Skip to main content
sharethis

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ย้ำ 'ศาลฎีกาฯนักการเมือง' จำเป็นส่งคำร้อง 'ยิ่งลักษณ์' คดีจำนำข้าว ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม 

แฟ้มภาพ ประชาไท

เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกระบวนการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า เข้าใจว่าเป็นการพูดถึงพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ซึ่งมีมาตรา 5 วรรค 1 กำหนดวิธีการพิจารณาของศาลใช้กรอบอย่างไร ซึ่งตามกรอบกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาที่ใช้อยู่ในขณะนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2542 ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 บอกว่าวิธีพิจารณาคดีตามมาตรา 5 วรรค 1 ให้ศาลยึดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหลักในการพิจารณา แต่ไปเปิดกว้างว่า และอาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร คือให้ดุลพินิจศาลกว้างมากว่าจะไต่สวนหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมอย่างไร ให้เป็นไปตามที่ศาลเห็นสมควร

"แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 วางหลักเรื่องนี้ต่างจากที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 235 วรรค 6 ระบุการพิจารณาของศาลให้นำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา แต่ในส่วนไต่สวนเพิ่มเติม เปลี่ยนมาใช้คำว่าและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและหลักฐานพยานเพิ่มเติมได้ จะเห็นได้ว่ากรอบอำนาจในการที่ศาลจะไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมมีกรอบเข้ามา ไม่ได้เป็นว่าตามที่ศาลเห็นสมควรแล้ว ซึ่งเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมต้องทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายโจทย์ฝ่ายเดียว กรอบตรงนี้แตกต่างกัน" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว 

พงศ์เทพ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้คดีโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2558 อัยการเพิ่มเติมพยานบุคคล พยานหลักฐานเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่อยู่ในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เช่น รายงานผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ชุดของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รายงานคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิดโดยคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ของกระทรวงการคลัง หรือสำนวนคดีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ของ ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งไม่อยู่ในสำนวนการไต่สวนคดีในชั้น ป.ป.ช. เลย จำเลยก็โต้แย้งคัดค้าน แต่ศาลใช้มาตรา 5 วรรค 1 ของกฎหมายวิธิพิจารณาคดีอาญา ซึ่งใช้กันมาเป็นสิบปีแล้ว บอกว่า ตามมาตรา 5 วรรค 1 ให้อำนาจศาล ซึ่งศาลรับเอกสารเหล่านี้ และรับจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าวเข้ามาเป็นพยาน 

พงศ์เทพ กล่าวว่า ในการตัดสินคดี ถ้าพยานหลักฐานเหล่านั้นเข้ามาในคดีได้ ศาลก็ใช้หลักฐานเหล่านั้นในการพิจารณาคดีได้ เพราะฉะนั้นเมื่อจำเลยยื่นคัดค้านมาตรา 5 วรรค 1 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และเมื่อจำเลยมีการยื่นลักษณะนี้ ตามมาตรา 212 วรรค 1 แห่งรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ศาลฎีกาส่งความเห็นของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนี้ศาลฎีกาพิจารณาคดีต่อไปได้ แต่ต้องรอการพิพากษาไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยมาตรา 5 วรรค 1 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าวินิจฉัยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาก็นัดวินิจฉัยพยานหลักฐานต่างๆ ที่อัยการขอเพิ่มเติมได้ แต่ถ้าบอกขัดรัฐธรรมนูญศาลต้องกลับไปดูว่า การที่ศาลรับพยานหลักฐานเหล่านี้เข้ามาทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องตัดพยานหลักฐานเหล่านี้ออก นำมาพิจารณาคดีไม่ได้

"เมื่อตามรัฐธรรมนูญระบุไม่ได้ให้ศาลใช้ดุลพินิจ และมีการโต้แย้งมาพร้อมด้วยเหตุผล และกรณีนี้ไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ไว้ กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนให้ต้องทำอย่างไร ในการต้องส่งเรื่องขอความเห็นไป และเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการประวิงเวลา ซึ่งการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ไม่ได้ทำให้คดีช้าอะไร เพราะการพิจารณาคดีก็ดำเนินการต่อไปได้ ถ้าศาลส่งไปเร็วศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยได้เร็ว" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

ที่มา : มติชนออนไลน์และ Voice TV

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net