ศาลยกฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ ชุมนุมดาวกระจายไล่ 'รบ.สมัคร 51' เหตุฟ้องซ้ำคดีชุมนุมทำเนียบฯ

ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง 'จำลอง, สนธิ, พิภพ, สมเกียรติ, สมศักดิ์ และสุริยะใส' คดีชุมนุมดาวกระจายตามสถานที่ราชการ ขับไล่รัฐบาลสมัคร ปี 51 เหตุฟ้องซ้ำกับคดีชุมนุมทำเนียบรัฐบาล ส่วน 'ไชยวัฒน์-อมร-เทิดภูมิ' ผิดฐานมั่วสุมเกิน 10 คน รอกำหนดโทษ 2 ปี
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ  พิภพ ธงไชย (ที่มาภาพ Banrasdr Photo)

20 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (20 ก.ค. 60) ที่ห้องพิจารณาคดี 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.3973/2558 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 78 ปี, สนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 66 ปี, พิภพ ธงไชย อายุ 68 ปี, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 63 ปี, สมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 68 ปี, สุริยะใส กตะศิลา อายุ 41 ปี, ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อายุ 64 ปี, อมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี อายุ 57 ปี และเทิดภูมิ ใจดี อายุ 72 ปี เป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการโดยผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดให้เลิกแล้วแต่ไม่เลิก โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

โดยศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง พล.ต.จำลอง, สนธิ, พิภพ, สมเกียรติ, สมศักดิ์ และสุริยะใส เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้ว เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีบุกรุกทำเนียบรัฐบาล ซึ่งคดีดังกล่าวศาลพิพากษาให้จำคุกทั้ง 6 คน เป็นเวลา 2 ปี จึงให้ยกฟ้อง ส่วนไชยวัฒน์ อมร และเทิดภูมิ ศาลเห็นว่าการกระทำเป็นความผิดฐานมั่วสุม 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่เห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้ก่อนโดยมีกำหนด 2 ปี

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า คดีดังกล่าว อัยการโจทก์ฟ้อง เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2558 ระบุว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 9 คนซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ได้จัดชุมนุมใหญ่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กทม. โดยร่วมกันใช้รถยนต์บรรทุกหกล้อ 5 คัน เป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ ติดตั้งเครื่องขยายเสียงและลำโพง ต่อมาเวลากลางคืนจำเลยทั้งหมดได้นำกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนมากเคลื่อนขบวนไปตามถนนราชดำเนินมุ่งหน้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อรถเวทีปราศรัยเคลื่อนผ่านไปบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ได้มีเจ้าพนักงานตำรวจตั้งแถวสกัดกั้นเอาไว้ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถฝ่าแนวกั้นไปได้ และได้ปิดการจราจรในถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่สี่แยกมัฆวานรังสรรค์ไปจนถึงสี่แยก จปร. เป็นที่ชุมนุมประท้วงไปจนถึงวันที่ 5 ต.ค. 2551 โดยได้มีการตั้งเวทีถาวร กางเต็นท์ มีโรงครัวปรุงอาหาร ขึงลวดหนามกั้นถนนราชดำเนินนอก ห้ามบุคคลเข้าออกบริเวณที่ชุมนุม มีการตั้งกองกำลังรักษาความปลอดภัยเรียกว่า 'นักรบศรีวิชัย' นอกจากนี้ยังมีการจัดเตรียมเครื่องมือ เช่น ไม้เบสบอล หนังสติ๊ก ท่อนเหล็ก เพื่อใช้เป็นอาวุธ ส่อไปในทางที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงถึงขนาดก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศ ส่วนบนเวทีปราศรัยจำเลยทั้ง 9 คน ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช โดยจัดการปราศรัยปลุกระดมมวลชนที่มาฟังและร่วมชุมนุมไปตลอด 24 ชั่วโมง

ภายหลังได้ร่วมกันชักชวนผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนกระทำการปิดถนนสาธารณะและเคลื่อนกำลังไปในลักษณะ 'ดาวกระจาย' ใช้รถยนต์บรรทุกเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ไปกดดันบริเวณสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โรงเรียน สถานศึกษา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณที่ชุมนุม ต้องหยุดการเรียนการสอนหลายครั้ง เนื่องจากเกรงว่าจะไม่มีความปลอดภัยจากการชุมนุมในลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย

โดยวันนี้จำเลยทั้งหมดมาฟังคำพิพากษาอย่างพร้อมเพรียง มีเพียงสนธิที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวมาจากเรือนจำกลางคลองเปรม

ศาลพิเคราะห์แล้วมีประเด็นวินิจฉัยว่าคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 เป็นการฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดของจำเลยที่ 1-6 ซึ่งโจทก์ฟ้องในคดีดำ อ.4925/2555 และคดีดำ อ.276/2556 ไปแล้วกับความผิดในคดีนี้ เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน โดยเหตุการณ์เริ่มต้นจากจำเลยที่ 1-6 มีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 อันเป็นความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปแล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองกับมีเจตนาพิเศษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 แล้วร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลจนทำให้ทรัพย์สินบางส่วนได้รับความเสียหาย

การกระทำของจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลและทำให้เสียทรัพย์ เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และมาตรา 116 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1-6 ในความผิดทั้ง 2 คดี จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ในคดีก่อนโดยไม่ฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 215 มาในคดีเดียวกันจนศาลมีคำพิพากษาในคดีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ กรณีต้องถือว่ามูลความผิดในคดีนี้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงนำการกระทำความผิดในคราวเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-6 เป็นคดีนี้อีกไม่ได้ ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับ จำเลยที่ 1-6 ย่อมระงับไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 7-9 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 7-9 ร่วมชุมนุมในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2551 จำเลยที่ 7 ร่วมอยู่กลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณถนนมิตรภาพ จ.นครราชสีมา และได้ปราศรัยให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมฟัง ส่วนจำเลยที่ 8 ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด ขึ้นปราศรัยและเป็นพิธีกรบนเวทีหลายครั้ง ส่วนจำเลยที่ 9 ร่วมชุมนุมและปราศรัยบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายครั้ง และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าระหว่างการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2551 มีผู้เข้าร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนมากทำให้การจราจร เช่น ถนนพระราม 5 ถ.พิษณุโลก ถ.ราชดำเนินถูกปิดกั้นการจราจรไปโดยปริยาย กรณีต้องถือว่าการชุมนุมและกิจกรรมประกอบการชุมนุม ซึ่งจัดทำขึ้นบนถนนและทางสาธารณะกีดขวางการจราจรเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ส่วนการใช้เครื่องขยายเสียงของกลุ่มผู้ชุมนุมรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่มิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย นอกจากนี้ โรงเรียนและสถานศึกษาหลายแห่งที่อยู่ใกล้เคียงสถานที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ต้องระงับการเรียนการสอนหลายครั้ง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ การกระทำของจำเลยที่ 7-9 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคหนึ่ง

ส่วนความผิดในส่วนของการเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 7-9 เป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีปราศรัยบนเวทีเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 7-9 กระทำความผิดโดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้ทำหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด

สำหรับความผิดตาม มาตรา 116 ฐานผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือหนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 7-9 ร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีปราศรัยให้แก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ฟัง แต่กรณียังไม่ชัดเจนว่าการกระทำของจำเลยที่ 7-9 หรือการชุมนุมของกลุ่มพันมิตรฯ มิได้เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ บรรยากาศโดยรวมต้องถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63 ส่วนความไม่สงบที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมเกิดจากฝ่ายตรงข้ามซึ่งได้รับผลกระทบจากการชุมนุม นอกจากนี้ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนทราบว่ารับรัฐของนายสมัคร สุนทรเวช อยู่ภายใต้การครอบงำและสั่งการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และทราบถึงการกระทำของกลุ่มบุคคลในเครือข่ายระบอบทักษิณ รวมทั้งทราบถึงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่ไม่มีคุณธรรมและธรรมาภิบาลในการบริหารราชการบ้านเมือง มีวาระซ่อนเร้นและเป็นการกระทำที่ขัดผลประโยชน์หลายเรื่อง การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และการกระทำของจำเลยที่ 7-9 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

อนึ่ง ข้อมูลที่กลุ่มพันธมิตรฯ ปราศรัยระหว่างการชุมนุมปัจจุบันพบว่ามีมูลความจริงในหลายเรื่อง บางเรื่องมีการดำเนินคดีอาญาต่อกลุ่มบุคคลที่กระทำทำผิด และศาลได้พิพากษาลงโทษแล้ว ข้อมูลบางเรื่องต้องถือว่าเป็นประโยชน์และให้ความรู้แก่ประชาชน ทำให้ประชาชนตื่นรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือทำให้ประชาชนมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มมากขึ้น และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เครือข่ายระบอบทักษิณมีกลุ่มที่ล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่จริง การกระทำของพวกจำเลยถือว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและประโยชน์ชาติในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี กรณีไม่อาจยกเว้นการกระทำซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมายระบุว่าเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องได้

จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 7-9 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี เจตนาและเหตุผลในการกระทำประกอบอายุ ประวัติ อาชีพ ความประพฤติ การศึกษา และสุขภาพของจำเลยที่ 7-9 โดยรวมแล้วกรณีเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-6 ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท