‘ยิ่งชีพ iLaw’ ชี้ ‘ขู่ โม้ โชว์ โกหก’ คือวิธีควบคุมโลกออนไลน์ยุค คสช.

‘ผู้จัดการ iLaw’ ระบุ ‘โพสต์เฟซบุ๊ก’ กลายเป็นความผิดทางการเมืองจำนวนมากในยุคหลัง สรุปนโยบายคุมอินเทอร์เน็ต 4.0 ยุคคสช. คือ ‘ขู่ โม้ โชว์ โกหก’ ทำประชาชนสับสนต่อ ก.ม. ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ติง ‘กสทช.-สปท.’ พยายามทิ้งทวนวางแผนคุม ‘OTT – โซเชียลมีเดีย’ ที่ทำไม่ได้จริง

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

21 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 8 ขึ้น ในหัวข้อ "พินิจอินเทอร์เน็ตไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0(?)” ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 เพื่อนำเสนอความคิดเห็นของนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ เกี่ยวกับสภาวการณ์ปัจจุบันและทิศทางในอนาคตของอินเทอร์เน็ตไทย โดยเฉพาะประเด็นทางนโยบาย

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) หนึ่งในวิทยากรวงเสวนานี้ให้ภาพเกี่ยวกับสิทธิทางการเมือง เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นที่รัฐพยายามกำกับ โดยยิ่งชีพ กล่าวว่า ในยุคหลัง การจับผู้กระทำความผิดทางการเมืองทั้ง มาตรา 112 และ 116 พ่วงด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 90 เพราะเป็นทางออนไลน์ คดี 112 ที่จำคุกสูงที่สุดตั้งแต่ 50-70 ปี ก็เป็นการโพสต์เฟซบุ๊ก

ยิ่งชีพให้ภาพรวมของสามปีที่ผ่านมารัฐบาลควบคุมอะไรบ้างในโลกออนไลน์ โดยเขาเรียงไทม์ไลน์ดังนี้

- 28 พฤษภาคม 2557 เฟซบุ๊กดับไป 1 ชั่วโมง โดยมีบางคนออกมาชี้แจงว่ามีคำสั่งให้ทำ มีบางคนออกมาปฏิเสธ คล้ายเป็นการแสดงแสนยานุภาพว่าถ้าจะทำก็ทำได้ (อ่านข่าวได้ที่นี่)

- 6 มกราคม 2558 รัฐบาลออกชุดร่างกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล 10 ฉบับ ที่มีพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์รวมอยู่ด้วย รวมถึงมีมาตรา 35 ให้อำนาจรัฐในการสอดส่องอีเมล์ โทรศัพท์ โทรสารได้ไม่จำกัด สุดท้ายผ่านไปทั้งสิ้น 8 ฉบับ โดยมี 3 ฉบับที่รวมกันเป็นฉบับเดียวซึ่งเกี่ยวกับการตั้งกระทรวงใหม่คือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังไม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย ส่วนพ.ร.บ.คอมฯ นั้นผ่านตอนปี 59 ที่ผ่านมา

- กันยายน 2558 มีข่าวว่ารัฐพยายามจะทำ single gateway แต่ความจริงทำไม่ได้เพราะความสามารถทางเทคนิคเราไม่ถึง และต้องออกกฎหมายเวนคืน gateway จากผู้ให้บริการภาคเอกชนซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เป็นนโยบายที่พูดให้ตื่นเต้นแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ

- ธันวาคม 2558 มีการจับคนกดไลก์ (คดีฐนกร) และ พฤษภาคม 2559 จับคนจากข้อความในแชทบ็อก (อ่านข่าวได้ที่นี่) แถลงข่าวใหญ่โต สร้างกระแสความตื่นเต้น

- 16 ธันวาคม 2559 ก็ผ่านร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมฯ ท่ามกลางเสียงคัดค้าน 300,000 กว่าคนในเว็บไซต์ change.org

โดยเนื้อหาหลักของพ.ร.บ.คอมฯ ที่ผ่านไป หลักๆ แล้วเปลี่ยนไม่มาก ว่าด้วยเรื่องของสิทธิอะไรพูดได้พูดไม่ได้นั้นแทบจะเหมือนเดิม เปลี่ยนรายละเอียดเปลี่ยนโครงสร้างเล็กน้อย มีความผิดเพิ่มขึ้นมา มีเรื่องสแปม (อ่านข้อวิจารณ์ได้ที่ ร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ "ตั้งคณะกรรมการปิดเว็บแม้ไม่ผิดกฎหมาย")

- 8 มีนาคม 2560 มีพ.ร.บ.จดทะเบียนสื่อ ที่เสนอโดย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ออกมา สื่อทุกสื่อต้องจดทะเบียนรวมทั้งสื่อออนไลน์และเฟซบุ๊กเพจ ซึ่งต้องขึ้นตรงต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ อยู่ภายใต้การกำกับทางด้านประมวลจริยธรรม มีการถกเถียงกันทำให้นโยบายการจะกำกับสื่อออนไลน์ยังกำกวมอยู่ และแก้หลายครั้งแต่สุดท้ายก็ยังไม่ผ่าน อยู่ในขั้นตอนที่สปท. อนุมัติ แต่สปท. ไม่ได้มีอำนาจในการออกกฎหมาย เพราะต้องผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก

- 12 เมษายน 2560 ประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ ห้ามติดต่อกับบุคคลสามคนคือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ Andrew MacGregor Marshall เกิดการตั้งคำถามว่าการเป็นเพื่อนกับบุคคลเหล่านี้ในเฟซบุ๊กผิดกฎหมายหรือเปล่า จนกระทั่งคนออกประกาศเป็นคนออกมาบอกเองว่าไม่มีผลทางกฎหมายใด (เปิดข้อสังเกต 'ศูนย์ทนายฯ -ไอลอว์' ต่อประกาศงดติดตามโพสต์ 'สมศักดิ์-ปวิน-แอนดรูว์')

- พฤษภาคม 2560 มีตำรวจภาค1 ออกมาบอกว่าต่อไปนี้จะจับคนดูโพสต์ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่มีกฎหมายใดบอกว่าการดูนั้นผิด (เอาผิด “จอมส่อง” เพจหมิ่นสถาบันฯ ไม่ง่าย)

- 8 มิถุนายน 2560 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีแผนจดทะเบียน OTT (Over the Top - บริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต) (อ่านข่าวได้ที่นี่) เพื่อกำกับดูแลเนื้อหาออนไลน์ แต่จนถึงวันนี้ประกาศหลักเกณฑ์ก็ยังไม่ออก เมื่อดูพ.ร.บ. ในส่วนที่ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของกสทช. ก็ไม่มีเนื้อหามาตราใดให้อำนาจจัดสรรเนื้อหาในโลกออนไลน์

ทั้งหมดนี้ ยิ่งชีพ ตั้งข้อสังเกตว่า กสทช. ชุดนี้ได้รับเงินเดือน 400,000 บาทและกำลังจะหมดวาระในเดือนตุลาคมที่จะถึง และคนที่มีบทบาทอำนาจในการแต่งตั้งใครกลับเข้ามาก็คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะฉะนั้นการออกมาพูดอะไรช่วงหนึ่งให้ตัวเขาเป็นที่รู้จักก็สำคัญว่าจะได้กลับเข้ามารับตำแหน่งไปอีก 6 ปีหรือไม่

รวมทั้ง สปท. ซึ่งไม่มีอำนาจในการออกกฎหมาย และกำลังจะหมดวาระในสิ้นเดือนนี้ ก็มีการเสนอแผนคุมโซเชียลมีเดีย สแกนนิ้ว สแกนใบหน้า ต้องมีเลขบัตรประชาชน เพื่อให้เป็นข่าว (อ่านรายละเอียดที่ รายงานกรรมาธิการ สปท. ด้านสื่อสารมวลชน) แล้วก็มีโอกาสที่เขาจะได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาอีกได้ตามกฎหมายใหม่

ผู้จัดการ iLaw กล่าวสรุปว่า ประเด็นสำคัญคือคนทั่วไปไม่มีเวลาติดตามหรืออ่านกฎหมาย สุดท้ายยังมีคนเข้าใจว่าเมื่อ พ.ร.บ.คอมฯ ผ่าน คือ single gateway ผ่านแล้ว หรือเข้าใจว่าพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ผ่านไปแล้ว มีคนมากมายที่ไม่รู้ว่าสปท. คืออะไร กสทช. คืออะไร

“นโยบายควบคุมอินเทอร์เน็ต 4.0 ในยุคคสช. ในมุมของผมก็คือ ใช้วิธี หนึ่งขู่ สองโม้ สามโชว์ สี่โกหก และพอทำแบบนี้สิ่งที่ประชาชนผู้รับสารได้รับคือความสับสน ไม่เข้าใจ และกลัว เมื่อกลัวแล้วจึงถอยออกมา ทุกคนรักษาระยะห่างกับเรื่องการแสดงความคิดเห็นในประเด็นทางการเมืองและสังคม ถือเป็นวิธีที่ได้ผล ไม่แน่ใจว่าตั้งใจแค่ไหน ตัวกฎหมายและการทำจริงไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ใช้วิธีการขู่ ทำให้คนสับสนและกลัวไปเอง ถือเป็นนโยบายจิตวิทยาทางทหารที่ได้ผลและเก่งมาก” ยิ่งชีพ กล่าว

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม:

#พรบคอม แก้ไขใหม่แล้ว คดี "ปิดปาก" มีแต่แนวโน้มจะเพิ่มขึ้น

เว็บเสี่ยง “ปลิว” มากขึ้น, คดียัดข้อหาเกิดง่าย หากร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผ่าน

ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ใช่ฉบับเดียวที่ต้องจับตา ถ้าทุกฉบับผ่านก็หมายความได้ว่า Single Gateway

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท