องนี้ ทางนายทูลวิน ผวจ.เมียวดี ได้ทำหนังสือ ผ่านชุดประสานงานไทย - เมียนมา (แม่สอด-เมียวดี) ถึง นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก(ผวจ.ตาก) โดยระบุว่าขอให้ทางการไทยตรวจสอบ แก้ไขปัญหาการเรียกรับเงินจากแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ที่เดินทางกลับเมื่อวันที่ 2 กรฏาคม 2560 และถูกเจ้าหน้าที่ไทยปฏิบัติหน้าที่ เส้นทางสายตาก-แม่สอด เรียกรับเงิน จึงขอให้ฝ่ายไทยตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ
 
หลังจากเจ้าหน้าที่ไทยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ได้มีการให้หน่วยงานต่างๆตรวจสอบข้อเท็จจริง ถึงพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ไทยแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจใด
 
 
สมาคมชาวไร่อ้อย ออกโรงอ้อนนายกฯ ขาดแคลนแรงงานหนัก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวพ่นพิษ
 
หลังจากรัฐบาลประกาศบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยแรงงานต่างด้าวปี 60 พบว่าทำให้แรงงานต่างด้าวกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่ทำงานในประเทศไทย พากันทยอยเดินทางกลับคืนสู่ประเทศตนเองกันทั่วประเทศ ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม เพื่อที่จะข้ามไปทำเอกสารให้ถูกต้องตามคำสั่งของรัฐบาล
 
ในส่วนแรงงานต่างด้าวทางภาคตะวันออกนั้น พบมีแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาทยอยกลับประเทศทางพรมแดนอรัญประเทศวันละ 200-300 คน โดยเฉพาะผ่านถนนสายสุวรรณศร หรือ 33 (กบินทร์บุรี – สระแก้ว) ซึ่งจุดสกัดด่านบ้านแก้ง สภ.เขาสิงโต อ.เมือง จ.สระแก้ว พบในวันหยุดมีแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาจำนวนมากที่เดินทางกลับส่วนใหญ่ จะเดินทางออกจากกรุงเทพฯ, ภาคตะวันออก, ปริมณฑล และจ.ปราจีนบุรี
 
โดยในส่วนจังหวัดปราจีนบุรี พบผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ที่ว่าจ้างแรงงานต่างด้าวต่างได้รับความเดือดร้อนไปตามๆ กัน โดยเฉพาะทางสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพาสาขาปราจีนบุรี โดยนายเนย สุขประเสริฐ ประธานสมาคมสาขาปราจีนบุรี กรรมการและชาวไร่อ้อย ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า "ทันทีที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ทำให้แรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะชาวกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในพื้นที่รับจ้างทำไร่อ้อย และโรงหีบ ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี ต่างพากันเดินทางกลับประเทศกันหมด ทำให้นายจ้างที่เป็นเจ้าของสวนตกอยู่ใสภาวะที่ลำบาก ไม่มีแรงงานทำงานในไร่อ้อย, สวนปาล์ม, สวนยางพารา รวมถึงไร่มันสำปะหลัง และกรรมกรทั่วไป ต้องคิดหนักในการหาแรงงานมาช่วยใส่ปุ๋ย ฉีดยาในไร่สวน"
 
แรงงานคนไทยเองก็หายากมาก เพราะคนหนุ่มสาวไม่ทำงานด้านนี้ โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมรองรับจำนวนมาก จึงไม่นิยมใช้แรงงาน เจ้าของทำเอง คงไม่ไหวแน่นอน เพราะเกษตรกรมีที่ดินมากกว่าร้อยไร่คนหนึ่งมีที่ดินมากถึง 300 ไร่อย่างต่ำสุด แม้ว่ารัฐจะผ่อนผันให้อีก 120 วัน ไม่น่า จะมีแรงงานกลับคืนเข้ามาทำงานในไร่ในสวนได้ทัน"
 
"เพราะว่าการทำบอเดอร์พาส (ใบผ่านแดน) นั้น จากการสอบถามแรงงานต่างด้าว และเจ้าหน้าที่ ตม. ต่างบอกว่า ต้องใช้เงินเป็นหมื่น ถึงจะทำได้ แรงงานต่างด้าวไม่มีเงินมากถึงขนาดนั้น เอกสารตัวอื่นไม่สามารถเข้ามาทำงานในไทยได้เป็นเวลานาน" นายเนยกล่าว
 
และกล่าวต่อไปว่า "การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในภาคการเกษตรกรรมของชาวไร่อ้อย, สวนยางพารา, ปาล์ม และไร่มันสำปะหลัง ในพื้นที่วังท่าช้างนั้น จะใช้ระยะเวลาที่แน่นอน ไม่เกิน 3 เดือน ก็จะหมดการว่าจ้างกันแล้ว จะหาแรงงานมาทำงานอีกก็ช่วงฤดูการทำไร่ทำสวนเท่านั้น โดยในพื้นที่ ต.วังท่าช้างกับ ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี มีความต้องการแรงงานต่างด้าวมากถึง 2,500 คน มากที่สุดในตัวอำเภอกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี" นายเนยกล่าว
 
ด้านนายบุญเลิศ จันสวาท ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 12 ต.วังท่าช้าง กล่าวว่า "ตนและลูกบ้านมีอาชีพทำไร่อ้อยกัน คนละ 200 ไร่ ได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกัมพูชา ที่พื้นที่อยู่ใกล้เคียง อยากฝากถึงรัฐบาล รีบช่วยหาทางช่วยเหลือด้านแรงงาน ด่วนที่สุด โดยช่วงหน้าฝนนี้ ทำให้วัชพืชปกคลุมพืชไร่ อาจส่งผลให้พืชไร่ไม่งามอาจส่งผลให้โตไม่เต็มที่ เสียโอกาสด้านการขายผลผลิต เพราะแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในพื้นที่ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้นายจ้าง" นายบุญเลิศกล่าว
 
ขณะที่นายอำนวย เงินโสม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี กล่าวว่า "ยืนยันว่าเดือดร้อนและทุกข์ใจมาก กับเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ในพื้นที่เขาไม้แก้วนั้นเดือดร้อนทั้งพ่อค้าแม่ค้าในหมู่บ้าน ไม่มีแรงงานต่างด้าวค้าขายกับข้าวไม่ได้ ไม่มีแรงงานมาซื้อหา หรือในตลาดโรงเกลือ อ.กบินทร์บุรี พบเงียบทั้งตลาด จึงอยากฝากถึงรัฐบาล ให้เร่งรีบอนุญาตให้นายจ้างรับแรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานได้ในเร็ววันนี้ หากชักช้าประชาชนที่มีไร่อ้อย อาจทำให้อ้อยไม่โตไม่มีน้ำหนักย่อมส่งผลให้ขายไม่ได้ราคามีแต่เสียกับเสีย"
 
ด้านนายสละ ชนภัย, นายนฤดม และนายศักดิ์ชัย หวังหมู่กลาง เกษตรกรไร่อ้อย และไร่มันสำปะหลังต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "อยากวิงวอนขอให้นายกรัฐมนตรีเห็นใจเกษตรกรตาดำๆ เร่งหาทางให้ใหม่ เพราะต้องการแรงงานมาทำงานในไร่สวน ด่วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่รู้ว่าเสียงของประชาชนคนธรรมดาจะดังถึงหูผู้นำประเทศหรือไม่"
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม มีสิ่งที่ผู้ประกอบการ, นายจ้าง ที่ว่าจ้างปรงงานต่างด้าวไม่กล้าเปิดเผยคือ หากที่ใดที่มีการว่าจ้างต่างด้าว โดยเฉพาะผิดกฎหมาย มักมีผู้อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ไปทำการ ข่มขู่รีดไถ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยจ่ายในรูปแบบรายเดือน หรือรายบุคคลที่ทางรัฐบาลต้องรีบสะสาง
 
 
พรก.ต่างด้าวกระทบ 'รับเหมา' อสังหาผวาถูกชาร์จค่าแรงเพิ่ม
 
จากกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งบรรเทาปัญหาพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยให้มีการชะลอใช้ 3 มาตราที่ว่าด้วยบทลงโทษ คือมาตรา 101 กรณีการเอาผิดลูกจ้าง มาตรา 102 เอาผิดนายจ้างที่รับคนมาทำงานในอาชีพพิเศษบางอย่างโดยไม่ได้รับอนุญาต และมาตรา 122 การรับคนที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงาน ซึ่งมีโทษหนักแก่นายจ้างหรือลูกจ้าง ขณะที่ภาคเอกชนยังคงออกมาระบุถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างค่อนข้างมากเพราะ 90% ของแรงงานที่ใช้เป็นแรงงานต่างด้าว ทั้ง เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา ลาว ประเมินว่าในภาคก่อสร้างมีแรงงานต่าวด้าวกว่า 3 แสนคน โดยหนึ่งโครงการก่อสร้าง เฉลี่ยจะต้องใช้แรงงาน 300-400คน ซึ่งแรงงานต่างด้าวมีทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
 
“ในภาวะที่อุตสาหกรรมก่อสร้าง ขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว ก็จะทำให้ขาดแคลนแรงงานหนักขึ้น เห็นว่าอาจจะกระทบหนักโดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารสูง ที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าว ผูกเหล็ก เทปูน ฯลฯ”
นายสังวรณ์ ยังระบุว่า ที่ผ่านมาขั้นตอนการขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวมีหลายขั้นตอน อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการบางรายไม่นำแรงงานไปขึ้นทะเบียน อีกทั้งมองว่าเป็นต้นทุนเนื่องจากแรงงานต่างด้าวในภาคก่อสร้างมักเปลี่ยนบ่อย
 
นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวเห็นว่า แม้พ.ร.ก.ดังกล่าวจะบังคับใช้แล้ว แต่เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเข้มงวดการดำเนินการรัฐควรกำหนดช่วงเวลา “ผ่อนปรน”การบังคับใช้กฎหมายออกไป 6 เดือนถึง 1 ปีเพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวนอกจากนี้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมควรเพิ่มจำนวนสำนักงานแรงงานให้ทั่วถึง รองรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวให้รวดเร็วขึ้น
 
“ยิ่งรัฐบาลมีแผนจะลงทุนโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าลงทุนรวมพูดกันที่หลักล้านล้านบาท จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวมาก หากกฎหมายนี้ทำให้แรงงานขาดแคลน จะทำอย่างไร เมื่อแรงงานมีปัญหาจะทำอย่างไร คนไทยเองมักไม่ทำอาชีพที่แรงงานต่างด้าวทำ ขณะที่ภาครัฐก็อยากยกระดับแรงงานไทยสู่ 4.0”
 
นายธีรพัฒน์ จิรพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเชียงใหม่ริมดอย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พ.ร.ก.ต่างด้าวฉบับใหม่ หากนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานต่างด้าวจะกลายเป็นความเสี่ยงใหม่ของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้น
 
สำหรับการดำเนินงานของบริษัทพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวคิดเป็นสัดส่วน 80-90% อย่างไรก็ดี บริษัทได้เตรียมแผนรับมือไว้ โดยอาจจะคำนวณต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจาก พ.ร.ก.ฉบับใหม่ไปรวมกับการประมูลงานรับเหมาในครั้งหน้า
 
นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) คาดว่า พ.ร.ก.ต่างด้าว ฉบับใหม่ จะส่งผลกระทบหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตฯเกษตร ภาคการบริการ เช่น โรงแรม สถานีบริการน้ำมัน รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยแม้ว่าจะมีแรงงานต่างด้าวบางส่วนขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีบางส่วนยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือปฏิบัติตนขัดต่อกฎหมาย
 
โดยเฉพาะการใช้แรงงานต่างด้าวข้ามเขต เนื่องจากภาคก่อสร้างยังมีความแตกต่างจากภาคอื่นๆ โดยเฉพาะการย้ายไซต์งานก่อสร้างไปตามโครงการต่างๆ แม้ว่าที่ผ่านมา ภาครัฐได้ผ่อนคลายค่าใช้จ่ายการแจ้งเคลื่อนย้ายแรงงานไซต์ต่อไซต์ แต่เพื่ออำนวยความสะดวกต่อทั้งผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว จึงอยากเสนอให้รัฐเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ แจ้งย้ายแรงงานข้ามเขตผ่านระบบออนไลน์ได้ อีกทั้งเห็นว่ากฎหมายใหม่ควรวางกฎเกณฑ์ต่างๆให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นแรงงานต่างด้าวอาจเดินทางกลับประเทศ ส่งผลกระทบต่อผู้รับเหมาก่อสร้างในที่สุด เนื่องจากในปัจจุบันแรงงานไทยมักไม่ทำงานประเภทนี้ ปัจจุบันกานดา พร็อพเพอร์ตี้ มีจำนวนแรงงานต่างด้าวกว่า 350 คน ซึ่งบริษัทได้พาไปขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วทั้งหมด
 
นายอุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) คาดว่า พ.ร.ก.ต่างด้าวที่ออกมาใหม่จะไม่ส่งผลกระทบภาพรวมอสังหาฯ นัก เนื่องจากโครงการที่จะเปิดใหม่ขณะนี้ยังมีไม่มาก ทั้งยังมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการจัดการให้แรงงานต่างด้าวเป็นแรงงานถูกกฎหมายหรืออยู่ในระบบ
 
“สำหรับภาพรวมของการบังคับใช้กฎหมายใหม่มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของแสนสิริ เนื่องจากบริษัทใช้รูปแบบว่าจ้างผู้รับเหมาทั้งหมด ซึ่งผู้รับเหมาก็จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการพาแรงงานขึ้นทะเบียน”
 
นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เห็นด้วยกับพ.ร.ก.ต่างด้าว ที่บังคับขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนจะส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาฯมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องรอดูค่าใช้จ่ายที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยหากผู้รับเหมาเห็นว่าต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดก็จะเก็บ หรือชาร์จเพิ่มจากผู้ประกอบการอสังหาฯ ทั้งนี้ปัจจุบันเสนาฯมีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานกับบริษัทในระดับหลักร้อยคนในโครงการอสังหาฯต่างๆที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง
 
นายณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ให้ความเห็นว่า พ.รก.ก.ที่กำหนดมานั้นค่อนข้างส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเอสเอ็มอี อีกทั้งต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวในหลากหลายธุรกิจ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรวิเคราะห์ส่วนได้และส่วนเสียให้สอดคล้องกับผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ
 
“ส่วนตัวเห็นด้วยกับการบังคับใช้พ.ร.ก.ดังกล่าวเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ รวมถึงบริหารจัดการแรงงานให้อยู่ในระบบเพื่อสะดวกในการจัดการป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ แต่จะต้องพิจารณาให้ชัดเจนว่าการออกกฎหมายเช่นนี้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน และหากมีผู้ได้รับผลกระทบมากก็ควรยืดหยุ่นหรือชดเชยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหาย”
 
 
เอาผิดผู้จ้างงานทางอินเตอร์เน็ต จ.เชียงใหม่ เบี้ยวเงิน พร้อมเตือนผู้รับงานระวังโดนหลอก
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้รับงานไปทำ ที่บ้าน รวม 31 คน มายื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ว่าร้าน NYS Handmade ประกอบกิจการจ้างปักแผ่นเฟรมทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างงานโดยไม่จ่ายค่าตอบแทนในงาน ที่รับไปทำที่บ้านและไม่คืนเงินที่เรียกรับหลักประกันการทำงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 47,509 บาท จากการสอบสวนพบว่าผู้จ้างงานมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 ซึ่งห้ามผู้จ้างงานเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน และต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านในขณะที่ส่งมอบงานที่ทำหรือตามกำหนดที่ตกลงกันแต่ไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่ส่งมอบงาน ทั้งนี้ พนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำสั่งให้ผู้จ้างงานจ่ายเงินให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน แต่ผู้จ้างงานไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง ดังนั้นจึงได้รวบรวมหลักฐานเพื่อยื่นดำเนินคดีกับผู้จ้างงานดังกล่าวต่อไป
 
อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ตว่ามีงานให้ผู้รับไปทำที่บ้าน ซึ่งบางแห่งอาจเป็นการหลอกลวง จึงขอเตือนไปยังผู้รับงานไปทำที่บ้าน ประชาชนทั่วไปที่ต้องการหารายได้เสริมให้ระมัดระวังกลุ่มมิฉาชีพเหล่านี้ ก่อนที่จะรับงานใด ๆ ควรจะตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้จ้างงานปฏิบัติถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 อาทิ กำหนดให้ผู้จ้างงานจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการรับงานไปทำที่บ้านมอบให้แก่ผู้รับงานฯ ซึ่งจะต้องมีชื่อที่อยู่ทั้งของผู้ว่าจ้างและผู้รับงานฯ อัตราค่าตอบแทน การห้ามผู้ว่าจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากผู้ว่าจ้าง รวมถึงไปถึงการห้ามจ้างผู้รับงานทำงานที่เป็นอันตราย เป็นต้น และเตือนให้ผู้รับงานฯ ขอเอกสารเกี่ยวกับการรับงานจากผู้ว่าจ้างทุกครั้งเพื่อเป็นหลักฐานและเป็นประโยชน์ในการใช้สิทธิตามกฎหมายต่อไปได้
 
 
ทนาย ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ ถอนตัวคดี พนง.ฟ้องถูกเลิกจ้าง
 
ที่ศาลแรงงานกลาง เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2560 ศาลได้นัดสืบพยานครั้งแรก กรณีพนักงาน บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) จำนวน 24 คน ร้องเรียนกรณีถูกให้ออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เป็นครั้งแรก จากก่อนหน้านี้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยแล้ว 3 รอบ แต่ IFEC ส่งเพียงทนายตัวแทนมา ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งการนัดสืบพยานครั้งแรกนี้ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการบริษัท ต้องมาให้การต่อศาลฯ แต่ได้มอบหมายให้ทนายความมาเช่นเดิม และล่าสุด ทนายความที่เป็นตัวแทนของ IFEC ตัดสินใจขอถอนตัวจากคดีดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมาได้ขอเรียกเอกสารและหลักฐานการกล่าวหาพนักงาน ซึ่งถูกปลดออกจากบริษัทไปหลายรอบ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัท ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ตัวแทนทนายต่อไปได้ ทั้งนี้ศาลแรงงานได้นัดสืบพยานอีกครั้ง วันที่ 22 ส.ค.2560
 
 
เครือข่ายลูกจ้างชั่วคราว และ พนง.สาธารณสุข ร้อง คสช. ปรับเงิน - ตำแหน่ง ขณะ ตร. แจ้งให้ยื่นหนังสือทำเนียบ
 
บรรยากาศที่กองบัญชาการกองทัพบก ยังคงมีประชาชนมายื่นหนังสือร้องเรียน ถึงแม้ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จะเปลี่ยนแปลงสถานที่ให้ผู้ที่มายื่นหนังสือร้องเรียนไปยื่นที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เพราะขึ้นตรงกับ คสช. ทั้งนี้ ล่าสุด กลุ่มเครือข่ายลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมายื่นหนังสือต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. โดยขอให้ปฏิรูปการจ้างงานลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุขสายสนับสนุน เนื่องจากปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข มีการจ้างานในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งลูกจ้างประจำและชั่วคราว ทั้งหมดการทำงานเหมือนกัน แต่สวัสดิการต่างกัน ทำให้มีการแบ่งชนชั้นชัดเจน และยังมีการจ้างงานที่ให้ค่าแรงต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของกระทรวงแรงงาน จึงขอให้ คสช. ดำเนินการช่วยเหลือปรับเป็นลูกจ้างประจำทั้งหมด พร้อมขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำในกระทรวงสาธารณสุขเท่ากับกระทรวงแรงงาน คือ 9,000 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งให้กลุ่มดังกล่าวไปยื่นที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว
 
 
แรงงานเมียนมาแห่กลับยอดแตะ 2 หมื่นคน
 
4 ก.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก ต้องทำงานหนัก หลังจากที่ทางฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเมียวดี ของประเทศเมียนมา ตรงข้ามบ้านริมเมย ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ขอให้ทางฝ่ายไทย ส่งแรงงานเมียนมาที่ผิดกฏหมาย ส่งกลับไปทางด่านพรมแดนไทย-เมียนมา (แม่สอด-เมียวดี) หลังจากเดิมแรงงานเมียนมาจะใช้เส้นทางผ่านพื้นที่ชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงบริเวณบ้านท่าอาจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ต้องดูแลด้านอาหาร เครื่องดื่มและตรวจสอบบุคคล จากนั้นนำขึ้นรถยนต์ ไปส่งมอบให้ทางฝ่ายตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดเมียวดี ในเขตฝั่งเมียนมา ซึ่งล่าสุด ตั้งแต่แรงงานเมียนมากลับไปจนถึงขณะนี้ ใกล้ 20,000 คน แล้ว
 
 
เตือนลูกหนี้ กยศ. 3 ล้านคน คืนเงิน 5 ก.ค.นี้
 
(4 ก.ค.2560) น.ส.ดวงแข ตันติตยาพงษ์ รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วหรือเลิกการศึกษาที่มีกำหนดครบชำระหนี้อยู่ประมาณ 3 ล้านคน โดยขอให้ผู้กู้ติดต่อชำระเงินคืนภายในวันที่ 5 ก.ค.ของทุกปี หากล่าช้าจะต้องเสียเบี้ยปรับร้อยละ 12-18 ต่อปี ซึ่งผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย
 
สำหรับผู้ชำระเงินกู้สามารถตรวจสอบยอดหนี้ได้ผ่านทางเว็บไซต์ กยศ. www.studentloan.or.th ในวันที่ต้องการชำระเงิน เพื่อให้ได้ยอดที่ถูกต้องที่สุด จากนั้นให้กดพิมพ์รหัสการชำระเงิน หรือบาร์โคด และนำไปชำระผ่านธนาคารไปรษณีย์ไทย เคาน์เตอร์เซอร์วิส และธนาคารที่กองทุนฯ กำหนด
 
สำหรับการชำระหนี้คืนกองทุน กยศ.ให้ผ่อนชำระได้ 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1 แบบลดต้นลดดอกโดยจะเริ่มคืนเงินหลังจบการศึกษา 2 ปี หรือ ปลอดการส่งเงินต้นเป็นเวลา 2 ปีปลอดดอกเบี้ย 3 ปี
 
การผ่อนชำระสามารถชำระได้น้อยที่สุดปีละ 1 ครั้ง ทุกวันที่ 5 ก.ค. หรือจะสะดวกชำระเป็นรายเดือนก็ได้ โดยการผ่อนชำระในแต่ละงวดเป็นการค่อยๆ เพิ่มเงินต้นแบบขั้นบันได นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ชำระหนี้ก่อนกำหนด โดยผู้กู้ยืมสามารถชำระหนี้คืนกองทุนทั้งหมด หรือบางส่วนในช่วงก่อนสำเร็จการศึกษา หรือช่วงระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปีได้ โดยผู้กู้ยืมไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
 
ปัจจุบันกองทุนมีลูกหนี้กู้ยืมเงิน กยศ.จำนวน 8,000,000 คน ครบกำหนดชำระหนี้แล้ว 3,200,000 คน มีลูกหนี้ถูกฟ้องดำเนินคดีกว่า 900,000 คน มียอดหนี้รวมกว่า 90,000 ล้านบาท แต่ละปี กยศ.จะต้องฟ้องดำเนินคดีเกือบ 100,000 ราย
 
ในปี 2561-2562 กยศ.ก็มีแนวคิดที่จะนำข้อมูลประวัติการชำระเงินผู้กู้เงินกองทุนเข้าบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งประเทศไทย หรือ เครดิตบูโรและในวันที่ 26 ก.ค.นี้ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 จะมีผลบังคับใช้ โดยสาระคัญคือ "นายจ้าง" มีหน้าที่จะต้อง "หักเงิน" จากรายได้ของลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ กยศ.เช่นเดียวกับการหักภาษีของกรมสรรพากรในแต่ละเดือน เพื่อส่งเงินให้ กยศ. โดยเบื้องต้น กยศ.จะเริ่มหักเงินเดือนลูกหนี้ กยศ.ที่เป็นข้าราชการก่อนประมาณ 200,000 ราย คิดเป็น มูลหนี้ 8 หมื่นล้านบาท
 
 
ราชกิจจานุเบกษาประกาศแล้ว ม.44 แก้ปัญหา พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว
 
ตามที่มีการประกาศใช้พระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวได้ทั้งระบบ อันเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านแรงงาน เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ นั้น โดยที่พระราชกําหนดดังกล่าวกําหนดให้นายจ้างและคนต่างด้าวมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลายประการ และได้กําหนดความผิดและบทกําหนดโทษ ในอัตรารุนแรง ซึ่งยังมิได้มีเวลาสร้างความรับรู้ความเข้าใจเพียงพอแก่ประชาชน
 
จึงก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและอาจส่งผลกระทบต่อนายจ้างภาคครัวเรือน ภาคผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และภาคเกษตรกรรมจนกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมได้ ดังนั้น เพื่อให้นายจ้างและคนต่างด้าว รวมทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มีเวลาเตรียมการและดําเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อความเป็นธรรมและไม่เกิดผลกระทบในทางเศรษฐกิจและสังคมรุนแรงเกินควร โดยยังคงรักษาเจตนารมณ์ในการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าวทั้งระบบให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและยังคงมีมาตรการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจําเป็นต้องมีมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าวตามพระราชกําหนดดังกล่าวในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านการใช้บังคับกฎหมาย
 
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้
 
ข้อ 1 ให้มาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 แห่งพระราชกําหนด การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2561 เป็นต้นไป
 
ข้อ 2 ให้นายจ้างและคนต่างด้าวเร่งดําเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามพระราชกําหนด การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2561 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกําหนด ในกรณีที่คนต่างด้าวผู้ใดมีความจําเป็นต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อกลับไปยังประเทศต้นทางหรือเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อประโยชน์ในการดําเนินการให้ถูกต้องตามวรรคหนึ่ง ให้คนต่างด้าวผู้นั้นได้รับยกเว้นการดําเนินการเกี่ยวกับการเดินทางเข้าหรือออกนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกําหนดเป็นการชั่วคราวโดยการหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และสํานักงานตํารวจแห่งชาติ
 
ข้อ 3 ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินการ ตามกฎหมายหรือคําสั่งนี้ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยมิชอบ หรือกระทําหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่งโดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทํา การเพิกเฉยหรือละเลยไม่กระทําการหรืองดเว้นกระทําการของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นดําเนินการทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองกับพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด
 
ข้อ 4 ให้กระทรวงแรงงานดําเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการ การทํางานของคนต่างด้าวเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ ตลอดจนพิจารณาหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าวอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการค้ามนุษย์ และอํานวยความสะดวกในการดําเนินการแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนโดยให้กระทรวงแรงงานเสนอรายงานผลการดําเนินการต่อนายกรัฐมนตรีทราบเป็นประจําทุกเดือนในการพิจารณาจัดทําร่างกฎหมายตามวรรคหนึ่งและอนุบัญญัติที่ออกตามความในพระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ให้กระทรวงแรงงานรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและนํามาประกอบการพิจารณาด้วย
 
 
ครม.อนุมัติบัตรรักษา ขรก. 4.5 ล้านใบ เริ่มใช้ 1 ต.ค.นี้
 
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ว่า มติ ครม.เห็นชอบ ให้กรมบัญชีกลางจัดทำบัตรรักษาพยาบาลข้าราชการ 4.5 ล้านใบ วงเงินงบประมาณ 124 ล้านบาท ให้กับข้าราชการและบุคคลในครอบครัวของข้าราชการ โดยยืนยันว่ายังคงได้รับสิทธิ์ตามเดิม ซึ่งการจัดทำบัตรรักษาพยาบาลข้าราชการในครั้งนี้ เพื่ออุดรูรั่วของงบประมาณเรื่องค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาการรักษาซ้ำซ้อน และเวียนรับยาหลายรอบ ส่งผลทำให้รัฐบาลต้องอุดหนุนงบประมาณในส่วนนี้เพิ่มขึ้น 4,000 - 5,000 ล้านบาท หรือตกปีละกว่า 7 หมื่นล้านบาท
 
ทั้งนี้บัตรรักษาพยาบาลข้าราชการจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป โดยจะได้รับบัตรจากกรมบัญชีกลางใช้เพื่อแสดงเวลาจะรักษาพยาบาล เพื่อเบิกจ่ายตรง และในอนาคตจะมีการตรวจสอบผู้มีสิทธิ์ว่าใช้รักษาจริงหรือไม่ รวมถึงยังมีการตรวจสอบตามเงื่อนไขที่กรมบัญชีกลางกำหนดว่ามีการเบิกจ่ายตามการรักษากี่ครั้งและเป็นจำนวนเงินเท่าไร เพื่อไม่ให้มีการทุจริตเรื่องรักษาพยาบาลเหมือนในอดีต
 
 
คปค.ค้านขยายอายุรับเงินบำนาญชราภาพ
 
(5 ก.ค.2560) นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) และภาคีเครือข่าย ยื่นหนังสือต่อ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เนื่องไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดการขยายอายุการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี ของสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่การจ้างงานตามโรงงานจะเกษียณอายุที่ 55 ปี ดังนั้น การขยายระยะเวลาออกไป อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน
 
ขณะที่ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมมีการวิเคราะห์รูปแบบการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต จึงได้มีแนวคิดขยายอายุการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี และยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อสิทธิของผู้ประกันตนอย่างแน่นอน
 
สำหรับแนวคิดขยายอายุรับเงินกรณีชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ขณะนี้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย ระเบียบ ปรับปรุงอัตราเงินสมทบแล้ว และคาดว่าจะเสนอคณะกรรมการประกันสังคม ในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ จากนั้นสำนักงานประกันสังคมจะทำประชาพิจารณ์ในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
 
 
คลอดแล้ว! ประกาศฉบับแรกแจงวิธี “ต่างด้าว” ขออนุญาตทำงาน หลังชะลอบังคับใช้ กม.ใหม่
 
(6 ก.ค.) พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงานตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 โดยได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 6 ก.ค. 2560 เพื่อให้นายจ้างและคนต่างด้าวดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้อง หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้บทลงโทษตาม พ.ร.ก. การบริหารจัดการกาทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 โดยประกาศดังกล่าวบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. - 31 ธ.ค. 2560 ครอบคลุมคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และ พม่า ซึ่งทำงานกับนายจ้างอยู่แล้วและประสงค์จะทำงานในประเทศไทยต่อไป โดยให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
 
1. คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจสัญชาติ ได้รับพาสปอร์ต พาสปอร์ตชั่วคราว เอกสารเดินทาง หรือเอกสารรับรองบุคคล ซึ่งได้รับวิซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว แต่ไม่ได้ยื่นขออนุญาตทำงานภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้วีซ่า ให้สามารถอยู่ในประเทศได้เท่าระยะเวลาที่อนุญาตในพาสปอร์ต โดยให้มายื่นขอใบอนุญาตทำงานที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 ตามพื้นที่ทำงานปัจจุบัน ทั้งนี้ หากทำงานกับนายจ้างไม่ตรงตามที่อนุญาต ให้นายจ้างใหม่จัดทำสัญญาจ้างแล้วให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อพิจารณาอนุญาตทำงาน โดยอนุญาตให้ทำงานได้ไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. 2561 โดยให้คนต่างด้าวชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน ปีละ 900 บาท โดยให้นับต่อจากระยะเวลาที่ใบอนุญาตทำงานเดิมยังไม่สิ้นอายุและอนุญาตทำงานได้อีกครั้งเดียว ไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. 2563
 
2. คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจสัญชาติและได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงาน แต่ไม่ตรงกับนายจ้างที่ระบุในใบอนุญาตทำงาน ให้นายทะเบียนอนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้างได้ โดยยื่นเรื่องที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 ตามพื้นที่ที่ตนทำงาน โดยคนต่างด้าวชำระค่ายื่นคำขอ 100 บาท ค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนนายจ้าง 900 บาท และให้ได้รับการยกเว้นการตรวจสุขภาพ
กรณีคนต่างด้าวเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายตามเอ็มโอยู ก่อนวันที่ 16 ส.ค. 2559 ให้เปลี่ยนนายจ้างได้ตามหลักเกณฑ์ที่ปรัฐบาลไทยทำเอ็มโอยูไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ คือ นายจ้างเลิกจ้างหรือนายจ้างเสียชีวิต นายจ้างล้มละลาย นายจ้างกระทำทารุณกรรม หรือทำร้ายร่างกายลูกจ้าง นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างหรือกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และลูกจ้างทำงานในสภาพแวดล้อมที่อาจทำให้ลูกจ้างอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือ สุขภาพอนามัย
 
3. กรณีคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และ กัมพูชา ที่จะเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อทำพาสปอร์ต หรือเอกสารรับรองบุคคล ให้นายจ้างยื่นคำขอจ้างคนต่างด้าว ณ ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. - 7 ส.ค. 2560 ไม่เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งจะได้รับใบรับคำขอเพื่อนัดให้นายจ้างนำคนต่างด้าวไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและพิสูจน์ว่าคนต่างด้าวนั้นเป็นลูกจ้าง และทำงานกับนายจ้างดังกล่าวจริง หากทำงานด้วยกันจริงให้เจ้าหน้าที่ออกเอกสารรับรองการเดินทางไปรอกราชอาณาจักรเพื่อขอรับหนังสือเดินทาง หรือเอกสารรับรองบุคคล หรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ โดยให้พนักงานตรวจคนเข้าเมืองอำนวยความสะดวกแก่คนต่างด้าวโดยประทับตราอนุญาตเข้าออกประเทศ และให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมเฉพาะการเดินทางเข้าออกประเทศ
 
เมื่อได้รับเอกสารจากประเทศต้นทางเรียบร้อยให้ไปขอรับวีซ่า ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดที่คนต่างด้าวทำงาน ชำระค่าธรรมเนียม 500 บาท และให้นายจ้างนำต่างด้าวไปยื่นคำขออนุญาตทำงานที่สำนักงานจัดหางานฯ ในพื้นที่ที่ทำงาน โดยชำระค่าธรรมเนียมยื่นคำขอ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน 450 บาท และให้ตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพระหว่างที่นังไม่เข้าสู่ระบบประกันสังคม
 
4. กรณีต่างด้าวสัญชาติพม่า ซึ่งทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ไม่มีเอกสารแสดงตน ให้นายจ้างยื่นคำขอจ้างคนต่างด้าวที่ทำงานกับตนฯ ศูนย์รับแจ้งฯ ในท้องที่ทำงานปัจจุบัน โดยหลังผ่านกระบวนการพิสูจน์เป้นนายจ้างลูกจ้างจริงแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ออกเอกสารรับรองแก่คนต่างด้าวเพื่อนำไปจัดทำเอกสารกับประเทศพม่าที่ศูนย์ตรวจสัญชาติคนต่างด้าวสัญชาติพม่าที่เข้ามาดำเนินการในไทย โดยให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานในศูนย์ตรวจสัญชาติฯ เมื่อได้รับเอกสารแล้วให้เจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองออกวีซ่าชั่วคราวและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในประเทศถึงวันที่ 31 มี.ค. 2561 ชำระค่าธรรมเนียม 500 บาทจากนั้นให้นายจ้างพาไปขอใบอนุญาตทำงาน เช่นเดียวกับข้อ 3
 
5. กลุ่มที่เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางผ่าน ที่ประสงค์ทำงานหรือใบอนุญาตทำงานสิ้นอายุ หรือทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดในใบอนุญาตทำงาน ให้ยื่นคำขออนุญาตทำงาน หรือยื่นคำขอเปลี่ยนหรือเพิ่มนายจ้าง ท้งที่ หรือประเภทงาน แล้วแต่กรณี ณ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 ตมพื้นที่ทำงาน
 
6. ให้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อทำหน้าที่รับแจ้งการทำงานตามประกาศนี้ โดยให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวจัดเจ้าหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ ก.แรงงาน ตามที่ ก.แรงงานร้องขอ โดยพื้นที่ กทม. ให้จัดตั้ง ณ สถานที่ตามที่อธิบดีกรมการจัดหางานกำหนด ในจังหวัดอื่นจัดตั้งตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนด
 
7. กรณีมีความจำเป็นให้กรมการจัดหางานจัดตั้งศูนย์ตรวจสัญชาติคนต่างด้าวสัญชาติพม่า หรือขยายศูนย์ตรวจสัญชาติฯ ที่มีอยู่ในท้องที่จังหวัดที่เหมาะสม ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจัดส่งพนักงานตรวจคนเข้าเมืองไปประจำศูนย์ดังกล่าวเพื่อลงตราวีซ่า
 
8. ใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานที่ประทับตราคำว่า “ใช้แทนใบอนุญาตทำงาน” ให้ใช้ได้เหมือนใบอนุญาตทำงาน โดยใช้คู่กับเอกสารสำคัญที่ประเทศต้นทางออกให้เป็นหลักฐานแทนใบอนุญาตทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน
 
9. ระหว่างคนต่างด้าวเดินทางไปตรวจสัญชาติ ทำหนังสือเดินทาง ทั้งในและนอกประเทศให้ได้รับการยกเว้นเกี่ยวกับการเดินทางเข้าหรือออกประเทศ
 
 
นายกฯ ระบุไม่ยกเลิก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว
 
นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุสาเหตุที่ออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ใน 4 มาตรา เป็นเวลา 6 เดือน เพราะไม่อยากให้แรงงานต่างด้าวเกิดความตื่นตระหนก เมื่อกลับประเทศไปแล้ว สามารถกลับเข้ามาทำงานได้อีก แต่ต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่ผู้ประกอบการต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการ เพราะเรื่องนี้ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ หากไม่ดำเนินการในรัฐบาลชุดนี้ ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะดำเนินการหรือไม่ และยืนยันว่าจะไม่ทบทวนหรือยกเลิกกฎหมาย เพราะให้เวลาแก้ไขนานถึง 6 เดือน ส่วนโทษปรับที่กำหนดในอัตราสูง ได้มอบให้กระทรวงแรงงานพิจารณาความเหมาะสมแล้ว
 
 
เผย 5 กลุ่มธุรกิจที่ต้องการแรงงานสูงสุดในช่วงครึ่งปีแรก
 
“แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า บริษัทได้ทำการวิเคราะห์รวบรวมจากฐานข้อมูลของเว็บไซต์ จ๊อบไทย เพื่อรายงานสถานการณ์ความต้องการแรงงานแบบภาพรวมในช่วงครึ่งปี 2560 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน พบว่ามี 5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
 
กลุ่มธุรกิจบริการ จำนวนงานทั้งหมด 9,691 อัตรา โดยประเภทงานที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรกในกลุ่มธุรกิจนี้ ได้แก่ งานบริการลูกค้าสัมพันธ์ 1,698 อัตรา งานขาย 1,388 อัตรา และงานเทคนิค/ซ่อมบำรุง 914 อัตรา
 
กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จำนวนงานทั้งหมด 9,018 อัตรา โดยประเภทงานที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรกในกลุ่มธุรกิจนี้ ได้แก่ พนักงานบริการ/ต้อนรับ 2,762 อัตรา งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ 1,197 อัตรา และงานขาย 1,059 อัตรา
 
กลุ่มธุรกิจค้าปลีก จำนวนงานทั้งหมด 8,138 อัตรา โดยประเภทงานที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรกในกลุ่มธุรกิจนี้ ได้แก่ งานขาย 2,899 อัตรา งานบัญชี/การเงิน 639 อัตรา และงานจัดซื้อ/ธุรการ 470 อัตรา
 
กลุ่มธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวนงานทั้งหมด 6,775 อัตรา โดยประเภทงานที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรกในกลุ่มธุรกิจนี้ ได้แก่ งานเทคนิค/ซ่อมบำรุง 1,249 อัตรา งานขาย 1,161 อัตรา และงานผลิต/ควบคุมคุณภาพ 925 อัตรา
 
กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง จำนวนงานทั้งหมด 6,316 อัตรา โดยประเภทงานที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรกในกลุ่มธุรกิจนี้ ได้แก่ งานโยธา/สำรวจ/สถาปัตย์ 1,386 อัตรา งานบัญชี/การเงิน 1,150 อัตรา และงานวิศวกรรม 1,025 อัตรา
 
จากข้อมูลสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ซึ่งปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นการบริโภคของภาคเอกชน การลงทุนของภาครัฐในโครงการสำคัญต่างๆ และการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับอานิสงส์มาตั้งแต่ปี 2559 (ข้อมูลจากธนาคารโลก)
 
ผนวกกับสถานการณ์ที่ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นของตลาดรถยนต์ในประเทศ (ข้อมูลจากสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2560) จึงส่งผลต่อความต้องการแรงงานในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้
 
“คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีหลัง งานในสายผลิตจะยังคงมีอัตราความต้องการแรงงานเติบโต เนื่องจากภาคการผลิตได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการและท่องเที่ยวที่จะขยายตัวดีตามไปด้วย เพราะได้รับอานิสงส์จากนโยบายของภาครัฐเป็นสำคัญ”
 
 
กัมพูชาเร่งออกหนังสือเดินทางให้แรงงานกัมพูชาในไทย 1.6 แสนเล่ม
 
หลังประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 นั้น เมื่อวันที่ 7 ก.ค.60 ที่กระทรวงแรงงาน (รง.) พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ นายอิทธิ์ ซัมเฮง (H.E. Mr.lth Samheng) รมว.แรงงานและฝึกอาชีพ ราชอาณาจักรกัมพูชา ถึงการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ว่า ทางกัมพูชา เห็นด้วยกับการออกพ.ร.ก.ดังกล่าว เพราะจะเกิดประโยชน์ทั้งแก่กัมพูชาและไทย โดยได้แจ้งว่าขณะนี้ว่ามีแรงงานกัมพูชายื่นขอรับหนังสือเดินทางแล้ว จำนวน 47,450 คน แต่ได้รับหนังสือเดินทางแล้ว เพียง 27,935 คน
 
ขณะที่ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2560 พบว่า แรงงานสัญชาติกัมพูชาที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยตาม MOU จำนวน 160,881 คน และแรงงานกัมพูชาที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำงานในประเทศไทยในลักษณะไป – กลับหรือตามฤดูกาลข้อมูลสะสม ณ เดือนมิถุนายน 2560 มีจำนวนรวม 72,365 คน อย่างไรก็ตาม ทางกัมพูชา แจ้งด้วยว่าจะเร่งดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1. เร่งรัดแจกหนังสือเดินทาง (PP) ที่ค้างอยู่ 160,000เล่ม ให้แรงงานกัมพูชาที่ทำงานอยู่ในไทย ให้หมดภายใน 100 วัน และ2. จะเร่งรัดการตรวจสัญชาติแรงงานกัมพูชาเพื่อออกเอกสารรับรอง โดยระยะเร่งด่วน คือ แรงงานประมงที่ จ.ระยอง และ จ.สงขลา สามารถออกหนังสือให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน
 
รมว.แรงงาน กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน ทางกัมพูชาขอให้ไทยอำนวยความสะดวกให้แรงงานกัมพูชาที่ไม่มีเอกสารอะไรเลย ให้สามารถทำงานในไทยได้ ซึ่งได้ชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานที่ทำงานผิดกฎหมายในไทยให้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง คือ หากมีเอกสารถูกต้อง แต่เปลี่ยนนายจ้างให้สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ เสียค่าใช้จ่าย 1,000 บาท หรือผู้ที่มีบัตรสีชมพูแต่ไม่สามารถขออนุญาตทำงานได้ภายใน 15 วัน หรือเปลี่ยนนายจ้าง ไปแล้วสามารถที่จะขออนุญาตทำงานและเปลี่ยนนายจ้างได้
 
สำหรับผู้ที่ไม่มีเอกสารอะไรเลยให้ไปแสดงตนพร้อมนายจ้างในห้วง 24 ก.ค.-7 ส.ค. 60 และจะได้รับเอกสารรับรองเพื่อเดินทางกลับไปทำหนังสือเดินทาง และเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตทำงานต่อไป พร้อมกันนี้ได้ขอให้กัมพูชาประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่งให้แรงงานกัมพูชาให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามแนวทางที่แจ้งให้ทราบนี้ด้วย
 
ทั้งนี้ ในวันที่ 7 ก.ค.นี้ พล.อ.ศิริชัย จะหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากรของเมียนมานั้น จากนั้นจะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ของ สปป.ลาวในวันที่ 10 - 11 กรกฎาคม 2560 เมื่อได้หารือครบทั้ง 3 ประเทศแล้ว จะได้ข้อสรุปถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในประเด็นที่มีความเกี่ยวเนื่องกับประเทศต้นทางให้มีความชัดเจนมากขึ้น
 
 
ขนส่งระยองอบรมต่างด้าว 3 สัญชาติเข้มขับขี่ปลอดภัย
 
นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานเปิดโครงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยแก่กลุ่มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ประกอบด้วย กัมพูชา เมียนมา และลาว จำนวน 100 คน โดยมีนายชาติชาย มัฆวิมาลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่ง จ.ระยอง นายมาโนช โอสถเจริญ ประชาสัมพันธ์ จ.ระยอง ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด ที่ห้องประชุมสำนักงานขนส่ง จ.ระยอง
 
นายชาติชายกล่าวว่า จ.ระยอง เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงสำหรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ และเป็น 1 ใน 3 จังหวัดของพื้นที่เป้าหมายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ประกอบกับเป็นจังหวัดที่ติดต่อกับ จ.จันทบุรี ที่มีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา จึงเป็นแรงจูงใจให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพใน จ.ระยอง เพิ่มมากขึ้น และบางส่วนก็ขับขี่ยานพาหนะในชีวิตประจำวัน ขาดความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจรทางบกและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้พฤติกรรมใช้รถใช้ถนนของแรงงานต่างด้าวมีความเสี่ยงและเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน
 
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาประกอบอาชีพใน จ.ระยอง สำนักงานขนส่ง จ.ระยอง จึงได้จัดโครงการอบรมดังกล่าวขึ้น ซึ่งจะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจรทางบกและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสัญลักษณ์ป้ายเครื่องหมายจราจรต่างๆ และการสาธิตวิธีการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ถูกต้องตามกฎจราจร และเกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ลดการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net