สุรพศ ทวีศักดิ์: ปัญหาความมีเหตุผลแบบพุทธไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อมีผู้ถามว่า พระเล่นเฟซบุ๊ก เช่นไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ แล้วถ่ายภาพลงในเฟซบุ๊ก (เป็นต้น) ถือว่าเหมาะสมหรือไม่?

อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ตอบว่า

“...ท่านเข้าใจว่าท่านเป็นพระภิกษุหรือเปล่า คำว่าภิกษุคือผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ เมื่อเห็นภัยก็สละเพศคฤหัสถ์เพราะรู้จักตัวเองว่าสามารถจะศึกษาธรรมะอบรมปัญญาในเพศบรรพชิต...แล้วท่านจะมีเฟซบุ๊กไปทำไม อย่างนั้นไม่สงบ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบด้วย...” 

 ที่มา: http://www.dhammahome.com/audio/topic/10607

แน่นอนว่าคำตอบของอาจารย์สุจินต์ตอบบนหลักการของธรรมวินัยชัดเจน และสามารถอ้างหลักธรรมและวินัยมากมายในพระไตรปิฎกมาสนับสนุนความถูกต้องของคำตอบนี้ แต่สำหรับบางคนอาจเห็นว่า คำตอบเช่นนี้เป็นคำตอบที่ยึดภาพพจน์ของพระภิกษุตามคัมภีร์มากไป ไม่เปิดกว้างต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน

สำหรับผู้อ่านที่อาจไม่คุ้นชื่ออาจารย์สุจินต์ ผมขอคัดข้อความที่กล่าวถึงอาจารย์ในประวัติของท่านมาให้อ่านดังนี้

“ อาจารย์สุจินต์ได้บรรยายพระอภิธรรมและวิปัสสนากรรมฐาน  ให้เป็นที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับคนสมัยปัจจุบัน  และสามารถนำมาปฏิบัติเป็นปกติในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริงของแต่ละคน  ทั้งชีวิตแบบบรรพชิตและคฤหัสถ์  โดยไม่ต้องกระทำสิ่งใดให้ผิดปกติขึ้นมา  และไม่ต้องปลีกตัวหลีกหนีจากหน้าที่การงานและสังคม  อีกทั้งท่วงทำนองและน้ำเสียงการบรรยายที่ชัดเจน กังวาน  และมีเหตุผลสืบเนื่องต่อกันตามลำดับ ชวนแก่การสนใจและติดตาม อนึ่ง ประการที่สำคัญที่สุดคือ การบรรยายธรรมของอาจารย์สุจินต์เป็นการบรรยายโดยยึดถือตามหลักธรรมของพระไตรปิฎก  และอรรถกถาอย่างเคร่งครัด  อันส่งผลให้พระและคฤหัสถ์จำนวนมากมีความเข้าใจในพระอภิธรรมและวิปัสสนากรรมฐานอย่างถูกต้องตามพระไตรปิฎกและอรรถกถา ”

อ่านข้อความนี้แล้ว ทำให้ผมนึกถึงที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เคยเขียน (ประมาณ) ว่า พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) คือผู้ริเริ่มการศึกษาอภิธรรมขึ้นในวงการพุทธศาสนาไทย ความสำคัญคือการศึกษาอภิธรรมเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับ “อำนาจนิยามความจริง” ทางพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ที่ท้าทายจารีตอำนาจนิยามความจริงแบบพระที่สืบทอดมาจากยุคปฏิรูปธรรมยุติกนิกาย เพราะการเปิดการศึกษาอธิธรรมส่งผลให้มีฆราวาสจำนวนมากได้เรียนอภิธรรมอย่างแตกฉาน ขณะเดียวกัน “ผู้หญิง” ก็มีโอกาสเรียนและกลายเป็นอาจารย์สอนอภิธรรมที่ได้รับการยอมรับนับถือกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

อาจารย์สุจินต์คือหนึ่งในอาจารย์สอนอภิธรรมที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งต้องถือว่าเป็นสตรีที่มีบทบาทเป็นผู้นำทางปัญญาในพุทธศาสนาที่หาได้ยาก คำบรรยายที่พูดถึงอาจารย์สุจินต์ตามที่ผมยกมาบอกให้เราทราบว่า บทบาทผู้นำทางปัญญาของอาจารย์สุจินต์เกิดจากการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาอย่างแตกฉาน แล้วนำหลักคำสอนในพระไตรปิฎกมาสู่การปฏิบัติวิปัสสนา

พูดง่ายๆ คือนำคำสอนในพระไตรปิฎกแปรมาสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และการปฏิบัติอะไรในทางเจริญสติ เจริญปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตที่ดีในฐานะฆราวาสหรือนักบวชต้องสามารถนำไปตรวจสอบความถูกต้องได้ตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎก

สำหรับคนที่ไม่ชอบอภิธรรมหรือมีมุมมองต่อพระไตรปิฎกอย่างวิพากษ์แบบท่านพุทธทาสที่เสนอว่า จะฉีกเนื้อหาพระไตรปิฎกส่วนที่ไม่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจทุกข์และความดับทุกข์ทิ้งสัก 30-60 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ อาจไม่ชอบวิธียืนยันความถูกต้องของพระไตรปิฎกแบบอาจารย์สุจินต์ แต่อย่างไรก็ตาม การนำเสนอเนื้อหาพระไตรปิฎกแบบอาจารย์สุจินต์ก็มีลักษณะเชิงวิพากษ์อยู่ด้วย และมี “ศรัทธา” หรืออารมณ์ความรู้สึกที่เห็นคุณค่าในมิติด้านจิตวิญญาณของพุทธศาสนาอย่างชัดเจน

ที่สำคัญมากคือ อาจารย์สุจินต์อ้างคำสอนพุทธะ หรือธรรมวินัยในพระไตรปิฎกได้อย่าง make sense หรือมีความหมาย และมีความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าพระไทยโดยทั่วไป

เวลาเราพูดถึง “ความเป็นเหตุเป็นผล” หรือ rationality ในกรอบของความเป็นสมัยใหม่ (modernity) เราหมายถึง ความเป็นเหตุเป็นผลที่เชื่อมโยงกับความเป็นวิทยาศาสตร์ และการมีเสรีภาพในการถกเถียงโต้แย้ง หรือหักล้างได้ แต่นักคิดบางคนก็มองว่าความเป็นเหตุเป็นผลอาจไม่ได้อิงอยู่กับความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่มันมีความเป็นเหตุเป็นผลในชุดความเชื่ออื่นๆ ที่นอกเหนือจากวิทยาศาสตร์ก็ได้ เช่นความเป็นเหตุเป็นผลของชุดความเชื่อทางศาสนาที่เรียกว่า “ธรรมวินัย” ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างจำเป็น

แต่ปัญหาคือ เมื่อเกิดการปฏิรูปธรรมยุติกนิกายช่วงที่สยามกำลังปรับตัวเผชิญกับอิทธิพลความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตกนั้น ได้มีการทำให้พุทธศาสนามีความเป็นเหตุเป็นผลแบบสมัยใหม่ 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนแรกตีความคำสอนในพระไตรปิฎกว่ามีเหตุผลสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ส่วนที่สองสร้างระบบปกครองสงฆ์แบบระบบราชการสมัยใหม่ ที่กำหนดให้พระมีตำแหน่งและอำนาจทางกฎหมาย แต่ความเป็นเหตุเป็นผลที่สร้างขึ้นใหม่นี้ไม่ได้เกี่ยวใดๆ กับความคิดเรื่อง “เสรีภาพ” กล่าวคือ รัฐไม่ได้ให้หลักประกันเสรีภาพทางความคิดเห็นและเสรีภาพทางการเมืองในการใช้เหตุผลวิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้งได้แบบที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก

แปลว่า ความเป็นเหตุเป็นผลแบบสมัยใหม่ของพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นผ่านขบวนการปฏิรูปธรรมยุติกนิกาย ก็เป็นเพียง “ความเป็นเหตุเป็นผลแบบสมัยใหม่อย่างไทยๆ” ที่ไปไม่ถึงการสร้างหลักประกันเสรีภาพ จึงทำให้ “เหตุผล” ไม่สามารถทำงานได้จริงหรือได้เต็มที่มาจนกระทั่งทุกวันนี้

ผลก็คืออำนาจทางกฎหมายในระบบปกครองสงฆ์ ได้กลายเป็นอำนาจที่ควบคุมและลดทอนเสรีภาพทางศาสนา และเป็นอำนาจที่ไม่ได้อิงอยู่กับ “ความชอบธรรม” ตามหลักธรรมวินัยในพระไตรปิฎก แม้จะอ้างว่าเป็นอำนาจที่ทำหน้าที่รักษาความถูกต้องของธรรมวินัยในพระไตรปิฎก แต่เมื่อไม่อิงความชอบธรรมตามหลักธรรมวินัยในพระไตรปิฎก ก็ไม่ใช่อำนาจของสังฆะตามพุทธบัญญัติ หรือตามที่ “ออกแบบ” ไว้ในพระไตรปิฎก

เมื่อเป็นเช่นนี้ การอ้างธรรมวินัยในพระไตรปิฎกภายใต้ระบบปกครองสงฆ์ที่ไม่อิงความชอบธรรมตามธรรมวินัยในพระไตรปิฎก จึงไม่ต่างอะไรกับอำนาจที่ไม่ได้มาจากความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยอ้างหลักการประชาธิปไตย คือไม่ make sense หรือไม่มีความหมายตามหลักการที่อ้างได้จริง และไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล

ยกตัวอย่างเช่น มหาเถรสมาคมอ้างว่า คณะสงฆ์ไทยที่ถือเคร่งตามหลักธรรมวินัยในพระไตรปิฎกทำการบวชภิกษุณีไม่ได้ เพราะไม่เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกที่คณะสงฆ์ไทยยึดถือ พออ้างแบบนี้ก็ย่อมเกิดคำถามตามมาทันทีว่า แล้วที่คณะสงฆ์ไทยมียศศักดิ์ มีตำแหน่ง อำนาจทางกฎหมาย มีรายได้รายเดือนจากรัฐ (เงินนิตยภัตจากภาษีประชาชน) มีรถเบนซ์ส่วนตัว มีบัญชีเงินฝากส่วนตัว ฯลฯ เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกอย่างไรหรือ นี่คือตัวอย่างของการอ้างธรรมวินัยอย่างไม่ make sense หรือไม่มีความหมายตามหลักการที่อ้างได้จริงและไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล เพราะสิ่งที่อ้างกับสถานะตามเป็นจริงของผู้อ้างขัดกันในระดับรากฐาน

ต่างจากการอ้างธรรมวินัยแบบอาจารย์สุจินต์ที่ make sense หรือมีความหมายและเป็นเหตุเป็นผล เนื่องจากอาจารย์สุจินต์อยู่ในสถานะที่สามารถ “ซื่อตรง” ต่อหลักการของธรรมวินัยได้จริง เพราะอาจารย์อยู่นอกระบบปกครองสงฆ์ ซึ่งแปลว่าอาจารย์ไม่ได้ถูกระบบกำหนดให้มีสถานะ ตำแหน่ง อำนาจที่ขัดหลักการพื้นฐานของธรรมวินัย จึงอ้างธรรมวินัยบนจุดยืน หรือบนหลักการของธรรมวินัยได้อย่างไม่ขัดแย้งในตัวเอง หรือไม่ขัดขาตัวเอง 

ฉะนั้น การอ้างธรรมวินัยจาก “คนนอกระบบ” แบบอาจารย์สุจินต์ จึงเผยให้เห็นปัญหาความไม่ make sense หรือความไร้ความหมาย ความไม่เป็นเหตุเป็นผลของประเพณีหรืออำนาจในการอ้างธรรมวินัยของ “คนในระบบ” ของพุทธศาสนาไทยได้อย่างชัดเจนล่อนจ้อน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท