Skip to main content
sharethis
 
ชาวบ้าน 38 ชุมชนมาบตาพุด เตรียมยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ หลังสาธารณสุขมีนโยบานปรับลดบุคลากรพยาบาล
 
ประธานชุมชนในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง รวมทั้งสิ้น 38 ชุมชน พร้อมด้วย อสม.มาบตาพุด เตรียมเคลื่อนไหวเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ที่ศาลากลางจังหวัด ในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ หลังทราบข้อมูลว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายปรับเกณฑ์ลดบุคลากรโดยเฉพาะพยาบาลปฏิบัติงานทั่วประเทศ
 
ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (มาบตาพุด) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง ปัจจุบัน มีพยาบาล จำนวน 206 คน ให้เหลือเพียง 104 คน
ทั้งนี้ จากการทำประชาคมประธานชุมชนตำบลมาบตาพุด รวม 38 ชุมชน ชาวบ้าน และประธาน อสม.เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (มาบตาพุด) ประชาชนได้สอบถามแผนการพัฒนาโรงพยาบาลเพื่อรองรับแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
 
ทางโรงพยาบาลได้ชี้แจงว่า ได้ของบประมาณการก่อสร้าง และครุภัณฑ์การแพทย์ในการขยายห้องผ่าตัด ห้องไอซียู และตึกบริการผู้ป่วยนอกไปแล้ว แต่ติดขัดเรื่องเรื่องบุคลากร โดยเฉพาะพยาบาล ที่ถูกกำหนดกรอบจากกระทรวงสาธารณสุขให้เหลือพยาบาลปฏิบัติงานเพียง 104 คน จากเดิมที่มีอยู่ 206 คน
 
และทำให้พยาบาลที่มีอยู่ซึ่งเป็นลูกจ้าง จำนวน 50 คน เมื่อมีตำแหน่งข้าราชการจะต้องไปบรรจุที่อื่น ก็จะทำให้พยาบาลหายไป จำนวน 50 คน ภายใน 1-2 ปีนี้ นอกจะมีการขยายบริการไม่ได้แล้ว ยังมีความจำเป็นต้องยุบหอผู้ป่วยในลงอีก 2-3 หอ เนื่องจากพยาบาลหายไป จำนวน 50 คน
 
ด้าน นางจิรภา มหาเทพ ประธานชุมชนมาบชลูด กล่าวว่า ชาวบ้านมาบตาพุดไม่พอใจเป็นอย่างมาก คนมาบตาพุดได้รับผลกระทบมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมมานาน ต่อสู้เพื่อให้ได้มีการขยายโรงพยาบาลมาบตาพุด เดิมที่มีอยู่ 40 เตียง เพิ่มเป็น 200 เตียง
 
และในปี 2552 มติ ครม.อนุมัติให้เป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง เป็นโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือทางการแพทย์ด้านสารเคมีอันตราย ซึ่งได้รับงบจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเกือบ 100 ล้านบาท โดยเฉพาะสมาคมเพื่อนชุมชน ก็ได้สนับสนุนเงินทุนพยาบาลวิชาชีพเรียนฟรีปีละ 200 ทุน(เฉพาะคนในพื้นที่มาบตาพุด) เพื่อจะได้มาทำงานที่โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ แต่กลับถูกไปประจำที่โรงพยาบาลอื่น
 
นางจิรภา มหาเทพ ประธานชุมชนมาบชลูด กล่าวต่อไปว่า นโยบายห่วงแต่ EEC ไม่ห่วงเรื่องสุขภาพชีวิตของคนมาบตาพุด ทั้งที่มาบตาพุด เป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ หากเกิดอุบัติเหตุสารเคมีรั่วไหล คนมาบตาพุดได้รับผลกระทบมลพิษจะส่งไปเข้ารับการรักษาที่ไหน
 
ในอดีตคนมาบตาพุดนับร้อยได้รับมลพิษต้องหามส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงกันโกลาหล แต่กระทรวงสาธารณสุขในยุคปัจจุบันกลับมีนโยบายปรับลดพยาบาล และในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ชาวมาบตาพุดทั้ง 38 ชุมชน จะเดินทางไปยื่นหนังสือให้ นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ที่ศาลากลางจังหวัด หากไม่มีความคืบหน้าก็จะเข้ากรุงเทพฯ ต่อไป
 
 
กกร.จี้แก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ปมต่างชาติบี้ตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว
 
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการแรงงาน และพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ทำหนังสือแสดงความคิดเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน เรื่องการยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยเฉพาะมาตรา 45 ที่กำหนดไว้ว่า ในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป ลูกจ้างอาจจัดตั้ง คณะกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้น หรือสหภาพแรงงานต่างด้าวได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามกฎหมายดังกล่าว ทำให้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ได้ โดยต้องรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงถึงรายละเอียดต่อไป
 
นายพจน์กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่ได้กำหนดให้มีผู้ประกอบการ นายจ้าง หรือผู้ที่ใช้แรงงานต่างด้าวตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป รวมไปถึงตัวของแรงงานต่างด้าวเอง ให้มาขึ้นทะเบียนการทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะครบกำหนดการขึ้นทะเบียนในวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ทั้งนี้ หากไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียนตามกำหนดดังกล่าว ทางรัฐบาลจะดำเนินการตามกฎหมายทันที
 
ตอนนี้ทางสภาหอการค้าฯได้มีการประสานงานและให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาลอย่างเต็มที่ในการขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อให้ถูกต้อง แต่ผู้ประกอบการยังมายื่นความจำนงในการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบ กับสภาพความเป็นจริง และสิ่งที่สภาหอการค้าฯเป็นห่วงมาก คือ แรงงานในกลุ่มเกษตรกรรม ก่อสร้าง และพวกแม่บ้าน ซึ่งเป็น 3 กลุ่มหลักที่ยอมรับว่ามีการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก และยังมีแรงงานต่างด้าวอีกจำนวนมากที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน ดังนั้นจึงต้องการเร่งนำไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง เพราะหากตรวจพบอาจจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย
 
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวกับ“ประชาติธุรกิจ”ว่า ขณะนี้การยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หลังจากที่ กกร. และภาคเอกชนได้ยื่นคำร้องไป โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเท่าเทียมในการปฏิบัติของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย และแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ ซึ่งหากเปรียบเทียบกันแล้วปัจจุบันประเทศไทยให้สิทธิ์แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากกว่า
 
แหล่งข่าวจากภาคอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า การที่ต่างประเทศโดยเฉพาะพวกหน่วยงานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ จะบังคับให้ไทยต้องดำเนินการตาม แต่ขณะที่หลายประเทศไม่ได้ให้สิทธิแรงงานไทยที่เข้าไปทำงาน เป็นเรื่องที่ฝ่ายไทยต้องต่อสู้เรียกร้อง ไม่ใช่ไทยจะต้องปฏิบัติตามทุกอย่าง หากมีสหภาพแรงงานต่างด้าวขึ้นมาเป็นเรื่องที่หลายบริษัทที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากกว่าแรงงานคนไทยค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ในหลายมาตรา ยกตัวอย่างมาตรา 101 ให้สิทธิลูกจ้างต่างด้าวเป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของกรรมการทั้งหมด ถือเป็นเสียงข้างน้อย แต่คงไม่ได้ช่วยอะไร เพราะแรงงานส่วนใหญ่ในโรงงานเป็นแรงงานต่างด้าว ทำให้การควบคุมบริหารจัดการภายในโรงงานอาจเกิดปัญหาได้
 
สมมุติโรงงานมีพนักงาน 100 คน แบ่งเป็น แรงงานต่างด้าว 70 คน แรงงานคนไทย 30 คน หากให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานในโรงงานได้ โดยสหภาพจะมีคณะกรรมการจำนวน 10 คน สมมุติมีกรรมการคนไทย 7 คน ต่างด้าว 2 คน หากมีการลงคะแนนเสียง กรรมการคนไทยถือเป็นเสียงข้างมาก แต่ในทางปฏิบัติแรงงานต่างด้าว 2 เสียงนี้ถือเป็นตัวแทนของแรงงานต่างด้าวทั้งหมดในโรงงาน เพราะฉะนั้น เสียงจากการลงมติในคณะกรรมการสหภาพ อาจจะไม่สามารถแก้ไขหรือยุติข้อเรียกร้องต่าง ๆ ได้
 
“ในอดีตการมีสหภาพแรงงาน เพราะนายจ้างเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง แต่ปัจจุบันความจำเป็นต้องมีสหภาพอาจลดลงไปแล้ว เพราะมีช่องทางอื่น ๆ ในการช่วยเหลือลูกจ้างมากมาย โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐมีการออกกฎหมายหลายฉบับมาคุ้มครองลูกจ้าง มีหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมเข้ามาช่วยเหลือมากมาย หากไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น ความจำเป็นในการจัดตั้งสหภาพในปัจจุบันน่าจะลดบทบาทความสำคัญลงไป ทางกระทรวงแรงงานจึงไม่ควรหยิบประเด็นเรื่องนี้มาทำให้เป็นปัญหา”
 
 
นายจ้าง-ลูกจ้างตรวจความสัมพันธ์วันแรกคึกคัก
 
บรรยากาศที่กระทรวงแรงงาน ล่าสุด นายจ้างและแรงงานจำนวนมาก ต่างทยอยเดินทางเข้ารับบัตรคิว เพื่อเข้าสูขั้นการตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์ของนายจ้างและลูกจ้าง ที่ได้เปิดเพื่อยืนยันความเป็นนายจ้าง - ลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.-6 ก.ย. 2560
 
โดยนายจ้างจะต้องพาลูกจ้างเข้าพบเจ้าหน้าที่ตามที่ได้รับนัดหมาย เพื่อยืนยันความเป็นนายและลูกจ้าง จากนั้นจะสามารถรับเอกสารเพื่อให้ลูกจ้างไปจัดทำหนังสือเดินทาง หรือ CI โดยล่าสุดมีนายจ้างเข้ารับบัตรคิวอยู่ที่ 115 คิว
 
โดยขั้นตอนในการตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่จะตรวจพิจารณาเอกสารและหลักฐานของนายจ้างและลูกจ้าง ก่อนทำการสัมภาษณ์นายจ้าง ลูกจ้าง เกี่ยวกับ ชื่อ นามสกุล อายุ สัญชาติ ลักษณะของงานที่ทำ ส่วนกรณีที่ไม่ผ่านการยืนยัน ลูกจ้างจะต้องเดินทางกลับประเทศ
 
ทั้งนี้กระทรวงแรงงานจะเปิดให้รับบัตรคิวได้ตั้งแต่เวลา 07:30 น. และเริ่มตรวจสอบคัดกรองตั้งแต่เวลา08:30 - 16:30 น. แบ่งเป็นภาคเช้า 250 คิว และภาคบ่าย 250 คิว
 
 
เดือน ก.ค.ว่างงานพุ่ง 1.2% จบปริญญาตรีครองแชมป์เตะฝุ่น 253,000 คน
 
รายงานข่าวจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติว่าภาวะการว่างงานในเดือนก.ค. 2560 มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2% โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 476,000 คน มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 85,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเทียบกับเดือนมิ.ย. 2560 มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 61,000 คน
 
โดยในจำนวนผู้ว่างงาน 476,000 คนนั้น เป็นผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากที่สุดจำนวน 253,000 คน อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3% รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 99,000 คน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.5% ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 74,000 คน อัตราว่างงาน 1.2% ระดับประถมศึกษาจำนวน 33,000 คน อัตราว่างงาน 0.4% และระดับต่ำกว่าประถมศึกษาจำนวน 16,000 คน อัตราว่างงาน 0.2%
 
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จำนวนผู้ว่างงานในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 57,000 คน มัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่มขึ้น 22,000 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้น 19,000 คน ขณะที่ผู้ว่างงานที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษา มีจำนวนลดลง 9,000 คน และระดับประถมศึกษาลดลง 5,000 คน ส่วนด้านประสบการณ์การทำงานของผู้ว่างงานนั้น พบว่า เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 292,000 คน เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 184,000 คน ซึ่งในกลุ่มนี้ลดลง 13,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
 
สำหรับผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนในจำนวน 292,000 คน แยกเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำนวน 194,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สำเร็จการศึกษาสายวิชาการจำนวน 124,000 คน สายอาชีวศึกษาจำนวน 52,000 คน และสายวิชาการศึกษาจำนวน 18,000 คน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 49,000 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 36,000 คน ระดับประถมศึกษา 9,000 คน และระดับต่ำกว่าประถมศึกษาจำนวน 4,000 คน
 
ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานในเดือนก.ค.2560 ที่เพิ่มขึ้น 85,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 พบว่า ภาคกลางมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 33,000 คน ภาคใต้มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 22,000 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีจำวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3,000 คน
 
สำหรับจำนวนผู้มีงานทำ 37.98 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 12.50 ล้านคน นอกภาคเกษตรกรรม 25.48 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก.ค.2559 พบว่า ในภาคเกษตรกรรม มีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 70,000 คน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในการปลูกข้าว และยางพารา
 
ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมมีผู้ทำงานลดลง 490,000 คน เป็นการลดลงในสาขาการผลิตจำนวน 330,000 คน สาขาก่อสร้าง 250,000 คน สาขาการขายส่งและขายปลีก การซ่อมจักรยานยนต์และยานยนต์ 160,000 คน ส่วนสาขาที่เพิ่มขึ้นคือ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารเพิ่มขึ้นจำนวน 160,000 คน สาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 40,000 คน สาขาการศึกษา 30,000 คน และสาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 10,000 คน
 
 
เตือนนายจ้างห้ามเรียกเงินประกันทำงาน
 
(9 ส.ค.2560) นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ห้ามไม่ให้นายจ้างเรียกหลักประกันการทำงาน และหลักประกันความเสียหายจากการทำงาน ไม่ว่าจะประกันด้วยเงิน ประกันด้วยบุคคล หรือประกันด้วยทรัพย์ เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้น ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ โดยประเภทของหลักประกันการทำงาน จำนวนเงิน และวิธีการเก็บรักษา ขอให้นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการศึกษาและปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกเก็บหรือรับหลักประกันการทำงาน ระบุลักษณะ หรือสภาพของงานที่เรียกเก็บไว้ ได้แก่ 1.งานสมุห์บัญชี 2.งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน 3.งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า 4.งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้างที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง 5.งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน 6.งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ และ 7.งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงิน หรือการธนาคาร
 
สำหรับหลักประกันการทำงาน หรือความเสียหายมี 3 ประเภท ได้แก่ เงินสด ทรัพย์สิน และการค้ำประกันด้วยบุคคล โดยการเรียกเก็บต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ
 
 
กสร.ชี้ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์มีสิทธิขอเปลี่ยนงานได้
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้กำหนดสิทธิให้ลูกจ้างหญิงที่มีครรภ์และมีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้ มีสิทธิขอให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ และนายจ้างจะต้องพิจารณาเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้างหญิงที่ตั้งครรภ์นั้นด้วย สำหรับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ทั้งนี้หากนายจ้างมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 02245717, 022466389 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1546
 
ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 9/8/2560
 
ก.แรงงานพอใจ ยอดแรงงานเฉียด 8 แสน - กทม. ครองแชมป์มากสุดกว่า 160,000 คน
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงานได้มีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่ไม่มีเอกสารและไม่มีใบอนุญาตทำงาน โดยเปิดโอกาสให้นายจ้าง-ลูกจ้างที่ทำงานอยู่ด้วยกันแจ้งความประสงค์ในการทำงานให้ถูกต้อง โดยได้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว 100 ศูนย์ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม ถึง 7 สิงหาคม 2560 โดยระดมทรัพยากรทั้งบุคลากรและเครื่องมือจากทุกหน่วยในสังกัดกว่า 3,000 คน เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกการรับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวให้เพียงพอกับผู้มารับบริการ ซึ่งเมื่อสิ้นสุดการเปิดศูนย์รับแจ้งฯ ไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีนายจ้างยื่นแบบคำขอจ้างคนต่างด้าว จำนวน 193,918 ราย เป็นบุคคลธรรมดามากที่สุด จำนวน 169,575 ราย นิติบุคคล จำนวน 24,060 ราย และเป็นชาวต่างชาติ 283 ราย โดยมายื่นที่ศูนย์รับแจ้ง 180,058 ราย ยื่นทางออนไลน์ 13,860 ราย มีลูกจ้างคนต่างด้าว 772,270 คน สัญชาติเมียนมามากสุด 451,515 คน คิดเป็นร้อยละ 58.47 รองลงมา กัมพูชา 222,907 คน ร้อยละ 28.86 และลาว 97,848 คน ร้อยละ 12.67 ซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกับที่กระทรวงแรงงานคาดการณ์ไว้ โดยจังหวัดที่มีการยื่นขอจ้างคนต่างด้าวมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร 162,597 คน รองลงมาชลบุรี 44,487 คน สมุทรปราการ 40,868 คน ตาก 38,940 คน และเชียงใหม่ 36,075 คน ขณะที่ประเภทธุรกิจที่มีการยื่นขอมากที่สุดได้แก่ กิจการก่อสร้าง 181,772 คน ตามมาด้วยกิจการเกษตรและปศุสัตว์ 170,854 คน กิจการผลิตหรือจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 70,384 คน กิจการให้บริการต่าง ๆ ยกเว้นกิจการรับเหมา 58,914 คน และผู้รับใช้ในบ้าน 51,512 คน
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า หลังจากนายจ้างยื่นแบบคำขอจ้างคนต่างด้าวดังกล่าวแล้ว จะเป็นการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้างว่าทำงานด้วยกันจริงหรือไม่ ตรวจสอบหลักฐานที่ยื่นถูกต้องหรือไม่ ลูกจ้างมีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งผู้ผ่านการคัดกรองจะได้รับหนังสือรับรองเพื่อไปตรวจสัญชาติต่อไป สำหรับการตรวจสัญชาตินั้น ก็ได้รับความร่วมมือที่ดีจากประเทศต้นทางคือ เมียนมา ซึ่งมีศูนย์ตรวจสัญชาติในไทยแล้ว 6 ศูนย์ 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร 2 ศูนย์ สมุทรปราการ เชียงราย ตาก และระนอง จังหวัดละ 1 ศูนย์ แต่ขณะนี้ทางการเมียนมาแจ้งว่าจะเปิดเพิ่มอีก 3 จังหวัดคือ เชียงใหม่ นครสวรรค์ และสงขลา ขณะเดียวกันทางการกัมพูชาก็จะตรวจสัญชาติในประเทศไทยเช่นกัน 3 จังหวัดคือ ระยอง สงขลา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเป็นการดำเนินการในรูปแบบ One Stop Service (OSS) ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยภายในศูนย์ OSS จะมีทางการเมียนมาตรวจสัญชาติออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ทางการกัมพูชาออกเอกสารเดินทาง (TD) ตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตราวีซ่า สาธารณสุข ตรวจโรค และทำประกันสุขภาพ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน โดยจะแล้วเสร็จภายใน 1 วัน แรงงานสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องทันที ส่วนลาวต้องเดินทางกลับประเทศแล้วกลับเข้ามาทำงานตามระบบ MOU
 
 
แจ้งจับโฆษณารับนำเข้า “ต่างด้าวเถื่อน” มาทำงานในไทยผ่านไลน์
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีมีการโฆษณานำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยระบุข้อความ “โปรแรง “MOU” กัมพูชา!! มีแค่..พาสปอร์ตท่องเที่ยวเอามาทำใบอนุญาตทำงาน...ให้ถูกต้องได้” เสียค่าใช้จ่ายเพียง 15,900 บาทต่อคน ว่า จากการสืบสวนและตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน พบว่า การโฆษณาดังกล่าว ผู้โฆษณาไม่ได้เป็นผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศแต่อย่างใด ซึ่งฝ่าฝืนมาตรา 25 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ข้อหา ห้ามผู้ใดโฆษณานำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ เว้นแต่เป็นผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงาน มีโทษตามมาตรา 104 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดินแดงแล้ว
 
นายวรานนท์ กล่าวว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ผ่อนผันบทกำหนดโทษ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ใน 4 มาตรา คือ 101 102 119 และ 122 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ดังนั้น ความผิดตามมาตราอื่นๆ ที่ พ.ร.ก. กำหนด จะมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งหากผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนจะต้องบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเดือดร้อนต้องสูญเสียเงินให้กับการโฆษณาในครั้งนี้ สามารถร้องทุกข์ได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0 2248 4792 ,0 2245 6763 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
 
 
เผย 4 วัน แรงงานต่างด้าวผ่านการคัดกรองกว่า 9 หมื่นคน ขณะที่ 1,600 คนไม่ผ่าน เหตุไม่มีความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างก่อน 23 มิ.ย.
 
นายวรานนท์  ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน มีความห่วงใยกรณีสาธารณชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับขั้นตอนและความจำเป็นในการพิสูจน์คัดกรองแรงงานต่างด้าวที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ว่า การคัดกรองดังกล่าวจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อความรอบคอบ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้มีการขนคนเข้ามาใหม่ โดยคัดกรองเพื่อตรวจสอบเรื่องความสัมพันธ์ในการเป็นนายจ้าง ลูกจ้างจริง เป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานอยู่กับนายจ้างก่อนวันที่ 23 มิ.ย. 2560 มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายหรือไม่ เช่น ใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี การใช้แรงงานบังคับ ใช้แรงงานเด็กอายุ 15-18 ปีในงานที่เป็นงานห้าม รวมทั้งกรณีอายุเกิน 55 ปี
 
"หากพิจารณาไม่รอบคอบจะมีผลเสียตามมา อาทิ มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ซึ่งผิดกฎหมาย และอาจนำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะนายจ้างหรือสถานประกอบการ ขอให้ทุกฝ่ายอดทนและร่วมมือกันเพื่อให้เป็นที่ยอมรับกับประเทศคู่ค้าในสายตาประชากรโลกว่าประเทศไทยมีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวตามมาตรฐานสากล" นายวรานนท์ กล่าว
 
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า การพิจารณาดังกล่าวนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อการพิสูจน์สัญชาติของประเทศต้นทางที่ให้ความร่วมมือในช่วงที่ผ่านมาอย่างดียิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมมมานาน การทำงานย่อมเกิดปัญหาความไม่สะดวกได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มีการสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดความสะดวกแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าวเป็นระยะ ซึ่งจากการพิสูจน์คัดกรอง 4 วันที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีนายจ้างผ่านการคัดกรองกว่า 28,000 ราย แรงงานต่างด้าวผ่านการคัดกรองกว่า 90,000 คน ไม่ผ่านการคัดกรองกว่า 1,600 คน เนื่องจากไม่มีความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างก่อนวันที่ 23 มิ.ย. 2560 และขาดคุณสมบัติด้านอายุ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเชื่อมโยงในการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
 
 
รายงานชี้ไทยแก้ปัญหาทาสยุคใหม่ดีขึ้น แต่ EU แย่ลง
 
ผลการจัดอันดับดัชนีทาสยุคใหม่ (Modern Slavery Index หรือ MSI) ประจำปี 2017 จัดทำโดยบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลจากอังกฤษ 'วีริสค์ เมเปิลครอฟท์' ซึ่งเป็นการสำรวจและประเมินสถานการณ์ด้านแรงงานใน 198 ประเทศทั่วโลกตลอดปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนประชากรที่ถูกบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส หรือที่เรียกกันว่า 'ทาสยุคใหม่' มีประมาณ 21 ล้านคนทั่วโลก และนักวิจัยอาวุโสฝ่ายสิทธิมนุษยชนของบริษัทวีริสค์ เมเปิลครอฟท์ กล่าวเตือนว่าวิกฤตผู้อพยพในยุโรปส่งผลให้เกิดปัญหาทาสยุคใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
 
สมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู รวม 5 ประเทศ ได้แก่ โรมาเนีย กรีซ อิตาลี ไซปรัส และบัลแกเรีย เป็นประเทศที่พบทาสยุคใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุด เนื่องจากผู้อพยพจำนวนมากจากทั่วโลกเลือกที่จะเดินทางโดยเรือมาขึ้นฝั่งที่ 5 ประเทศเหล่านี้ โดยมีความหวังว่าจะยื่นเรื่องขอความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยได้ง่ายกว่าการเดินทางไปยังประเทศอื่นๆ แต่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเหล่านี้มักจะตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์และผู้ที่ต้องการเอาเปรียบแรงงานด้วยการกดค่าแรงขั้นต่ำ
 
ผลสำรวจจากดัชนีเอ็มเอสไอบ่งชี้ว่านายหน้าค้ามนุษย์ลักลอบนำแรงงานทาสยุคใหม่เข้าไปยังประเทศสมาชิกอียูอื่นๆ ด้วย ทำให้สถานการณ์ด้านแรงงานใน 20 ประเทศสมาชิกอียูมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ไม่เว้นแม้แต่เยอรมนี อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก และฟินแลนด์ ซึ่งมีนโยบายปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็งติดอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนอินเดียและไทยเป็น 2 ประเทศที่มีความคืบหน้าในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทาสยุคใหม่ 'มากที่สุด' เพราะมีการเร่งปราบปรามและออกมาตรการป้องกันการใช้แรงงานทาสยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่พ้นจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงด้านการใช้แรงงานทาสยุคใหม่อยู่ดี แต่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเกือบทั้งหมดติดอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน
 
ก่อนหน้านี้ องค์กรระหว่างประเทศ 'วอล์ค ฟรี ฟาวเดชั่น' ได้เผยแพร่รายงานสำรวจสถานการณ์แรงงานทั่วโลกเช่นกัน โดยในส่วนของประเทศไทยมีความคืบหน้าขึ้น โดยเฉพาะการออกกฎหมายป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานอย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังมีทาสยุคใหม่ในประเทศไทยอยู่อีกประมาณ 4 แสน 2 หมื่น 5 พันคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมงและก่อสร้าง ส่วนแรงงานผู้หญิงซึ่งทำหน้าที่แม่บ้านหรือพนักงานร้านอาหารหรือร้านคาราโอเกะ มักถูกบังคับใช้แรงงานภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงและถูกหาประโยชน์ทางเพศ รวมถึงถูกบังคับให้ค้าประเวณี นอกจากนี้ยังพบว่า เยาวชนชายจำนวนมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกชักจูงไปเป็นทหารเด็กให้กับกลุ่มก่อเหตุที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
 
ส่วนข้อเสนอแนะที่วอล์คฟรีฟาวเดชั่นมีต่อรัฐบาลไทย ได้แก่ การเพิ่มความจริงจังในการคุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อการใช้แรงงานทาสยุคใหม่ รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการสอบสวนและดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขบวนการเหล่านี้โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าผู้ก่อเหตุจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอิทธิพลทางสังคม ที่สำคัญคือรัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ค.ศ.1951 เพื่อคุ้มครองผู้อพยพหรือผู้ยื่นเรื่องขอลี้ภัยในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ตกเหยื่อการใช้แรงงานทาสยุคใหม่มากที่สุด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net