Skip to main content
sharethis

คุยกับนักข่าวชื่อดังถึงความหวังต่อสื่อและประชาชนในยุครัฐบาลทหารหลังได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติ ระบุ สื่อต้องสร้างความตระหนักเรื่องเสรีภาพสื่อ มาตรา 112 จำกัดเสรีภาพมหาศาล ต้องไม่ให้ความชอบธรรมรัฐบาลทหาร อย่าทำประหนึ่งเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง ฝากประชาชนให้รู้ ตนเป็นเจ้าของประเทศ ต้องสู้เพื่อรักษาพื้นที่เสรีภาพก่อนไม่เหลืออะไร ชี้การได้รับรางวัลคือหลักฐานการกดขี่ของ คสช.

เมื่อ 18 ก.ค. 2560 คณะกรรมการคุ้มครองสื่อแห่งมหานครนิวยอร์ก (The Committee to Protect Journalists) มอบรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 ให้กับนักข่าว 4 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิช ที่ได้รับเกียรติจากทางคณะกรรมการฯ ร่วมกับนักข่าวอีก 3 คนจากแคเมอรูน เม็กซิโก และเยเมน

แถลงการณ์จากคณะกรรมการฯ ระบุว่า นักข่าวทั้ง 4 เป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ของนักข่าวในการค้นหาความจริงท่ามกลางการเผชิญหน้ากับการล่วงละเมิดจากรัฐบาลหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการทำร้าย การขู่ฆ่า หรือการจับกุมคุมขัง

แถลงการณ์ระบุถึงประวิตรว่า เป็น "นักข่าว นักวิพากษ์ และนักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อ ถูกคุกคามโดยรัฐบาลและถูกคุมขัง 2 ครั้งในช่วงไม่กี่ปีนี้จากการทำข่าวประเด็นการเมืองและสิทธิมนุษยชน” ประชาไทสัมภาษณ์นักข่าวชื่อดังถึงความหวังต่อสื่อมวลชนในฐานะหนึ่งในสถาบันที่กำหนดการรับรู้ของสังคมไทย และต่อประชาชนไทยในช่วงเวลาที่สิทธิและเสรีภาพถูกคุกคามภายใต้รัฐบาลทหาร ที่ประวิตรมองว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ตนรับรางวัลดังกล่าว

อยากฝากอะไรถึงสื่อมวลชนในฐานะสถาบันหนึ่งที่กำหนดการรับรู้ของสังคม

“เรื่องที่หนึ่ง สื่อก็แสดงความเห็นที่หลากหลาย แต่ว่าน่าเสียดายว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเลือกข้างของสื่อจนทำให้กลายเป็นสื่อที่ไม่เปิดกว้างต่อความเห็นที่หลากหลาย เรื่องที่สอง กฎหมายมาตรา 112 กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถแก้ได้ในปัจจุบัน สื่อก็ต้องสร้างความตระหนักต่อสาธารณะว่า กฎหมายนี้สร้างข้อจำกัดอย่างมหาศาล ทำให้สังคมไม่สามารถจะพูด แสดง แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างเท่ากันต่อสถาบันกษัตริย์ได้ สาม เป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่าสื่อจำนวนมาก ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลเผด็จการทหารปัจจุบันเสมือนว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปรกติ สื่อควรจะตอกย้ำทั้งรัฐบาลทหารและสังคมให้เข้าใจว่ารัฐบาลปัจจุบันถึงแม้จะยึดอำนาจไปแล้วก็ตาม แต่ก็หาได้มีความชอบธรรมไม่ เพราะถ้าสื่อปฏิบัติต่อรัฐบาลปัจจุบันเหมือนกับการรายงานข่าวและตรวจสอบรัฐบาลปรกติ มันก็จะเป็นการให้ท้ายต่อกลุ่มทหารที่คิดที่จะก่อรัฐประหารอีกในอนาคต” ประวิตร กล่าว

แล้วอยากบอกอะไรกับประชาชน ในช่วงเวลาที่สิทธิและเสรีภาพถูกคุกคามเช่นนี้

“ผมว่าประชาชนต้องไม่สิ้นหวัง ต้องพยายามยืนยันและยืนหยัดในสิทธิ์ของตนเอง ถ้าเรายอมไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะไม่เหลือที่ที่จะแสดงความคิดเห็นที่เป็นตัวของตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หลายคนอาจจะถอดใจ เพราะว่า คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ยึดอำนาจ และปกครองโดยการสร้างความกลัวในหมู่ผู้ที่เห็นต่างมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว แต่ผมอยากให้ประชาชนพยายามนึกถึงตนเองว่า ตนเองไม่ใช่แค่ประชาชนหรือประชากร แต่แท้จริงแล้วเป็นพลเมือง เป็นผู้ที่จ่ายภาษีและเป็นเจ้าของประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนที่จะพยายามรักษาพื้นที่เสรีภาพไม่ว่าเสรีภาพสื่อหรือเสรีภาพการแสดงออกให้มากเท่าที่จะมากได้ ไม่ว่าจะในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่โซเชียล มีเดีย แล้วก็อยากให้มองการณ์ไกลว่าการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย มันไม่ได้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาอันสั้น จะเรียกว่าคนทุกยุคทุกสมัยจะต้องออกมารักษาสิทธิ เสรีภาพ แม้แต่ในสหรัฐฯ เองก็มีปัญหา สื่อก็มีปัญหากับรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ จะเห็นได้ว่าแม้แต่ในสังคมที่มีเสรีภาพสื่อเป็นเรื่องปรกติ เป็นสิทธิที่พึงมีอยู่แล้ว แต่เอาเข้าจริงก็ถูกท้าทายจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่อาจจะมีมุมมองที่ไม่ค่อยสนับสนุนความเห็นต่างในพื้นที่สื่อหรือพื้นที่สาธารณะ”

รางวัลคือหลักฐานของการกดขี่จาก คสช.

ประวิตรได้โพสต์บนเฟซบุ๊กของตนเองเรื่องการได้รับรางวัลที่สะท้อนถึงการขาดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกอย่างแท้จริง ใจความว่า

“เป็นเกียรติยิ่งที่คณะกรรมการคุ้มครองสื่อแห่งมหานครนิวยอร์กมอบรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 แก่ผม (คณะกรรมการคุ้มครองสื่อเป็นหนึ่งในสององค์กรสำคัญที่ต่อสู้ผลักดันเพื่อเสรีภาพสื่อระดับโลก อีกองค์กรคือกลุ่มนักข่าวไร้พรมแดนแห่งกรุงปารีสที่ผมเคยได้รับการเสนอชิงรางวัลเสรีภาพสื่อรอบสุดท้ายในปี 2015) ขอบคุณทั้งเสียงสนับสนุนชื่นชมและเสียงวิพากษวิจารณ์ด่าเพราะทั้งสองคือเสรีภาพการแสดงออกและไม่ควรมีผู้ใดอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ ขอบคุณข่าวสดอิงลิชและเครือมติชน ขอบคุณบ้านเก่าที่เดอะ เนชั่น

รางวัลนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการขาดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกอย่างแท้จริงในสังคมไทย ไม่ว่าโดยเผด็จการทหาร ม.112 หรือวัฒนธรรมล้าหลังอนุรักษ์นิยมของสื่อและสังคมไทย

ผมตระหนักว่าคงไม่ได้รางวัลนี้หากไม่มีเผด็จการ คสช. คุกคาม แต่ที่สำคัญคือเราจะปฎิบัติตนอย่างไรเมื่อเจออำนาจอันไร้ความชอบธรรมคุกคามละเมิดสิทธิ เมื่อเผชิญกับเผด็จการ คุณจะยอมก้มหัวสยบหรือยืนหยัดเพื่อเสรีภาพ? ปล. มีนักข่าว 4 คนรวมจากทั่วโลกที่ได้รางวัลนี้ในปีนี้”

ต่อกรณีที่ พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รักษาราชการแทนผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ทำหนังสือรายงานความเคลื่อนไหวของนักวิชาการในการประชุมสัมมนาไทยศึกษาที่ จ.เชียงใหม่เมื่อ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ว่ามีนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม จำนวน 6 คน ทราบชื่อแล้ว 3 ราย คือ ประจักษ์ ก้องกีรติ ภัควดี วีระภาสพงษ์ และชัยพงษ์ สำเนียง ได้เดินทางมาชูป้าย ข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร” โดยมีข่าวว่าทหารอาจเรียกนักวิชาการเข้าพบ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยนักข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิชได้แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กของตนอีกว่า

“วอยซ์ทีวีลงข่าวเรื่องผมได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติ จากคณะกรรมการคุ้มครองสื่อแห่งมหานครนิวยอร์ก -ฝากบอก คสช. ด้วยว่าการพยายามเรียกนักวิชาการที่เคลื่อนเรื่อง "เวทีวิชาการมิใช่ค่ายทหาร" รังแต่จะทำให้สโลแกนนี้ดังยิ่งขึ้น -ไม่เชื่อดูรางวัลที่ผมเพิ่งได้รับเมื่อคืนได้ #555 #เสรีภาพ #สื่อ #IPFA #CPJ #เวทีวิชาการมิใช่ค่ายทหาร”

ต่ออนาคตหลังจากได้รับรางวัล ประวิตรกล่าวว่า “จริงๆรางวัลนี้เขาจะเชิญผมไปรับรางวัลและกล่าวสุนทรพจน์กลางเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้ ผมรู้สึกขอบคุณกับเกียรติอันนี้ แล้วก็จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอย่างซื่อสัตย์และดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ อนาคต กลางๆ ไกลๆ หรือไกลกว่านี้ก็คงต้องว่ากันทีหลัง แต่ในตอนนี้ผมรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ผมจะต้องอยู่ตรงนี้ในฐานะสื่อต่อไป โดยเฉพาะในสภาพที่เผด็จการทหารยังครองอำนาจแล้วก็กดขี่ประชาชน”  

ประวิตรเคยถูกควบคุมตัวไปแบบไม่สามารถติดต่อกับคนอื่นได้เพื่อ 'ปรับทัศนคติ' โดยรัฐบาลทหารถึง 2 ครั้งหลังแสดงความเห็นที่ถูกตีความว่ากระทบกับรัฐบาล คสช. และกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในปี 2557 และ 2558

สำหรับประวัตินักข่าวอีก 3 คนที่ได้รับรางวัลเดียวกันดังที่ปรากฎในแถลงการณ์ มีดังนี้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ahmed abba

อาห์เมด อับบา (ที่มา: CPJ)

อาห์เมด อับบา - นักข่าวจาก Radio France Internationale’s Hausa service ถูกจำคุกในแคเมอรูนเมื่อปี 2558 จากข้อหาว่ามีความเกี่ยวพันกับการก่อการร้าย ถูกตัดสินจำคุก 10 ปีเมื่อต้นปี 2560 จากการทำข่าวประเด็นลัทธิหัวรุนแรง โบโก ฮาราม

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Patricia Mayorga

แพทริเซีย มาญอร์กา (ที่มา: San Miguel PEN)

แพทริเซีย มาญอร์กา - นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ Proceso ในกรุงเม็กซิโก ซิตี ถูกข่มขู่จากการทำข่าวเรื่องความเกี่ยวโยงระหว่างกลุ่มพรรครัฐบาลกับขบวนการอาชญากรรม การบังคับสูญหาย และประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Afrah Nasser

อัฟราห์ นาสเซอร์ (ที่มา: Afrah Nasser's Blog)

อัฟราห์ นาสเซอร์ - นักข่าวและคนเขียนบล็อกชาวเยเมนที่ติดตามประเด็นเหตุการณ์ความตึงเครียดในเยเมนจากประเทศสวีเดน นาสเซอร์รายงานเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นสตรีและเสรีภาพสื่อ โดยได้ลี้ภัยไปที่สวีเดนเนื่องจากถูกขู่ฆ่า หลังจากเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในช่วงการลุกฮือขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนในปี 2556

พิธีรับรางวัลดังกล่าวนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 15 พ.ย. 2560 ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท นิวยอร์ก ในเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขปีที่ประวิตรถูกจับ 2 ครั้ง จากปี 2558 และ 2559 เป็น 2557 และ 2558 เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2560 เวลา 16.38

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net