สิงห์ดำยุคหน้า ก้าวแรกสู่คณะรัฐศาสตร์ ก้าวต่อไปสู่อะไรดี?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สืบเนื่องจาก บทความ “ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ”[1] บทความ “ความใจแคบทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (บางส่วน)”[2] และบทความ “ข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง และประเด็นปัญหาความใจกว้างทางการเมืองในแง่วิธีการ”[3] ซึ่งขณะนี้ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นสารัตถะ (แก่นสาร) ของคณะรัฐศาสตร์ อุดมการณ์ทางการเมือง และวิธีการแสดงออกในสิ่งที่ผู้นั้นเชื่อมั่น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทางความคิดต่อทั้งสังคมคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และสังคมภายนอกอีกด้วย โดยประเด็นข้อถกเถียงและข้อสังเกตทั้งหลายนั้นผู้อ่านสามารถตามไปอ่านเพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบแนวคิดด้วยตนเองในบทความที่ยกมาทั้งสามบทความ

แต่ในบทความนี้ ข้าพเจ้ามุ่งนำเสนอถึงการขยายคำอธิบายเกี่ยวกับประเด็นในบทความทั้งสามอย่างรวบยอด และจะเขียนอย่างเรียบง่าย โดยขอเสนอเป็น 3 ประเด็น

1.อุดมการณ์ทางการเมือง และวิธีการแก้ปัญหาต่างทรรศนะ

2.การเมืองภาคประชาชนในฐานะนิสิตคณะรัฐศาสตร์ เรื่องของอุดมคติ และความเป็นจริง

3.บทสรุป รวมถึงเจตนาในการเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ

 

1.อุดมการณ์ทางการเมือง และวิธีการแก้ปัญหาต่างทรรศนะ

จากกระแสสังคมที่มีต่อเหล่าบทความดังกล่าว ทำให้เกิดการกเถียงและความคิดเห็นต่อจุดยืนอุดมการณ์ทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยเฉพาะเมื่อเรามีประโยคยอดนิยมซึ่งข้าพเจ้าขอยกมา 2 ประโยค ว่า

1.“ก้าวแรกสู่คณะรัฐศาสตร์ ก้าวต่อไป สู่การเสียสละเพื่อส่วนรวม”

2.“Black is Devotion” ซึ่งเป็นประโยคที่อาจพบได้ทั่วไปตามด้านหลังเสื้อยืดสิงห์ดำ

ซึ่งข้าพเจ้าก็เชื่อว่าข้อความนี้ยังคงเป็นจริงอยู่ โดยหากพิจาณาถึงการเลือกเชื่ออุดมการณ์ทางการเมืองและการแสดงออกเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมแล้ว ก่อนอื่น ข้าพเจ้าจะต้องขออธิบายถึง 2 อุดมการณ์ดังกล่าวให้เห็นภาพมากขึ้น มีแนวคิดหลักในคณะ (ในที่นี้ขอยกมา 2 แนวคิด ต้องขออภัยหากในที่นี้ไม่ได้กล่าวถึงแนวคิดอนุรักษ์นิยมเท่าใดนัก) คือ

2 อุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตยบนเส้นขนาน

1.แนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo Liberalism) อันถูกมองว่าเป็นทางสายกลางของแนวคิดฝ่ายขวา ซึ่งเปิดโอกาสการแข่งขันทางการค้าเสรี ลดข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ โดยลัทธิเสรีนิยมใหม่นี้มองว่าผู้ขับเคลื่อนสังคมหลักมิใช่อำนาจรัฐอีกต่อไป[4] แต่เป็นกลุ่มนายทุนเอกชนข้ามชาติ ซึ่งสามารถกำหนดแนวทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ โดยอาจมีแนวคิดที่ว่าเสรีภาพทางการตลาด คือ เครื่องยืนยันเสรีภาพของปัจเจก (แม้นักวิชาการบางท่าน เช่น Chomsky ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อระเบียบสังคมตกไปอยู่ในมือกลุ่มทุนแล้ว นโยบายด้านสวัสดิการสังคมจะถูกละเลย เพราะกลุ่มทุนจะสนใจผลประโยชน์ทางการตลาดของบริษัทมากกว่าผลประโยชน์ของปัจเจก) โดยเกิดการเปลี่ยนถ่ายอำนาจควบคุมสังคมจากรัฐบาลไปสู่ภาคธุรกิจเอกชน บนแนวคิดที่ว่ากลไกทางธุรกิจและระบบตลาดเสรีจะสามารถสร้างการคุ้มครองทางสังคมแทนระบบราชการ (คิดภาพตามอย่างเรียบง่ายและพื้นฐาน คือ รัฐบาลจะสามารถควบคุมประชาชนได้ลดลง เพราะประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น จากการเข้ามาของระบบตลาดเสรีซึ่งบีบบังคับรัฐบาลให้ผ่อนคลายการควบคุมประชาชน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถยังผลมาส่งเสริมการปกครองแบบประชาธิปไตยอีกทีหนึ่ง) มีการเปิดกว้างของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารผ่านโลกาภิวัตน์ โดยกระแสสังคมโลกปัจจุบันได้ซึมซับแนวคิดเสรีนิยมใหม่เป็นแบบแผนชีวิต เช่น การบริโภคหรือจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการซึ่งปรารถนาที่จะสร้างชีวิตที่อยู่ดีมีสุข (well-being) เกิดมิติสังคมซึ่งให้ความสำคัญกับปัจเจกในเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินการต่างๆในชีวิตประจำวัน เป็นการแทรกซึมตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศ โดยในมิติทางวัฒนธรรม อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าเสรีนิยมใหม่มีสองรูปแบบที่แสดงออกอันได้แก่ แบบแรกที่เชื่อมั่นในสติปัญญาและความก้าวหน้าของมนุษย์ ซึ่งแสดงออกผ่านระบบทุนนิยมและประชาธิปไตย และแบบที่สองคือการอยู่ร่วมกันของพหุวัฒนธรม (การอยู่ร่วมกันของความแตกต่างทางวัฒนธรรม) ซึ่งเสรีนิยมใหม่เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างครองพื้นที่ทางความคิดหลักในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

2.แนวคิดซ้ายใหม่ (New Left) อันถูกมองเป็นแนวคิดฝ่ายซ้ายกระแสรอง และอาจไม่เป็นที่คุ้นเคยแก่นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เท่าใดนัก เนื่องจากมีแนวคิดที่ค่อนข้างไม่ยืดหยุ่นในการดำเนินชีวิต (ชีวิตซึ่งถูกครอบงำโดยทุนนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) โดยแนวคิดนี้เข้าสู่ประเทศไทยราวช่วงปี 2513 โดยปัญญาชนเสรีนิยม-สังคมนิยม พวกเขาเป็นฝ่ายซ้ายซึ่งไม่ได้เชื่อมั่นยึดติดในแนวคิดและการปฏิบัติของลัทธิคอมมิวนิสต์ ไม่ยึดถือแนวทางของโจเซฟ สตาลิน (ผู้นำการปฏิวัติประเทศรัสเซียให้กลายมาเป็นสหภาพโซเวียต) หรือแนวทางของเหมา เจ๋อตุง (ผู้นำการปฏิวัติประเทศจีนให้กลายเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน) หรือลัทธิมาร์กซ์อย่างเข้มข้น แต่มองในวิธีการดำเนินการเรื่องพลังนักศึกษา (student power) อันเป็นเรื่องของการขบถและการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของคนหนุ่มสาวเป็นประการสำคัญ[5]  โดยศัพท์แสงคำว่าซ้ายใหม่นี้ คาดว่าแนวคิดนี้เริ่มเข้าสู่ประเทศไทยโดยปัญญาชนเสรีนิยม-สังคมนิยมไทยในช่วงเวลาราวปี 2513 สืบเนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสงครามเวียดนาม ยกตัวอย่าง

“…บทความชิ้นหนึ่งของ บุญชนะ อัตถากร เอกอัครราชฑูตไทยประจำอเมริกา ระหว่าง พ.ศ.2510-2513 ที่เขียนให้นิสิตจุฬาฯ ในปี 2513 (ตีพิมพ์ใน มหาวิทยาลัย ฉบับ 23 ตุลาคม 2513) ก็ได้แสดงทัศนะว่านักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังมีบทบาททางสังคมและการเมืองมากขึ้น แต่มักจะเป็นไปด้วยความรุนแรง เขายังให้รายละเอียดว่าความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงนี้เริ่มขึ้นที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2507 และแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา เขานิยามสิ่งที่เขาเรียกว่าวิธีการรุนแรงว่า “ข้าพเจ้าหมายถึงการเดินขบวน การทำลายทรัพย์สิน สิ่งของ หรือการเข้ายึดสถานที่โดยพลการ เพื่อเรียกร้องสิทธิบางประการ หรือเพื่อให้รัฐบาลและสาธารณชนให้ความสนใจต่อความคิดเห็นของตนมากขึ้น” เขากล่าวถึงอันตรายของการเดินขบวนโดยยกเหตุการณ์ในสหรัฐอเมริกาและในฝรั่งเศสว่าการเดินขบวนได้เกิดผลร้ายกระทบกระเทือนเสถียรภาพในสังคม ฉะนั้นแม้เขาจะเห็นด้วยในหลักการที่นักศึกษาควรเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัตินั้นยังต้องพินิจพิจารณาว่าควรเป็นไปในรูปแบบใด ซึ่งเขาแสดงทัศนะว่าควรจะใช้วิธีการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเพื่อแก้ไขปรับปรุงระบบเดิมที่มีอยู่ โดยผ่านมาตรการออกกฎหมายหรือการเลือกตั้ง...”

ดังที่เราจะเห็นได้ว่าทัศนะนี้ค่อนข้างตรงกับสิ่งที่สิงห์ดำท่านหนึ่งได้นำเสนอในบทความ “ความใจแคบทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (บางส่วน)” ต่อข้าพเจ้า นอกจากนี้ ศัพท์แสงคำว่าซ้ายใหม่ยังถูกบิดเบือนให้มีความรุนแรงยิ่งขึ้นโดยปัญญาชนอนุรักษ์นิยมบางท่าน จนทำให้คำว่าซ้ายใหม่ถูกตีความว่าเป็นปีศาจของสังคมไทย แต่อย่างไรก็ดี ในปลายปี 2513 วารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ จัดทำฉบับ “คนหนุ่ม” ได้มีบทความของปัญญาชนรุ่นใหม่เขียนเกี่ยวกับแนวคิดซ้ายใหม่ เช่น บทความ “ซ้ายใหม่” ที่เขียนโดย อากร ฮุนตระกูล เพื่อโต้แย้งบทความและจดหมายของปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางท่าน โดยอากรชี้ให้เห็นว่าซ้ายใหม่เกิดจากจิตสำนึกของนักศึกษาที่ว่าจุดมุ่งหมายมิใช่เพียงเพื่อปริญญาแต่ต้องเป็นพลเมืองของชาติด้วย เขาชี้แจงว่าซ้ายใหม่นั้นมีการใช้กำลังบ้างแต่ก็ไม่นับว่ามีอันตรายอย่างใดเลย อากรยังชี้ให้เห็นว่าแนวคิดซ้ายใหม่เกิดในยุโรปตะวันตกและสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเขาหวังว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยคงเป็นประชาธิปไตยแท้จริง และเปิดให้แสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันได้เจรจาต่อรองกันโดยสันติวิธี ซึ่งแนวคิดซ้ายใหม่นี้สามารถจัดได้ว่าเป็นแนวคิดกระแสรองในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

วิธีการเลือกใช้แก้ปัญหาสังคมอันน่าลำบากใจ

จากทั้งสองอุดมการณ์ทางการเมืองดังกล่าว เราพึงวิเคราะห์ได้ว่าแต่ละแนวคิดก็ล้วนมีการแก้ปัญหาการกดขี่โดยอำนาจรัฐในแบบของตนเอง ซึ่งก็ย่อมมีข้อด้อยและข้อดีแตกต่างกันไป โดยจะขอชี้ให้เห็นภาพอย่างง่ายและรวบรัด ดังนี้

เสรีนิยมใหม่

ข้อดี – มีการแข่งขันในตลาดเสรี เปิดกว้างการเข้าถึงทรัพยากร ปัจเจกมีสิทธิเสรีภาพ อำนาจรัฐถูกลดลงไปจากการเข้ามาของกลุ่มลัทธิทุนนิยมอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เป็นการปลดปล่อยประชาชนในรูปแบบหนึ่ง มีการยอมรับทางพหุวัฒนธรรม ระบบตลาดเสรีจะเข้ามาลดอิทธิพลของระบบราชการลง และมีการเปิดรับโลกาภิวัตน์อย่างเต็มที่

ข้อด้อย – การพัฒนาของลัทธิทุนนิยมย่อมเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างยิ่งยวดขึ้นไปอีก ในทำนองรวยกระจุก จนกระจาย

ซ้ายใหม่

ข้อดี – เป็นการรวมพลังโดยนักศึกษาเสรีนิยม-สังคมนิยม มีทัศนะคติแบบฝ่ายซ้ายในการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อสู่สิ่งที่พวกเขาเชื่อมั่นว่าดีกว่าอย่างไม่ตายตัว แต่มักเห็นชัดในแนวคิดต่อต้านการกดขี่โดยรัฐเพื่อสังคมที่ดีขึ้น ผ่านกิจกรรมการเมืองภาคประชาชน มองว่าสิ่งต่างๆในสังคมต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเสมอ โดยอาจเป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่แทนที่วัฒนธรรมเดิมในปัจจุบัน ในฐานะที่เป็นพลเมืองของชาติ มักอาศัยแนวคิดศัพท์แสงซึ่งก็คือคือแนวคิดโรแมนติก (Romantic) ที่มีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น ร่วมกันสร้างสรรค์โลกที่ดีขึ้น ซึ่งทุกคนมีความรักกันอย่างจริงใจ

ข้อเสีย – เป็นแนวคิดที่เป็นนามธรรมสูง ปฏิบัติจริงได้ยาก ผู้เชื่อมั่นแนวคิดนี้มักตกอยู่ในสภาวะครึ่งๆกลางๆหากต้องมีการปฏิบัติ และนิสิตนักศึกษาและประชาชนผู้นิยมแนวคิดนี้ในประเทศไทยก็เคยพ่ายแพ้ต่ออำนาจรัฐมาแล้วอย่างเช่น ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

แล้วอะไรคือแนวคิดที่ดีที่สุดในตัวเลือกข้างต้นนี้ ข้าพเจ้าคงไม่กล้าชี้ชัดลงไปว่าแนวคิดใดคือแนวคิดที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมนี้ เพราะอย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าแต่ละแนวคิดย่อมมีข้อดีและข้อด้อยที่ต่างกันไป แต่โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าเลือกที่จะอยู่ฝั่งซ้ายใหม่เสียมากกว่า เนื่องจากข้าพเจ้าคิดว่าตนเองเป็นคนที่โรแมนติกในระดับหนึ่ง และเชื่อว่าต่อให้แนวคิดซ้ายใหม่เป็นนามธรรมสูง แต่ก็ควรค่าแก่การลองปฏิบัติเพื่อสังคมที่เราเชื่อว่าสามารถทำให้ดีขึ้นได้ แม้ว่าอาจจะมีแรงต้านมหาศาลที่อาจทำให้การปฏิบัติตามแนวคิดล้มเหลว หากมีแรงต้านแบบใด ก็คงต้องฝ่าแรงต้านกันไป หากเรายังมีความเชื่อมั่น โดยข้าพเจ้าขอยกคำพูดของ Herbert Marcuse ผู้เขียนหนังสือเรื่อง One Dimensional Man ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยซึ่งปรากฏอยู่ช่วงก่อนบทนำ ในหนังสือ “จากการปฏิวัติสู่โลกาภิวัตน์: ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกเชิงวิพากษ์ผ่านสื่อภาพยนตร์”[6] ที่เขียนโดยรศ.ดร.สรวิศ ชัยนาม อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“...สาเหตุที่ทำให้บรรดาข้อเสนอและทางเลือกต่างๆกลายเป็นสิ่งที่เพ้อฝันและห่างไกลความเป็นจริง สำหรับพวกเรานั้น ไม่ใช่เพราะความเป็นอุดมคติ อันเป็นคุณลักษณะของข้อเสนอเหล่านั้นเอง ทว่าเป็นเพราะพลังต้านทานมหาศาลที่คอยสกัดกั้นมิให้ข้อเสนอเหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมาต่างหาก...”

2.การเมืองภาคประชาชนในฐานะนิสิตคณะรัฐศาสตร์ เรื่องของอุดมคติ และความเป็นจริง

ผู้ซึ่งสนใจและถูกคาดหวังให้เปลี่ยนแปลงสังคมอย่างนิสิตคณะรัฐศาสตร์  ย่อมสามารถยกข้อความของนักมานุษยวิทยาชื่อดังอย่าง Margaret Mead ได้ว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยที่พลเมืองกลุ่มเล็กๆ ช่างคิด และมุ่งมั่น สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ความจริงมีแต่เรื่องแบบนี้เท่านั้นที่เกิดขึ้น” แต่เราอาจเห็นว่าครึ่งหลังของประโยคนี้เห็นได้ชัดเจนว่าไม่จริง[7] การเปลี่ยนแปลงสังคมบางอย่างจำเป็นต้องอาศัยอำนาจศูนย์กลางที่มีผู้คนรวมตัวกันมากถึงจะบรรลุผลได้ แต่ในส่วนครึ่งแรกของประโยคนั้นก็ยังเป็นจริงอยู่ เราสามารถเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ประเทศไทยอย่าง เหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ก็เริ่มขึ้นจากกลุ่มนักศึกษาและปัญญาชนเพียงหยิบมือซึ่งประชุมกันที่ประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านกลวิธีทางการเมืองโดยอาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์หลายๆ เช่น รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการสอนเกี่ยวกับเรื่องการเมืองภาคประชาชน ในวิชาการเมืองและการปกครองของไทย ย่อมทำให้นิสิตคณะรัฐศาสตร์สามารถเข้าใจถึงรูปแบบและวิธีการในการมีส่วนร่วมในการเมืองภาคประชาชน อันจะนำให้พวกเรามีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน ซึ่งสามารถตีความได้ว่าเป็นความคิดแบบอุดมคติ(หรืออย่างน้อยก็ปฏิบัติได้ยากยิ่ง) โดยอาจมองผ่านสิ่งที่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอแนะไว้ 4 ประการ[8] เกี่ยวกับอุปสรรคในเส้นทางการเมืองภาคประชาชนซึ่งข้าพเจ้าจะชี้แจงเพิ่มเติมประกอบ ดังต่อไปนี้

1.แนวนโยบายของรัฐและรัฐบาล – โดยหากรัฐบาลวางระบบซึ่งมีสภาพแบบเสรีนิยมใหม่ที่สนับสนุนทุนนิยมให้แผ่ขยายตัวออกไปได้กว้างขวางเรื่อยๆ ย่อมเกิดการกระทบต่อประชาชนในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งทำให้ชนชั้นล่างย่อมประสบปัญหาความขัดแย้งในหลายๆด้าน แม้กระทั่งอาจมีการเสียเปรียบด้านกฎหมาย ยกตัวอย่าง หากมีการลงทุนโดยบริษัทกลุ่มทุนในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อดำเนินการสร้างโรงงานที่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติและมีกลุ่มการเมืองภาคประชาชนมาคัดค้านต่อต้าน ฝั่งกลุ่มทุนก็ย่อมมีความได้เปรียบทางกฎหมายเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายและกฎหมายที่รองรับการดำเนินการทางธุรกิจให้พวกกลุ่มทุนมากมาย แต่มีกฎหมายรองรับฐานะของกลุ่มการเมืองภาคประชาชนน้อยกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ยังไม่นับท่าทีของรัฐซึ่งยึดถือพันธกิจต่อภาคธุรกิจมากกว่า ทำให้ประชาชนรู้สึกเสียเปรียบและเกิดความท้อแท้ในการจะมีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน อันรวมไปถึงนิสิตที่จะเข้ามามีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชน

2.แนวโน้มใช้ความรุนแรงของฝ่ายรัฐและทุน - ข้อนี้นับเป็นอุปสรรคอันร้ายแรงที่สุดอีกอย่างหนึ่ง การเมืองภาคประชาชนมักต้องถูกต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากทั้งภาครัฐและสังคมบางส่วน โดยเป็นเรื่องที่ร้ายแรงและมีปัญหามาเป็นเวลานาน ยกตัวอย่างสถิติที่รวบรวมโดยสหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.) พบว่าในระหว่างปี 2517-2522 มีผู้นำชาวนาชาวไร่จากทั่วประเทศถูกลอบยิงบาดเจ็บและเสียชีวิตถึง 48 ราย และในระหว่างปี 2532 ถึงต้นปี 2546 มีผู้นำชุมชนที่ต่อต้านโครงการที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ถูกลอบสังหารเสียชีวิตทั้งหมด 21 ราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร (สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ 2546 น. 38-44) การที่มีการคุกคามทำร้ายร่างกาย จนถึงการฆ่าผู้อื่นเช่นนี้ ย่อมสร้างความหวาดกลัวแก่นิสิตที่ทราบเรื่องดังกล่าวซึ่งอาจคิดจะเข้ามามีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชน

3.ความไม่เข้าใจและการวางเฉยของสังคมที่ไม่เดือดร้อน – การเข้ามาของเสรีนิยมใหม่พร้อมกับโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดแนวทางการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลระหว่างประชาชนที่เสียเปรียบซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวชนบท และประชาชนที่ได้เปรียบซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรในเมืองหรือชนชั้นกลาง ซึ่งสภาพการแตกต่างนี้มิใช่มีเพียงเรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังรวมไปถึงสำนึกทางการเมืองและรสนิยมทางวัฒนธรรมที่ต่างกันมากด้วย โดยจากการวิจัยของสมพงศ์ จิตระดับ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าเยาวชนคนชั้นกลางในปัจจุบันให้ความสำคัญกับตนเองมากกว่าส่วนรวม “และดำเนินชีวิตไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ที่ขยายตัวมากขึ้นในทุกมิติของกิจกรรม” พลังนักศึกษาที่เคยสั่งคลอนอำนาจรัฐในช่วงพ.ศ.2516-2519 กลับหายไปกับการเข้ามาของโลกาภิวัตน์ ส่วนคนชั้นกลางโดยทั่วไปแม้จะมีลักษณะหลากหลายกว่าคนรุ่นใหม่ แต่ส่วนใหญ่ก็มักวางเฉยกับการเคลื่อนไหวของประชาชนชั้นล่าง ซึ่งงานวิจัยนี้ก็อาจหมายรวมถึงนิสิตและนักศึกษาด้วย

4.ปัญหาจิตสำนึกทางการเมือง การขาดแคลนทุน และภาวะผู้นำ - ปัญหานี้เลี่ยงไม่พ้นและแก้ไขได้ยากในประชาชนผู้เสียเปรียบในสังคม เพราะตนมีรายได้น้อยอยู่แล้ว ยิ่งไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองก็ทำให้ต้องสละเวลาทำงาน ทำให้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก และการคาดหวังจากประชาชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเหนือกว่าตนนั้นก็หวังได้ยากยิ่ง และผู้นำในการเมืองภาคประชาชนนั้นหาผู้ที่มีความสามารถและมีบารมีพอที่จะเป็นแกนนำกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองได้ยากยิ่ง ในกรณีของนิสิตนั้น มักเป็นผู้ไม่มีรายได้เป็นของตนเอง จึงทำให้การมีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชนเป็นเรื่องยาก และประเด็นการหาผู้นำนิสิตในการพาไปมีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชนก็ยากเช่นกัน

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ย่อมสะท้อนถึงความยากลำบากในการมีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชนของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเหล่านิสิตคณะรัฐศาสตร์ที่กล่าวว่าตนเองต้องการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ไม่ว่าผู้นั้นจะมีอุดมการณ์และวิธีการอย่างไร ก็คงต้องหาทางร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวกันต่อไป

บทสรุป รวมถึงเจตนาในการเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ

หากผู้อ่านสามารถอ่านได้มาจนถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าก็ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง ที่ตั้งใจอ่านบทความที่ข้าพเจ้าเขียน โดยท่านทั้งหลายน่าจะรอดจากวังวนของความ “ยาวไปไม่อ่าน” เมื่อมาถึงตรงนี้ ข้าพเจ้ามีเรื่องที่จะต้องสารภาพถึงเจตนาข้าพเจ้าในการเขียนบทความที่เป็นประเด็นเริ่มต้นในลำดับถัดไป สืบเนื่องจากประเด็นบทความแรกเริ่มในกรณีนี้ ซึ่งก็คือ บทความ “ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ” ได้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ประชาไทไปนั้น ข้าพเจ้ามีความมุ่งหวังอย่างยิ่งยวดว่าประเด็นนี้จะเป็นข้อถกเถียงอย่างมากในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ถึงขั้นที่ข้าพเจ้าตั้งใจคัดสรรชื่อบทความเรียกความสนใจนิสิตในคณะรัฐศาสตร์โดยเฉพาะ (หากตั้งชื่อบทความเป็นชื่อในเชิงวิชาการแบบไร้อารมณ์เกินไป บทความจะดูน่าเบื่อและอาจไม่ได้รับความสนใจในการเข้าไปอ่าน) โดยคาดหวังอย่างสูงให้พวกเขามีการตอบโต้โดยการเขียนบทความทางวิชาการกลับมา ทั้งนี้เมื่อเวลาได้ผ่านไปเป็นเวลาน่าจะประมาณหนึ่งวัน กลับมีแต่การวิพากษ์วิจารณ์ที่พบเห็นได้ตามสื่อออนไลน์อย่าง Facebook เท่านั้น ถึงแม้จะมีการ “อินมาก” ของคนในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่กลับไม่มีการเขียนบทความโต้กลับบทความนั้นของข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าตอนแรกเกิดความละเหี่ยใจว่าการวางแผนกระตุ้นให้นิสิตในคณะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาดังกล่าวของข้าพเจ้าผ่านการเขียนบทความโต้กลับ คงจะล้มเหลวเสียกระมัง แต่ในเวลาต่อมาก็ได้มีการเผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ประชาไทโต้กลับบทความนั้นของข้าพเจ้า ชื่อบทความว่า “ความใจแคบทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (บางส่วน)” ซึ่งบทความชิ้นนี้เปรียบเสมือนหยดน้ำที่เข้ามาต่อชีวิตของมนุษย์ผู้หิวกระหายสายน้ำแห่งวิชาการของข้าพเจ้า หรือประหนึ่งการเติมเชื้อฟืนแก่กองไฟแห่งวิชาการที่กำลังจะมอดดับลงของข้าพเจ้าเลยทีเดียว ข้าพเจ้ารู้สึกมีพลังใจในการดำเนินแผนการต่ออีกครั้ง ข้าพได้เตรียมเขียนบทความเพื่อชี้แจงประเด็นที่ข้าพเจ้าต้องการนำเสนอให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็ได้มีบทความของนิสิตคณะรัฐศาสตร์อีกท่านหนึ่งแทรกเข้ามา โดยเขียนบรรยายมุมมองของเขาต่อทั้งสองบทความที่ได้กล่าวถึงนี้ ในนามบทความที่ว่า “ข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง และประเด็นปัญหาความใจกว้างทางการเมืองในแง่วิธีการ” ที่เขียนโดยชยางกูร ธรรมอัน ซึ่งเป็นบทความที่ข้าพเจ้าค่อนข้างทึ่งกับระดับภาษาที่เขาใช้มากเลยทีเดียว แสดงให้เห็นถึงการอธิบายบทความทั้งสองที่เขามีต่อบทความทั้งสองของข้าพเจ้าและสิงห์ดำท่านหนึ่งในเชิงปรัชญาที่เหนือความคาดหมาย แม้แต่สำหรับข้าพเจ้าที่ก็ได้ศึกษาปรัชญาด้วยตนเองมาเป็นเบื้องต้น และเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเขาเองก็ตาม ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการ “อินมาก” ของเหล่านิสิตคณะรัฐศาสตร์ครั้งนี้ (ข้าพเจ้ามิทราบว่าสิงห์ดำท่านหนึ่งเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบัน หรือเป็นศิษย์เก่า แต่ในที่นี้ขอตั้งสมมติฐานว่าเป็นนิสิตปัจจุบัน) ก็เป็นผลผลิตที่น่าชื่นใจอย่างยิ่งของแผนการข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเรื่องนี้เกิดประโยชน์ขึ้นแก่ชาวสิงห์ดำทั้งผอง และประชาชนทั่วไปอีกด้วย ทำให้เกิดการขบคิดถกเถียงถึงแนวทางของคณะรัฐศาสตร์ในประเด็นต่างๆ ที่ห่างหายจากแวดวงวิชาการของเหล่าสิงห์ดำไประยะหนึ่งแล้ว

ในประเด็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น สิงห์ดำท่านหนึ่งได้ให้แนวคิดที่น่าสนใจไว้ในการหาแนวร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม ว่าการเขียนบทความแบบข้างต้นย่อมสามารถสร้างความไม่พึงพอใจแก่นิสิตในคณะบางส่วนเป็นแน่แท้ ซึ่งข้าพเจ้าก็ทราบดี และมีเจตนาเร้าอารมณ์ดังกล่าวอยู่แล้ว (ซึ่งหากขัดเคืองก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้) โดยข้าพเจ้าทราบโดยทั่วไปว่าการสร้างแนวร่วมทางการเมืองที่มีจิตสำนึกคัดค้านเผด็จการก็เป็นอย่างที่สิงห์ดำท่านหนึ่งแนะนำ ยกตัวอย่างแนวคิดการจัดตั้งพันธมิตร[9] ของปรีดี พนมยงค์ ที่กล่าวถึงบุคคลจำพวกที่ 1 ซึ่งควรรับไว้เป็นแนวร่วมในระดับหนึ่ง โดยฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะต้องยับยั้งไม่ทะนงตนว่าก้าวหน้าเป็นที่สุดกว่าคนอื่นแล้ว หรือเสียสละสูงสุดกว่าคนอื่น ซึ่งจะทำให้บุคคลจำพวกที่หนึ่ง นี้เกิดหมั่นไส้แล้วไม่ยอมร่วมในขบวนการที่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการตั้งขึ้น แต่การเชิญชวนกันในลักษณะธรรมเนียมนิยมในการต่อต้านเผด็จการอาจไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่คาดหวังได้ เพราะการต่อต้านเผด็จการผ่านการแสดงออกแบบการเมืองภาคประชาชนยังขาดความสนใจจากนิสิตในคณะค่อนข้างชัดเจน แทนที่จะเน้นย้ำการเชิญชวนให้มาสนใจแบบปกติ จึงต้องลองการเรียกความสนใจแบบใหม่บ้าง ประหนึ่งการหวังดีปลุกคนที่กำลังหลับด้วยการสะกิดเอว และการหวังดีปลุกคนที่กำลังหลับด้วยการเอานาฬิกาปลุกไปจ่อไว้ข้างๆหู ซึ่งก็พบว่าการทำแบบหลังได้ความสนใจอย่างล้นหลามในสื่อออนไลน์อย่าง Facebook และมีผู้แสดงความคิดเห็นว่าตนก็มีความตื่นตัวและการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบของตนแตกต่างกันมากมาย จนเกิดเป็นลูกโซ่บทความโต้ตอบกันมาในที่สุด

ในส่วนท้ายสุดนี้ ข้าพเจ้าต้องขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมกับแผนการดังกล่าวไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ทำให้เกิดการฉุกคิดถกเถียงถึงประเด็นต่างๆในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ของพวกเรา ขอขอบคุณสิงห์ดำท่านหนึ่งและชยางกูร ธรรมอัน ที่ร่วมกันต่อยอดให้แผนการกระตุ้นการฉุกคิดถึงประเด็นเหล่านี้ดำเนินต่อไปได้อย่างลื่นไหลและได้รับความสนใจอยู่ในกระแสวิจารณ์ของชาวสิงห์ดำ ซึ่งในส่วนของการพัฒนาสังคมไทยให้ดีขึ้นนั้น ข้าพเจ้าคงไม่มีความเก่งกล้าสามารถพอที่จะชี้ว่าอุดมการณ์ใดคือการแก้ไขปัญหาสังคมไทยที่ถูกต้องที่สุด หรือการเลือกก้าวเดินไปในอุดมการณ์ของตนด้วยวิธีใดจะเหมาะสมที่สุดเช่นกัน ในเมื่อทุกคนก็มีอุดมการณ์และแนวทางในการแก้ปัญหาสังคมที่แตกต่างกัน แต่ข้าพเจ้าก็คงต้องขอทำตัว “อวดดี” ยืนกรานว่าการก้าวเข้ามาเป็นสิงห์ดำนั้น คือ “ก้าวแรกสู่คณะรัฐศาสตร์ ก้าวต่อไป สู่การเสียสละเพื่อส่วนรวม” อันจะไปสอดคล้องกับคำขวัญเกียรติภูมิจุฬาฯ ที่กล่าวว่า “เกียรติภูมิจุฬาฯ คือ เกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน” อีกด้วย โดยเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าขอยกคำของปรีดี พนมยงค์ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจว่าจะก้าวไปสู่อุดมการณ์หรือจุดหมายปลายทางใด[10] ในการบรรลุผลของการต่อต้านเผด็จการ

“…ผมขอให้ท่านทั้งหลายระลึกอีกอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาบุคคลแห่งฝ่ายต่อต้านเผด็จการนั้น ย่อมมีความแตกต่างกันในจุดหมายปลายทางแห่งระบบสังคม ฉะนั้นจึงควรพิจารณาว่าความต้องการเบื้องต้นที่ตรงกันคืออะไร แล้วสถาปนาความสามัคคีตามพื้นฐานนั้นก่อน ผมสังเกตว่าเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นิสิตนักศึกษานักเรียนโดยความสนับสนุนของมวลราษฎรได้สมานสามัคคีกันต่อไป เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเบื้องต้น ก็น่าจะเป็นคุณูปการแก่การต่อต้านเผด็จการให้สำเร็จได้…”

นอกจากนี้ ชาวสิงห์ดำทุกท่านที่กระหายจะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมทางการเมือง ก็สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆของชมรมในคณะ เช่น ชมรมวิพากษ์วรรณกรรม[11] ,ชมรม Singhdemic[12] ,หรือชมรมวิชาการ[13] เป็นต้น (ข้าพเจ้าได้พูดคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะกับสิงห์ดำรุ่น 70 หลายๆท่าน และพบว่าบางท่านมีความรู้และความตื่นตัวทางการเมืองที่สูงกว่าข้าพเจ้ามาก หรือบางท่านก็อาจมีความเข้าใจทางปรัชญาซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าอาจมีสูงกว่าชยางกูร ธรรมอัน ที่ได้เขียนบทความเชิงปรัชญาตั้งข้อสังเกตดังกล่าว ที่ข้าพเจ้าต้องใช้เวลาตีความบทความเขาพอสมควรในการอ่านเสียอีก โดยสิงห์ดำรุ่น 70 ท่านนั้นได้กล่าวถึงงานเขียนเชิงปรัชญาการเมืองคลาสสิคที่เขาอ่านให้ข้าพเจ้าฟัง ข้าพเจ้าจึงคิดว่าชมรมเหล่านี้จึงน่าจะสามารถตอบโจทย์สิงห์ดำรุ่น 70 เหล่านี้บางส่วนได้เป็นแน่แท้ – นิสิตคณะรัฐศาสตร์ปัจจุบันสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และสมัครสมาชิกชมรมได้ในรายละเอียดลิงค์เพจจากส่วนเชิงอรรถ) หรือผู้อ่านทุกท่านแม้แต่บุคคลภายนอกที่สนใจสนับสนุนกิจกรรมที่มีแนวคิดมาจากซ้ายใหม่ในแง่คิดของพลังนิสิตในการพัฒนาสังคม ก็สามารถร่วมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายพัฒนาสังคมผ่านการสั่งซื้อเสื้อยืดสิงห์ดำที่จำหน่ายโดยสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ[14] โดยสามารถติดต่อสั่งซื้อทางเพจได้โดยตรง ข้าพเจ้าจึงขอปิดท้ายบทสรุปบทความนี้ไว้ด้วยแนวคิดเห็นต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุดมการณ์ หรือเรื่องวิธีการแก้ไขปัญหาสังคมที่ต่างคนเลือกแตกต่างกัน และช่องทางการแสวงหาความรู้และการสนับสนุนสังคมที่ดีขึ้นของชาวคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ไว้เพียงเท่านี้

เชิงอรรถ
[1] ที่มาบทความ https://prachatai.com/journal/2017/07/72418
[2] ที่มาบทตวาม https://prachatai.com/journal/2017/07/72451
[3] ที่มาบทความ https://prachatai.com/journal/2017/07/72471
[4] อ้างอิงแนวคิดจากบทความอำนาจของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ขียนโดย นฤพันธ์ ด้วงวิเศษ ในแนวคิดเรื่องพัฒนาการจากเสรีนิยม มาสู่เสรีนิยมใหม่ และลัทธิเสรีนิยมใหม่ในแง่สังคมวัฒนธรรม – หนังสือ ชาติพันธุ์กับเสรีนิยมใหม่ (2557) นฤพันธ์ ด้วงวิเศษ บรรณาธิกาน, หน้า 59-71
[5] อ้างอิงแนวความคิดเรื่อง “ซ้ายใหม่” : การต่อต้านสงคราม สังคมนิยม - ประชาธิปไตย และพลังนักศึกษา - หนังสือ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ (2556)  ประจักษ์ ก้องกีรติ, หน้า 240-247
[6] อ้างอิงข้อความคำพูดที่แปลเป็นภาษาไทยของ Herbert Marcuse จากหนังสือ “One Dimensional Man” – หนังสือ จาการปฏิวัติถึงโลกภาภิวัฒน์: ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกเชิงวิพากษ์ผ่านสื่อภาพยนตร์ (2555) สรวิศ ชัยนาม, หน้า 9
[7] อ้างอิงข้อความของ Margaret Mead ในแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสังคม - หนังสือ หัวใจอุดมศึกษา เสียงเรียกร้องเพื่อปรับเปลี่ยนสถานศึกษาโดยการสนทนาในสภาบัน (2557) ปาร์กเกอร์ เจ. ปาล์มเมอร์, หน้า 157-158
[8] อ้างอิงแนวคิดของเสกสรร ประเสริฐกุล ในเรื่องอุปสรรคของการเมืองภาคประชาชน – หนังสือ การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย (2557) เสกสรร ประเสริฐกุล, หน้า 176-195
[9] อ้างอิงแนวคิดการจัดตั้งพันธมิตร ตามแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ – หนังสือ เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (2559) ปรีดี พนมยงค์, หน้า 73
[10] อ้างอิงแนวคิดการร่วมกันต่อต้านเผด็จการที่มีความแตกต่างกันในจุดหมายปลายทางแห่งระบบสังคม ตามแนวคิดปรีดี พนมยงค์ - หนังสือ เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (2559) ปรีดี พนมยงค์, หน้า 83-84
[11] ที่มา https://www.facebook.com/ชมรมวิพากษ์วรรณกรรม-คณะรัฐศาสตร์-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-177333906140057/
[12] ที่มา https://www.facebook.com/singhdemic/
[13] ที่มา https://www.facebook.com/SinghdamAcademicClub/
[14] ที่มา https://www.facebook.com/smopolscichula/

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ธรณ์เทพ มณีเจริญ เป็นนิสิตสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท