Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ส่งจดหมายถึง สผ. ระบุข้อกังวลของการเตรียมสร้างโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวลใกล้แหล่งน้ำ และชุมชน ชี้ประชาชนในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาก่อน หวั่นปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2560 กลุ่มอนุรักษ์อนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ร่วมกันเขียนจดหมายถึงสำนักแผนนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อสื่อสารให้หน่วยงานรับผิดชอบรับทราบถึงข้อกังวลที่ชาวบ้านเป็นห่วงต่อพื้นที่ซึ่งจะมีโรงงานน้ำตาล 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ที่มีแผนจะสร้างใกล้แหล่งน้ำและชุมชน

สมัย คดเกี้ยว กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กล่าวว่า เป็นอีกครั้งหนึ่งของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันในการเขียนจดหมายถึง สผ. เพื่อเป็นการบอกกล่าวข้อกังวลต่อโรงงานอุสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ และยังเป็นห่วงถึงการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากลำเซบาย การเขียนจดหมายถึง สผ. ในครั้งนี้ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อ่านข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่ เพราะในการพิจารณาอนุญาติก่อสร้างโรงงานอุตสหกรรม สผ. จะต้องมีข้อมูลที่เป็นจริงจากพื้นที่ด้วย ซึ่งหวังว่าหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องจะเข้าใจเจตนาของกลุ่ม

นวพร เนินทราย เลขากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า เป็นคนหนึ่งที่เขียนจดหมายถึง สผ. เพื่อต้องการบอกว่าไม่ต้องต้องการโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใกล้ชุมชน และมีความกังวลในการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากลำน้ำเซบาย เนื่องจากหมู่บ้านมีการใช้น้ำจากลำเซบายในการทำน้ำประปา และทำการเกษตรเป็นหลัก เมื่อมีโรงงานเข้ามาจะส่งผลกระทบกับชุมชนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการแย่งชิงทรัพยากร วิถีชุมชนที่เปลี่ยนไป สุขภาพของคนในชุมชน ปัญหาแรงงานต่างถิ่น สารพิษจากการปลูกอ้อยตกค้างในดิน ส่งผลให้พืชชนิดอื่นได้รับผลกระทบได้ นอกจากนี้ ก่อนที่จะมีโครงการนี้ขึ้น ประชาชนในพื้นที่ไม่ทราบเลยว่าจะมีตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใกล้ชุมชน มาทราบตอนที่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1  แล้ว เป็นการปิดบังข้อมูลข่าวสารต่อชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จึงเป็นเหตุให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับชุมชน ทั้งนี้ ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ได้รวบรวมจดหมายบางส่วนของกลุ่มเพื่อเตรียมส่งให้ สผ. แล้วในวันที่ 23 ก.ค.

ด้านสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน กล่าวว่า ตามที่บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบ และพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีแผนในการจะก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2559 และวันที่ 10 มี.ค. 2560 ซึ่งทั้งสองเวทีมีชาวบ้านทำหนังสือคัดค้านการจัดเวทีทั้งสองครั้ง เนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการ ข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบในภาพรวมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ให้ประชาชนผู้เข้าร่วมได้เข้าใจในตัวโครงการก่อนที่จะเข้าร่วมให้ความเห็นในเวที และทั้งสองเวทีมีการกำหนดผู้เข้าร่วมกีดกันไม่ให้ผู้ที่สนใจเข้าไปแสดงความคิดเห็นบางส่วนไม่ให้เข้าร่วมในเวที จึงเป็นการจัดเวทีที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียได้เข้าร่วมความคิดเห็นอย่างครอบคลุมผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการ

สิริศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2560 ทางบริษัทฯ ได้มาจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชนในโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผลไพโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัดอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาตนได้ติดตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั้งสามครั้ง เห็นว่าในปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ และทางกลุ่มยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนของโครงการที่จะมาดำเนินการในพื้นที่รวมถึงกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดของหน่วยงานรัฐที่จะมาดำเนินการในพื้นที่ และสิทธิของประชาชนชุมชนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการขั้นตอนต่างๆ และไม่มีความชัดเจนว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และบางครั้งยังทำกระบวนการไม่ถูกต้องด้วยซ้ำไป

สิริศักดิ์ มองว่า การเขียนจดหมาย ถึง สผ. ครั้งนี้เพื่อสะท้อนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้รับรู้ข้อกังวลของชาวบ้านผู้มีส่วนเสียจากการจะดำเนินโครงการอุสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะ

1.ประเด็นการให้ข้อมูลกับชาวบ้านในรัศมี 5 กิโลเมตรที่มีส่วนเสียไม่ครอบคลุมก่อนจะมีแผนดำเนินการก่อสร้างโรงงานอุสาหกรรมถึงขั้นตอนและกระบวนการสร้าง บ่งบอกถึงการการไม่เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงให้ชาวบ้านได้รับทราบตั้งแต่ก่อสร้างเลย

2. ประเด็นการแย่งชิงทรัพยากรน้ำไปใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรม ซึ่งในพื้นที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้น้ำจากลำเซบาย ในกระบวนการผลิตน้ำประปา และการเกษตร

3.สภาพพื้นที่ของ อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับกับทำการเกษตรในการปลูกพืชสวนผสม เช่น ทำนา ปลูกผัก เป็นต้น ตามนโยบายของจังหวัดเมืองยโสธรเกษตรอินทรีย์ และจังหวัดอำนาจเจริญตามนโยบายเมืองธรรมเกษตร ซึ่งไม่ใช่พื้นที่จะเหมาะกับปลูกพืชเชิงเดี่ยว

4.ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย เนื่องจากมองจากกระยวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาประชาชนที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น จึงสะท้อนให้เห้นถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนเสียไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตามกระบวนการทางกฏหมายที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

และมีข้อเสนอดังนี้ 1.ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงและกระบวนการขั้นตอนการอนุมัติอนุญาตรวมทั้งสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการดำเนินโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล  2. ให้บริษัท คอลซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับจ้างศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นใหม่ เริ่มตั้งแต่เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เนื่องจากกระบวนการในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาขาดความชอบธรรม 3.รัฐจะต้องให้ชาวบ้านที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดำเนินโครงการน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ในรัศมี 5 กิโลเมตร เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้นในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net