เพื่อนต่างคณะขอแลกเปลี่ยน: ข้อสังเกตจากดีเบต “การเฉื่อยชาทางการเมือง” ของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หนูเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคณะหนึ่งที่แทบไม่มีใครสนใจการเมืองเลย จะมีหนูกับเพื่อนๆไม่กี่คนในคณะที่คุยกันรู้เรื่อง อยู่มา 3 ปีแล้ว ไม่บ่อยที่จะได้เห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือการที่นิสิต (ไม่ใช่อาจารย์) พูดคุยถกเถียงกันอย่างเอาจริงเอาจัง แต่มาวันนี้ นอกจากจะได้เห็นการพูดคุยเรื่องความตื่นตัวขึ้นในการทำกิจกรรมของนิสิตในมหาวิทยาลัย ก็รู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาด้วยที่หน้าเว็บไซต์ประชาไทที่หนูติดตามอ่าน จะเห็นเพื่อนนิสิตจุฬาฯที่คณะเพื่อนบ้านกันคือ คณะรัฐศาสตร์ จุฬา มีการดีเบตเรื่องความสนใจทางการเมืองเขียนตอบเขียนแย้งกัน อีกไม่กี่วันหนูก็จะเรียนจบแล้ว ก็ทำให้รู้สึกเสียดายลึกๆว่า นี่เรามาเรียนเร็วเกินไป เลยอดที่จะร่วมมีสีสันเห็นอะไรแบบนี้ หนูพออ่านหนังสือมาบ้างและก็ยังสนใจที่จะอ่านอยู่ต่อไป ความเห็นหนูอาจจะดูงงงวยไปหน่อยก็ได้ เพราะหนูไม่ได้รู้จักศัพท์ทางรัฐศาสตร์เท่าไหร่นัก แต่ยังไงก็ดี ก่อนจะเรียนจบ หนูมีความเห็นที่อยากจะแลกเปลี่ยนดังต่อไปนี้ 

1. สำหรับบทความของธรณ์เทพ มณีเจริญ หนูเข้าใจว่าเขาต้องการให้นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ออกมาทำอะไรสักอย่าง แต่หนูไม่รู้ว่าเขาคิดว่าการทำอะไรสักอย่าง หมายความว่าประท้วงหรือไม่ หนูคิดว่าเราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่านั้น เช่น  กรณีการชูป้าย เรื่อง พรบ คอมพิวเตอร์ ที่ผ่านมา หรือการประท้วงเพื่อถูกจับ หนูคิดว่าเราสามารถทำอะไรที่มี impact ได้มากกว่านั้น และ หนูคิดว่าคุณธรณ์เทพยังให้ความสำคัญกับเรื่อง “การคิด” น้อยไป ให้ความสำคัญกับ “การกระทำ” มากไป ทั้งสองอย่างต่างก็สำคัญทั้งนั้น เพื่ออ้างนักปรัชญาเท่ๆ Zizek เคยกล่าวไว้ว่า “We Need Thinking”

2. ยังไงก็ตาม สิ่งที่คุณธรณ์เทพเขียนก็มีประเด็น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็มีหนูก็มีเพื่อนจากคณะรัฐศาสตร์อยู่หลายคน เพื่อนบางคนได้คอมเพลนมาว่า เขาไม่ได้ต้องการเรียนรัฐศาสตร์เลย แต่คะแนนไม่ถึงคณะอักษรศาสตร์ บางคนมาเรียนที่นี่ก็คิดว่าจะได้เรียนภาษาที่สาม แต่การเรียนภาษาที่สามก็ไม่ได้ถูกเน้นเท่าวิชาการเมือง เพื่อนๆหลายคนบ้างก็ซิ่วไปคณะอื่น  ดังนั้นสิ่งที่คุณธรณ์เทพพูดอยู่ก็มีมูลความจริงในการที่นิสิตไม่สนใจการเมือง แต่การเมืองก็มีในระดับชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ในเรื่องปัญหาอื่นๆ พวกเขาก็อาจจะสนใจก็ได้ เช่น เรื่องราคาของสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือการใช้หนังสัตว์ในการทำกระเป๋า Hermes ประเด็นในเกมส์ Civilization  การสนใจสิ่งนี้ก็เป็นการเมืองไม่ใช่หรือ   แต่หนูคิดว่าคุณธรณ์เทพคงไม่ได้หมายถึง “การเมือง” ในแบบที่ว่าอย่างแน่นอน แล้วการเมืองที่คุณธรณ์เทพต้องการให้นิสิตสนใจ เป็นการเมืองแบบไหน มีลักษณะอย่างไร ทำไมพวกเขาจึงต้องสนใจด้วย แล้วไม่สนใจจะได้ไหม คุณธรณ์เทพต้องชี้แจงตรงนี้ให้ละเอียดขึ้น

3. คุณธรณ์เทพมีความหวังกับคณะรัฐศาสตร์ของตัวเองมากไปไหม ซึ่งกำลังมองโลกอย่างผิดๆไป คุณธรณ์เทพอาจจะเป็นเหมือนคนหัวโบราณที่จะไปสร้างความหวังหรือมีจุดมุ่งหมายให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การที่บอกว่า คนที่เรียนรัฐศาสตร์ต้องสนใจการเมือง เรียนเพื่อเอาไปปฏิบัติได้ หนูไม่ได้ต้องการทำลายความหวังคุณธรณ์เทพหรอกนะคะ แต่คุณธรณ์เทพ ซึ่งก็น่าสนใจมาร์กซิสม์ เคยได้ยินที่อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวาเขียนไว้ไหมคะ “รัฐศาสตร์ ศาสตร์ชนสูงและคนมีสตางค์เรียน การเรียนรัฐศาสตร์ถ้าพูดในภาษาไทยง่ายๆคือ"เรียนไปแล้วทำมาหาแดกอะไรไม่ได้" ก็รัฐศาสตร์เป็นสถานที่ของลูกคนรวยที่มาเรียนอะไรให้ดูเปี่ยมล้นบารมีศัพท์แสงต่างๆมากขึ้นหรือเปล่าคะ รุ่นพี่ที่คณะรัฐศาสตร์ที่หนูรู้จักหลายคนจบไปก็อาศัยอยู่กับพ่อแม่ต่อ หรือขอเงินพ่อแม่ไปทำธุรกิจส่วนตัวคะ แล้วคุณธรณ์เทพไม่ทราบเหรอคะ ว่าตอนนี้คนที่ปกครองบ้านเมือง เขาไม่เรียนรัฐศาสตร์แล้ว เขาเรียนทหาร พวกรัฐศาสตร์เป็นแค่ฟันเฟืองของเขาคะ แทนที่คุณธรณ์เทพจะไปสนใจกู้ศักดิ์ศรีให้นิสิตคณะมีความตื่นตัวขึ้นมา หนูกลับมองว่า คุณธรณ์เทพควรจะเขียนบทความว่า “ทำไมนิสิตสายวิทยาศาสตร์ หรือแพทยศาสตร์ ต้องสนใจการเมือง” เพราะพวกเขาเอาวิชาไปทำมาหากินได้เกิดดอกเกิดผล หนูไม่ได้ดูถูกคณะรัฐศาสตร์หรอกนะคะ แต่ไปใส่ใจคณะที่จะมีบทบาทสำคัญกับประเทศ ให้พวกเขาได้ตระหนักในเรื่องการเมืองมากขึ้นจะไม่ดีกว่ามาพร่ำบ่นเกี่ยวกับคณะเหรอคะ

ตอนนี้เราอยู่ในยุค “หลังอุดมการณ์” แล้วค่ะ ยุคที่ตัวใครตัวมัน หนูจะเป็นขวา เพื่อนจะเป็นนาซี พี่จะเป็นทุนนิยม น้องจะเป็นสังคมนิยม พ่อจะเป็นเสรีนิยมใหม่ อยากเป็นอะไรก็ประกาศออกมาค่ะ ไม่มีความสลักสำคัญอะไรอีกแล้ว  เราอยู่ในโลกที่อุดมการณ์เป็นเรื่องไม่สำคัญกับชีวิต เราทุกคนอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมและความหลากหลาย ซึ่งทำให้ใครอยากจะเป็นอะไรก็เป็นไปเถอะ อย่าก้าวก่ายความคิดของฉัน หนูขออยู่อย่างเงียบๆกับอุดมการณ์ของหนูที่เธอจะไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวเป็นอันขาด

4. ต่อจากบทความของคุณธรณ์เทพก็มีบทความของ “สิงห์ดำท่านหนึ่ง” หนูอ่านแล้วก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง การเรียนรัฐศาสตร์คือการมี “แว่น” หลายคน หรือ “เลนส์” หลายเลนส์ ดังนั้นให้ไปหาคนที่จะเป็นผู้นำประเทศที่มาจากสายแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ (แต่ไม่ใช่หนูแน่ๆ) โดยเป็นที่ปรึกษาของเขา เขาจะตัดสินใจจากเลนส์ของเขาที่แน่ชัด โดยขอความเห็นจากนิสิตรัฐศาสตร์ที่มีหลายเลนส์ เป็นข้อมูลชั้นดีให้ตัดสินใจ

5. ตอนจบของบทความสิงห์ดำท่านหนึ่ง หนูกลับรู้สึกใจไม่ดี ที่เขียนว่า “ลองคิดถึงวันที่ท่านต้องถูกคุมขังคุกคาม จากระบอบอำนาจนิยมไทย ท่านอยากได้ยินเสียงใดระหว่าง “ปล่อยเพื่อนกู” หรือ “สมน้ำหน้ามึง” หนูคิดว่านี่เป็นการเขียนบทความในลักษณะเย้ยหยันมากกว่า หนูไม่ได้อยากจะหาเรื่องด้วยนะคะ แต่หนูมีความเห็นว่า ที่สังคมไทยของเราไม่พัฒนาขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเราอคติกับการแสดงความเห็นของตัวบุคคลหรือเปล่าคะ เวลาประชุมบริษัทเรามักจะบอกว่า ในประเทศไทย ลูกน้องจะนิ่งเงียบ แต่ต่างประเทศไม่ใช่ แล้วเราอยากจะให้ทำอย่างนั้น แล้วมันต่างอะไรกับการที่คุณธรณ์เทพเขาเขียนบทความขึ้นมา เขาก็เหมือนคนคนหนึ่งที่เห็นต่างออกไป เหมือนพนักงานคนหนึ่งพูดในสิ่งที่ปรารถนาดีขึ้นมา ซึ่งอาจจะไม่เข้าหูคนนัก (หนูคิดว่าเขาหวังดีคะ) ถ้าเขาถูกไล่ออกเพียงเพราะเขาคิดต่าง เราจะบอกว่า “สมน้ำหน้าคุน” เหรอคะ แล้วยิ่งบอกว่าถูกคุมขังด้วยระบอบอำนาจนิยม นี่มันไม่ถูกอยู่แล้วไม่ใช่เหรอคะ มีใครสมควรที่จะโดนบ้าง  อ.สมศักดิ์ เจียม ก็ด่าเพื่อนตัวเองไว้เยอะ แล้วถ้าอยู่ดีๆ วันนึงที่ปารีส อาจารย์ถูกจับกลับเข้ามา “สมน้ำหน้าคุน” คือสิ่งที่เพื่อนๆควรทำกับอาจารย์หรือเปล่าคะ ข้อความที่สิงห์ดำท่านหนึ่งเขียนไม่เป็นการแสดงออกถึงการยอมกับอำนาจนิยมอย่างที่สุดหรือเปล่าคะ และแสดงถึงความเป็นพวกพ้องที่ไม่สนใจความยุติธรรมเลย

6. บทความสุดท้ายเขียนโดย ชยางกูร ธรรมอัน หนูคิดว่าบทความนี้เขียนรัดกุมดี แม้ว่าศัพท์แสงจะเยอะไปหน่อย หนูไม่ได้เห็นด้วยกับคุณชยางกูรหรอกนะคะ คุณชยางกูรก็ไม่ต่างอะไรกับคุณธรณ์เทพที่ยังเป็นพวกนักอุดมคติซึ่งหมดยุคสมัยแล้ว

7.  คุณชยางกูร เขียนบทความนี้ อาจจะต้องลดศัพท์แสงลงไปก็ได้ เพราะคนไทย ถ้าเป็นอาจารย์เขียน หรือเป็นงานเขียนที่แปลจากภาษาต่างประเทศ ก็เป็นที่เข้าใจว่าอนุญาตให้ทำได้ แต่ถ้าคุณชยางกูรเป็นนิสิต และเขียนถึงเพื่อนนิสิตด้วยกัน คุณชยางกูรต้องระวังอาการหมั่นไส้ที่เห็นเพื่อนนิสิตเขียนอะไรเว้อวัง

ตัวหนูก็ไม่ชอบการเขียนแบบศัพท์แสงสูง แต่หนูก็ไม่เห็นด้วยเลย แล้วหนูก็เสียใจและโกรธแทนคนเขียน จากการที่หนูเห็นเพื่อนของหนูในคณะรัฐศาสตร์ บางคนจากทวิตเตอร์ แขวะบทความนี้เชิงว่าภาษาพิจิตรพิสดารเกินกว่ามนุษย์มนาจะเข้าใจ หนูก็งงว่า หนังสือที่หนูไปเรียนที่คณะของเขาตอนปี 1 มันก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากที่หนูอ่านบทความนี้ไม่ใช่เหรอ หนูคิดว่าบทความนี้อ่านง่ายกว่าหนังสือประกอบวิชาเรียนเจนเอด SOCIETY & CULTURE ซึ่งเป็นวิชาที่ Popular ของเด็กวิทยาศาสตร์ เสียอีก  แล้วถ้าแขวะๆกันหนูคิดว่า มันจะไม่ดีกว่าเหรอ ถ้าพยายามอ่านให้เข้าใจ และถ้าไม่เห็นด้วยก็เขียนบทความแย้งกลับตามวิชาที่ได้เรียนมา หนูเข้าใจว่าเวลาดีเบตกันในวงการต่างๆเจริญรุ่งเรืองเพราะการเถียงกันอย่างเอาจริงเอาจัง

8. แต่ท้ายที่สุด หนูรู้สึกประทับใจที่ได้เห็นการถกเถียงแบบนี้โดยนิสิตเอง สายวิทยาศาสตร์มีการเรียนที่แตกต่างออกไป ลักษณะการโต้แย้งของเราไม่เหมือนกัน แต่นี่เป็นประเด็นที่จริงๆก็ไม่ใช่เฉพาะที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯเลย แต่หนูคิดว่าทั่วทุกแห่งในประเทศ หนูคิดว่าถ้ามองในมุมปรัชญา นี่ก็คือสิ่งที่อริสโตเติล และสายวิทยาศาสตร์เองก็กำลังทำมิใช่เหรอนั่นคือ การพูดคุยเถียงกันว่า “อะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับสังคม” หนูคิดว่าพวกคุณทั้งสามคนกำลังได้ทำสิ่งนั้น ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ และหวังว่าจะมีคนอื่นๆมาแลกเปลี่ยนกับพวกคุณต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท