Skip to main content
sharethis

ศรีสุวรรณ ออกแถลงการณ์คัดค้านการเตรียมซื้อดาวเทียมโจรกรรมของกลาโหม ซึ่งทำให้สหรัฐเปลี่ยนท่าทีมาอี๋อ๋อรัฐบาลไทย ระบุละเมิดความเป็นส่วนตัวประชาชน  ละเมิดรัฐธรรมนูญ ในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำหนักด้วย “(ดาวเทียมดังกล่าว) สามารถเก็บภาพทุกสรรพสิ่งบนพื้นผิวโลกและบนพื้นผิวประเทศไทยที่ความละเอียด 0.5 เมตรต่อครั้งต่อวินาทีตลอดเวลา 24 ชั่วโมง (86,400 ภาพทุกๆ 24 ชม.) ดังนั้นไม่ว่าคนไทย 66 ล้านคนจะทำอะไร แม้แต่กดเบอร์โทรศัพท์ ดาวเทียมดังกล่าวก็สามารถตรวจจับและบันทึกได้ว่าโทรเบอร์อะไร โทรหาใคร”

3 มิ.ย.2561 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิก่ารสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านการเตรียมจัดซื้อดาวเทียมจารกรรมมูลค่า 9.12 หมื่นล้านบาทของกระทรวงกลาโหม  (อ่านรายละเอียดด้านล่าง)

ขณะที่สปริงนิวส์ รายงานวันเดียวกันว่า กระทรวงกลาโหมเตรียมจัดทำร่างยุทธศาสตร์โครงการดาวเทียมเพื่อป้องกันประเทศที่มีแผนระยะยาว 10 ปี เพื่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะเร่งทำสัญญาร่วมกับหลายชาติดำเนินการการจัดสร้างดาวเทียมเทเออร์ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561โดยจะใช้งบประมาณที่สูงถึง 2,000,000,000บาทอีกส่วนหนึ่งด้วย

ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา แนวหน้ารายงานว่า พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมสภากลาโหม ว่าที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ติดตามพัฒนาการของภัยคุกคามด้านกิจการอวกาศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และให้บูรณาการงานร่วมกับกองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาขีดความสามารถด้านกิจการอวกาศของกระทรวงกลาโหม ให้เป็นไปตามแผนงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะการพัฒนาองค์ความรู้และขีดความสามารถของกำลังพลจากระดับผู้ใช้งาน(USER) สู่การเป็นผู้ควบคุมและบริหารสถานีดาวเทียม(OPERATOR) เพื่อพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเอง และรองรับระบบงานความมั่นคงด้านอวกาศของประเทศในอนาคต การใช้ดาวเทียมสอดแนม ระบบขีปนาวุธนำวิถีด้วยดาวเทียมนำร่อง และระบบนำร่องอากาศยานไร้คนขับในการทิ้งระเบิดเป้าหมาย

พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ไทยเช่าดาวเทียมไทยคมเพื่อการสื่อสารอยู่ ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2564 ในส่วนของความมั่นคงใช้ ธีออส ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ต่อไปเราจะพัฒนาเป็นดาวเทียมของเราที่ใช้ในระบบเองเพื่อความมั่นคงของรัฐ แต่จะเรียกรวมว่า ดาวเทียมทหารเลยคงไม่ใช่เพราะเป็นการใช้รวมกันทั้งหมด

เมื่อถามต่อว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามแผนจะใช้เวลาเท่าไรในการที่ไทยจะมีดาวเทียมใหม่ พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า คาดว่าคงภายในปี  2564 เพราะไทยคมจะหมดสัมปทานในปี 2564 เราจึงต้องเตรียมตัวของเราไว้ด้วย โดยงานหลักที่รับผิดชอบหลักคือกระทรวงวิทยาศาสตร์ เราจะดูในส่วนของกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณยังไม่แน่ชัดว่าวงเงินเท่าใด แต่ถ้ามีจะคุ้มค่า ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ งานด้านการทหาร ความมั่นคง การเฝ้าระวังทางอากาศ การสื่อสาร การสำรวจเพื่อการพัฒนา ภาพถ่ายทางอากาศ

0000000

แถลงการณ์
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
เรื่อง   ขอคัดค้านการเตรียมการจัดซื้อดาวเทียมจารกรรมมูลค่า 91,200 ล้านบาท

......................................

ตามที่สภากลาโหมได้พิจารณาแนวความคิดด้านกิจการอวกาศ ของกระทรวงกลาโหมเพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2561-2570 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยการผลักดันของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป. : DTi) เพื่อนำไปสู่การจัดซื้อจัดหา "ดาวเทียมไธอา : THEIA 112 ดวง มูลค่า 2,850 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ หรือ 91,200 ล้านบาทไทย (ไม่รวมค่าจัดส่งดาวเทียมขึ้นฟ้า) จากบริษัท THEIA Group โดยมีอดีตนักการเมืองในประเทศไทยเป็นตัวแทนนายหน้า ซึ่งอ้างว่ามีการร่วมทำ Thailand Satellites Data Information Processing Center กับสหรัฐอเมริกา โดยมีประเทศซาอุดิอาระเบีย และคาซัคสถาน ตกหลุมพรางของสหรัฐดำเนินการไปก่อนแล้วนั้น

ดาวเทียมดังกล่าว แท้ที่จริงแล้วอาจเรียกได้ว่าเป็น “ดาวเทียมจารกรรม” ที่มีศักยภาพในการตรวจจับและเก็บภาพทุกสรรพสิ่งบนพื้นผิวโลกและบนพื้นผิวประเทศไทยที่ความละเอียด 0.5 เมตรต่อครั้งต่อวินาทีตลอดเวลา 24 ชั่วโมง (86,400 ภาพทุก ๆ 24 ชม.) ดังนั้น ไม่ว่าคนไทยทั้ง 66 ล้านคนจะทำอะไร แม้แต่กดเบอร์โทรศัพท์ดาวเทียมดังกล่าวก็สามารถตรวจจับและบันทึกได้ว่าโทรเบอร์อะไร โทรหาใคร ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต และความเป็นส่วนตัวของบุคคล อันขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 4 มาตรา 25 มาตรา 32 และมาตรา 36 ที่ระบุไว้ชัดเขนว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว” และ “การกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทำมิได้”

นอกจากนั้น การดำเนินการจัดซื้อจัดหาดาวเทียมดังกล่าวยังอาจขัดต่อมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 อีกด้วย เนื่องจากประธานกรรมการ สทป.และคณะได้ไปลงนามในหนังสือแสดงการรับรู้ หรือ LOA (Letter of Acknowledge) แล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2560 และต่อมาได้มีการลงนามในหนังสือแสดงความจำนง หรือ LOI (Letter of Intent) เมื่อเดือนมีนาคม 2561 และล่าสุดได้ลงนามในหนังสือยืนยัน หรือ LOC (Letter of Confirm) เมื่อปลายเมษายน 2561 ที่ผ่านมา โดยการรับรู้ของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯและประธานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่เดินทางไปเยือนสหรัฐมาเมื่อเดือนที่แล้ว ทั้งๆ ที่สหรัฐเคยต่อต้าน คสช. มาโดยตลอด แต่เพื่อผลประโยชน์ของชาติในเรื่องนี้ ทำให้นโยบายของสหรัฐเปลี่ยนไปทันทีเมื่อไทยประสงค์จะซื้อดาวเทียมจารกรรมนี้มาจากสหรัฐอเมริกา

การดำเนินการของรัฐบาล นอกจากจะขัดต่อกฎหมายแล้ว ยังไม่คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำ ประชาชนยากจน มีหนี้เฉลี่ยท่วมหัวเพิ่มขึ้น 7.1% การจ้างงานลดลง 0.2% ตามที่สภาพัฒน์ฯรายงาน ส่วนหนี้ของรัฐบาลมีมากกว่า 5.1 ล้านล้านบาท ยังพยายามที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นจากการจัดซื้อจัดหาดาวเทียมจรกรรมดังกล่าวในห้วงสุดท้ายของการมีอำนาจ แม้ก่อนหน้านี้จะมีการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทั้ง 3 เหล่าทัพไปแล้วมากมาย โดยเฉพาะเรือดำน้ำมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาทยังไม่พออีกหรือ ? ซึ่งกรณีดังกล่าวสมาคมฯจักต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไปในเร็ว ๆ นี้

3 มิถุนายน 2561
นายศรีสุวรรณ  จรรยา
เลขาธิก่ารสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

=====

หมายเหตุ มีการเพิ่มเติมข่าวเวลา 21.21น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net