ตัดสินคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ประยุทธ์ ด่า 'ไอ้มนัส' เป็นทหารคนเดียวไม่ทำให้กองทัพเจ๊ง

ตัดสินคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2 ปีก่อน ผ่านไปกว่า 10 ช.ม. ศาลอ่านคำพิพากษาไปแล้วกว่า 60 คน 'ประยุทธ์' ด่า 'ไอ้มนัส' เป็นทหารคนเดียวไม่ทำให้กองทัพเจ๊ง 'ฟอร์ตี้ฟายไรต์' ร้อง รบ.ไทย ให้หลักประกันว่าผู้เกี่ยวข้องได้รับการลงโทษ

 

19 ก.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ตลอดทั้งวันนี้สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ ต่างให้ความสนใจการตัดสินคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2 ปีก่อน ซึ่งเวลาผ่านไปกว่า 10 ชั่วโมงศาลอ่านคำพิพากษาไปแล้วกว่า 60 คน

ศาลชั้นต้นอยู่ระหว่างอ่านคำพิพากษาคดีการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ซึ่งมีจำเลยทั้งหมด 103 คน จำหน่ายคดี 1 คนเนื่องจากเสียชีวิต คงเหลือจำเลย 102 คน ที่มี บรรจง ปองผล หรือโกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ เป็นจำเลยที่ 1 / ปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล จำเลยที่ 29 / พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54  ในความผิด 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2546 ภายหลังโอนคดีจากศาลนาทวีมาพิจารณาคดีที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญา

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า อัยการโจทก์มีพยานซึ่งเป็นผู้เสียหายที่อยู่ในค่ายกักกันแคมป์คนงาน ที่เทือกเขาแก้ว ตำบลปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความถึงการจัดตั้งแคมป์ควบคุมตัวต่างด้าว ชาวเมียนมาร์ บังกลาเทศ และความเป็นอยู่รวมทั้งจำเลยที่ได้ร่วมควบคุมแคมป์ และเป็นผู้จัดเสบียงอาหารและน้ำ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจัดอาหารไม่เพียงพอ และถูกทำร้ายหากใช้โทรศัพท์ติดต่อญาติภายนอก

นอกจากนี้ ยังมีพยานที่เชื่อมโยงถึงอดีตผู้บริหารทัองถิ่นจังหวัดสงขลาที่เป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ว่า เป็นผู้จัดหาแรงงานในพื้นที่ปาดังเบซาร์ และยังมีหลักฐานที่ตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ เชื่อมโยงกับกลุ่มจำเลยในการจัดหาพาหนะขนส่งแรงงานชาวโรฮิงญา และควบคุมเส้นทางขนส่งแรงงาน สงขลา-ระนอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ต่อบุคคลที่อายุ 15-18 ปี และมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยจำเลยบางคนเป็นเจ้าพนักงานซึ่งตามกฎหมายต้องมีโทษเป็น 2 เท่า

ประยุทธ์ ด่า 'ไอ้มนัส' เป็นทหารคนเดียวไม่ทำให้กองทัพเจ๊ง  

คมชัดลึกออนไลน์ รายงาน ปฏิกิริยาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อกรณีที่ศาลอาญาจะตัดสินชี้ชะตา พล.ท.มนัส และกลุ่มข้าราชการ กับพลเรือนในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาในวันเดียวกันนี้ด้วย

"แล้วยังไง และผมก็ไม่รู้ว่าการตัดสินของศาลจะมีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเรื่องการค้ามนุษย์แค่ไหน เขาประเมินจากการทำผิดของเจ้าหน้าที่ ถ้าศาลตัดสินอย่างไรก็ตามนั้น ถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด กรณีของพล.ท.มนัส คงเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น มีคนอยู่ในกระบวนการจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ไอ้มนัสเพียงคนเดียว ผมไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องกระพี้แบบนี้ คนเดียวหรือแค่ 2-3 คน ต้องไปดูว่าทั้งระบบเป็นอย่างไร การทุจริต การเรียกรับผลประโยชน์ การค้ามนุษย์มีกี่พวก สื่อก็คอยแต่จะตีว่าผู้กระทำความผิดเป็นทหาร อย่าลืมว่าทหารทั้งประเทศมีถึง 4-5 แสนคน ไอ้มนัสเป็นเพียงคนเดียว มันจะทำให้เจ๊งทั้งหมด กองทัพเจ๊งทั้งระบบหรืออย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์

คมชัดลึกออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีอารมณ์ฉุนเฉียวในระหว่างการตอบคำถามประเด็นดังกล่าว โดยเมื่อตอบคำถามเสร็จก็ได้รีบตัดบทพร้อมเดินออกจากวงสัมภาษณ์ทันทีด้วยสีหน้าโกรธ

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ร้อง รบ.ไทย ให้หลักประกันว่าผู้เกี่ยวข้องได้รับการลงโทษ

ขณะที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ‘ฟอร์ตี้ฟายไรต์’ แสดงท่านทีต่อกรณีนี้โดยเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยว่า ควรประกันว่าผู้กระทำความผิดและตัวการร่วม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาและชาวบังคลาเทศ ต้องได้รับการลงโทษ

ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวในวันนี้ว่า ศาลอาญากรุงเทพฯ แผนกคดีค้ามนุษย์ มีกำหนดอ่านคำพิพากษาในคดีการค้ามนุษย์ครั้งใหญ่สุดของประเทศในวันที่ 19 ก.ค.นี้  แม้ว่าการไต่สวนคดีนี้เป็นความพยายามอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนของทางการไทย ที่จะนำตัวผู้ค้ามนุษย์มาลงโทษ แต่การดำเนินคดีก็เต็มไปด้วยภัยคุกคามที่มีต่อพยาน ล่าม และเจ้าพนักงานสอบสวน นอกจากนี้ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังได้จัดทำข้อมูลยืนยันว่า ทางการไทยได้ควบคุมตัวชาวโรฮิงญาที่เป็นพยานในคดีนี้ในที่พักพิงแบบปิด ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีอิสรภาพของพวกเขา ทั้งยังมีข้อกล่าวหาว่าพยานในคดีนี้ได้ถูกทำร้ายร่างกาย 

“อาจถือเป็นจุดยุติของการไต่สวนคดีสำคัญอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ก็เป็นเส้นทางที่ขรุขระ ยังไม่ถือเป็น ‘การปิดคดี’ สำหรับผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “ประเทศไทยยังต้องดำเนินการอีกมาก เพื่อประกันให้เกิดความยุติธรรมต่อประชาชนอีกหลายพันคน ซึ่งตกเป็นเหยื่อการแสวงหาประโยชน์อย่างมิชอบ การทรมาน และการสังหารของผู้ค้ามนุษย์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” 
 
ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ระบุว่า ในคดีนี้ทางการจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 153 คน แต่ถูกฟ้องเป็นจำเลย 103 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐ 21 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศ ซึ่งมาจากประเทศพม่าและบังกลาเทศ เมื่อปี 2558 โดยบางส่วนอาจได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตหากศาลตัดสินว่ามีความผิด ส่วนผู้ที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตในบริบทของการค้ามนุษย์ อาจได้รับโทษประหารชีวิต
 
จำเลยถูกดำเนินคดีในฐานความผิดที่แตกต่างกัน รวมทั้งการค้ามนุษย์ การทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต การใช้อาวุธปืนหรือสิ่งเทียมอาวุธปืนอื่นๆ อย่างผิดกฎหมาย การกักขังหน่วงเหนี่ยว และฐานความผิดอื่นๆ การดำเนินคดีเกิดขึ้นจากการค้นพบหลุมฝังศพขนาดใหญ่ที่มีศพฝังอยู่ 36 ศพบริเวณป่าเชิงเขาในจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558 ศาลอาญากรุงเทพฯ แผนกคดีค้ามนุษย์ มีกำหนดอ่านคำพิพากษาของจำเลยแต่ละคนอย่างน้อยในช่วง 3 วันข้างหน้านี้
 
ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้เฝ้าสังเกตการณ์การไต่สวนคดีนี้อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 2558 โดยในช่วงต้นปี 2559 คนร้าย 6 คนซึ่งแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลักพาตัวและข่มขู่พยานในระหว่างการไต่สวนคดี “พวกเขาทำการข่มขู่และใช้ปืนจ่อหัว” พยานบอกต่อฟอร์ตี้ฟายไรต์ “ผมกลัว...พวกเขาพาผมไปที่ตลาดใกล้กับวัดและปล่อยทิ้งไว้ที่นั่น”
 
ล่ามซึ่งเกี่ยวข้องกับการสอบสวนและการไต่สวนคดีนี้ได้รับการข่มขู่หลายครั้ง แม้จะมีการนำเรื่องนี้ไปแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ทางการกลับไม่ได้ให้ความคุ้มครองอย่างเพียงพอต่อล่ามเหล่านี้
 
'หม่องหม่อง' ล่ามในการสอบสวนคดีนี้บอกต่อฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า เขาต้องหลบซ่อนตัวและย้ายไปอยู่บ้าน 4 หลังไม่ซ้ำกัน ตลอดช่วงการไต่สวนคดี เนื่องจากมีบุคคลไม่ปรากฏชื่อได้สอบถามถึงสถานที่ทำงานของเขาและโทรศัพท์มาข่มขู่เขาเนื่องจากการที่เขาเกี่ยวข้องกับการไต่สวนคดีนี้
 
“อยากกินอะไรก็หามากินซะ” ผู้โทรศัพท์แจ้งกับหม่องหม่อง “ใกล้จะถึงเวลาของนายแล้ว”
 
ทางการปฏิเสธคำขอของหม่องหม่องที่จะได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นทางการ โดยทางการอ้างว่าเขาไม่ใช่พยาน อย่างไรก็ดี ตำรวจได้ส่งสายตรวจไปสอดส่องดูแลที่บ้านเขาเป็นช่วงๆ
 
ล่ามอีกคนหนึ่งในการไต่สวนคดีนี้ บอกต่อฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า เขาถูกข่มขู่และคุกคามในศาลหลายครั้ง โดยผู้ข่มขู่เป็นจำเลยในคดีนี้ ศาลก็ไม่ได้สั่งให้นำตัวจำเลยซึ่งทำการข่มขู่ออกไปจากห้องพิจารณาแต่อย่างใด ทั้งที่กระบวนการอันควรตามกฎหมายควรครอบคลุมถึงการคุ้มครองพยานและบุคคลอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารงานยุติธรรม ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว
 
ในเดือนมีนาคม 2559 รัฐบาลไทยมีมติคณะรัฐมนตรีให้ความคุ้มครองโดยอัตโนมัติต่อพยาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี การปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีนี้ไม่ครอบคลุมถึงพยานซึ่งเป็นชาวโรฮิงญา ซึ่งล้วนแต่ถูกควบคุมตัวอยู่ในที่พักพิงของรัฐบาล
 
พยานคนหนึ่งให้การต่อศาลว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ซ้อมเขาช่วงกลางปี 2558 ระหว่างที่เขาถูกควบคุมตัวในที่พักพิงในจังหวัดสงขลา ส่งผลให้เขายุติการให้ความร่วมมือกับการสอบสวนของตำรวจ เขาแจ้งต่อศาลว่า เขาได้ร้องเรียนเรื่องนี้กับทางการและได้รับแจ้งว่าตำรวจที่ซ้อมเขาจะถูกย้าย 
 
ฟอร์ตี้ฟายไรต์ไม่สามารถยืนยันว่า มีการสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบต่อการกระทำจริงหรือไม่
 
จากแหล่งข่าวของรัฐบาล ทางการไทยยังคงควบคุมตัวชาวโรฮิงญากว่า 121 คนในที่พักพิงของรัฐบาล ซึ่งทำให้บุคคลมีอิสรภาพที่จำกัดหรือไม่มีเลย
 
เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการไต่สวนคดีค้ามนุษย์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ ยังถูกคุกคามเช่นกัน ดังที่มีรายงานก่อนหน้านี้โดยฟอร์ตี้ฟายไรต์ เมื่อเดือน พ.ย. 2558 พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าชุดสอบสวนในคดีนี้ ต้องหลบหนีออกจากประเทศไทย หลังจากการพิจารณาคดีเริ่มขึ้นไม่นาน โดยเขาอ้างว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงขู่ฆ่า พล.ต.ต.ปวีณ ควรจะได้เป็นพยานปากสำคัญในคดีนี้ เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่และจำเลยหลายคน
 
ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังทราบว่า มีพยานคนอื่นอีกอย่างน้อยสองคนในคดีนี้ ซึ่งหลบซ่อนตัวหลังถูกคุกคามเอาชีวิต ในช่วงเริ่มการไต่สวนคดี กระทรวงยุติธรรมได้ให้การคุ้มครองอย่างเป็นทางการกับพยานเพียง 12 คนจากพยานหลายร้อยคนซึ่งมีกำหนดต้องเข้าให้การต่อศาล
 
ฟอร์ตี้ฟายไรต์เห็นว่าปัจจัยเหล่านี้ อาจส่งผลต่อทิศทางของคำพิพากษาและอาจถือเป็นการละเมิดมาตรฐานการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยมาตรฐานการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม กำหนดให้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย รวมทั้งได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเป็นสิทธิที่ครอบคลุมถึงประชาชนโดยทั่วไปและตัวจำเลยเอง ในระหว่างการไต่สวน ทางการไทยมักกีดกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวและผู้สังเกตการณ์เข้าไปในห้องพิจารณาหรือมีการสั่งห้ามจดบันทึก สื่อมวลชนและบุคคลทั่วไปอาจเข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดีได้ โดยต้องรับชมผ่านโทรทัศน์ที่อยู่ในอีกห้องหนึ่ง อย่างไรก็ดี วีดิโอซึ่งมีคุณภาพเสียงและภาพต่ำและมีเสียงรบกวนทำให้ลดประสิทธิภาพในการสังเกตการณ์การพิจารณาคดี
 
ศาลยังอนุญาตให้ พล.ท.มนัส คงแป้น นายทหารอาวุโส ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นจำเลยที่มีอิทธิพลทางการเมืองมากสุดในคดีนี้ รวมทั้งพยานของเขาสามคน สามารถให้การในการพิจารณาคดีลับได้ ทนายฝ่ายจำเลยอ้างว่า พล.ท.มนัส ควรได้รับการพิจารณาคดีแบบปิดลับ เพื่อรักษาความลับทางราชการ ซึ่งอาจถูกเปิดเผยระหว่างการให้การ ในช่วงที่มีการกล่าวหาถึงการละเมิดนั้น พล.ท.มนัส เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิของหน่วยทหารพิเศษภายใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4
 
กอ.รมน.เป็นหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามนโยบาย 'ผลักดันและส่งต่อ' หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า 'พิทักษ์อันดามัน' ตามนโยบายนี้ ทางการจะดักจับเรืออย่างเป็นระบบและลากจูงเรือที่มีอุปกรณ์ไม่พร้อมเพรียงออกไปสู่ทะเล ซึ่งทำให้ผู้ที่อยู่บนเรือมีความเสี่ยงภัยอย่างมาก ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ 
 
มาตรฐานการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมอนุญาตให้มีการพิจารณาคดีลับ เฉพาะที่เป็นกรณียกเว้น เช่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ เพื่อคุ้มครองชีวิตของบุคคลหรือเพื่อความมั่นคงแห่งชาติในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังพบว่า การไต่สวนเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงการให้การของบุคคลสาธารณะในห้องพิจารณา ซึ่งไม่อาจรองรับบุคคลภายนอกได้ หรือมีการปิดข้อมูลจากสาธารณะ ถือเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี
 
ข้อ 9 ของกติกา ICCPR ยังประกันสิทธิที่จะมีอิสรภาพและห้ามการควบคุมตัวโดยพลการ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่มีเวลากำหนด รวมทั้งกรณีของบุคคลซึ่งไม่ใช่คนชาติ ผู้ลี้ภัย ไม่ควรถูกควบคุมตัวเนื่องจากสถานภาพการเข้าเมืองของตน
 
กฎหมายระหว่างประเทศยังกำหนดให้มีการคุ้มครองพยาน ข้อ 13 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานกำหนดให้รัฐภาคีต้อง “ประกันว่าผู้ร้องทุกข์และพยานได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากการประทุษร้ายหรือการข่มขู่ให้หวาดกลัวทั้งปวงอันเป็นผลจากการร้องทุกข์หรือการให้พยานหลักฐานของบุคคลนั้น“  
 
ฟอร์ตี้ฟายไรต์เรียกร้องทางการไทยให้ทำการประเมินอย่างถี่ถ้วนถึงการไต่สวนคดีนี้ เพื่อประกันว่าจะมีการแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น และผู้ซึ่งทำการข่มขู่และคุกคามพยานและบุคคลอื่น จะถูกลงโทษ และจะมีการเรียนรู้จากบทเรียนนี้ในอนาคต
 
ทางการไทยควรรื้อฟื้นการสอบสวนคดีการค้ามนุษย์ของชาวโรฮิงญาและชาวบังคลาเทศในประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมาก และเกิดขึ้นระหว่างปี 2555-2558 ทั้งนี้โดยการจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอ เพื่อประกันให้การสอบสวนเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ อย่างเป็นอิสระและอย่างเป็นผล
 
“แม้ว่าความผิดปรกติเหล่านี้อาจไม่ส่งผลให้คำพิพากษาเป็นโมฆะ แต่ก็ทำให้เกิดข้อกังวลว่าการพิจารณาคดีนี้เป็นธรรมและสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศหรือไม่” เอมี สมิธ กล่าว “ประเทศไทยสามารถและควรประกันให้มีการคุ้มครองพนักงานสอบสวน พยาน เจ้าหน้าที่ศาล และสำคัญที่สุดคือการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท