ประยุทธ์นำถก 'กก.เตรียมการปฏิรูป' กำหนดอนาคตเพื่อพ้น 'กับดักรายได้ปานกลาง'

ประยุทธ์ นั่งประธานนำถก คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ กำหนดอนาคต เพื่อให้ประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ทั้งวิธีบริหารจัดการ ที่สำคัญคือการปรับปรุงกฎหมายให้สากล โดยคำนึงถึงอัตตลักษณ์ความเป็นไทย เสนอ 7 วาระสำคัญ

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

12 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (12 ก.ค.60) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 2/2560 โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปประเทศมีหลักการสำคัญที่จะต้องทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ และการปฏิรูปต้องทำให้เกิดขึ้นตามห้วงเวลาที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีผลงานผลสัมฤทธิ์ปรากฏตามห้วงเวลาที่จะต้องเกิดขึ้นทุกปี และทุก ๆ 5 ปี และต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อีก 5 แผน ในระยะ 20 ปี คือแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ถึง 15 ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องหาข้อสรุปออกมาให้ได้ ว่าทำอย่างไรจะสอดคล้องกันทั้งหมด โดยเมื่อมีการปฏิรูปก็จะต้องมีแผนแม่บท แผนปฏิบัติการ และกำหนดผลสัมฤทธิ์ไว้ล่วงหน้า ในทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับวาระของสหประชาชาติ ด้วยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการในทั้ง 11 เป้าประสงค์ ซึ่งทุกอย่างจะต้องดำเนินการให้ประสานสอดคล้องกันให้ได้ทั้งหมด

โดย ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุมมีความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของการกำหนดอนาคต เพื่อให้ประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ทั้งวิธีบริหารจัดการ ที่สำคัญคือการปรับปรุงกฎหมายให้สากล โดยคำนึงถึงอัตตลักษณ์ความเป็นไทย  จึงอยากให้ทุกคนใส่ใจกับกฎหมายให้มากขึ้น อย่ามองว่ารัฐบาลออกกฏหมายมาเพื่อควบคุม ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะกฏหมายถูกใช้เพื่อสร้างกระบวรการยุติธรรมให้เกิดความเท่าเทียมกับคนทุกกลุ่ม

“ผมย้ำว่า หากออกกฏหมาย เรื่องใด และส่งผลกระทบ ทำให้เกิดปัญหาจะต้องมีมาตรการมารองรับ ไม่ให้เป็นเหมือนอดีตที่ผ่านมา และอย่ามองว่ากฏหมายเป็นเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้มีการจัดระเบียบวาระการปฏิรูป 37 ประเด็น เข้าหมวดหมู่ให้เหลือ 11 วาระ และนำกิจกรรมมาปรับใช้ให้เกิดแผนปฏิรูป ที่ต้องสอดคล้อง กับ 6 ยุทธศาสตร์ชาติ สำหรับวางเป็นแนวทางให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปใช้เป็นแนวทางในการทำงาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันจึงจะสำเร็จได้ 

“วันนี้รัฐบาลมองเป้าหมายประชาชนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกรายได้ ทุกวัย จะทำอย่างไรให้คนได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปประเทศ ทั้งคนในวันนี้และคนในวันหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้คาดหวัง วันนี้ทุกคนต้องร่วมมือกัน รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้า ไม่ว่าจะเป็นใคร ต้องร่วมมือกันในวันนี้ หากขัดแย้งกันในวันนี้ ทุกอย่างก็เหมือนเดิม ทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องการเมือง เรื่องอะไรต่าง ๆ  แล้วก็ขัดแย้งกันเหมือนเดิม แล้วใครจะรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรี คสช. รับผิดชอบ อย่างไรผมก็ต้องรับอยู่แล้ว แต่ผมก็จะไม่ให้ไปสู่ตรงนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ได้แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมวันนี้ได้มีการเสนอทั้งหมด 7 วาระสำคัญ ประกอบด้วย 1. การปฏิรูปกฎหมาย 2. การปฏิรูประบบตัวชี้วัดของภาครัฐทั้งหมด ที่ตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของภาครัฐในวันนี้ยังไม่ตอบโจทย์  จะสามารถตอบโจทย์ว่าประชาชนได้อะไรนั้นได้อย่างไร 3. ทำอย่างไรที่จะเป็นการปฏิรูปให้รัฐบาลมีความคล่องตัว กระชับมากขึ้น มีการผ่องถ่ายภารกิจที่ไม่จำเป็นออกไปให้ภาคส่วนอื่น 4. การจัดการกำลังคนภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะวันนี้มีข้าราชการอยู่เป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรที่จะมีข้าราชการจำนวนที่เหมาะสมในอนาคต โดยในอนาคตจะมีรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ที่จะทำให้กำลังพลบางส่วนหายไป  และบางส่วนจะถูกแทนที่ด้วยข้าราชการที่มีทักษะอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นในเรื่องของการรองรับ ในเรื่องของการ Re-skill ในเรื่องของการ Training ราชการ ตลอดจนการคัดกรองคนที่ไม่มีประสิทธิภาพออกจากระบบโดยที่ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งข้าราชการที่มีประสิทธิภาพนั้นจะทำอย่างไร 5. การปฏิรูปงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 6. การปรับเปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัล 7. การยกระดับการให้บริการภาคประชาชน ซึ่งใน 7 เรื่องดังกล่าวมีข้อเสนอที่สำคัญคือจะใช้กลไกประชารัฐดำเนินการใน 7 เรื่องนี้ เพราะเนื่องจากระบบราชการเป็นเรื่องที่การปฏิรูปคงยังไม่สามารถทำขึ้นมาได้โดยตัวเอง จึงจะให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม โดยที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงรายชื่อบุคคลที่น่าสนใจที่จะทาบทามให้มาร่วมดำเนินการในด้านต่าง ๆ ซึ่งการปฏิรูปใน 7 มิตินี้จะเป็นมิติใหม่ของการปฏิรูปไปสู่ระบบราชการ 4.0 โดยจะเป็นกลไกประชารัฐ ที่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนมืออาชีพเข้ามามีส่วนในการปฏิรูป

 

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลและสำนักข่าวไทย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท