วงเสวนาสื่อสาธารณะ: อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล 'ประชาธิปไตยทั้งในจอและหลังจอ'

‘อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล’ ระบุ ประชาธิปไตยสื่อสาธารณะต้องมีทั้งในจอและหลังจอ เมื่อถูกกำกับควรกล้าพูดแทนสื่ออื่น ชี้ พ.ร.บ.ไทยพีบีเอส ไม่อยู่ใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่เป็นมาตราฐานเดียวกัน เสนอ ผู้สื่อข่าวเกาะติดประเด็นประจำสถานี รวมทั้ง archive และสตูดิโอที่สาธารณะเข้าถึงได้

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล: รูปจากเพจ นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)

วงเสวนาเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเชิงสร้างสรรค์ The Creative Forum “วงแชร์ : สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะประมาณไหน" ร่วมมองอนาคตใหม่สื่อสาธารณะ วันที่ 5 ก.ค. 2560 ณ ไทยพีบีเอส Convention Hall 2 อาคาร D ชั้น 2 ดำเนินรายการโดย หทัยรัตน์ พหลทัพ และ โกวิท โพธิสาร

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ภาพในสังคมโลกว่าโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างไรบ้าง โดยเขากล่าวว่า โลกไปถึงขนาดที่ว่าสถานีโทรทัศน์สาธารณะในคาบสมุทรอาหรับถูกประเทศเพื่อนบ้านกดดันว่าจะปิดน่านฟ้าและประเทศ ไม่ให้ขนสินค้าต่างๆ เข้าออกถ้าไม่ยอมปิดสถานีข่าวอัลจาซีรา น่าสนใจว่าสถานีข่าวสถานีหนึ่งทำให้ทั้งคาบสมุทรนั้นปั่นปวนได้แค่ไหน ซึ่งสุดท้ายไปกดดันรัฐบาลการ์ตาให้ปิดสถานี ไม่เช่นนั้นจะแซงชั่น

อาทิตย์ตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ดูอัลจาซีราส่วนหนึ่งในปัจจุบันเขาไม่ได้ดูจากทีวีดาวเทียม เขาดูออนไลน์ ปัจจุบันสื่อเหล่านี้ใช้อินเตอร์เน็ตเสนอข่าวข้ามพรมแดน คนดูทีวีน้อยลงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยสภาพชีวิตประจำวันที่อาจจะอยู่นอกบ้านมากขึ้น แม้จะใช้สื่อโซเชียลแต่ยังเห็นข่าวทีวีจากในอินเตอร์เน็ต เห็นคลิปจากช่องสามบ้าง workpoint บ้าง อมรินทร์บ้าง แต่ไม่ค่อยเห็นของไทยพีบีเอส

เขาเห็นว่า ไทยพีบีเอสทำอยู่แต่ไม่ค่อยถูกแชร์ เมื่อพูดถึงกระบวนการทำเรตติ้ง มีคนตั้งคำถามว่าเรตติ้งน่าเชื่อถือได้ไหม มีคนทำอยู่ไม่กี่บริษัท กระบวนการถูกตั้งคำถามต่างๆ นานา แต่การที่คนจะแชร์หรือไม่แชร์เป็นประชาชนผู้ใช้เป็นคนตัดสิน การที่คลิปข่าวของสถานีปรากฏหรือไม่ปรากฎในโลกออนไลน์มันบอกได้เหมือนกันว่าความนิยมของสถานีโทรทัศน์แต่ละช่องอยู่ตรงไหน

“ผมคาดหวังอย่างหนึ่งกับสื่อสาธารณะ หากเราบอกว่าเป็นสื่อที่จะให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ใน พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เช่น มาตรา 7(4) ส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน เป็นประเด็นที่มากกว่าในหน้าจอแต่เป็นเรื่องกระบวนการ” อาทิตย์กล่าว

เขากล่าวต่อว่า ประเด็นประชาธิปไตยที่สื่อสาธารณะควรนำเสนอไม่ใช่แค่การนำเสนอข่าวสาร แต่ควรเป็นการแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย เช่น ภายในองค์กรของไทพีบีเอสมีลักษณะแบบนี้อยู่อย่างไรบ้าง เพราะพอไปดูในมาตรา 10 “กิจการขององค์การไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน…”

“คำถามก็คือว่า เวลานักข่าวไทยพีบีเอสไปทำข่าวแรงงาน ตัวเขาเป็นแรงงานแบบไหน เป็นแรงงานแบบเดียวกับคนใช้แรงงานที่ปรากฏอยู่ในข่าวหรือไม่ หรือเป็นแรงงานอีกประเภทที่เป็นแรงงานอภิสิทธิ์ที่อยู่ภายใต้กฎหมายคนละอย่าง ถ้าเริ่มต้นแล้วคนที่อยู่ในข่าวกับคนทำข่าวได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายไม่เท่ากันแล้ว คุณจะคาดหวังความเท่าเทียมกันแค่ไหนจากสิ่งที่คุณนำเสนอ” อาทิตย์กล่าว

เขาตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้องค์กรทำเป็นตัวอย่างได้ว่าเราเป็นคนเท่ากัน และสิ่งนี้เป็นคุณค่าที่ทีวีสาธารณะต้องการนำเสนอ และในแง่องค์กร สหภาพของคนทำงานอยู่ตรงไหนในโครงสร้างขององค์กรบริหาร แม้ในกฎหมายไม่ได้ห้ามเสียทีเดียวในการตั้งสหภาพ แต่เนื่องจากพอมาตรา 10 เขียนแบบนี้ และในโครงสร้างคณะกรรมบริหารไม่ได้บอกว่าตั้งสหภาพขึ้นมาแล้วจะมีเสียงอย่างไรในการบริหารองค์กร คนทำงานจะไปอยู่ตรงไหนในการบริหารงานอันนี้ ถ้ามีความไม่ชอบมาพากลในองค์กรสหภาพจะมีเสียงตรงไหน

“ถ้าตัวองค์กรยังไม่สามารถเป็นตัวอย่างแก่สังคมได้ก็ลำบากเหมือนกัน เป็นสิ่งที่เราควรจะคาดหวังได้กับสื่อสาธารณะมากกว่าตัวเนื้อหาที่ปรากฎบนจอ ให้คนรู้สึกว่าคนทำงานสื่อนี้ก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน ให้คนรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของกับสื่อนี้ได้จริง ๆ” อาทิตย์กล่าว

อาทิตย์เห็นว่า สหภาพฯ จำเป็นต่อความเป็นอิสระ นอกจากกฎหมายกำกับกิจการต่างๆ พ.ร.บ. คุมสื่อ ที่ต้องทำบัตรนักข่าว หรือกฎหมายเรื่อง OTT (Over the Top - การเผยแพร่เนื้อหาผ่านอินเทอร์เน็ต) ซึ่งเป็นความไม่อิสระที่มาจากการกำกับข้างนอก ถ้าอยากอิสระก็ต้องผลักดันแก้ไขกฎหมายนั้นเพื่อรับรองเสรีภาพของเรา แต่เมื่อพูดถึงสหภาพฯ มันคือความอิสระภายใน ยกตัวอย่าง BBC หรือสถานีสาธารณะของหลายประเทศ มีหลายกรณีที่ฝ่ายบริหารพยายามเข้ามาแทรกแซงกองบรรณาธิการ แต่สหภาพฯ เป็นตัวที่ยันกับฝ่ายบริหารว่าจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกองบรรณาธิการไม่ได้ การรวมตัวจึงสำคัญและต้องส่งเสริม เราพูดถึงสหภาพฯ ในเรื่องหลักประกันในการต่อรองเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่สหภาพฯ ในการต่อรองเพื่อสวัสดิการอย่างเดียว

นอกจากนี้เขายังเสนอว่า ในสื่อสาธารณะหลายๆ ประเทศมีสิ่งที่เรียกว่า correspondent ซึ่งแตกต่างจาก reporter คนที่เล่าเหตุการณ์ข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น ณ ขณะนั้น ส่วน correspondent คือนักข่าวที่เกาะติดอยู่กับประเด็นนั้นตลอดเวลา พูดง่ายๆ สื่อสาธารณะมีนักข่าว/นักวิชาการประจำสถานี ที่ติดตามประเด็นนั้นๆ อยู่ตลอดเวลา และเมื่อเกิดเหตุการณ์สามารถให้ความเห็นกับประเด็นนั้นได้ในทันที ก่อนที่จะไปหานักวิชาการอื่นๆ แน่นอนว่าใช้เงินและทีวีช่องอื่นทำไม่ได้ แต่ไทยพีบีเอสน่าจะทำได้

เมื่อกล่าวถึงประเด็นการเดินหน้าต่อหลังจากนี้ อาทิตย์กล่าวว่า ถ้าไทยพีบีเอสอยากเป็นสื่อที่มีความโปร่งใส เอาความจริงมาตีแผ่ แล้วไทยพีเอสโปร่งใสกับสาธารณะเพียงใดกัน ทำอย่างไรให้วัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวอย่างและสะท้อนไปที่หน้าจอด้วย เช่นอยากจะชูประเด็นเรื่องแรงงาน ภายในองค์กรเรื่องแรงงานเป็นอย่างไร หรือเรื่องเพศสภาพ ภายในองค์กรความเท่าเทียมเรื่องเพศสภาพการจ้างงานต่างๆ เป็นอย่างไร นอกจากประชาธิปไตยภายในองค์กร ประชาธิปไตยในสังคม ยังมีประชาธิปไตยของการกำกับเนื้อหา การถูกกำกับดูแลจากภายนอก ขึ้นอยู่กับความกล้าของไทยพีบีเอสในการออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในฐานะที่ไทยพีบีเอสได้รับการคุ้มครองอาจจะมากกว่าสื่ออื่นในการออกมาพูดเรื่องเหล่านี้

“ความกล้านี้ไม่ได้มีความหมายแก่ไทยพีบีเอสเพียงอย่างเดียว แต่มีความหมายกับสื่ออื่นด้วย ประเด็นคือถึงแม้ตอนนี้สังคมจะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่สุดท้ายถ้าเราจำเป็นต้องพูด แม้การพูดของเราจะทำให้เกิดความไม่สบายใจ มันก็ต้องพูด เพื่อให้ระยะยาวเราเกิดสิ่งนั้น” เขากล่าว

นอกจากนี้เขายังเสนอเรื่องพื้นที่ของไทยพีบีเอสนั้นเป็นสาธารณะจริงหรือไม่ ทำไมการจะเข้ามาต้องมียามตรวจบัตร รวมไปถึงเขาเสนอให้มี archive ที่สาธารณะเข้าถึงได้ มีสตูดิโอที่ช่องต่างๆ ที่เป็นสื่อสาธารณะสามารถเข้ามาใช้ได้ เปิด 24 ชั่วโมง ให้เข้ามาใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้ ยกตัวอย่างของเอกชน คือ Youtube มีสตูดิโอใหญ่สำหรับ Youtuber เข้ามาใช้ได้ มีอุปกรณ์แบบมืออาชีพ เช่าเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้ได้รายการที่มีคุณภาพ หรือโมเดล Co-working space การแชร์ทรัพยากรนอกเหนือจากเนื้อหา เป็นแพลตฟอร์มให้คนอื่นมาผลิตรายการ ให้คุ้มกับทรัพยากรที่มีอยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท