Skip to main content
sharethis

ทัศนะจากชาวกัมพูชาต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ถูกเพิ่มเติมลงไปในประมวลกฎหมายอาญา ด้านหนึ่งพวกเขากังวลว่าจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองกำจัดฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล อีกด้านหนึ่งสะท้อนวัฒนธรรมกษัตริย์นิยมที่ชาวกัมพูชารุ่นใหม่ได้รับอิทธิพลมาจากไทย

จิตรกรรมฝาผนังรามเกียรติ์ที่วัดอุโบสถรัตนาราม ตั้งอยู่ภายในพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา กฎหมายอาญาในฐานความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฉบับแรกของประเทศกัมพูชาได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นเอกฉันท์ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้พระมหากษัตริย์และสมาชิกสำคัญของราชวงศ์ไม่เคยได้รับการยกเว้นในเรื่องการถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก่อน

ภายใต้กฎหมายใหม่ อัยการมีสิทธิสั่งฟ้องดำเนินคดีในนามของสถาบันกษัตริย์กับผู้ที่หมิ่นประมาทพระบรมวงศานุวงศ์ โดยบทลงโทษมีตั้งแต่จำคุก 1-5 ปี และปรับเป็นเงินประมาณ 15,000-78,000 บาท ขอบเขตการหมิ่นประมาท ครอบคลุมทั้งการแสดงออกด้วยคำพูด กิริยาท่าทาง เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ภาพวาดหรือวัตถุต่างๆ

ที่ผ่านมากษัตริย์นโรดม สีหมุนี ซึ่งขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2547 ถูกมองว่าเป็นองค์ประมุขในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น และด้วยพระจริยวัตรที่เรียบง่ายและทรงวางตนเหนือความขัดแย้งทางการเมืองก็แตกต่างอย่างชัดเจนกับสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระราชบิดา ที่ทรงมีความทะเยอทะยานทางการเมือง และมักทรงโต้แย้งกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีอย่างเปิดเผย

ตลอดระยะเวลากว่า 33 ปี สถาบันกษัตริย์ของกัมพูชาได้เสื่อมอำนาจลงและกลายเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ ภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ผู้นำเผด็จการอำนาจนิยม ซึ่งยังมุ่งหมายจะครองอำนาจและยังคงเดินหน้าปราบปรามฝ่ายต่อต้านและศัตรูทางการเมือง จับกุมหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านและทำให้พรรคนี้ถูกยุบ อดีตสมาชิกพรรคหลายคนต้องหนีไปลี้ภัยในต่างแดน

ในขณะที่จัก โสเภียบ ผู้อำนวยการศูนย์สิทธิมนุษยชนกัมพุชา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่กฎหมายนี้จะถูกใช้เพื่อเล่นงานผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกใช้เพื่อปิดปากฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

อนุสาวรีย์วิมานเอกราช กรุงพนมเปญ

ประชาไทได้สัมภาษณ์ เสทะโมนี ซา (Sethamony Sar) นักศึกษาปริญญาโทชาวกัมพูชา และมะกะรา ออช์ (Makara Ouch) ช่างภาพที่เคยถ่ายรูปให้กับกษัตริย์นโรดม สีหมุนี ในฐานะประชาชนผู้มีความสนใจเกี่ยวกับการเมืองและสถาบันกษัตริย์ของกัมพูชา ซึ่งแม้ทั้งสองคนจะมีทัศนะต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบันที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่น่าสนใจที่ทั้งสองให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งที่ประชาชนกัมพูชาหันกลับมานิยมกษัตริย์ เป็นเพราะค่านิยมเกี่ยวกับการเทิดทูนกษัตริย์ในประเทศไทยผ่านวัฒนธรรมกระแสหลักอย่างหนัง ละครและเพลง

เสทะโมนี ซา (Sethamony Sar) นักศึกษาปริญญาโทชาวกัมพูชา ตั้งข้อสังเกตถึงจุดเริ่มต้นของการมีกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ว่า อาจจะเริ่มมาจากการมีเฟซบุ๊ก แล้วมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์เกิดขึ้น กล่าวหาว่ากษัตริย์ไม่ดี ทำงานให้ประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากนั้นรัฐบาลจึงได้ประชุมแล้วออกกฎหมายนี้อย่างเป็นทางการ ส่วนกษัตริย์เป็นแค่คนเซ็นอนุมัติกฎหมายนี้

เสทะโมนีวิเคราะห์ว่า กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ถูกนำมาใช้เพื่อดึงกษัตริย์เป็นพวก คนกัมพูชาก็รักกษัตริย์ เวลาทำนโยบาย ฝ่ายไหนที่อยู่ใกล้ชิดกษัตริย์มากที่สุดประชาชนจะนับถือมากกว่า ตอนนี้เวลาจะรับปริญญา นายกฯจะเป็นคนไปมอบให้ ไม่ใช่กษัตริย์ แต่มีนักศึกษาบางส่วนที่อยากให้กษัตริย์ไปทำบ้าง และนี่ก็เป็นผลมาจากประเทศไทย

“วัฒนธรรมไทยในกัมพูชากำลังเป็นที่นิยม คนกัมพูชาดูละครไทย หนังไทย ฟังเพลงไทย ซึ่งส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยก็แสดงให้เห็นว่า กษัตริย์เป็นคนดี น่ายกย่อง เขาจึงรู้สึกอยากให้กัมพูชาเป็นแบบนั้นบ้าง คนกัมพูชามีสิทธิเลือกตั้งเมื่ออายุ 17 ปี รัฐบาลต้องการได้เสียงจากวัยรุ่น และรู้ว่าวัยรุ่นชอบกษัตริย์ จึงพยายามแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายรัฐบาลก็หนุนกษัตริย์ กฎหมายหมิ่นกษัตริย์นี้จึงอาจจะปกป้องรัฐบาลด้วย เพราะเมื่อฝ่ายรัฐบาลหันมาหนุนกษัตริย์ ทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีอำนาจมากขึ้น แต่ประชาชนไม่ได้รักนโรดม สีหมุนีเหมือนสมเด็จสีหนุ เพราะเขาไม่ใกล้ชิดประชาชน แต่ก็ยังรู้สึกว่าต้องเคารพเพราะเขาเป็นกษัตริย์” เสทะโมนีตั้งข้อสังเกต

เมื่อถามว่า การใช้กฎหมายใหม่นี้เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองอย่างไรบ้าง เสทะโมนีเล่าถึงพื้นหลังคร่าวๆ ทางการเมืองของกัมพูชาว่า การเมืองในกัมพูชามีหลายฝ่าย หลักๆ คือฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านนั้นมีพรรคสมรังสีและพรรคของนโรดม รณฤทธิ์ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับราชวงศ์กษัตริย์ ส่วนฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายที่เกิดขึ้นโดยประชาชนซึ่งแต่เดิมไม่เคยเข้าข้างฝ่ายกษัตริย์

ต่อมาฝ่ายรัฐบาลได้ทำให้พรรคสมรังสีหมดอำนาจลงจน สม รังสี ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคต้องลาออก เนื่องจากโดนคดีหมิ่นประมาทจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในทางที่ไม่ดี และท้ายที่สุด ศาลตัดสินให้ยุบพรรค แม้จะมีประชาชนที่ชอบพรรคนี้อยู่ก็ตาม

อีกพรรคหนึ่งคือพรรคของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ ซึ่งเป็นลูกชายของสมเด็จสีหนุ แต่ประชาชนไม่ค่อยไว้ใจเท่าไหร่เพราะเขาไม่เก่งเรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ และทำผิดพลาดมาแล้ว แม้ประชาชนจะรักสมเด็จสีหนุ แต่ก็ไม่ได้รักลูกของเขา

เมื่อไม่มีพรรคฝ่ายค้านหลักที่น่าเชื่อถือ มีแค่พรรคเล็กๆ น้อยๆ ที่ประชาชนไม่ได้เชื่อถือ ฝ่ายรัฐบาลจึงหมดศัตรูทางการเมือง หลังจากนั้นรัฐบาลจึงได้เสนอให้นำกฎหมายหมิ่นกษัตริย์มาใช้เพือสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนมากยิ่งขึ้น

เมื่อถามว่าในขณะนี้เมื่อกฎหมายหมิ่นกษัตริย์ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว มีกระแสเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง เสทะโมนีเล่าว่า ประชาชนบางส่วนก็ดีใจที่มีกฎหมายนี้ บางส่วนก็กลัวและงดการวิพากษ์วิจารณ์ไป

“ทุกวันนี้คนกัมพูชามักไม่ปฏิบัติหรือไม่ค่อยเชื่อกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่มีใครคิดว่ากฎหมายศักดิ์สิทธิ ภาษีก็มีการโกง ประชาชนหมดความไว้ใจ กฎหมายจะมีก็มีไปเถอะ นี่เป็นบางส่วนที่ประชาชนรู้สึก อย่างกฎจราจรเขาก็ไม่เคารพ เป็นกระแสที่ดังมากเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มีคนขับรถคนหนึ่งที่ขับรถผิดกฎจราจร ตำรวจเรียกเพื่อจะปรับ เขาก็ลงจากรถมาตบตำรวจ จนตำรวจต้องคุกเข่าขอโทษ แล้วเขาก็ไม่ต้องติดคุกเพราะเขาเป็นคนรวย ส่วนคนที่ติดคุกคือคนธรรมดาที่ไม่ได้ร่ำรวย ส่วนกฎหมายหลักๆ ก็ยังต้องเคารพ อย่างกฎหมายหมิ่นฯ ประชาชนก็ยังกลัวเหมือนกัน” เสทะโมนีกล่าว

พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา

ส่วนมะกะรา ออช์ (Makara Ouch) ช่างภาพที่เคยถ่ายรูปให้กับกษัตริย์นโรดม สีหมุนี เล่าถึงความประทับใจเมื่อครั้งได้ร่วมงานกับกษัตริย์นโรดม สีหมุนี ว่า ตนรักกษัตริย์ เพราะได้เจอได้คุยเป็นการส่วนตัวกับท่านซึ่งถือเป็นเกียรติมาก โดยวิธีที่ท่านพูดนั้นเป็นกันเอง ไม่ได้รู้สึกว่ามีระยะห่างกับประชาชน ได้เห็นพระราชกรณียกิจ เช่น การเสด็จไปชนบทเพื่อสร้างความใกล้ชิดกับประชาชนเสมอ หรือเข้าร่วมในงานกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม จึงประทับใจและเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็รักครอบครัวของกษัตริย์ และที่สำคัญคือ พระองค์ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่มีแค่คนเดียวในตระกูล คือ นโรดม รณฤทธิ์ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง และประชาชนก็ไม่ชอบเขา

“สำหรับผม ผมต้องการให้กษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ เป็นตัวแทนของประเทศ ดูแลประชาชนของเขา คนกัมพูชาเองก็เห็นพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 ผ่านทางสื่อต่างๆ ใครๆ ก็รักเขา เราก็อยากให้กษัตริย์ของเราเป็นแบบนั้น” คือความเห็นเกี่ยวกับกษัตริย์องค์ปัจจุบันของมะกะรา

มะกะรายังเล่าต่อว่า ในประเทศไทย กษัตริย์จะค่อนข้างมีระยะห่างกับประชาชน แต่ในกัมพูชา เช่น ในวันชาติหรือวันประกาศอิสรภาพของกัมพูชา กษัตริย์จะมาพบปะกับเหล่ารัฐมนตรีและประชาชน ถ่ายรูปร่วมกับพวกเขา ทำให้เรารู้สึกว่าเขาเป็นมิตรและเป็นกันเองกับประชาชนมากๆ

เมื่อถามถึงสาเหตุว่า ทำไมจึงเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกษัตริย์จนทำให้ต้องมีกฎหมายหมิ่น มะกะราตอบว่า สาเหตุเป็นเพราะเรื่องในอดีต พวกเขากล่าวหาว่ากษัตริย์ไม่สนใจเรื่องที่พรรครัฐบาลควบคุมประเทศ เป็นความคิดฝังหัวของพวกเขามาตั้งแต่อดีต อาจจะมาตั้งแต่ยุคของลอน นอล เป็นผู้นำประเทศ ซึ่งเขาทำการรัฐประหารล้มรัฐบาลของสมเด็จนโรดม สีหนุ แต่ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์ของเขมรแดงซึ่งได้ร่วมมือกับสมเด็จสีหนุกลับมายึดประเทศได้สำเร็จ ประเทศอยู่ภายใต้การนำของเขมรแดง สมเด็จสีหนุได้กลับมาในตำแหน่งประมุขของรัฐ แต่ต่อมาก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งอีก และในยุคของเขมรแดงประชาชนก็ยากลำบากและเสียชีวิตอย่างโหดร้ายกว่าสองล้านคนโดยที่กษัตริย์เองไม่อาจทำอะไรได้ จึงทำให้ประชาชนบางส่วนยังคงความรู้สึกไม่เชื่อมั่น

“ในส่วนของกฎหมายนี้ ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนใช้ อาจเป็นไปได้ว่ารัฐบาลต้องการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกล่าวโทษต่อขั้วการเมืองอีกฝ่าย กฎหมายหมิ่นนี้ในต่างประเทศให้ความสนใจกันมาก แต่ผู้มีอำนาจในประเทศก็ไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่ดี สำหรับผมแล้วไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองฝ่ายไหนก็แย่พอกันหมด ผมจึงคิดว่ากษัตริย์ซึ่งยังดำรงตนอย่างเป็นกลางนั้น สำคัญกับประเทศของเรา” มะกะรากล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net