บทเรียนความเหลื่อมล้ำระหว่าง Silicon Valley และ Central Valley สาเหตุจาก 'กองทัพ' และ 'รัฐบาลกลาง'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากรายงาน Geographies of Opportunity เพื่อดูว่ารัฐไหนเหลื่อมล้ำที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยไม่ใช้ตัวชี้วัดที่มักใช้กันอย่างกลุ่มคนรวยสุด 1% เทียบกับที่เหลืออีก 99% แต่ดูรายได้เฉลี่ย การศึกษา อายุขัย ในแต่ละพื้นที่ ตัวชี้วัดนี้รายงานล่าสุดเมื่อปี 2015 ปรากฏว่าแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่เหลื่อมล้ำที่สุดในประเทศ

ที่ซิลิกอน วัลเลย์ (Silicon Valley) อายุขัยเฉลี่ยของประชากรคือ 83.7 ปี คนทั่วไปที่ไม่ใช่เศรษฐีเฉลี่ยแล้วมีรายได้ 55,215 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เยาวชนอายุ 3 ถึง 24 ปีประมาณ 85.6% มีชื่อในระบบของโรงเรียน และ 60% ของผู้มีอายุ 25 ปีขึ้นไปจบปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย แต่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกไม่ถึง 1 ร้อยไมล์ ที่เซ็นทรัล วัลเลย์ (Central Valley) อายุขัยเฉลี่ยของประชากรคือ 78.4 ปี รายได้เฉลี่ยเพียง 20,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เยาวชนมีชื่อในโรงเรียนเพียง 73.5% และมีเพียง 8.3% ของผู้มีอายุ 25 ปีขึ้นไปที่จบปริญญาตรี และ 4 ใน 10 ของประชากรที่นี่ไม่จบมัธยมปลาย [1]

เซ็นทรัล วัลเลย์ คือหนึ่งในพื้นที่ที่ผลิตสินค้าทางการเกษตรมากที่สุดในโลก ปลูกมากกว่า 230 สายพันธุ์ ในปี 2013 มีเกษตรกรผู้ปลูกเมล็ดอัลมอนด์ประมาณ 6 พันคน ซึ่งผลิตได้มากกว่า 1.8 ล้านตัน หรือประมาณ 60% ของผลิตผลอัลมอนด์ทั้งโลก และบนพื้นที่น้อยกว่า 1% ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมดในสหรัฐฯ เซ็นทรัล วัลเลย์ สามารถผลิตได้ประมาณ 8% ของผลผลิตทางเกษตรทั้งประเทศ มีมูลค่าประมาณ 43.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกษตรกรรมที่นี่พึ่งพาระบบชลประทานจากการผันน้ำบนผิวดินและการสูบน้ำบาดาลจากบ่อน้ำ โดยประมาณ 1 ใน 6 ของพื้นที่ชลประทานทั้งหมดในสหรัฐฯอยู่ที่เมืองนี้ โดยประชากรหลัก ๆ ที่นี่ อพยพมาจากพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก (San Francisco Bay Area) เพื่อแสวงหาที่อยู่อาศัยราคาถูก และยังมีผู้ที่อพยพมาจากเอเชีย อเมริกากลาง เม็กซิโก ยูเครน และดินแดนที่สหภาพโซเวียตเคยปกครองในยุคสงครามเย็น นอกจากภาษาอังกฤษและสเปน 'ภาษาม้ง' คือภาษาที่ 3 ที่พูดกันทั่วไปในเซ็นทรัล วัลเลย์ [2] (ขออนุญาตไม่ขยายความเรื่อง 'ภาษาม้ง' ในบทความนี้ เพราะจริง ๆ ยังมีรัฐอื่นที่มีชาวม้งมากกว่า และเรื่อง ม้ง-อเมริกัน สามารถหาอ่านได้ทั่วไป)

ส่วนซิลิกอน วัลเลย์ เป็นชื่อเล่นของพื้นที่ที่อยู่ในเขตซานตา คลารา (Santa Clara) ในพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก และคงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณอันใด - Steve Blank อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเพื่อการจัดการ (Management Science & Engineering) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 ว่า แรงจูงใจในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 ในการสร้าง startup ไม่ใช่การคิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้เป็น unicorn (สตาร์ทอัพที่รวยกว่าพันล้านดอลลาร์) ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่มันเกี่ยวกับสงครามเย็น ผู้ประกอบการในช่วงนั้นต้องผลิตอาวุธ ไม่มีการร่วมลงทุนธุรกิจ (venture capital) อย่างที่เราเข้าใจกัน มันเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1956 เมื่อ Lockheed บริษัทผลิตเครื่องบินจากเมืองเบอร์แบงค์ในแคลิฟอร์เนีย ชนะการประมูลสัญญาจ้างผลิตเรือดำน้ำติดขีปนาวุธ (จรวดหัวระเบิดที่ล็อคเป้าได้), หลังจากเริ่มต้นโครงการได้เพียง 4 ปี Lockheed จ้างงานได้ถึง 20,000 คน แต่บริษัท Hewlett-Packard ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของซิลิกอน วัลเลย์ ตั้งแต่ปี 1939 ในปี 1960 จ้างงานได้เพียง 3,000 คน [3]

ทั้ง ๆ ที่ห่างกันไม่ถึง 100 ไมล์ ทำไมเซ็นทรัล วัลเลย์ ต้องเป็นแหล่งเกษตรกรรม? แม้ว่าบนพื้นที่น้อยกว่า 1% ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมดในสหรัฐฯ สามารถผลิตได้ประมาณ 8% ของผลผลิตทางเกษตรทั้งประเทศ ทำไมรายได้และความสามารถในการอยู่กับระบบการศึกษาถึงได้ต่างกันขนาดนี้?

สาเหตุจากกองทัพและรัฐบาลกลาง

สงครามเม็กซิโก-สหรัฐฯ (Mexican–American War) เป็นการสู้กันด้วยอาวุธระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโกตั้งแต่ ค.ศ.1846-1848 หลังสหรัฐฯ ยึดครองเท็กซัสเมื่อปี 1845 ซึ่งเม็กซิโกถือว่าเป็นดินแดนของตน จากนั้นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 1846 John D. Sloat ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้อ้างสิทธ์ความเป็นเจ้าของแคลิฟอร์เนียว่าเป็นของสหรัฐฯ ปี 1847 เรือ USS Portsmouth ภายใต้การบังคับบัญชาของกัปตัน John S. Montgomery ได้บัญชาให้เรือ 70 ลำ พร้อมทหารกว่า 600 นาย เข้าเทียบท่าที่ Clark's Point บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก และยึดได้สำเร็จโดยไม่ต้องยิงปืนแม้แต่นัดเดียว นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการค้นพบแหล่งทองคำมากมายที่แคลิฟอร์เนีย ต่อมาได้เกิดการเจรจาเพื่อยุติสงครามนี้โดยมีการลงนามสนธิสัญญากัวดาลูป ฮิดัลโก (Treaty of Guadalupe Hidalgo) เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 1848 ที่หมู่บ้าน Guadalupe Hidalgo ใกล้ ๆ กับเม็กซิโกซิตี้เมืองหลวงของเม็กซิโกในปัจจุบัน ซึ่งเม็กซิโกเรียกร้องให้สหรัฐฯจ่ายเงิน 18.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแก่เม็กซิโก จากนั้นเท็กซัส แคลิฟอร์เนีย และพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของรัฐนิวเม็กซิโก แอริโซนา เนวาด้า ยูทาห์ และบางส่วนของรัฐไวโอมิง โคโลราโด ก็ตกเป็นของสหรัฐฯ จากข่าวสารการค้นพบแหล่งทองคำ ภายในปี 1848 ผู้คนประมาณ 300,000 ชีวิตได้มาที่แคลิฟอร์เนีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองซานฟรานซิสโก ซานโฮเซ่ และซาคราเมนโต ทั้งจากรัฐอื่นๆและชาวต่างชาติ ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า ‘California Gold Rush’ (1848 - 1855) แล้วทองคำจำนวนมากได้ถูกขายออกไปทางทิศตะวันออก ทำให้รัฐแคลิฟอร์เนียมีอิทธิพลมากพอที่จะเลือกขอบเขตดินแดนที่กว้างขวางมาเป็นของตัวเอง เลือก ส.ส.และ ส.ว.ของตัวเองได้ เขียนรัฐธรรมนูญของตนเอง และได้รับการยอมรับให้เป็นรัฐอิสระในเครือสหรัฐฯ เมื่อปี 1850 โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาเรื่องสถานะแห่งดินแดนเหมือนรัฐเกิดใหม่อื่น ๆ [4]

ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของเซ็นทรัล วัลเลย์ เมืองที่อยู่ตรงกลาง ๆ ของแคลิฟอร์เนีย อาจเรียกได้ว่าเริ่มต้นขึ้นในปี 1849 หลังจากค้นพบแหล่งทองคำ ผู้คนจึงหลั่งไหลกันเข้ามาในบริเวณที่มีชื่อว่า ‘Sierra Nevada’ ทำให้ประชากรบริเวณนี้เพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารจึงมากขึ้น จึงเกิดเกษตรกรรมอันกว้างใหญ่ โดยระหว่างนั้นและย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เศรษฐกิจหลักของที่นี่คือการทำปศุสัตว์ ทว่าได้ประสบภัยแล้งอย่างรุนแรงในช่วง 1863-1864 ทำให้สัตว์ที่เลี้ยงเพื่อเศรษฐกิจในแคลิฟอร์เนียล้มตายไปเกือบทั้งหมด แถมยังเกิดน้ำท่วมอย่างหนักตามฤดูกาล [5]

ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 แล้ว พื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโกบริเวณอันเป็นที่ตั้งของซิลิกอน วัลเลย์ ในปัจจุบัน บริเวณชายฝั่งเคยเป็น hub หรือแหล่งรวมเรือพาณิชย์และเรือของกองทัพสหรัฐฯ [6] และยังเป็นพื้นที่หลัก ๆ ของเทคโนโลยีและการวิจัยของกองทัพเรือ [7] โดยในปี 1854 มีการก่อตั้งฐานทัพเรือแห่งแรกของสหรัฐอเมริกาชื่อว่า ‘Mare Island Naval Shipyard’ พื้นที่นี้เคยมีสถานที่ของกองทัพสหรัฐฯรวมกับสถานที่ของกองทัพที่ยังใช้งานอยู่ในปัจจุบันรวมกันแล้วมีถึง 39 แห่ง โดยแบ่งเป็นสถานที่ทางทหารที่ก่อตั้งขึ้นก่อนจะมีการตั้งบริษัทอันเป็นต้นกำเนิด Silicon Valley ถึง 17 แห่ง [8] แม้ว่าขนาดของพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก ถ้านึกถึงแผนที่ประเทศไทยก็จะเล็กกว่า จ.กาญจนบุรี ที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของไทย แต่ใหญ่กว่า จ.ตาก ที่ใหญ่อันดับ 4 ของไทย (เมืองซานฟรานซิสโก เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของอ่าวซานฟรานซิสโก)
ที่เซ็นทรัล วัลเลย์ ปี 1873 Barton S. Alexander ได้ทำรายงานให้ฝ่ายวิศวกรรมของกองทัพสหรัฐฯ ถือเป็นความพยายามครั้งแรกที่จะสร้างโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน [9]

ปี 1880 - 1888 มีการดำเนินการสร้างกล้องโทรทัศน์ที่ใช้ส่องไปยังอวกาศ James Lick telescope ตั้งไว้ ณ จุดสูงสุดของภูเขาเมาท์ แฮมิลตัน (Mount Hamilton) ในพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก โดยเริ่มใช้งานเมื่อ มกราคม 1888 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 1889 มีการก่อตั้งสมาคมอวกาศแห่งแปซิฟิค (Astronomical Society of the Pacific) องค์กรเพื่อกิจการอวกาศแห่งแรกของสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ก่อตั้งในปี 1891 ในพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก

สำหรับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดถูกก่อตั้งขึ้นโดย Leland Stanford Sr. วุฒิสมาชิกสหรัฐอเมริกา จากรัฐแคลิฟอร์เนีย พรรครีพับลิกัน (ดำรงตำแหน่ง 1885 - 1893) และผู้ก่อตั้งบริษัทรถราง The California Street Cable Railroad ที่ซานฟรานซิสโก เขาเป็นผู้อพยพจากนิวยอร์คมาที่แคลิฟอร์เนียในช่วง California Gold Rush โดยเป็นการก่อตั้งมหาวิทยาลัยร่วมกับ Jane ผู้เป็นภรรยา เพื่ออุทิศให้กับ Leland Stanford Jr. ลูกชายของทั้งคู่ผู้เสียชีวิตจากโรคไข้ไทฟอยด์ เมื่อปี 1884 ด้วยวัยเพียง 15 ปี ด้วยบารมีที่สั่งสมมาและได้เล็งเห็นถึงภารกิจในการเป็นผู้นำที่จะพัฒนาพื้นที่ทางตะวันตกของแคลิฟอร์เนีย และในปี 1894 หลังจากสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกแห่งสหรัฐอเมริกา เขาก็ได้ทำให้พื้นที่ใกล้เคียง มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ชื่อว่า ‘Palo Alto’ กลายเป็นเขตปกครองพิเศษ (charter city) และได้ "ปรับทัศนคติ" โรงเรียนในพื้นที่นั้นให้สอดคล้องกับภารกิจ ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาของบริษัทไฮเทคบริเวณมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในช่วง 50 ปีแรกของการพัฒนาซิลิกอน วัลเลย์ (และต่อมาได้เป็นที่ตั้งของบริษัทชื่อดังอย่าง Tesla Motors, Skype, Google, Facebook, Pinterest, PayPal)

ปี 1909 Charles Herrold ก่อตั้งสถานีวิทยุแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา ต่อมามีผู้เรียนจบจากม.สแตนฟอร์ดชื่อ Cyril Elwell ได้ก่อตั้งบริษัทโทรเลขไร้สาย* Federal Telegraph Corporation ที่ Palo Alto และได้สร้างระบบวิทยุที่กระจายเสียงได้ทั่วโลกเป็นแห่งแรกของโลก และได้เซ็นสัญญารับงานจากกองทัพเรือสหรัฐฯ ในปี 1912

(* วิศวกรชาวเดนมาร์ก Valdemar Poulsen เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นคนแรกของโลกในปี 1903)

ส่วนที่เซ็นทรัล วัลเลย์ เกิดวิกฤตภัยแล้งอีกครั้งในช่วงต้นทศวรรษ 1920 หลังจากที่เคยประสบภัยแล้งอย่างรุนแรงในปี 1863-1864 และเคยมีความพยายามที่จะสร้างโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ตั้งแต่ปี 1873 แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ต่อมาในปี 1933 รัฐแคลิฟอร์เนียได้ออกกฎหมายสำหรับโครงการนี้ ชื่อว่า ‘Central Valley Project Act’ โดยการขายพันธบัตรเพื่อระดมเงินให้ได้ 170 ล้านดอลลาร์ แต่ต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก The Great Depression เสียก่อน เงินจึงไม่พอ ทำให้ในปี 1935 รัฐบาลกลางจึงต้องเป็นผู้อนุมัติงบประมาณสำหรับโครงการนี้ ซึ่งเริ่มต้นทางปฏิบัติในปี 1937 เมื่อมีการสร้างคลองชื่อว่า Contra Costa Canal (อ้างอิงแล้วดูที่ [5] [8])

ปี 1933 สนามบินเอกชน Air Base Sunnyvale ได้ร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นสนามบินกองทัพเรือ ต่อมาช่วงระหว่างปี 1933-1947 มีการก่อตั้งบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีบริเวณรอบ ๆ สนามบินเพื่อตอบสนองความต้องการของกองทัพเรือ และยังมีการก่อตั้งองค์กรที่ปรึกษาเพื่อกิจการอวกาศแห่งชาติ (National Advisory Committee for Aeronautics: NACA) ซึ่งเป็นองค์กรต้นกำเนิดของ NASA โดยได้ซื้อบางส่วนของพื้นที่สนามบินนี้เพื่อเอาไว้ทำการวิจัยด้านอวกาศ โดยบริเวณใกล้เคียงในเวลาต่อมาก็มีการก่อตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศ เช่น Lockheed ซึ่งต่อมาบริษัทนี้ชนะประมูลได้รับสัมปทานผลิตเรือดำน้ำติดขีปนาวุธ (ล็อคเป้าได้) ในช่วงสงครามเย็น (อ้างอิงแล้วดูที่ [7])

ปี 1939 Frederick Terman คณบดีวิศวกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้กระตุ้นให้คณาจารย์และผู้สำเร็จการศึกษาก่อตั้งบริษัทของตัวเอง หมุดหมายสำคัญคือ David Packard และ William Hewlett ผู้เป็นศิษย์เก่า ได้ก่อตั้งบริษัทอิเล็กทรอนิกส์เล็ก ๆ ที่โรงรถใน Palo Alto เขตปกครองพิเศษที่ถูกก่อตั้งโดยอดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐอเมริกา ต่อมาโรงรถแห่งนั้นถูกขนานนามว่า "แหล่งกำเนิดแห่ง Silicon Valley" [10]

ไม่ใช่แค่นั้น ในปี 1939 เช่นกัน ยังมีการก่อตั้ง Ames Research Center ศูนย์วิจัยหลักของ NASA ที่ Moffett Federal Airfield สถานที่ซึ่งขณะนั้นกองทัพใช้เป็นหน่วยบัญชาการฝึกบินทางตะวันตกในฐานะสำนักงานใหญ่สำหรับการฝึกบินและการฝึกลูกเรือ [11] ต่อมาที่นี่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Silicon Valley ศูนย์วิจัยถูกก่อตั้งขึ้นในฐานะห้องแล็บแห่งที่ 2 ขององค์กรที่ปรึกษาด้านอวกาศแห่งชาติ (NACA)*

(*ต่อมาองค์กรนี้ถูกยกเลิกในปี 1958 แล้วทรัพย์สินและบุคลากรก็ถูกโอนไปสู่องค์กรที่เรารู้จักกันในปัจจุบันว่า NASA)

ตั้งแต่ปี 1945 การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักร รถบรรทุก วัสดุอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ม.สแตนฟอร์ดและผู้สำเร็จการศึกษาที่นั่นมีบทบาทสำคัญ [12]

เซ็นทรัล วัลเลย์ ปี 1945 สภาคองเกรสได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมไปอีก 3 ทศวรรษ การก่อสร้างครั้งสุดท้ายของโครงการนี้คือเขื่อน New Melones ที่แล้วเสร็จในปี 1979 (อ้างอิงแล้วดูที่ [5])

สถาบันวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ถูกสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 เป็นเครื่องเร่งอนุภาคความยาว 2 ไมล์ สถาบันนี้มีชื่อว่า SLAC National Laboratory เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute) และกองทัพอากาศสหรัฐฯ

ปัจจุบัน Central Valley Project ถูกดำเนินการโดยรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก อ่างเก็บน้ำมี 22 แห่งพื้นที่รวมกันประมาณ 11 ล้านเอเคอร์ โครงการนี้ผันน้ำด้วยระบบชลประทานให้กับพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 3 ล้านเอเคอร์ และผลิตเป็นน้ำดื่มให้กับประชากรประมาณ 2 ล้านคน โดยมีสัญญาระยะยาวกับผู้รับเหมากว่า 250 ราย [13]

ส่วนที่ซิลิกอน วัลเลย์ ในปัจจุบันคงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณนอกจากความเหลื่อมล้ำตามตัวเลขที่ระบุในย่อหน้าแรก ประชาชนที่เซ็นทรัล วัลเลย์ มีแนวโน้มจะลำบากหนักขึ้นไปอีก โดยที่เฟรสโน (Fresno) เขตที่อยู่ทางใต้ของเซ็นทรัล วัลเลย์ ซึ่งมีประชากรประมาณ 520,000 คน เนื่องจาก Institute for Spatial Economic Analysis คาดการณ์ว่าอาชีพการงานที่นั่นสามารถถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์สูงถึง 61.5% ภายใน 10 ถึง 20 ปี แม้ว่าค่าเฉลี่ยของทั้งสหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่ 47% [14]

'กองทัพ' และ 'รัฐบาลกลาง' มีบทบาทสำคัญในการก่อร่างสร้างเมือง มีส่วนให้ปัจจุบันเหลื่อมล้ำเช่นนี้

 

อ้างอิง

[1] http://money.cnn.com/2015/05/05/news/economy/california-unequal/ 
[2] https://en.m.wikipedia.org/wiki/Central_Valley_(California)#Economy
[3] http://ecorner.stanford.edu/videos/4685/The-Birth-of-Silicon-Valley 
[4] https://en.m.wikipedia.org/wiki/Pacific_Squadron#California_Campaign
[5] https://www.usbr.gov/mp/cvp/about-cvp.html, https://www.usbr.gov/mp/cvp/
[6] http://www.businessinsider.com/history-of-silicon-valley-in-photos-2015-11/#originally-the-santa-clara-valley-was-known-by-a-different-name--the-valley-of-hearts-delight-it-was-famous-for-its-orchards-and-flowers-with-prunes-as-the-major-export-1
[7] https://en.m.wikipedia.org/wiki/Silicon_Valley#Roots_in_telegraph.2C_radio.2C_commercial_and_military_technology 
[8] https://en.m.wikipedia.org/wiki/Category:Military_facilities_in_the_San_Francisco_Bay_Area
[9] https://en.m.wikipedia.org/wiki/Central_Valley_Project#History 
[10] https://www.stanford.edu/about/history/history_ch3.html 
[11] https://en.m.wikipedia.org/wiki/Moffett_Federal_Airfield#Naval_operations 
[12] https://en.m.wikipedia.org/wiki/Economy_of_California#History
[13] http://www.water.ca.gov/swp/cvp.cfm
[14] http://www.businessinsider.com/cities-that-will-lose-biggest-percentage-of-jobs-to-automation-2017-5

ที่มาภาพ https://goo.gl/images/vrC6z5,https://goo.gl/images/dSLWBX

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ แฟนเพจ Make life save again

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท