ภาค ปชช. โวยแก้ ก.ม.สิ่งแวดล้อม ยัดไส้ ม.44 ไฟเขียวเอกชนทำโครงการก่อน EIA ผ่าน

เครือข่ายประชาชนฯ ร้องกระทรวงทรัพย์ฯ ค้านแก้ ก.ม.สิ่งแวดล้อม ฉบับใหม่ ยัด ม.44 อนุญาตให้เอกชนดำเนินโครงการก่อน EIA ผ่าน อัดไม่เป็นไปตาม รธน. ม.77 ขาดการรับฟัง ระยะเวลาแสดงความคิดเห็นสั้น ช่องทางมีเพียงแค่เว็บไซต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ก.ค.60) เมื่อเวลา 9.30 น. ที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีตัวแทนประกอบด้วย ประสิทธิ์ชัย หนูนวล สมนึก จงมีวศิน สุวิทย์ กุหลาบวงค์ และสุภาภรณ์ มาลัยลอย อ่านแถลงการณ์และมีการแสดงเชิงสัญลักษณ์ กรณีการแก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ของประกาศกระทรวงว่าด้วยการจัดทำรายงานอีไอเอ

เวลาประมาณ 10.10 น. ตัวแทนได้เข้าเจรจากับ สุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะ เกี่ยวกับการแก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในหลายพื้นที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นต้น เนื่องจากกระบวนการจัดทำ EIA ไม่ดำเนินการอย่างถูกต้อง จนก่อให้เกิดความขัดแย้งหลายกรณี

โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

1.มาตรา 44 ที่ใช้ออกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2559 คือการอนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการตามโครงการก่อนที่ EIA จะผ่าน ได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับใหม่)

กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเสนอให้ตัดมาตรา 53 วรรค 4 ออกจากร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ..... หรือก็คือเป็นวรรคที่นำคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2559 มาบัญญัติไว้ เปิดช่องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อันเป็นการเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 58 ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียของประชาชนก่อน อันเป็นการลดทอนไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกระบวนการขั้นตอนของ EIA ตามหลักป้องกันไว้ก่อน (Precautionary Principle)

2.กระบวนการจัดทำ EIA ไม่เป็นไปตามมาตรา 77 ที่กฎหมายทุกฉบับต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง แต่กลับขาดการรับฟัง ระยะเวลาแสดงความคิดเห็นสั้น ช่องทางมีเพียงแค่เว็บไซต์ ไม่เหมาะกับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็น

โดยมาตรา 77 กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ได้กำหนดแนวทางให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตราร่างพระราชบัญญัติตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของการรับฟังความคิดเห็นไว้ว่า ให้หน่วยงานรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์อย่างน้อย 15 วัน ผลปรากฏว่าหน่วยงานรัฐจำนวนมากเร่งดำเนินการนำร่างกฎหมายเปิดรับฟังความคิดเห็นด้วยหลักเกณฑ์ขั้นต่ำดังกล่าว โดยไม่สนใจว่าจะเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริงหรือไม่

การรับฟังความคิดเห็นของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ..... ที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา เป็นการขาดการรับฟังความคิดเห็นก่อนกระบวนการร่างกฎหมาย โดยที่รัฐเป็นผู้ร่างกฎหมายอยู่ฝ่ายเดียว และนำมารับฟังความคิดเห็นเมื่อร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว และด้วยระยะเวลาแสดงความคิดเห็นที่สั้น ช่องทางการแสดงความคิดเห็นที่แคบ ตลอดจนไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นในด้านต่างๆ เช่น สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหาของกฎหมายดังกล่าว  หลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้น ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ปัญหานั้น  ประเด็นที่จะรับฟังความคิดเห็นหรือร่างพระราชบัญญัติที่จะรับฟังความคิดเห็น

ดังนั้น กระบวนการร่างกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ..... ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วนั้น สะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

3.การลดทอนคำว่า 'ดำเนินการ' ในรัฐธรรมนูญ ให้เหลือเพียงแค่ 'โครงการหรือกิจการ' ในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับใหม่) และโครงการใดจัดทำ EIA และ EHIA ผ่านแล้ว โครงการที่มีลักษณะคล้ายกันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องทำ EIA และ EHIA อีก

ตามที่มาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ ดำเนินการ อันจะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบ ต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

แต่ตามมาตรา 50 ของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ... กำหนดว่า กรณีที่โครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดใดหรือที่จะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ใด มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและได้รับความเห็นชอบแล้ว และเป็นมาตรฐานที่สามารถใช้กับโครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดเดียวกันหรือในพื้นที่ลักษณะเดียวกันนั้น และรัฐมนตรีสามารถประกาศกำหนดให้โครงการหรือกิจการ ในทำนองเดียวกันถือปฏิบัติโดยได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ได้ ตลอดจนการให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายนำมาตรการต่างๆ ที่กำหนดไว้สำหรับโครงการหรือกิจการที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการสั่งอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาต โดยให้ถือเป็นเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายในเรื่องนั้นด้วย

ซึ่งการกำหนดเพียงโครงการหรือกิจการเท่านั้นถือเป็นการลดทอนสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้แคบลง อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงการดำเนินการของรัฐที่อาจเกิดผลกระทบขึ้น อีกทั้งยังขาดรายละเอียดในการกำกับการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งเป็นการเขียนอำนาจลอยไว้ โดยไม่มีการกำหนดให้ชัดเจน ควรจะมีการออกกฎหมายลูกเพื่อรองรับหลักเกณฑ์ต่างๆ และต้องกำหนดรายละเอียดเงื่อนไข เพื่อกำกับการใช้อำนาจรัฐไว้ เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิกระบวนการทางศาลตรวจสอบได้ หากว่าไม่เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทกำหนดไว้ เช่น

-การไม่เปิดเผยรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ชุมชนได้รับทราบ ซึ่งต้องกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการพิจารณารายงาน EIA ว่าต้องเปิดเผยรายงานให้ชุมชนได้รับทราบด้วย

-มีการหลบเลี่ยงการทำ EIA เช่น กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นกำหนดขนาดที่ต้องจัดทำ EIA อยู่ที่ขนาด 10 เมกะวัตต์ แต่กลับพบว่าบริษัทผู้ประกอบการหลบเลี่ยงการทำ EIA โดยยื่นขออนุญาต เป็นขนาด 9.9 เมกะวัตต์ เพื่อหลบเลี่ยงการจัดทำ EIA

ดังนั้น มาตรา 50 ของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ..... จึงเป็นการบัญญัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

4.ระบบของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นอกจาก EIA และ EHIA ควรเพิ่ม SEA ด้วย

ระบบของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตอนนี้มีเพียงแค่ 2 ระบบคือ การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
(Environmental Impact Assessment-EIA ) และ กระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment–EHIA)

ภาคประชาชนเห็นว่า ควรมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA) ที่เป็นการประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสามารถช่วยให้เห็นถึงความเหมาะสมกับพื้นที่และเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ โดยลักษณะของโครงการพัฒนาต้องสอดคล้องกับ SEA ของแต่ละพื้นที่และการเกิดขึ้นของโครงการจะต้องมีการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ก่อนว่าสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่หรือไม่ หากว่าสอดคล้องจึงค่อยมีการจัดทำรายงาน EIA/EHIA หากไม่สอดคล้องต้องไม่ดำเนินการโครงการนั้น

5.องค์กรบริหารจัดการระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรแยกเป็นหน่วยงานอิสระหรือหน่วยงานกลาง ไม่ใช่การว่าจ้างโดยเจ้าของโครงการตามที่ปฏิบัติในปัจจุบัน เพราะจะทำให้เกิด Conflict of Interest (ผลประโยชน์ขัดกัน) โดยมีหลายกรณีที่บริษัทผู้ถูกจ้างให้มาทำ EIA จะได้รับค่าจ้างครบเมื่อ EIA ผ่านเท่านั้น

ในส่วนของคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการพิจารณาอนุมัติรายงาน จะต้องมีองค์ประกอบที่เท่าเทียมกันระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ และอาจมีคณะกรรมการผู้ชำนาญการในระดับพื้นที่ เช่น คณะกรรมการผู้ชำนาญการในระดับจังหวัด

 

ประสิทธิ์ชัย หนึ่งในแกนนำกล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่ต้องบอกว่าล้าหลัง การคิดจะเอามาตรา 44 มาใส่ไว้ใน พ.ร.บ. ก็ล้าหลัง ถ้าสมมติเป็นร่าง พ.ร.บ. ของกระทรวงอุตสาหกรรมก็อาจจะไม่แปลกใจ แต่มันเป็นร่างของกระทรวงสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหน้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม แต่ก็เอาสิ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาบรรจุไว้ในกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการเจรจาระหว่างเครือข่ายฯ กับตัวแทนกระทรวงทรัพย์ฯ สุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ รับปากว่าจะรับข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณา

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ก่อนหน้านี้สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ แจ้งเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า ห้ามชุมนุมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุขัด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ให้ตัวแทนยื่นหนังสือแทน แต่ผู้จัดยังยืนยันจัดกิจกรรมตามเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท