สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 9-15 ก.ค. 2560

 
เตือนนายจ้างอย่าใช้โบรกเกอร์เถื่อนเสี่ยงตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
 
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เตือนนายจ้าง/ผู้ประกอบการ อย่าใช้บริการจากนายหน้าเถื่อน เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ทำลายเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ย้ำนายจ้างสามารถนำเข้าได้ด้วยตนเองหรือใช้บริการผู้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการที่แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศเพื่อไปดำเนินการตรวจสัญชาติและกลับเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในช่วง 180 วันที่ชะลอบทลงโทษนายจ้างและคนต่างด้าวใน 4 มาตราคือ 101 102 119 และ 122 ดังนั้นจึงส่งผลให้นายจ้าง/สถานประกอบการต่างๆ เช่น กลุ่มโรงสี กลุ่มแรงงานเกษตร เป็นต้น ขาดแคลนแรงงาน จำเป็นต้องนำเข้าแรงงานเข้ามาใหม่โดยใช้บริการของนายหน้าและโบรกเกอร์ ด้วยเหตุนึ้จึงเป็นช่องทางให้กระบวนการนายหน้าอ้างกับนายจ้างหรือผู้ประกอบการว่าสามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศได้ โดยเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานขอเรียนชี้แจงว่าผู้ที่จะดำเนินการนำเข้าแรงงานได้นั้นมี 2 กลุ่มคือ 1) นายจ้างนำเข้าด้วยตนเอง และ 2) ผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (บริษัทนำเข้า) ซึ่งจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และขอย้ำเตือนว่าหากผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศหรือสามารถหาลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้กับนายจ้าง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000 บาท ถึง 1,000,000 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
นายวรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศจำนวน 81 แห่งทั่วประเทศ โดยในกรุงเทพฯ จำนวน 38 แห่ง ส่วนภูมิภาค จำนวน 43 แห่ง และขอย้ำเตือนกับนายจ้างและผู้ประกอบการให้ใช้บริการของผู้รับอนุญาตฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หากผู้ใดพบเห็นหรือถูกกระบวนการนายหน้าเถื่อนหลอกลวงดังกล่าว ขอให้แจ้งสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในพื้นที่โดยทันที ซึ่งกรมการจัดหางานจะดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0 2245 1729 , 0 2354 1386 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 9/7/2560
 
SUPER POLL เผยผู้ประกอบการส่วนใหญ่กังวลผลกระทบกม.แรงงานต่างด้าวใหม่-บทลงโทษสูง
 
นายนพล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ร่วมกับ อดีตรองปลัดกระทรวงแรงงาน อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และอดีตรองอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยผลโพล กฎหมายแรงงานต่างด้าว และแนวคิดวิเคราะห์สถานการณ์ เรื่อง ผลกระทบจากกฎหมายแรงงานต่างด้าวต่อผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวและมุมมองของประชาชนทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 1,150 คน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 6 – 8 ก.ค. 60 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว ก่ำกึ่งกันหรือร้อยละ 50.4 ระบุ กฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่มีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจกิจการ ในขณะที่ร้อยละ 49.6 ระบุ ไม่มีผลกระทบ และประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.7 ระบุว่าไม่มีผลกระทบ โดยการสัมภาษณ์เจาะลึกพบว่า ประชาชนทั่วไปกลับมองว่า กฎหมายที่เข้มงวดจะส่งผลดีต่อแรงงานไทยเพื่อคนไทยมีงานทำและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศโดยส่วนรวม โดยมองว่า การไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายที่ออกมาได้เป็นเพราะขาดการเตรียมการที่ดีในการเสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของข้อกฎหมายต่าง ๆ
 
ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 66.4 กังวลว่า โทษปรับที่สูงมากจะเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการ แต่ ประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.4 กลับไม่กังวล และเมื่อจำแนกกลุ่มผู้ประกอบการออกตามขนาดธุรกิจ พบว่า ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและ ขนาดจิ๋ว กังวลมากที่สุด คือร้อยละ 71.1 ร้อยละ 62.1 และ ร้อยละ 60.2 ซึ่งมากกว่า กลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีอยู่ร้อยละ 55.6 ตามลำดับ
 
ที่น่าพิจารณาคือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.6 ไม่มีแผนที่จะใช้แรงงานไทยทำงานแทนแรงงานต่างด้าวในอนาคต
 
ในขณะที่ นาย วินัย ลู่วิโรจน์ อดีตรองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผลกระทบต่อสถานประกอบการต่างๆ มีข้อเท็จจริงมาจากปัญหาคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานซึ่งเป็นความจำเป็นของนายจ้างที่รัฐยังไม่ได้พูดถึง และบทลงโทษของกฎหมายควรทำให้เห็นก่อนว่าเป็นบทลงโทษที่สมเหตุสมผล แต่การว่าจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเป็นการกระทำความผิดต่อนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเท่านั้นไม่ใช่ความผิดในตัวมันเอง เช่น ฆ่าคน ลักทรัพย์ วางเพลิง และการค้ามนุษย์ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องทบทวนมูลเหตุจูงใจของนายจ้างและความรุนแรงของการกระทำผิด เพราะส่วนใหญ่ นายจ้างจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเพราะต้องการลดต้นทุน ไม่ต้องมีสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ให้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้ประกอบการและออกมาคัดค้านโทษปรับที่สูง
 
“ทางออกคือ รัฐต้องจัดระบบการทำงานของคนต่างด้าว เพราะการใช้แรงงานต่างด้าวเป็นสิ่งจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การมีทางเลือกให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้แรงงาน และควรมีหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายเข้ามาดูแลคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานในกิจการเป็นพิเศษ เพื่อทำให้เกิดการยอมรับความจำเป็นของกฎหมายควบคุมแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่" อดีตรองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
ในขณะที่ นาย ธนิช นุ่มน้อย อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และ อดีตรองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สาเหตุสำคัญของข้อขัดข้องในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ คือ ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่อง ผลดีผลเสียของการออกกฎหมายฉบับดังกล่าวและความไม่พร้อมของผู้ประกอบการในการรองรับการเปลี่ยนแปลง เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว การออก พรก.ใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และป้องกันการทุจริตคอรับชั่นนั้น ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ ที่สำคัญคือฝ่ายผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวที่ต้องเตรียมความพร้อมทั้งแง่ความรู้ความเข้าใจและการรองรับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย
 
“ถ้าปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาได้ครบถ้วนจะทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติของประเทศ แต่เนื่องจากมีขั้นตอนและเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงานจึงพร้อมบริการด้วยจิตอาสาร่วมกับ สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) โทร 02.308.0444 หรือ 02.308.0995 เปิดศูนย์ให้คำแนะนำปรึกษากฎหมายแรงงานต่างด้าวฟรีไม่คิดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อหนุนเสริมธุรกิจและนโยบายรัฐบาล น่าจะช่วยให้การดำเนินการเกี่ยวกับการใช้แรงงานต่างด้าว สำเร็จตามเจตนารมย์ของกฎหมายที่ออกมา" อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานกล่าว
 
 
22 องค์กรมัคคุเทศก์ ออกโรงต้านต่างด้าวขึ้นทะเบียนไกด์ ชี้ต้นเหตุให้คนไทยตกงาน
 
ที่ศูนย์ประสานงานสมาพันธ์มัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย อาคารฟอร์จูน ตัวแทนจากสมาคมและชมรมด้านมัคคุเทศก์ต่างๆ รวม 22 องค์กร จัดประชุมและก่อตั้งสมาคมสมาพันธ์มัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศ โดยนายจารุพล เรืองเกตุ ประธานสมาพันธ์สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนแถลงว่า การก่อตั้งสมาพันธ์ฯ เพื่อต้องการแสดงจุดยืนคัดค้านนโยบายรัฐที่เปิดโอกาสให้บุคคลต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพมัคคุเทศก์(ไกด์)ในไทยได้ เพราะไกด์ไทยสามารถพูดภาษาจีนกลางได้จำนวนเพียงพอที่จะสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเที่ยวในไทยได้ จึงอยากให้รัฐบาลทบทวน แม้รัฐบาลจะอ้างว่าเพื่อให้มัคคุเทศก์ต่างด้าวมาสอนภาษาหลัก 3 ภาษา คือ จีน เกาหลี และรัสเซีย แต่ในความเป็นจริงแล้วมัคคุเทศก์ต่างด้าวไม่ช่วยสอนภาษาแต่อย่างใด
 
อีกทั้ง คนต่างด้าวที่มาทำหน้าที่ไกด์ผิดกฎหมายในไทย ส่วนใหญ่มาจากบริษัทนำเที่ยวและทำหน้าที่เป็นไกด์จีน เป็นเรื่องที่รัฐบาลละเลย ควรตรวจสอบคนกลุ่มนี้ แต่กลับเลือกตรวจสอบและจับกุมไกด์ไทยที่มีบัตรประจำตัวสีชมพู หรือบัตรไกด์นำเที่ยวเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ระบุไว้บนบัตรและพื้นที่ติดต่อ โดยมักถูกจับกุมผิดฐานปฏิบัติงานข้ามจังหวัด
 
นายชาติ จันทนประยูร นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลระบุว่าไกด์ไม่เพียงพอ แต่สมาคมอยากให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้คนที่ทำงานไกด์จริงๆได้แสดงความคิดเห็นบ้าง ตอนนี้ไกด์คนไทยพูดภาษาจีนตกงานถึง 50-60% เพราะบริษัทจีนที่มาเป็นนอมินีในไทย จะใช้ไกด์คนจีน เพราะบริษัทต้องการยอดรายได้ และไกด์คนจีนมีกลยุทธ์ขายในลักษณะบังคับ เพื่อให้ได้ยอดรายได้ สุดท้ายผลประโยชน์ตกกับบริษัทคนจีน และอยากให้รัฐบาลหาโครงการช่วยเหลือไกด์ที่ตกงาน เช่น โครงการช่วยสอนภาษาอื่นแบบพื้นฐาน เพิ่มจากภาษาอังกฤษ รวมถึงสวัสดิการต่างๆ เช่น ประกันสังคม โดยภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จะนำปัญหาและข้อเสนอไปหารือนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
 
 
แรงงานต่างด้าวกลับถิ่น ไซต์รถไฟฟ้าสายสีแดงป่วน
 
กลายเป็นผลกระทบลูกโซ่ต่อรับเหมาก่อสร้าง หลังรัฐบาล คสช. ประกาศ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้แรงงานต่างด้าวที่แฝงตัวในไซต์ก่อสร้างแตกตื่นแห่กลับประเทศเห็นภาพชัดไซต์รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วง “บางซื่อ-รังสิต” หลังการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ติดตามงานจากผู้รับเหมาทั้ง 2 สัญญา
 
ปรากฏว่าสัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ อาคารซ่อมบำรุงและสถานีจตุจักรของกลุ่มซิโน-ไทยฯ และยูนิคฯ วงเงิน 34,118 ล้านบาท งานเริ่มชะงัก
 
“หารือกับผู้รับเหมา พบปัญหายูนิคฯมีแรงงานพม่ากลับประเทศไปดำเนินการต่าง ๆ ให้ถูกกฎหมาย เพราะตกใจคิดว่าใบสีชมพูใช้ไม่ได้ จะกลับมา 10-20 วัน มีผลกระทบระยะสั้น ๆ ส่วนสัญญาที่ 2 ของอิตาเลียนไทยฯ ไม่มีปัญหา แรงงานที่ใช้ถูกกฎหมาย”
 
จากรถไฟฟ้าสายสีแดง ถามไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” รองผู้ว่าการด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง กล่าวว่า ทั้งสายสีน้ำเงินต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค และสีเขียวต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นผู้รับเหมารายใหญ่ก่อสร้าง จึงไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีใบอนุญาตที่ถูกกฎหมายอยู่แล้ว
 
ขณะที่บิ๊กรับเหมาที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว แม้จะดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย แต่ลึก ๆ ก็กังวลใจ
 
“ภาคภูมิ ศรีชำนิ” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า บริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาหลายปี ทุกปีขอโควตาไว้ล่วงหน้า ปัจจุบันมีแรงงานเมียนมา 2,000 คน กัมพูชา 1,000 คน และได้ตั้งศูนย์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวตามกฎหมายมาร่วม 3 ปีแล้ว
 
“พ.ร.ก.ฯไม่ส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง จะกระทบรับเหมารายกลางและรายเล็ก เพราะดำเนินการไม่ทันเวลา ต้องเสียค่าปรับและเกิดแรงงานขาดแคลนขึ้น”
 
และอาจกระทบต่อผู้รับเหมาช่วงหรือต่อเนื่องถึงโครงการก่อสร้างในมือของบริษัทได้ จะรีบหามาตรการป้องกันให้เร็วที่สุด และการที่รัฐขยายเวลาจะช่วยประคับประคองสถานการณ์ไปได้บ้าง
 
 
กระทรวงแรงงาน ยืนยันไม่แยกกลุ่มรับใช้ในบ้าน จากการจัดระเบียบแรงงานเพื่อนบ้าน
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แรงงานเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานรับใช้ในบ้าน และดูแลผู้สูงอายุในเมืองไทย จะได้รับการอำนวยความสะดวก ทำให้ถูกกฎหมาย ในขั้นตอนการเปลี่ยนนายจ้าง และตรวจพิสูจน์สัญชาติ เพื่อออกเอกสารรับรองบุคคล หรือซีไอ แต่คงไม่สามารถแยกแนวปฏิบัติให้แตกต่างจากกรรมกรทั่วไปได้ กรณีไม่มีเอกสาร ไม่เคยจดทะเบียนขอใบอนุญาตทำงานมาก่อน ต้องเข้าสู่ระบบ ที่นายจ้างลูกจ้างต้องไปแจ้งศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการทำงานของแรงงานต่างด้าวเช่นกัน
 
ขณะที่แรงงานเมียนมาวัย 38 ปี ที่เข้ามาอยู่ในไทยนานแล้ว ตอนนี้ ทำงานรับใช้ตามบ้าน รับจ้างทำความสะอาดบ้าน บอกว่า แม้จะมีมาตรการผ่อนผัน ไม่จับกุม ไม่ลงโทษ ตาม พ.ร.ก.การบริหารการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ไปอีก 6 เดือน แต่ก็ไม่ได้ลดความกังวล เพราะตอนนี้ ไม่มีนายจ้างประจำ อยากเป็นแรงงานถูกกฎหมาย ในกรุงเทพมหานครต่อไป เพื่อหารายได้มาเลี้ยงลูกและจุนเจือครอบครัว
 
ขณะที่นายสมพงศ์ สระแก้ว เลขาธิการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN เสนอแนวคิดแยกประเภทแรงงานรับใช้ในบ้าน และดูแลผู้สูงอายุออกจากกรรมกรทั่วไป เพราะมีความแตกต่างเฉพาะ ทั้งรูปแบบการทำงานที่ใกล้ชิดนายจ้าง ความไว้เนื้อเชื่อใจ ที่อยากได้คนเก่ากลับคืนมา และขอให้ภาครัฐปิดช่องโหว่การมีนายหน้า หรือ บริษัท เรียกรับผลประโยชน์จากการจัดหา และฉวยโอกาสตัดทอนค่าจ้างแม่บ้านแรงงานเพื่อนบ้านด้วย
 
 
คลังคาดเงินสะสมกบช.ปีแรก "6 หมื่นล้าน" เปิดช่องกองทุนเลี้ยงชีพที่มีเงินสะสมและสมทบ
 
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังคาดการณ์ในปีแรกของการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) จะมีเงินสะสมในส่วนของสมาชิกและนายจ้างรวมราว 6 หมื่นล้านบาท และ จะทะลุเกิน 1 แสนล้านบาท ในอีกไม่กี่ปีนับจากเริ่มจัดตั้งกองทุน
 
ปัจจุบันมีแรงงานที่อยู่ในระบบราว 16 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้ มีลูกจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจเพียง 3 ล้านคน ซึ่งมีเงินกองทุนรวมกันราว 9 แสนล้านบาท ที่เหลือราว 12-13 ล้านคน ไม่มีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้ง กบช.
 
ปัจจุบันร่างกฎหมาย กบช.ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาตัวบทกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ จะกำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างต้องเข้าเป็นสมาชิก กบช.โดยลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี สามารถสมัครเป็นสมาชิก กบช.ได้
 
สำหรับอัตราส่งเงินสะสมของลูกจ้างและเงินสมทบของนายจ้าง จะใส่เข้ากองทุนฝ่ายละเท่าๆ กัน โดยปีแรกของการบังคับใช้ จะเริ่มในอัตรา 3% และทยอยปรับขึ้น เป็น 5% ,7% และ 10% ตามลำดับ ภายใน 10 ปี โดยกำหนดเงินนำส่งเข้ากองทุนสูงสุดไม่เกิน 1,800 บาทต่อเดือน และเพดานเงินเดือนที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสะสมและสมทบ จะอยู่ที่ไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน,สำหรับลูกจ้างที่มีเงินเดือนไม่เกิน 1 หมื่นบาทซึ่งมีสัดส่วนราว 50% ของแรงงานภาคเอกชน ไม่ต้องจ่ายเงินสะสม แต่ให้นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนฝ่ายเดียว
 
ทั้งนี้ ในปีแรกการบังคับใช้กฎหมาย จะกำหนดให้กิจการขนาดใหญ่ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป กิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ, กิจการที่ได้รับบีโอไอ, บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, รัฐวิสาหกิจหรือกิจการที่ประสงค์จะสมัครเข้ากบช.เอง
 
สำหรับในปีที่ 4 ใช้กฎหมายนี้ จะกำหนดให้กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป จะต้องเข้าเป็นสมาชิก กบช. และในปีที่ 6 เป็นต้นไป กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องเข้ามาสมัครเป็นสมาชิก
 
บริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ภาคสมัครใจ) อยู่แล้ว หากอัตราการส่งเงินสะสมและสมทบเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมาย กบช.กำหนด ก็ไม่จำเป็นต้องโอนเข้ามาเป็นสมาชิกของกบช. โดยยังคงอยู่ในระบบเดิมได้ แต่หากอัตราเงินสะสมและสมทบต่ำกว่าที่ กบช.กำหนดหากสมัครใจเพิ่มเงินสะสมและสมทบให้เท่ากับหรือสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็จะไม่ถูกบังคับให้ต้องเข้ากบช.
 
หลังจากกฎหมายได้รับความเห็นของจาก สนช.และประกาศบังคับใช้ กระทรวงการคลัง จะมีเวลา 1-2 ปี จัดตั้งสำนักงาน และวางระบบการบริหารจัดการ ก่อนที่จะเริ่มเดินระบบ กบช.
 
ส่วนการรับเงินหลังเกษียณของ กบช.นั้น จะให้สมาชิกเลือก ระหว่างการรับเป็นเงินก้อน (บำเหน็จ) หรือจะรับเป็นบำนาญ ซึ่งให้ทยอยรับในเวลา 20 ปีหลังจากเกษียณ สาเหตุที่ให้ทยอยรับ 20 ปี เนื่องจาก มีสมมุติฐานว่า คนไทยที่มีอายุเกิน 80 ปี มีเพียง 10% เท่านั้น
 
ทั้งนี้ จากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่า รายได้หลังเกษียณที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ อย่างน้อย จะต้องอยู่ที่ 50-60% ของรายได้ก่อนเกษียณแต่ในปัจจุบัน แรงงานในระบบ ที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือไม่ได้เป็นข้าราชการที่มี กบข.หรือบำนาญ มีเพียงการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เพียงอย่างเดียว จะมีรายได้หลังเกษียณ เพียง 19% ของเงินเดือนสุดท้าย
 
สำหรับข้าราชการเป็นกลุ่มที่ถือว่ามีระบบการออมเพื่อชราภาพที่ทำให้ชีวิตหลังเกษียณ มีรายได้เพียงพอ โดยมีรายได้หลังเกษียณในอัตรา 70% ของเงินเดือนสุดท้าย
 
 
สธ.เร่งตั้ง “กองทุนเยียวยา” จ่ายเงินผู้เสียหายจากการรักษาทุกสิทธิครอบคลุม 67 ล้านคน
 
(11 ก.ค.) นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ. เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ว่า จากการทำงานที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาแล้วว่า มีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยการตั้งเป็น “กองทุนเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข” ซึ่งจะดูแลทั้งผู้ให้บริการ หรือบุคลากรทางการแพทย์ และผู้รับบริการหรือประชาชนที่เข้ารับบริการ ครอบคลุม 3 กองทุน คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งมีประมาณ 67 ล้านคน เบื้องต้นจะเป็นในสถานพยาบาลภาครัฐก่อน ส่วน รพ.เอกชนจะเป็นไปด้วยความสมัครใจ
 
“ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ป่วย หากได้รับผลกระทบจะมีการเยียวยาช่วยเหลือ โดย สบส.จะทำหน้าที่เป็นธุรการในการเบิกจ่าย คล้ายเป็นหน่วยงานกลางคอยทำงาน โดยรับงบประมาณในการเยียวยาช่วยเหลือจากแต่ละกองทุนมาไว้ส่วนกลาง หากใครได้รับผลกระทบก็จะนำงบส่วนนี้มาดำเนินการ ซึ่งจะไม่แบ่งว่าใครอยู่สิทธิใดใน 3 สิทธิสุขภาพ เรียกว่าเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ส่วนอัตราเท่าไรนั้นต้องมีการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขอีกครั้ง” อธิบดี สบส. กล่าวและว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เสนอต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อพิจารณาแล้ว หากเห็นชอบอาจปรับแก้ไม่มาก เพื่อเสนอตามขั้นตอนเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการตั้งกองทุนต้องมีการแก้กฎหมายของแต่ละกองทุนรักษาพยาบาลหรือไม่ นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า ต้องมีการแก้ไข คือ มาตรา 41 พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ. กองทุนประกันสังคม ส่วนสิทธิข้าราชการไม่ต้องแก้ไข เนื่องจากไม่มีในเรื่องการเยียวยาอยู่แล้ว แต่จากการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้เห็นว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะเดิมไม่มีหน่วยงานกลางทำให้ เมื่อเกิดความเสียหายทางสาธารณสุขใดๆ ก็จะเป็นแต่ละสิทธิสุขภาพ การเจราจาช่วยเหลือก็ไม่มีคนกลางมาทำให้ ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร ดังนั้น หากมีกองทุนนี้ขึ้นมาจะช่วยแก้ปัญหาและลดเรื่องปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขได้ เพราะกองทุนนี้จะไม่มีการไล่เบี้ยใด ๆ
 
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจแทนผู้ป่วยและประชาชนที่ สบส. และ สธ. ขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพียงแต่อยากได้การยืนยันจาก รมว.สาธารณสุข ว่า จะขับเคลื่อนและกฎหมายจะประกาศใช้ได้จริง เพราะตลอด 15 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามให้ออกกฎหมายมาตลอด แต่ไม่สำเร็จ ทุกยุคทุกสมัยจะมีการคัดค้านของกลุ่มหนึ่งเสมอ ตนจึงอยากเชิญชวนประชาชนที่เห็นด้วยและเห็นความสำคัญกับร่าง พ.ร.บ. นี้ ที่จะมาช่วยกรณีเกิดความเสียหายทั้งแพทย์และคนไข้ โดยขอเชิญชวนช่วยกันลงชื่อผ่าน www.change.org/injuryact เพื่อจะรวบรวมรายชื่อเสนอต่อ นพ.ปิยะสกล เพื่อช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้ออกเป็นกฎหมายได้จริงๆ เสียที
 
ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในฐานะนายกแพทยสภา กล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว หลักการเบื้องต้นตนเห็นด้วย เพราะในเรื่องของการรักษาไม่ควรมีการไล่เบี้ยเอาความผิดกับใคร
 
 
เกิดเหตุแก๊สรั่วในโรงงานอุตหกรรมเคมีจ.ระยองอพยพพนักงานจ้าละหวั่น
 
เมื่อเวลา15.00น. วันที่12 กรกฎาคม 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งสารเคมีรั่วไหล บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)สาขาที่5 ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล ถนนสาย3191 ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง จึงได้รุดไปตรวจสอบโดยได้สั่งอพยพพนักงานและผู้รับเหมาอยู่ในจุดรวมพลจากนั้นได้ใช้สเปย์น้ำหรือม่านน้ำฉีดควบคุมไม่ให้ฟุ้งกระจายและเพื่อไม่ให้กลิ่นสารเคมีที่รั่วไหลออกไปภายนอกใช้เวลากว่า 30นาทีจึงสามารถควบคุมไว้ได้โดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บอันตรายแต่อย่างใดและได้ตรวจวัดปริมาณก๊าซที่รั่วไหลในอากาศมีค่าปกติในเกณฑ์มาตรฐาน
 
ต่อมาเจ้าหน้าที่หน่วยงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กรบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)ได้ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากเวลาประมาณ13.00น.ได้เกิดเหตุวาว์ลรั่วสารพาราไซลีนรั่วไหลระหว่างเริ่มเดินเครื่อง โรงอะโรเมติกส์ 2 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 5ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล ถนนสาย 3191 ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยองทีมชำนาญการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินของบริษัทฯ สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เรียบร้อยแล้ว โดยการใช้ม่านน้ำควบคุมไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายออกไป และส่งเจ้าหน้าที่เข้าปิดวาล์วและสามารถหยุดการรั่วไหลได้แล้ว จากการส่งเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมและเจ้าหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพอากาศบริเวณชุมชนโดยรอบ พบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
 
อย่างไรก็ตามทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัดจะชี้แจงเป็นทางการที่สำนักงานอุตสาหกรรมอาร์ไอแอลในวันรุ่งขึ้นต่อไป
 
 
ก.แรงงาน เร่งออก “อาชีพสงวน” ใหม่ ยัน “ต่างด้าว” ทำงานก่อสร้างได้
 
(12 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการและสมาคมต่างๆ เช่น คณะกรรมการร่วม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกสมาคมภัตตาคารไทย นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย นายกสมาคมผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทย เป็นต้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจถึงมาตรการดำเนินการภายหลังมีคำสั่งมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วยผ่อนคลายบทลงโทษตาม พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ออกไปเป็นเวลา 180 วัน
 
ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า การหารือวันนี้ก็ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับทางผู้ประกอบการ สมาคมต่างๆ ถึงแนวปฏิบัติในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว หลังจากมีประกาศกระทรวงแรงงานที่ออกมารองรับมาตรา 44 ซึ่งหากพูดให้เข้าใจง่าย คือ จะแบ่งต่างด้าวออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผิดนายจ้าง สามารถมาแจ้งปรับเปลี่ยนนายจ้างได้เลยที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดในพื้นที่ที่ทำงาน 2. กลุ่มมีพาสปอร์ต มีวีซ่า แต่ยังไม่ขอใบอนุญาตการทำงานภายใน 15 วัน ก็สามารถขอใบอนุญาตทำงานได้เลย 3. กลุ่มนายจ้างขอโควตาเพื่อนำเข้าตาม MOU ก็ดำเนินการตามปกติได้ และ 4. กลุ่มแรงงานผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสารอะไรเลย หรือมีบางส่วนแต่ไม่ถูกต้อง ซึ่งมีมากที่สุดและเป็นกลุ่มใหญ่ จะให้มายื่นเอกสารที่ศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการทำงานต่างด้าว ระหว่างวันที่ 24 ก.ค. - 7 ส.ค. เพื่อมาพิสูจน์ความเป็นนายจ้างลูกจ้าง และออกเอกสารรับรองให้ไปทำเอกสารรับรองบุคคล (ซีไอ) และเข้าสู่ระบบการขออนุญาตทำงานตามปกติ คือขอวีซ่า การตรวจสุขภาพ และใบอนุญาตทำงาน ซึ่งใช้ระยะเวลาไม่นานและค่าใช้จ่ายไม่มาก ก็เข้าสู่ระบบได้อย่างถูกต้อง เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้มาก
 
“นายจ้างที่รับฟังหรือลูกจ้างที่ยังผิดกฎหมายอยู่ อยากให้รีบเข้าสู่ระบบ เพราะถือเป็นโอกาสสุดท้ายที่ทำงานถูกต้องตามกฎหมายได้ ซึ่งขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก ส่วนการตั้งศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว จะเร่งประกาศในเร็วๆ นี้ ว่า ใช้สถานที่ใด แต่เบื้องต้นการขอเอกสารต่างๆ จากทางกระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด อย่างไรก็ตาม วันนี้จะมีการหารือกับทางกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในการจัดทำศูนย์วันสตอปเซอร์วิส ทั้งเรื่องการขอรับซีไอ ขอวีซ่าทำงาน การตรวจโรค และขอใบอนุญาตทำงานในพื้นที่เดียว ซึ่งอยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียด” ปลัดแรงงาน กล่าว
 
เมื่อถามถึงข้อกังวลของนายจ้าง ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า นายจ้างก็มีข้อกังวลบ้าง ซึ่งหลายเรื่องเป็นเรื่องที่หาทางออกได้ เช่น ข้อกังวลเรื่องพื้นที่รับอนุญาตทำงาน ซึ่งพื้นที่อนุญาตอยู่จังหวัดหนึ่ง แต่มีการทำงานที่อีกจังหวัดหนึ่งด้วย ตรงนี้กฎหมายก็เปิดช่องไว้อยู่แล้วว่าสามารถทำได้ ส่วนเรื่องข้อกังวลอาชีพสงวนที่ห้ามต่างด้าวทำ ซึ่งเดิมมี 39 อาชีพ ตามกฎหมายนี้ก็กำหนดให้มีการปรับปรุงอาชีพสงวนโดยการออกเป็นกฎหมายลูกด้วย ซึ่งสมาคมต่างๆ ก็ขอเข้ามารับฟังว่า อาชีพอะไรควรยกเลิกการสงวน หรืออาชีพใดที่ควรสงวนเอาไว้ ซึ่งอาชีพที่กังวล เช่น งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย ก็มีการตีความรวมไปถึงธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป (การ์เมนต์) ซึ่งอาจจะต้องมีการมาทำให้คำต่างๆ นั้นชัดเจนขึ้น โดยอาจห้ามเฉพาะเรื่องของประดิษฐ์เสื้อผ้าชุดไทยในเชิงอนุรักษ์หรือไม่
 
“ส่วนกรณีอาชีพกรรมกรที่ ก.แรงงาน ปลดล็อกอนุญาตให้ต่างด้าวสามารถทำได้ ก็มีการตีความว่าต้องเป็นเรื่องแบกหามอย่างเดียว ห้ามแตะงานฝีมือเช่น ช่างอิฐ ฉาบ เชื่อม เป็นต้น จริงๆ การเปิดช่องก็เขียนอธิบายไว้แล้วว่า งานกรรมกรในงานก่อสร้าง ซึ่งหากพิจารณาแล้วก็ดูครอบคลุมสามารถทำได้ โดยจะให้กรมการจัดหางาน (กกจ.) ประชาสัมพันธ์ให้ทราบอีกครั้ง ส่วนระหว่างที่ยังไม่ประกาศอนุบัญญัติเรื่องอาชีพสงวนใหม่นั้นก็ไม่ต้องกังวล ยืนยันว่าต่างด้าวสามารถทำงานด้านก่อสร้างได้ ซึ่งอนุบัญญัติทั้งหมด 39 ฉบับ รวมเรื่องอาชีพสงวนด้วยนั้น จะต้องออกภายใน 120 วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ” ปลัดแรงงาน กล่าว
 
เมื่อถามถึงเรื่องการรีดไถแรงงานต่างด้าว ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า กรณีข่าวต่างด้าวสัญชาติลาวที่ร้องเรียนต้องมีการตรวจสอบแน่นอน อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้เสียหายให้เบาะแสเพื่อให้เกิดการดำเนินการตรวจสอบได้ แต่เท่าที่มีการแจ้งเบาะแสมา เช่น กรณีสัปดาห์ก่อนมีเคสต่างด้าวประมาณ 200 คน ที่ระนองถูกกักตัวและเรียกเงินก็ตรวจสอบทันที โดยพบว่าจริงๆ แล้วเรือรับกลับประเทศสามารถบรรทุกคนได้ 150 คน ทำให้เหลืออีก 50 คนที่ต้องพักในฝั่งไทยก่อน จากการตรวจสอบก็พบว่า เจ้าหน้าที่มีการอำนวยความสะดวกในการจัดหาที่พัก และไปปรากฏเรื่องการกักตัวและเรียกเงิน ทั้งนี้ หากมีการรีดไถจริงให้แจ้งเข้ามาได้เลย เพราะนายกฯ ก็กำชับอยู่แล้ว ว่า เจ้าหน้าที่หน่วยไหนที่ทำเช่นนั้น จะมีโทษทั้งทางอาญา วินัย และทางแพ่ง
 
 
อดีตพนักงานบริษัทจิวเวอรี่โวยถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
 
ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ Aor Sunisa หรือนางสุนิสา สุขสมธรรม อดีตพนักงานบริษัทจิวเวลรี่แห่งหนึ่ง โพสต์ข้อความผ่านสังคมออนไลน์ ว่าอดีตเคยเป็นพนักงานที่บริษัทจิวเวลรี่แห่งหนึ่งต่อมาได้ถูกเลิกจ้าง แต่ปรากฎว่า กรรมการบริษัทไม่ดำเนินการจ่ายเงินชดเชย และเงินเดือนค่าจ้างที่ค้างจ่ายมาเป็นเวลากว่า 3ปี ขณะที่อดีตพนักงานกว่า 20คน ได้รวมตัวฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางสมุทสาคร เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2558
ก่อนหน้าที่จะมีการฟ้องร้อง ทางบริษัทแห่งนี้เคยได้ทำบันทึกกับพนักงานบริษัทก่อนที่จะมีการเลิกจ้างว่า ตกลงจะยินยอมที่จะจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนที่มีการเลิกจ้าง ค่าชดเชยตามกฎหมาย โดยบริษัทขะแบ่งชำระจ่ายเป็นงวด รวมทั้งหมดเป็นเงิน 418,000บาทแต่ต่อมาบริษัทไม่ดำเนินการตามสัญญาที่ตกลงกัน จึงนำไปสู่การฟ้องร้องดังกล่าว
 
ทั้งนี้หลังจากที่มีการแชร์เรื่องราวนี้ ออกไปปรากฎว่าอดีตพนักงานบริษัทที่ถูกเลิกจ้างในคราวเดียวกัน ได้แชร์เรื่องราวดังกล่าวส่งต่อกันไป เพื่อหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหาทางให้ความช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
 
 
เหยื่อแรงงานลิเบียร้องทหารช่วยถูกเบี้ยวค่าจ้าง
 
นายพิสิษฐ์ หรือมานะ พึ่งกล่อม พร้อมด้วยนายสามารถ ท้าวชัยวงษ์ ชาว อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย และตัวแทนผู้ใช้แรงงานจากแพร่, ลำปาง, ตาก และสุโขทัย รวม 20 คน ได้เข้ายื่นหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐานขอความช่วยเหลือจาก พล.ต.ทรงวุฒิ จิตตานนท์ ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.สุโขทัย เมื่อเร็วๆ นี้ หลังได้รับความเดือดร้อนจากการไปทำงานในประเทศลิเบีย แต่ไม่ได้รับเงินค่าแรงตามสัญญาจ้างงาน
 
นายพิสิษฐ์กล่าวว่า เมื่อปลายปี 2552 ตน และพี่น้องแรงงานไทยหลายจังหวัดรวมหลายพันคนได้เดินทางไปทำงานที่ลิเบีย ทันทีที่ไปถึงทางบริษัทจัดส่งก็นำเอกสารภาษาแขกมาให้เซ็นสัญญาจ้างงานใหม่ทันที โดยไม่รู้ว่าถูกเอาเปรียบ และตำแหน่งงานกับเงินเดือนก็ไม่ตรงกับที่คุยไว้ในตอนแรก แต่ก็ต้องจำยอมเพราะกลัวไม่ได้งานทำ กระทั่งผ่านไป 3 เดือนเงินไม่ออก ก็เดือดร้อนกันหมด
 
เนื่องจากไม่มีเงินส่งกลับมาผ่อนชำระหนี้ที่กู้ยืมมาจ่ายเป็นค่าเดินทาง ซึ่งบางรายต้องเอาบ้าน ที่ดิน ที่นา และรถยนต์ไปจำนองกู้เงินมาจ่ายค่าหัวคิวเพื่อให้ได้เดินทางมาทำงานที่ลิเบีย โดยมีเสียเงินตั้งแต่รายละ 68,000 บาท ไปจนถึงเกือบ 200,000 บาท ทว่าทำงานกันได้ไม่กี่เดือนก็ต้องเดินทางกลับประเทศไทยเพราะเกิดภัยสงครามขึ้นภายในประเทศลิเบีย
 
นายพิสิษฐ์กล่าวอีกว่า เมื่อตน และเพื่อนๆ ผู้ใช้แรงงานด้วยกันกลับมาถึงบ้าน แต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องค่าแรงตามสัญญาจ้าง 2 ปี แถมโดนบริษัทจัดส่งฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทซ้ำอีก แต่ก็สู้กันจนชนะคดีมาได้ แล้วตนก็ฟ้องกลับในเรื่องของการกระทำผิดสัญญาจ้าง, เงินเดือน-โอทีค้างจ่าย, เรียกเก็บค่าบริการ (หัวคิว) เกินกว่ากฎหมายกำหนด และค่าเสียโอกาส ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ตนเป็นผู้ได้รับค่าชดเชย
 
“ก่อนหน้านี้ผมไปร้องขอความเป็นธรรมมาแล้วหลายแห่ง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ทหารจึงเป็นความหวังสุดท้าย จึงได้พากันมาขอความช่วยเหลือประสานไปยังเหยื่อแรงงานลิเบีย ซึ่งเฉพาะใน อ.ทุ่งเสลี่ยม ก็มีกว่า 100 คน และอีก 35 จังหวัดรวมกันก็หลายพันคน เพราะพวกเขาควรได้สิทธิในการรับเงินค่าชดเชย ให้ต้องเร่งรวบรวมเอกสารหลักฐานยื่นฟ้องเพิ่มโดยเร็ว เพราะคดีจะหมดอายุความภายใน 2 ปีนี้ หรือติดต่อมาที่ 06-1317-6092 และ 08-7841-1741 ก็ได้” นายพิสิษฐ์กล่าว
 
 
พีทีที โกลบอล เคมิคอล เข้าควบคุมสถานการณ์กรณีเหตุสารไซลีนรั่วไหลที่โรงอะโรเมติกส์ 2 ที่จังหวัดระยองได้แล้ว
 
วันที่ 13 กรกฎาคม 2560 เวลา 10.18 น. ตามที่เกิดเหตุสารไซลีนรั่วไหลของโรงอะโรเมติกส์ 2 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 5 จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 เวลา 12.39 น. บริษัทฯ ขอสรุปสถานการณ์ล่าสุด ซึ่งบริษัทฯ ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ดังนี้
 
บริษัทฯ ขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและขอชี้แจงว่า สาเหตุเกิดจากการรั่วไหลบริเวณกระจกช่องมองของไหล (Flow Sight Glass) ระหว่างการระบายของเหลวจากหอกลั่นไปยังถังพักใต้ดินซึ่งเป็นระบบปิด และเป็นกระบวนการตรวจสอบการไหลของของเหลวบริเวณด้านข้างหอกลั่นภายในโรงงานอะโรเมติกส์ โดยทีมระงับเหตุได้ดำเนินการปิดวาล์ว ของท่อส่งสารไซลีนเพื่อหยุดการรั่วไหล และเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของสารออกไปภายนอกโรงงาน และใช้น้ำดับเพลิง ฉีดเป็นละอองน้ำ เพื่อไม่ให้แพร่กระจายไปในอากาศ
 
หลังเกิดเหตุ บริษัทฯ ได้แจ้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามแนวทางปฏิบัติกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน อาทิ ศูนย์สื่อสารนิคมอุตสาหกรรม RIL กนอ. มาบตาพุด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง และเทศบาลเมืองมาบตาพุด
 
ด้านผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมโดยทีมสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่ตรวจสอบรอบโรงงาน โดยผลการตรวจวัดค่า VOCs หรือ สารอินทรีย์ระเหยง่าย ทั้ง 12 จุด อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยหลังเกิดเหตุ บริษัทฯ ได้ทำความสะอาดพื้นที่กระบวนการผลิต ตรวจสอบอุปกรณ์กระจกช่องมองของไหล และนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุ รวมถึงลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทีมชุมชนสัมพันธ์ลงพบปะชุมชนพื้นที่โดยรอบนิคม RIL อย่างต่อเนื่อง
 
สารไซลีนที่รั่วไหลจากเหตุการณ์นี้ อ้างอิงจากข้อมูลขององค์กรนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมภาครัฐแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (ACGIH) องค์กรอนามัยโลก (WHO) และศูนย์รักษาพิษสารเคมีอันตราย ภาคตะวันออก โรงพยาบาลระยอง ทั้งนี้ สารไซลีนเป็นสารอินทรีย์กลุ่มอะโรเมติกส์ มีสถานะเป็นของเหลว ไม่มีสี น้ำหนักเบากว่าน้ำ ระเหยง่าย ได้จากการกลั่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หากสูดดมเข้าไปอาจก่อให้เกิดความรำคาญและระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ไม่จัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง
 
บริษัทฯ ขออภัยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและได้ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนและบริษัทใกล้เคียง
 
 
แพทย์ให้พนักงานที่สูดดมแก๊สรั่วในโรงงาน จ.ระยอง กลับบ้านแล้ว
 
บ่ายวานนี้ (12 ก.ค.) เกิดเหตุสารพาราไซลีนในโรงงานของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 5 จ.ระยอง รั่วไหล โดยจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดแถลงข่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใดๆ ส่วนพนักงานที่ได้รับผู้บาดเจ็บ แพทย์ให้กลับบ้านได้แล้ว
 
เมื่อวานนี้ (12 ก.ค.2560) หลังเกิดเหตุสารพาราไซลีนรั่วไหล ระหว่างการเดินเครื่องของโรงงานในความรับผิดชอบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 5 ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล ถนนสาย 3191 ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ขณะเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่สั่งอพยพพนักงานและผู้รับเหมาอยู่ในจุดรวมพลตามแผนความปลอดภัยที่ได้ฝึกซ้อมไว้ จากนั้นได้ใช้สเปรย์น้ำหรือม่านน้ำฉีดควบคุมไม่ให้สารเคมีฟุ้งกระจายและเพื่อไม่ให้กลิ่นสารเคมีที่รั่วไหลออกไปภายนอกใช้เวลากว่า 30นาที จึงสามารถควบคุมไว้ได้
 
ต่อมาเจ้าหน้าที่หน่วยงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น และตอบโต้ภาวะฉุกเฉินของบริษัทฯ ว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เรียบร้อยแล้ว โดยการใช้ม่านน้ำควบคุมไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายออกไป ส่วนเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมและเจ้าหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพอากาศบริเวณชุมชนโดยรอบแล้ว พบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยคนงานที่เกิดการวิงเวียน แพทย์ตรวจร่างกายแล้วให้กลับบ้านได้
 
 
พนง.วิทยาลัยเอกชนที่อุบลฯ ร้องถูกเบี้ยวค่าจ้างตะลอนหาเด็กเข้าเรียน
 
อุบลราชธานี - พนักงานลูกจ้างตำแหน่งแนะแนวการศึกษาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในเมืองอุบลฯ เกือบร้อยชีวิต ตบเท้าร้องขอความเป็นธรรมจาก ผบ.มทบ.22 ช่วยเจรจาถูกวิทยาลัยเบี้ยวไม่จ่ายเงินตามสัญญาจ้างทำงาน จึงให้พนักงานทั้งหมดรวบรวมเอกสารได้รับความเสียหายเป็นปริมาณเงินเท่าไหร่ ก่อนนัดแนะ 4 หน่วยงานหลักประชุมหาทางออกให้กับลูกจ้างกลุ่มนี้ในวันรุ่งขึ้น
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ลานสวนสนามในค่ายสรรพสิทธิประสงค์ มณฑลทหารบกที่ 22 จ.อุบลราชธานี กลุ่มพนักงานลูกจ้างของวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี นำโดยนายบริบูรณ์ แสนดวง อายุ 26 ปี รวมตัวกันร้องเรียนให้ พล.ต.อชิร์ฉัตร โรจนะภิรมย์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ช่วยเหลือกรณีเข้าทำงานกับวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองอุบลราชธานี ในตำแหน่งแนะแนวการศึกษา โดยมีหน้าที่ไปชักชวนเด็กมัธยมต้นและมัธยมปลายตามชนบทให้เข้ามาศึกษากับวิทยาลัยแห่งนี้ โดยจะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 8,000 บาท ระหว่างสมัครเข้าทำงานได้วางเงินมัดจำค่าสมัครงานรายละ 3,000 บาท และเงินค่าตัดเสื้อสูทคนละ 1,500 บาท พร้อมให้เริ่มทำงานวันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป โดยใช้วิธีเรียกให้เข้ามาทำงานเป็นบางวัน ตามที่วิทยาลัยสั่ง ทำให้พนักงานสงสัยได้สอบถามผู้บริหารก็ได้รับแจ้งว่า แม้ไม่ได้ทำงานเต็มเดือน ก็จะจ่ายเงินเดือนให้ตามที่สัญญาไว้
 
แต่เมื่อถึงวันจ่ายเงินเดือนเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ปรากฏวิทยาลัยดังกล่าวได้จ่ายเงินค่าจ้างให้เป็นรายวันๆ ละ 266 บาท ทำให้ได้เงินเดือนไม่เท่ากัน โดยได้รับรายละ 500-2,000 บาท และระหว่างให้มารับเงินเดือนวิทยาลัยได้เอาใบลาออกให้พนักงานลงชื่อ เพื่อขอรับเงินค่ามัดจำจำนวน 3,000 บาท
 
ส่วนเงินค่าตัดเสื้อสูทคนละ 1,500 บาท ยังไม่ได้รับคืน ทำให้กลุ่มพนักงานไม่พอใจรวมตัวมาร้องขอให้ พล.ต.อชิร์ฉัตร ช่วยเหลือ
 
เบื้องต้นได้ให้กลุ่มพนักงานที่เข้าร้องเรียนในวันนี้ประมาณ 80 คน รวบรวมเอกสารการรับและจ่ายเงินของวิทยาลัย เพื่อดูรายละเอียดของความเสียหาย โดยจะมีการนัดผู้ประกอบการของวิทยาลัยมาหาข้อสรุปร่วมกับ 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ คณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และตัวแทนของพนักงาน เพื่อเจรจาหาทางออกให้กับพนักงานที่ได้รับความเดือดร้อนในสายของวันที่ 14 ก.ค.ที่มณฑลทหารบกที่ 22
 
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์กับนายภัทรพงศ์ บวรโชติยานนท์ เจ้าของและเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตตั้งสถานศึกษา แต่ไม่มีใครรับสาย เมื่อโทรศัพท์เข้าไปที่วิทยาลัยรับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ชื่อ น.ส.จันนิภา พันเสาร์ว่า ผู้บริหารไม่อยู่ที่วิทยาลัย
 
ส่วนเรื่องการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้พนักงาน มีการจ่ายเงินให้แก่พนักงานที่ทำงานตามความเป็นจริง และมีหลักฐานการจ่ายเงิน ไม่ได้ติดค้างแต่อย่างใด
 
ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวต่ออีกว่า ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 และ 12 ก.ค. กองอำนวยการความมั่นคงภายในจังหวัดอุบลราชธานี (กอ.รมน.) ร่วมกับศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดได้ทำการไกล่เกลี่ยให้วิทยาลัยแห่งเดียวกันนี้ จ่ายเงินเดือนและเงินค่ามัดจำคืนให้กับพนักงานที่สมัครเข้าทำงานในรุ่นเดียวกันนี้ไปแล้วเกือบ 20 ราย ซึ่งวิทยาลัยยินดีคืนเงินค่ามัดจำค่าเข้าทำงาน 3,000 บาท และจ่ายเงินให้ตามที่มาทำงานจริงเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่มาร้องเรียนวันนี้ เป็นพนักงานอีกกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน
 
 
ชาวมอแกนเกาะเหลารับจ้างดำปลิงเดือนละ 5 พันแต่ถูกจับแถมไร้บัตรประชาชน
 
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 นางเนาวนิตย์ แจ่มพิศ สมาชิกสภาเทศบาลปากน้ำท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 นี้ ชาวเลมอแกนเกาะเหลา 4 คน ที่ถูกจับกุมและคุมขังข้อหาบุกรุกอุทยานและดำปลิงบริเวณเกาะแรด หมู่ที่ 6 ตำบลหาดทรายรี อำเภอปากน้ำ จังหวัดชุมพร ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานหมู่เกาะชุมพร จะขึ้นศาลจังหวัดชุมพรเป็นครั้งแรก ซึ่งชาวบ้านบางส่วนอาจจะเดินทางไปให้กำลังใจแต่ยังไม่ทราบว่าชะตากรรมของชาวเลกลุ่มดังกล่าวจะเป็นอย่างไร 
 
นางเนาวนิตย์ กล่าวว่า ชาวเลทั้งหมด 4 คนล้วนอยู่ในสถานะบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และมีเพียง 1 รายเท่านั้นที่มีบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรเลข 0) ซึ่งได้ขอเลขประจำตัว 13 หลักมาแล้ว และรอวันจะไปถ่ายบัตรประชาชนในเร็วๆ นี้ชื่อว่านายเล็ก ประมงกิจ ส่วนที่เหลือทั้ง 3 คนอยู่ระหว่างการดำเนินการพิสูจน์เอกสาร หลักฐานและสอบพยานเพิ่มเติมแต่กลับถูกจับดำนินคดีและซึ่งขณะนี้ทั้งหมดอยู่ระหว่างดำเนินการขอเงินประกันตัวจากกองทุนยุติธรรม และการช่วยเหลือของเครือข่ายภาคีอื่นๆ ทราบว่าจะส่งทนายมาช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามส่วนตัวเห็นว่าการจับกุมคดีดังกล่าว กระบวนการยุติธรรมจ้องจับผิดเพียงชาวเลมอแกนเท่านั้น แต่นายทุนเจ้าของเรือกลับรอดไม่ถูกดำเนินคดีด้วย ทั้งที่อาชีพและรายได้ก็จำกัด ทำให้ต้องเจอกับความลำบากหลายด้าน 
 
“อย่างนายเล็กเขาอายุราว 20 กว่ามีลูกหนึ่งคนอายุ 2 ปีเอง ป่วยแขนขาลีบอยู่เลย พอพ่อถูกจับ มันลำบากไง พ่อเขาเป็นกำลังหลักและกำลังจะได้บัตรประชาชน ได้เป็นคนไทยก็ต้องมาถูกจับกุมก่อน ปัญหาแบบนี้เราเจอเราไปไม่เป็นเลย แล้วถ้าศาลตัดสินให้ติดคุกยาว เด็กคนหนึ่งก็กลายเป็นคนด้อยโอกาส เพราะเมียและลูกของนายเล็กก็ยังไม่มีหลักฐานอะไรไปขอสัญชาติไทยเลย” นางเนาวนิตย์ กล่าว 
 
สมาชิกสภาเทศบาลปากน้ำท่าเรือ กล่าวด้วยว่า นอกจากข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติแล้ว ชาวเลทั้ง 4 รายยังถูกแจ้งข้อหาต่างด้าวที่เดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย แต่ตนยืนยันว่าหนังสือข้อหาดังกล่าวไม่ถูกต้องเพราะชาวเลมีนายจ้างที่มีเรือมีทะเบียนถูกต้อง และเมื่อมีการจ้างงานชาวเล นายจ้างต้องรู้เห็นการทำหนังสืออยู่แล้วซึ่งหนังสือดังกล่าวออกโดยอำเภอเมืองระนอง และหนังสืออนุญาตออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมคนต่างด้าวเป็นการชั่วคราวของนายจ้างผู้ว่าจ้าง ซึ่งเอกสารดังกล่าวตนและญาติผู้ต้องหาได้นำไปมอบให้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.ปากน้ำชุมพร เพื่อประกอบหลักฐานในการสอบสวนดำเนินคดีเรียบร้อยแล้วต้องมาลุ้นว่าจะมีการพิจาณาเอกสารหรือไม่ ไม่เช่นนั้นชาวเลจะลำบากฝ่ายเดียว
 
“การรับจ้างดำปลิงหรือไปหาปลากับนายจ้างนั้นถ้าเกิดคดีแบบนี้เชื่อไหมว่า ชาวเลไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งหากทำงานเสร็จเรียบร้อย รายได้พวกเขาจะอยู่ที่ราวเดือนละ 5,000 บาท มันไม่มากมายนักแต่ต้องยอมรับ ว่ามีสิทธิแค่นี้เพราะบางคนพูด อ่าน เขียนไทยไม่ได้ บางคนไร้การศึกษา แถมยังไม่มีบัตรประชาชนด้วย งานอะไรที่พอจะทำได้ต้องคว้าไว้ก่อน ตอนนี้บนเกาะเหลามีชาวเลเพียง 35 คนเท่านั้นที่ได้บัตรประชาชนสมบูรณ์ ที่เหลือราว 240 ที่ยังมีปัญหาสัญชาติและอยู่ระหว่างการช่วยเหลือของหลายภาคส่วน” สมาชิกสภาเทศบาลปากน้ำท่าเรือ กล่าว
 
 
กระทรวงแรงงาน เผยล่าสุดไม่พบแรงงานต่าวด้าวเดินทางออกไทยแล้ว มองกระทบอุตสาหกรรม- ธุรกิจระยะสั้น
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ล่าสุดไม่พบแรงงานต่างด้าวเดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว โดยตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่เดินทางออกไทยก่อนหน้านี้ คาดว่าอยู่ที่ 60,000 คน และตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงการประมาณการณ์เท่านั้น เนื่องจากคาดว่ามีบางส่วนที่แอบลักลอบเดินทางออกตามแนวเขตชายแดน โดยวันที่ 24 กรกฎาคม ที่จะมีการเปิดศูนย์รับเรื่องแรงงานต่างด้าว เชื่อว่าสถานการณ์แรงงานจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ พร้อมขอชื่นชมนายจ้างบางส่วนที่มีการส่งแรงงานกลับประเทศ เพื่อให้กลับไปทำประวัติและดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ส่วนผลกระทบกับอุตสาหกรรม หรือธุรกิจนั้นมีผลระยะสั้น
 
นายวรานนท์ กล่าวเสริมว่า ความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณของกรมการจัดหางาน เป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงแรงงานและรัฐบาล 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท