Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ผู้หญิงกว่า 1 ล้านคนได้ออกมาแสดงพลังด้วย“ขบวนของผู้หญิง” (Women’s March) ในกรุงวอชิงตันดีซี พร้อมๆกับที่ผู้หญิงอีกหลายล้านคนตามเมืองต่างๆทั่วประเทศและทั่วโลกได้ร่วมแสดงพลังพร้อมกัน   ในวันนั้นฉันอยู่ระหว่างเดินทางเลยไม่ได้ไปออกไปร่วมแสดงพลังด้วยขา  แต่ฉันก็ติดตามข่าวบนเครื่องบินและโพสต์ข่าวลงเพจมายด์พร้อมความคิดเห็นระหว่างที่อยู่บนเครื่องบิน  


เพื่ออะไร?

หลังการเดินทางสิ้นสุดลง มิตรสหายท่านหนึ่งเขียนมาเล่าว่าผิดหวังกับเพื่อนคนไทยที่เรียกร้องประชาธิปไตยไทยแต่ตำหนิว่ากลุ่ม“ขบวนของผู้หญิง”ขัดขวางการปกครองระบอบประชาธิปไตย ฉันตอบมิตรสหายท่านนั้นไปดังนี

ก) ไม่แปลกที่เพื่อนเขาไม่เข้าใจ เพื่อนเขาเป็นแบบนี้กระบวนการประชาธิปไตยที่ไทยถึงไม่ไปไหน

ข) ประชาธิปไตยคือกระบวนการประชาธิปไตยไม่ใช่ทางลัดสั้นๆ สักแต่ว่าเลือกตั้งแล้วก็รื่นเริงบันเทิงด้วยการช็อปปิ้ง การดูหนังฟังเพลงสนุกสนานไปวันๆรอนักการเมืองประเคนชีวิตดีๆชิวๆ

ค) การแสดงพลังไม่ใช่การล้มเลือกตั้งแบบกปปส.ในไทย มีการขออนุญาตใช้พื้นที่สาธารณะ มีการขออนุญาตจอดรถบัส ไม่ได้ลุกมาปิดถนนตามอำเภอใจแบบ กปปส. ไม่ได้เชื้อเชิญหรืออุ้มสมรัฐประหาร

ง) ระหว่างรอเลือกตั้งอีก 4 ปีข้างหน้าพลเมืองมีสิทธิประเมินประธานาธิบดี การประท้วงครั้งนี้มีคนเข้าร่วมมากเพราะประธานาธิบดีทรัมป์เคยใช้วาจาเหยียดเพศและเหยียดคนพิการ ในฐานะผู้หญิงฉันคิดว่าเป็นความน่าอับอายที่มีผู้นำที่ไม่รู้กาละเทศะและไม่เคารพสิทธิสตรี ดังนั้นก็สมควรออกมาแสดงตัวเพื่อแสดงผลประเมินว่าเขาควรหยุดเหยียดหญิงและคนพิการ อยากให้เปลี่ยนพฤติกรรมใน 4 ปีข้างหน้า

จ) ครั้งนี้เป็นการแสดงพลังให้เห็นว่าประธานาธิบดีทรัมป์ต้องคิดให้หนักถ้าอยากผลักดันนโยบายที่จำกัดสิทธิสตรี  เช่น สิทธิด้านการทำแท้ง บรรดาชายที่สนับสนุนทรัมป์และอยากผลักดันนโยบายที่จำกัดสิทธิสตรีก็ต้องคิดให้หนักด้วย อย่าคิดว่าชนะเลือกตั้งแล้วจะทำอะไรก็ได้

ฉ) ผู้หญิงที่ไม่เห็นด้วยกับ“ขบวนของผู้หญิง”ไม่อยากร่วมด้วยก็เป็นสิทธิของเขา เพื่อนฉันบางคนกลัวแฟนไม่รักก็ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เลือกตั้งก็ลงคะแนนตามแฟนเพื่อเอาใจแฟน เพื่อนบางคนโดนสอนว่าควรทำตัวว่าง่ายไม่งั้นจะหาสามีไม่ได้ ฯลฯ   ฉันคิดว่าผู้หญิงเติบโตมากับความกลัวสารพัดที่พ่อแม่ถ่ายทอดให้กลัวเติบโตแล้วจะกลัวต่อไปหรือไม่ก็แล้วแต่จะเลือกกันเอง นอกจากนี้ฉันคิดว่าผู้หญิงบางคนก็ไม่ได้อยากมีอิสระมีสิทธิมากมาย บางคนอยากมีชีวิตสบายๆให้สามีเลี้ยงแค่นั้นไม่ว่าจะมีการศึกษาแค่ไหน สำหรับผู้หญิงบางคนการเรียนมหาลัยไม่ใช่เพื่อฝึกทักษะสำหรับทำงานในอนาคตแต่เพื่อเข้าสังคมและหาสามี ก็เป็นสิทธิของเขา แต่เขาไม่มีสิทธิห้ามไม่ให้ผู้หญิงคนอืนเรียกร้องสิทธิ

ช) ฉันทำงานที่สหรัฐฯไม่เคยโดนเหยียดชาติพันธุ์เหมือนคนเอเชียยุคก่อน เคยโดนเหยียดเพศคงเพราะทำอาชีพในสายงานที่ผู้หญิงน้อยและผู้ชาย (ไม่ใช่แค่ชายอเมริกัน) ไม่เคยชินกับการแข่งขันแล้วแพ้ผู้หญิงหรือไม่เคยชินกับการตอบโต้ด้วยเหตุผลกับผู้หญิง ดังนั้นฉันมีประสบการณ์ตรงว่าสิทธิสตรีสำคัญต่อผลตอบแทนจากการทำงานและคุณภาพชีวิตจริง


ยังไงต่อไป?

ประชาธิปไตยคือกระบวนการไม่ใช่ทางลัดสั้นๆ และกระบวนการที่สำคัญอยู่นอกโซเชียลมีเดีย โซเชียลมีเดียทำได้เพียงช่วยสื่อสารเท่านั้น 

กระบวนการต่อไปคือการสื่อสารกับวุฒิสมาชิกและผู้แทนในเขตที่ตนอาศัยอยู่ อาทิ สื่อสารด้วยการโทรศัพท์ไปหาวุฒิสมาชิกเพื่อแสดงความคิดเห็นด้วยเหตุผลว่าทำไมไม่อยากให้ใครได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงไหน  ขอร้องให้เขาทบทวนตอนพิจารณารับรองตำแหน่งในวุฒิสภา สื่อสารด้วยการส่งจดหมายหรือไปรษณียบัตรไปที่สำนักงานวุฒิสมาชิกและผู้แทนเพื่อแสดงความคิดเห็นว่าสิทธิสตรีอย่างไหนสำคัญอย่างไรและให้เหตุผลให้ชัดเจน ฯลฯ  

ในเว็บไซต์ของ“ขบวนของผู้หญิง” (https://www.womensmarch.com/) ก็มีคำแนะนำกระบวนการขั้นต่อไป   และจะอัพเดทกระบวนการเคลื่อนไหวต่อไปในอนาคต  ผู้อ่านที่สนใจการเคลื่อนไหวนี้ก็สามารถติดตามได้ทีเว็บไซต์นี้



หมายเหตุ: ติดตามข้อมูลและทัศนะจาก กานดา นาคน้อย ได้ที่  เพจมายด์ https://www.minds.com/kandainthai

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net