Skip to main content
sharethis

คกก.พิจารณา กม.หลักประกัน คงร่วมจ่ายไว้ แยกเงินเดือน และให้ สธ.จัดซื้อยา ทั้งที่ภาค ปชช.คัดค้านมาตลอด เรียกร้องหมอปิยะสกล รมว.สธ. แสดงความรับผิดชอบต่อผลในอนาคตและตั้งคณะทำงานติดตามผล คนรักหลักประกันถาม สปสช. ซื้อยาได้ดีอยู่ ทำไมไม่ให้ทำ หวั่นยา-เวชภัณฑ์ขาดแคลนซ้ำรอยอดีต

วันที่ 13 กรกฎาคม 2560 เวลา 9.30 น. เครือข่ายภาคประชาชน คนรักหลักประกันสุขภาพ รวมตัวกันที่หน้าบริเวณสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามการพิจารณาการแก้ไขกฎหมายของคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเรียกร้องให้ทางคณะกรรมการเปิดเผยข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และรอฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยระหว่างรอ ทางเครือข่ายฯ มีการตั้งวงอภิปรายให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหากฎหมาย รวมทั้งเรียกร้องให้ตัดประเด็นการร่วมจ่ายออกจากมาตรา 5 ในกฏหมายหลักประกัน

เวลาประมาณ 12.30 เครือข่ายภาคประชาชนฯ ได้รับทราบผลการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของคณะกรรมการฯ ว่า จะยังคงประเด็นการร่วมจ่ายไว้ในมาตรา 5, ให้หน้าที่การจัดซื้อยาเป็นของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และทำการแยกเงินเดือนจากเงินเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เครือข่ายภาคประชาชนฯ คัดค้าน

เนื่องจากอาจทำให้เกิดการร่วมจ่ายได้ในอนาคต ประเด็นการให้ สธ. เป็นผู้จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาจทำให้ไม่สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้ในราคาถูกและมีประสิทธิภาพเพียงพอ ขณะที่การแยกเงินเดือนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการขาดแคลนแพทย์ในบางพื้นที่

เครือข่ายภาคประชาชนฯ จึงนำสัญลักษณ์โลงศพและพวงหรีดมาวางที่ด้านหน้าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้อ่านแถลงการณ์ โดยเนื้อความตอนหนึ่งเรียกร้องต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า

1.ขอเรียกร้องให้เป็นเปิดเผยข้อมูลความเห็นในการแก้ไขกฎหมายที่ยังมีความเห็นต่างต่อสาธารณะและสร้างกระบวนการที่เป็นกลาง โปร่งใส ให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเสมอภาค

2.ขอเรียกร้องให้ นพ.ปิยะสกล ในฐานะ รมว.สธ. ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาแถลงชี้แจงแสดงความรับผิดชอบยอมรับต่อผลที่จะตามมาจากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ไม่ว่าผลที่เกิดขึ้นหลังจากการแก้ไขครั้งนี้จะเป็นอย่างไร

3.ขอเรียกร้องให้ นพ.ปิยะสกล แต่งตั้งคณะทำงานที่น่าเชื่อถือ เป็นกลาง และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาดำเนินการติดตามผลการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการแก้ไขกฎหมาย แม้ว่าท่านจะไม่ใช่ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ตาม

ด้านสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กรรมการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตัวแทนภาคประชาชน อธิบายกับประชาไทถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ สธ. ทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์แทน สปสช. ว่า

“ขณะนี้ สปสช. จ่ายเป็นยา เช่น ยามะเร็งเข็มละแสนสองแสนหรือขดลวดขยายหัวใจ ก็เจรจาซื้อตรงกลาง ซึ่งทำให้ซื้อได้ราคาถูก แล้ว สปสช. ก็ไม่ได้จ่ายเป็นเงินให้โรงพยาบาลที่รักษามะเร็ง แต่ให้เป็นยา คุณใช้ไปเท่าไหร่ เราก็ทดแทนให้ เพราะเราเป็นคนซื้อให้ ที่เราบริหารแบบนี้เพราะคนไข้มะเร็งไม่ได้อยู่ทุกโรงพยาบาล เราจะเหมาจ่ายไปให้ทุกโรงพยาบาลเพื่อรักษามะเร็งไม่ได้ ยังไงก็ต้องประกันให้ประชาชนว่า ถ้าใครเป็นโรคหัวใจ ใครต้องผ่าตัดสมอง มันมีกองกลางอยู่ตรงกลาง คุณเคลมมาที่นี่ ตอนนี้ให้เคลมเป็นวัสดุ ยา หรือเงินก็ได้

“แต่ต่อไปเขาอาจจะบอกว่าให้เคลมเฉพาะเงิน แล้วกระทรวงสาธารณสุขจะไปเจรจากับทางบริษัทนั้นเองว่า ถ้าใครจะซื้อวัสดุน่าจะได้ราคานี้นะ แล้วให้โรงพยาบาลนั้นซื้อเอง คือกระทรวงสาธารณสุขคงไม่สามารถเป็นคนซื้อแล้วสต็อกไว้ที่กระทรวงและส่งออกไปได้ มันจะเป็นกระบวนการที่ซ้ำซ้อนและที่ผ่านมากระทรวงทำไม่ได้ คือเขาจะมีราคากลางไว้ ถ้าคุณซื้อจากบริษัทนี้ คุณจะได้ราคานี้ แต่มันก็เป็นอิสระของโรงพยาบาลที่จะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้

“ที่ผ่านมาในอดีตเคยมีว่า ยาต้านไวรัสควรซื้อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่บางโรงพยาบาลอาจจะยังไม่ซื้อ ไม่พร้อมซื้อ อยากเอาไปซื้ออย่างอื่นก่อน เอชไอวีเอาไว้ทีหลัง แล้วก็ขาดยา ผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็ร้องว่าไม่ได้กินยา สมมติว่าเราเป็นมะเร็ง ต้องทำคีโม วันนี้โรงพยาบาลไม่พร้อมจะซื้อคีโมสต็อกไว้เยอะๆ แต่ดันมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้น รอก่อน เรายังให้คีโมคุณไม่ได้ อันนี้เป็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ เพราะมันเป็นเสรีภาพของทุกโรงพยาบาล กระทรวงจะสั่งทุกโรงพยาบาลได้มั้ย ถ้าสั่งไม่ได้ กระทรวงต้องซื้อคีโมเอง แล้วส่งคีโมไป กระทรวงก็ต้องบริหารเหมือนที่ สปสช. บริหารในสิบปีที่ผ่านมา ต้องสร้างระบบขึ้นมาใหม่ ถ้าจะรับประกันว่าจะมีระบบแบบเดิมก็ไม่ว่ากัน หรือต่อไปอาจกลายเป็นให้ สปสช. ทำให้ แต่ฉันเป็นคนตัดสินก็ได้ ประเด็นคือ สปสช. ทำดีอยู่แล้ว ทำไมไม่ให้ทำต่อ ไม่ยอม อ้างว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้”

ด้านนิมิตร์กล่าวว่า ทางเครือข่ายภาคประชาชนฯ จะทำการยื่นร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของภาคประชาชนประกบไปกับร่างกฎหมายของคณะกรรมการฯ ในขั้นตอนต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net