Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




ผู้อ่านที่เห็นชื่อเรื่องแล้วคงคิดว่าผมหมายถึงแค่ประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกาที่มีเรื่องมีราวให้วิพากษ์วิจารณ์อยู่ทุกวันตั้งแต่รับตำแหน่งและย้อนหลังไปขุดคุ้ยเรื่องราวทั้งที่ตนเองและลูกเขยกับลูกชายได้ก่อไว้ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยล่าสุดก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายคนโต วัย 39 ปี ได้พบปะกับ นาตาเลีย เวเซล นิตสกายา นักกฎหมายชาวรัสเซียที่อ้างว่าเธอมีข้อมูลส่วนหนึ่งจากรัฐบาลรัสเซียที่จะสร้างความเสียหายให้แก่นางฮิลลารีจะไปมอบให้กับบุตรชายคนนี้ของทรัมป์ โดยการพูดคุยครั้งนั้นมี จาเร็ด คุชเนอร์ บุตรเขยของทรัมป์ และ พอล มานาฟอร์ต ผู้จัดการทีมหาเสียงของทรัมป์ร่วมวงสนทนาด้วย ซึ่งกรณีนี้ก็เป็นหนึ่งในบ่วงรัดคอทรัมป์ให้แน่นขึ้นในกรณีอื้อฉาวที่เกี่ยวกับรัสเซียของเขา กอปรกับผลโพลล่าสุดของวอชิงตันโพสต์กับเอบีซีนิวส์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2017ที่ผ่านมาชี้ว่าความนิยมของทรัมป์ตกลงมาอยู่ที่ 36 % ซึ่งเท่ากับว่าคนอเมริกันเพียงประประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศเท่านั้นที่ยอมรับการทำหน้าที่ของทรัมป์

อันที่จริงแล้วประธานาธิบดียอดแย่ในสายตาของนักประวัติศาสตร์อเมริกันนับตั้งแต่สหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีมา 45 คนตั้งแต่ปี 1789 จนถึงปัจจุบัน 2017 นั้นมีหลายคน ซึ่งเมื่อดูๆแล้วอาจจะแย่กว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันเสียด้วยซ้ำไป ตัวอย่างเช่น

จอหน์ ไทเลอร์(John Tyler,1790-1862) ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 10(1841-1845) เพราะประธานาธิบดีคนก่อนหน้าป่วยเป็นปอดบวมเสียชีวิตเพียงหนึ่งเดือนหลังจากเข้ารับตำแหน่ง ด้วยเหตุที่เขายืนกล่าว   สุนทรพจน์ในวันที่เข้ารับตำแหน่งท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บและมีฝนตกปรอยๆเกือบ 2 ชั่วโมง ไทเลอร์ในฐานะรองประธานาธิบดีจึงเข้ารับตำแหน่งต่อ ผลงานที่นับว่าแย่ของไทเลอร์ก็คือการที่ประกาศให้ รัฐเท็กซัสซึ่งเป็นรัฐขนาดใหญ่ที่เพิ่งเข้าสมัครเป็นรัฐใหม่ของสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐที่อนุญาตให้มีทาสได้ ทั้งๆที่ขณะนั้นอยู่ในช่วงของความขัดแย้งในเรื่องนี้อย่างหนักจนเป็นเหตุหนึ่งที่ลุกลามเป็นสงครามกลางเมืองต่อมา

นอกจากนั้นในระหว่างไทเลอร์ดำรงตำแหน่งภรรยาของเขาได้เสียชีวิตลง เขาจึงได้แต่งงานใหม่ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งเพราะแต่งงานในระหว่างการดำรงตำแหน่ง และแต่งงานกับเด็กสาวที่มีอายุอ่อนกว่าถึง 30ปีและไทเลอร์ก็มีลูกกับภรรยาคนใหม่จำนวนมากเมื่อรวมกับภรรยาคนก่อนแล้วมีถึง 15 คน ซึ่งก็นับว่าเป็นประธานาธิบดีที่มีลูกมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันอีกเช่นกัน แต่การแต่งงานหรือการมีลูกมากนั้นไม่สามารถนับได้ว่าเป็นประธานาธิบดีแย่หรือไม่แย่ ที่แย่คือหลังจากลงจากตำแหน่งปี1845 เขากลับไปทำไร่ที่รัฐเวอร์จิเนียร์โดยมีทาสแรงงานไว้รับใช้ พอเกิดสงครามกลางเมืองเขาไปเข้ากับฝ่ายใต้ที่สนับสนุนการมีทาสเสียอีก

มิลลาร์ด ฟิลมอร์(Millard Fillmore,1800-1874) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 13(1850-1853)ซึ่งเป็นการขึ้นสู่ตำแหน่งแทนพลตรีซัคคารี เทเลอร์(1849-1850)ซึ่งเป็นประธานาธิบดีเพียงปีเดียวก็เสียชีวิต ในขณะที่ ฟิลมอร์ขึ้นสู่ตำแหน่งนั้นสถานการณ์ความขัดแย้งปัญหาเรื่องทาสระหว่างฝ่ายเหนือรุนแรงขึ้น แต่เขากลับ  ลงนามในกฎหมายที่ยอมให้นายทาสไล่ล่าทาสที่หลบหนีขึ้นไปอยู่ในรัฐทางเหนือ ซึ่งรัฐเหล่านั้นมีนโยบายเลิกทาส จึงเกิดมีการตามล่าทาสกันอย่างขนานใหญ่

แอนดรู จอห์นสัน(Andrew Johnson,1808-1875) เขาขึ้นดำรงตำแหน่งแทนประธานาธิบดีคนที่ 17 แทนอับราฮัม ลิงคอล์นที่ถูกฆาตกรรมในปี1865 โดยเขาพยายามขัดขวางในสิ่งที่ลิงคอล์นเคยทำไว้ เช่น การออกกฎหมายที่เรียกว่า Black Codes เปิดทางให้นายทาสในหลายรัฐคงสิทธิ์เหนือทาสอีกต่อไป แทนที่จะต้องปล่อยตัวให้เป็นอิสระ เมื่อรัฐสภาพยายามออกกฎหมายให้สิทธิ์กับอดีตทาสแต่เขากลับใช้อำนาจฝ่ายบริหารในฐานะประธานาธิบดีหยุดยั้ง(veto)กฎหมายเหล่านั้นเสีย

ยูลิซิส เอส แกรนท์ (Ulysses S. Grant,1822-1885) อดีตวีรบุรุษสงครามกลางเมืองของฝ่ายเหนือ เข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 18 (1869-1877) ด้วยคะแนนที่ถล่มทลาย อยู่ในตำแหน่งถึง 2 สมัยแต่กลับบริหารงานไม่เป็นโล้เป็นพาย มิหนำซ้ำยังปล่อยให้คนใกล้ชิดคอร์รัปชันกันอย่างมากมาย

แคลวิน คูลดจ์ (Calvin Coolidge,1872-1933) ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 30 (1923-1929) ด้วยเหตุที่อดีตประธานาธิบดีวอร์เรน ฮาร์ดิง เดินทางไปอลาสกาเกิดล้มป่วยด้วยอาหารเป็นพิษแล้วเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลันอย่างมีเงื่อนงำ เขาลดภาษีให้คนรวยโดยอ้างว่าเมื่อธุรกิจอุตสาหกรรมเข้มแข็งคนรวยจะช่วยสร้างงานให้คนจนในขณะที่ชาวไร่ชาวนาขนาดกลางและเล็กถูกทอดทิ้งให้ล้มละลาย คูลิดจ์มีชื่อเสียในเรื่องความขี้เกียจ โดยนอนแต่หัวค่ำและตื่นสายโดยใช้เวลาบนเตียงโดยเฉลี่ยคืนละสิบชั่วโมงแล้วยังงีบหลับในตอนกลางวันอีกด้วย

ริชาร์ด นิกสัน(Richard Nixon,1913-1994) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 37(1969-1974) ซึงเป็นผู้ที่มีเรื่องอื้อฉาวมากจนต้องลาออกก่อนที่จะถูกถอดถอน (impeachment) โดยวุฒิสภาอันเนื่องจากคดี “วอเตอร์เกต”คดีฉาวสะท้านโลกที่ใช้วิธีสกปรกเพื่อให้ตนเองชนะเลือกตั้ง เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่สะเทือนศรัทธาชาวอเมริกันมากที่สุด เพราะทำลายภาพลักษณ์ทุกอย่างที่สร้างขึ้นมา ตั้งแต่บทบาทตำรวจโลก แนวคิดที่ยึดมั่นในเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน และระบบการปกครองแม่แบบของประเทศประชาธิปไตย ทั้งหมดที่ว่านี้กลายเป็นสิ่งจอมปลอมไปทันทีเมื่อประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสันผู้ชื่อว่าทำประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกามากที่สุดผู้หนึ่ง เช่น ยอมถอนทหารออกจากเวียดนาม ปิดฉากสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต และเปิดความสัมพันธ์กับจีนคอมมิวนิสต์ แท้ที่จริงคือผู้ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น บิดเบือนซุกซ่อนข้อมูล และใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นเพื่อให้ตนเองพ้นผิด แต่เขาได้รับการยกเว้นโทษในเวลาต่อมาโดยประธานาธิบดีฟอร์ด ขณะที่คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 40 คนถูกตัดสินจำคุก ซึ่งมีตั้งแต่รอลงอาญา 1 เดือนจนถึงจำคุก 52 เดือน

จากที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าถึงแม้สหรัฐอเมริกาจะมีประธานาธิบดียอดแย่แค่ไหน แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปตามระบบ ไม่มีใครไปรื้อไปพังระบบเพื่อแก้ปัญหาด้วยวิธีการนอกระบบ ถ้าไม่ดีก็เลือกคนใหม่หรือใช้วิธีถอดถอนออกไป ประชาธิปไตยเป็นเรื่องคนหมู่มากที่ยอมรับและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างและต้องใช้ความอดทน

คนอเมริกันไม่ชอบทรัมป์ตั้งเกือบ 2 ใน 3 ของทั้งประเทศ แต่ยังไม่เคยได้ยินว่ามีใครเรียกร้องให้ทำรัฐประหารหรือเข้ามารัฐประหารโดยอ้างว่าประชาชนเรียกร้องเหมือนพี่ไทยเราเลย

 

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net