Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ โกวิทย์ บุญเจือ อดีตเอ็นจีโอที่ทำงานพัฒนาชนบทในอีสานรุ่นบุกเบิก ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่เคยทำงานร่วมกับ “ไผ่ ดาวดิน” เขาจะมาบอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่รู้จักมากว่า 8 ปี ผ่านความทรงจำที่ได้ร่วมต่อสู้ในประเด็นเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย

ผ่านมาครบหนึ่งเดือนแล้วที่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ถูกศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งเพิกถอนสัญญาการปล่อยตัวชั่วคราว (การประกันตัว) ในคดีแชร์บทความพระราขประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai ซึ่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลให้เพิกถอนการประกันตัว ด้วยเหตุที่ว่า ไผ่ มีพฤติกรรมในลักษณะ “เยาะเย้ยพนักงานสอบสวน” โดยในวันที่ 22 ธ.ค. 2559 ศาลได้ไต่สวนคำร้องของพนักงานสอบสวน และมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว โดยให้เห็นผลว่า ผู้ต้องหาไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง และมีพฤติกรรม “เย้ยหยันอำนาจรัฐ”

ไผ่ ถูกฝากขังมาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2559 จนกระทั้งปัจจุบัน ทั้งนี้หนักงานสอบสวนมีอำนาจยื่นคำร้องขอฝากขังเขาต่อไปได้อีก 2 ผัด ผัดละ 12 วัน หรืออาจจะยื่นสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องคดีความต่อศาล และเขาอาจจะถูกคุมขังต่อไประหว่างการพิจารณาคดี

ไผ่ถูกฝากขังหากคิดเป็นจำนวนผัดทั้งหมด 5 ผัด โดยในครั้งล่าสุดที่เขาถูกศาลสั่งฝากขัง เขาได้คัดค้านคำสั่งศาลที่สั่งให้การพิจารณาไต่สวนคำร้องของฝากขังของพนักงานสอบสวนเป็นการพิจารณาโดยลับ ห้ามผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องนอกจาก ทนายความ และบิดา มารดา เข้าฟังการพิจารณาการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ไผ่ และทนายของเขาพยายามคัดค้านว่า ตามสิทธิของผู้ต้องหาการพิจารณาคดีความทางอาญาควรเป็นไปโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน อีกทั้งเขายังให้ความเห็นต่อศาลว่า การพิจารณาคดีในวันดังกล่าว(20 ม.ค. 2560) เป็นเพียงการพิจารณาไต่สวนคำร้องขอฝากขังเท่านั้น ไม่ได้เป็นการพิจารณาที่ลงลึกไปที่รายละเอียดของคดีความ จึงไม่มีความจำเป็นที่สั่งให้เป็นการพิจารณาลับ แต่ไม่เป็นผลศาลยังคงยืนยันคำสั่งเดิม และในที่สุดไผ่ ได้ทำการอารยขัดขืน โดยขอให้ทนายความในคดีของเขาทั้งหมดออกจากห้องพิจารณาคดี เนื่องจากไม่ต้องการให้ทนายความมีส่วนร่วมในกระบวนพิจารณาที่ เขาเชื่อว่าไม่เป็นธรรม ทั้งยังไม่ยอมลงลายมือชื่อในเอกสารใดๆ ที่มาจากกระบวนการพิจารณาในวันดังกล่าว และวันนั้นเขายังคงถูกศาลสั่งฝากขังต่อไปอีกเป็นผัดที่ 5 นับตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. – 1 ก.พ. 2560

หลากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเด็กหนุ่มที่ชื่อว่า ไผ่ ดาวดิน ตลอดช่วงเวลาที่เขาถูกจับกุมตัวดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จนถึงปัจจุบัน มีหลากสิ่งหลายอยากที่ผู้คนในสังคมล้วนแล้วแต่ตั้งคำถามว่าทุกการกระทำที่เขาได้รับ เป็นความจงใจกลั่นแกล้ง และเป็นความจงใจละเมิดสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ความเป็นมนุษย์โดยอำนาจรัฐหรือไม่ แต่ในขณะเดียวผู้คนในสังคมอีกส่วนกลับมองเห็นเขาเป็นดังราวกับ “ผู้ร้ายในคดีร้ายแรง” และเห็นว่าสมควรแล้วที่ ชีวิตของเด็กหนุ่มวัย 25 ปี ต้องเข้าไปอยู่ภายใต้รั้วลูกกรง

นั้นอาจเป็นเพราะสังคมเรายังไม่รู้จัก ไผ่ ดาวดิน ในอีกมุมหนึ่ง และหากตัดชื่อไผ่ ดาวดิน ออกไปจากเรื่องที่เขาเผชิญและถูกกระทำจากกระบวนการยุติธรรม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเรื่องที่ผู้คนในสังคมไม่อาจรับได้ หรือไม่อาจมองเห็นว่าเป็นเรื่องปกติอีกต่อไป

หากว่าความทรงจำที่หลายคนมีต่อ ไผ่ ดาวดิน จะสามารถช่วยให้สังคมมองเห็นไผ่ ในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ได้ โกวิทย์ บุญเจือ นักพัฒนาเอกชนอิสระ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่รู้จักไผ่ มาไม่น้อยกว่า 8 ปี และเขาเป็นอีกหนึ่งคนที่ไผ่ เรียกว่า “พ่อ” ด้วยเหตุที่ว่า เขาเป็นเพื่อนพ่อของไผ่(วิบูลย์ บุญภัทรรักษา) เขามองเห็นพัฒนาการของไผ่มาตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย จากน้ำเสียงแรกที่เขาตั้งคำถาม “ไผ่โตขึ้นอยากเป็นอะไร” สู่ความทรงจำเสี่ยงชีวิตในพื้นที่บ้านนาหนองบง(พื้นที่ซึ่งชาวบ้านออกมาต่อสู้ในประเด็นผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ) จนถึงวันที่ ไผ่ ถูกมองเป็นคนร้ายของสังคมไทย

00000

โกวิทย์ บุญเจือ ส่วมเสื้อสีเขียว

รู้จักไผ่ ดาวดิน ได้อย่างไร

ผมเป็นเพื่อนกับพ่อไผ่ สมัยทำงานในอีสานพ่อไผ่อยู่มหาสารคาม ผมอยู่ขอนแก่น เจอไผ่ครั้งแรกตอนไผ่น่าจะอยู่ ม.4 หรือ ม.5 ตอนนั้นผมถามไผ่ว่า โตขึ้นไผ่จะทำงานอะไร ไผ่ตอบว่า ผมจะเป็นเอ็นจีโอเหมือนพ่อ สองปีให้หลังผมได้ข่าวว่าไผ่ได้เรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

มาประมาณปี 2552 โครงการซีไออีอี ขอนแก่น คณะนิติศาสตร์ มข. และชาวบ้านนาหนองบง ทำโครงการร่วมกัน โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจปัญหาในชนบท โดยใช้กรณีปัญหาผลกระทบจากเหมืองทองคำของบ้านนาหนองบงเป็นกรณีศึกษา โครงการนี้เรียกว่า "นาหนองบงโปรเจค" มีนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 1 และปี 2 เข้าร่วมโครงการประมาณ 7 หรือ 10 คน ซึ่งตอนนั้นนักศึกษาทั้งหมดเป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน เราจัดให้นักศึกษาเหล่านี้ได้เรียนรู้พร้อมกับนักศึกษาต่างชาติจากโครงการซีไออีอี ตอนนั้นไผ่ส่งชื่อเข้าร่วมโครงการ แต่ติดกิจกรรมอื่นในมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เข้าโปรแกรม แต่ไผ่ก็ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาเหมืองทองจากเพื่อนอยู่ตลอดเวลา อีกด้านหนึ่งไผ่ก็ได้ซึมซับรับรู้ปัญหาในชนบทจากการทำงานของพ่อที่เป็นทนายทำคดีและต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ มาโดยตลอด

ได้ข่าวไผ่อีกครั้งปี 2554 มีข่าวว่าไผ่โดนจับที่อุดรธานี กรณี กฟผ. เข้าไปปักเสาสายส่งไฟฟ้าโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากชาวบ้าน และยังมีคดีฟ้องร้องว่าการดำเนินการก่อสร้างสายส่งของ กฟผ. ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองอุดรธานี แต่ กฟผ. ก็ใช้กำลังตำรวจเข้าจับกุมตัวชาวบ้าน ไผ่และเพื่อนนักศึกษาซึ่งเข้าไปร่วมกันคัดค้านกับชาวบ้าน

เหตุการณ์นั้น ผมเห็นรูปไผ่ร้องไห้ขณะถูกจับกุม ผมเคยถามไผ่ว่า ตอนอยู่ที่อุดร ไผ่ตกใจใช่มั้ย ไผ่กลัวใช่มั้ย ไผ่ตอบผมว่า ไม่พ่อ ผมไม่กลัว แต่ผมคับแค้นใจที่เห็นคนตัวเล็กตัวน้อยพี่น้องชาวไร่ชาวนาถูกคนใช้กฎหมายรังแก ผมไม่สามารถช่วยชาวบ้านได้ ผมคับแค้นใจ ผมร้องไห้ พ่อคิดดูชาวบ้านและพวกผมเราอ้างรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างกฎหมายว่าด้วยความมั่งคงทางพลังงาน ผมฟังคำตอบของไผ่แล้วก็เห็นใจ ไผ่เรียนกฎหมาย รู้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่ แต่ก็ยังใช้อะไรไม่ได้ และตอนนั้นผมเห็นแล้วว่าไผ่เป็นคนจริงจังกับเรื่องปัญหาของชาวบ้าน

ที่เล่ามาคือการได้พบได้เจอกัน แล้วรู้จักไผ่จริงๆ ตอนไหน

ไม่นานหลังจากไผ่ถูกจับที่อุดร กรณี กฟผ. มีสถานการณ์ร้อนที่ชาวบ้านเรียกให้ผมไปช่วย เนื่องจากโครงการเหมืองแร่ทองแดงภูเทพ ของบริษัทในเครือผาแดง ที่จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) ตาม รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตร 67 วรรค 2 ซึ่งโครงการเหมืองแร่เป็นโครงการรุนแรงที่จะต้องประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พื้นที่ของประทานบัตรรวมหมื่นกว่าไร่ กินพื้นที่ใน 4 ตำบล ของอำเภอเมือง จังหวัดเลย

งานจัดที่ โรงแรม เลยพาเลช ผมชวนน้องๆ ดาวดินมาช่วยด้วย เราช่วยกันปิดถนนปิดกั้นประตูโรงแรมเพื่อไม่ให้เวทีประชุมสามารถเดินหน้าได้ การต่อรองยืดเยื้อยาวนาน ผมเจอไผ่เป็นครั้งที่ 2 ที่นั่น ไผ่เป็นตัวหลักที่อยู่แนวหน้า พยายามปิดกั้นเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าเวที ในที่สุดบริษัทไม่สามารถจัดประชุมครั้งแรกซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการทำ EHIA ได้ ทำให้เหมืองไม่สามารถทำอะไรได้มาถึงปัจจุบัน

งานนั้นมีทั้งการเตรียมการล่วงหน้าและการต่อรองยืดเยื้อยาวนาน ทุกคนเหนื่อยมากและหมดสภาพกันไปตามๆ กัน แต่ไผ่ก็ยังถือโทรโข่งไม่ยอมวาง เดินไปเดินมาไฮปาร์คให้ข้อมูลเรื่องสำคัญๆ อยู่ตลอดเวลาจนเสียงแหบแห้ง ในที่สุดมันนอนแผ่หลาลงไปบนพื้นบอกผมว่า “พ่อผมเหนื่อยแล้ว” เวลานั้นผมคิดในใจ เออเขาเหนื่อยหมดแรงกันหมดแล้ว มีเอ็งนี่แหละยังฝืนทำมาได้จนขนาดนี้

พอมาปี 2556 งานใหญ่อีกงานเกิดขึ้นหลังจากบ้านนาหนองทำบุญภูทับฟ้าต่อชะตาภูซำป่าบอนหาบคอนภูเหล็ก บริษัทเหมืองทองจัดเวที Public Scoping ที่ตำบลนาโป่ง หลังงานบุญชาวบ้าน 6 หมู่บ้านต้องไปเข้าร่วมเวทีที่นาโป่ง เราประเมินกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะมีกองกำลังปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมในเวที ทางออกทางหนึ่งในตอนนั้น ไผ่และเพื่อนเสนอจะเป็นอาสาสมัคร ไผ่บอกว่า พ่อแม่พี่น้องอยู่ข้างหลังผม ผมและเพื่อนๆ นักศึกษาจะนำพาพ่อแม่พี่น้องเข้าไปร่วมในเวทีเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเราเดือดร้อนอย่างไรหากมีการทำเหมือง

ไผ่เป็นแนวหน้าที่จะนำพาชาวบ้านฝ่ากำแพงกั้นของทหารตำรวจเปิดทางให้ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านตำบลเขาหลวงเข้าไปแสดงความเห็นในเวที ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ชื่อ ดาวดินเป็นที่รู้จักอย่างมากในหมู่คนทั่วไป

พวกเขากล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มีความเสียสละสูง ที่สำคัญไผ่และเพื่อนๆ มีส่วนสำคัญทำให้ปัญหาเหมืองทองจังหวัดเลยเป็นที่รับรู้ของสังคมมากขึ้น

ต่อมาเราได้เจอไผ่อยู่เสมอที่เหมืองทอง ไผ่กับเพื่อนๆ โบกรถกันมาอยู่ในหมู่บ้านตลอด ร่วมกิจกรรม ร่วมงานรณรงค์กับชาวบ้าน มาเล่นดนตรีในงานต่างๆ ที่ชาวบ้านจัดขึ้น จนรู้จักรู้ใจสนิทสนมกับชาวบ้านเหมือนลูกเหมือนหลาน

จากนั้นมากิจกรรมการคัดค้านความเดือดร้อนของชาวบ้าน ผมจะเห็นไผ่ยืนอยู่แนวหน้าตลอด และผมเห็นว่าไผ่พูดจาในเชิงวิชาการในแง่กฎหมายที่ได้เรียนมาให้ชาวบ้านฟังเข้มข้นขึ้น

เหตุการณ์สำคัญอีกเหตุการณ์คือคืนที่มีผู้ร้ายหลายร้อยคนเข้าไปจับชาวบ้านเป็นตัวประกันและปิดล้อมหมู่บ้านเพื่อขนแร่ออกจากเหมืองทอง

คืนนั้นเมื่อไผ่ได้ข่าวก็เพิ่งรถกับรุ่นพี่จากขอนแก่นถึงหมู่บ้านใน 2 ชั่วโมง ชาวบ้านเล่าให้ผมฟังว่าไผ่จะบุกเข้าไปชิงตัวแกนนำออกมาจากกลุ่มคนร้าย ชาวบ้านต้องห้ามไว้เพราะกลุ่มคนร้ายมีอาวุธปืน

ความเลวร้ายในคืนวันนั้นเป็นที่รับรู้ของคนทั้งประเทศ ไผ่และเพื่อนคือคนสำคัญที่เกาะติดร่วมตายอยู่กับชาวบ้าน เสี่ยงลูกปืน ถ่ายวีดีโอ รายงานสถานการณ์ให้เรื่องราวกระจายออกมาข้างนอกให้ได้มากที่สุด

ไม่กี่วันหลังจากนั้น คสช. ยึดอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ทั่วประเทศ คสช. ส่งกองทหารเข้ามาประจำในพื้นที่ ปิดไม่ให้คนภายนอกเข้า-ออกหมู่บ้าน ไผ่เป็นห่วงชาวบ้านมาก เพราะมีข่าวมาตลอดว่าทหารตำรวจและข้าราชการอยู่ฝ่ายเหมือง ไผ่กับเพื่อนแอบลักลอบเข้าหมู่บ้าน แต่ก็ไม่พ้นสายตาทหาร ในที่สุดทหารก็ใช้กฎอัยการศึกเข้าไปค้นบ้านที่เราอยู่ และให้นักศึกษาทุกคนออกมารายงานตัว

มีคำสั่งให้แกนนำชาวบ้าน ชาวบ้านในหมู่บ้าน และดาวดินทั้งหมดห้ามรณรงค์ห้ามเคลื่อนไหวคัดค้าน และทั้งหมดกลายเป็นเป้าหมายที่ทหารคอยจับตาความเคลื่อนไหวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จากประเด็นปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน แต่ล่าสุดไผ่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องรัฐประหารมากขึ้น มองเรื่องนี้อย่างไร

ไผ่มองปัญหาจากโครงสร้าง ความเดือดร้อนของชาวบ้านปัญหาใหญ่ๆ เกิดจากการเมือง นโยบายรัฐ และการดำเนินงานของข้าราชการภายใต้อำนาจหน้าที่ที่ถูกกำหนดโดยนายทุน ซึ่งความเดือดร้อนของชาวบ้านไม่ใช่แค่เรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ แต่หมายถึงการพังพินาศของถิ่นที่อยู่อาศัย การเจ็บป่วย ความตาย หรือต้องติดคุกติดตาราง ส่วนการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านมีอยู่ไม่กี่ทางเท่านั้น ทุกข์ของเขาเสียงของพวกเขาก็มักบางเบาจนแทบไม่มีใครได้ยิน

ถึงประเทศไทยจะมีประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจแก่ประชาชนเรื่องสิทธิชุมชน มีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเห็นและการคัดค้าน ประชาชนที่เดือดร้อนมีสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม มีกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายหลายมาตรา แต่การที่ชาวบ้านธรรมดาๆ ที่เดือดร้อนจะเข้าถึงและหยิบใช้ได้ต้องเรียกว่าหืดขึ้นคอ

การที่ คสช. ยึดอำนาจ รัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ผมคิดว่ามันแน่นอนที่ไผ่จะคิดว่าเป็นความเลวร้ายอย่างรับไม่ได้ เพราะอำนาจที่รัฐบาลทหารจะใช้คือเผด็จการที่ถืออาวุธอยู่ในมือ และมันประทุสำแดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกในพื้นที่อื่นๆ ของอีสาน จากเรื่องแรกที่ทหารเจรจาให้ชาวบ้านยินยอมให้เหมืองทองขนแร่ออกจากเหมืองหลังจากที่ชาวบ้านช่วยกันทุกทางจนปิดไม่ให้เหมืองดำเนินการมาได้ถึง 2 ปี หรือจากตัวอย่างการนำกำลังทหารคุ้มกันขบวนรถขนเครื่องจักรอุปกรณ์ขุดเจาะก๊าซเข้าไปในพื้นที่นามูล-ดูนสาด ที่มีชาวบ้านคัดค้านอยู่โดยไม่ฟังเสียง ที่อุดรทหารจัดเวทีประชาคมหมู่บ้านเพื่อชี้แจงการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตชในค่ายทหาร และเรียกแกนนำชาวบ้านที่คัดค้านเหมืองมากว่า 10 ปีปรับทัศนคติห้ามเคลื่อนไหวคัดค้าน การใช้แผนแม่บทป่าไม้ ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ไล่รื้อบ้านเรือนโค่นยางของชาวบ้านในหลายจังหวัดโดยทำเป็นไม่รับรู้เรื่องการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาที่ผ่านมากันแล้วในหลายรัฐบาลและทำให้ชาวบ้านมากมายติดคุกหรือถูกดำเนินคดี การเดินหน้าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่มากมายที่จะส่งกระทบอย่างมากกับชาวบ้านในพื้นที่และเป็นโครงการที่มีชาวบ้านคัดค้านจนโครงการไม่สามารถเดินหน้าได้มาอย่างยาวนาน รวมถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 เมื่อชาวบ้านรวมตัวชุมนุมเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาโดยตัดส่วนสำคัญของสิทธิชุมชน และอ้างถึงความมั่นคงของชาติเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งยังห้ามการจัดเวทีพูดคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ให้รณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ผมคิดว่าไผ่ที่คลุกคลีร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชาวบ้านที่เดือดร้อนมาตั้งแต่เด็กทำให้เขาตระหนักได้อย่างลึกซึ้งว่า ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน การเมือง ประชาธิปไตย เผด็จการ เป็นเรื่องเดียวกัน และสำหรับผมคนที่จะเข้าใจในเรื่องนี้ได้ คับแค้นร่วมกับชาวบ้านได้ ไม่ใช่แค่เราเป็นเพื่อนกันเท่านั้น แต่เราต้องเข้าใจความรู้สึกว่าเราร่วมชะตากรรมเดียวกันเหมือนกับที่ไผ่รู้สึกร่วมกับชาวบ้านด้วย

โดยส่วนตัวแล้วมองเห็นไผ่ เป็นคนอย่างไร

ไผ่เป็นไม่กลัวอะไรง่ายๆ ไม่รั้งรอ เหมือนกระทิงหนุ่มที่พร้อมจะต่อสู้ตลอดเวลา การทำงานกับชาวบ้านในยุคนี้เอ็นจีโออาจจะทำได้ไม่เท่าไผ่หรือนักศึกษากลุ่มนี้ เขามีความตื่นตัวสูง กล้าหาญ บ้าปิ่น แต่เอ็นจีโอค่อนข้างจะสุขุม เป็นขั้นเป็นตอน คาดหวังในความสำเร็จต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้นๆ น้อยกว่าการสร้างคน สร้างกระบวนการ หรือการสร้างกลุ่มในระยะยาว จึงจะเห็นได้ว่าความเคลื่อนไหวของไผ่มีนักกิจกรรมหรือเอ็นจีโอบางกลุ่มที่เห็นด้วย บางกลุ่มสนับสนุน บางกลุ่มไม่ชอบ บางกลุ่มปฏิเสธ อาจจะเพราะกลัวและต้องรักษาสถานภาพทางสังคมของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อต้องแสดงตัวคัดค้านการรัฐประหาร ผู้มีอำนาจ หรือ คสช.

ยังไงก็ตามผมคิดว่า ทุกคนควรยอมรับว่าไผ่ทำให้ชาวบ้านที่ถูกเอาเปรียบ ที่ถูกอำนาจรังแกมีความมั่นใจมากขึ้นว่าไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นเครือข่าย ปัญหาของชาวบ้านที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมันถูกยิงขึ้นไปบนท้องฟ้า สังคมมองเห็นปัญหาได้ลึกขึ้นโดยเฉพาะเหมืองทอง เพราะถ้าไม่มีคนอย่างไผ่หรือเด็กพวกนี้ สังคมก็จะไม่ได้รับรู้ว่ามีปัญหาที่ถูกซ่อนไว้มากมาย และดูเหมือนว่ามันถูกต้องตามกฎหมายแต่กลับกดขี่สร้างผลกระทบความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน สังคมจะไม่รู้ว่ามีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นจริง ไผ่เป็นคนหนึ่งที่ช่วยหยิบเรื่องเหล่านี้ออกมาให้สังคมได้เห็นปัญหาได้ชัดยิ่งขึ้น

ผมคิดว่ากลุ่มคนที่เกลียดหรือไม่ชอบไผ่คือภาพสะท้อนของสังคมไทยได้ชัดเจนขึ้น นอกเหนือจากกลุ่มคนที่ชัดเจนว่าสนับสนุนทหาร สนับสนุน คสช. เป็นกลุ่มคนในผลประโยชน์ของกลุ่มทุน คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ใส่ใจหรือใส่ใจน้อยเรื่องสังคม ปัญหาสังคม เห็นความเดือนร้อนของชาวบ้านไม่ใช่เรื่องของตัวเองและเป็นเรื่องไกลตัวที่ปัญหาเหมือนกันจะเกิดขึ้นกับตัวเองด้วย กลัวความวุ่นวาย กลัวสูญเสียสถานะของตนเอง หรือถูกครอบงำให้เชื่อฟังผู้มีอำนาจอย่างไม่มีคำถามมาจนเคยชิน ยิ่งมีการอ้างว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี จะเกิดความวุ่นวาย และอาจจะมีการฆ่ากันบนท้องถนนอีก ก็แน่นอนว่าเวลาที่ไผ่สะท้อนรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหาเหล่านี้ออกมา รวมถึงการปฏิเสธผู้นำประเทศหรืออำนาจ กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่ชอบ

หลังจากที่ทราบข่าวเรื่องไผ่ ถูกจับกุมตัวในคดี 112 และถูกเพิกถอนการประกันตัว สิ่งแรกที่คิดคืออะไร

ผมคิดว่าสังคมควรตั้งคำถาม ทำไมสำนักข่าวข่าว BBC ที่เขียนและเผยแพร่บทความนี้ยังอยู่เฉยๆ ได้ ไม่ถูกแจ้งความดำเนินคดี ทำไมคนที่เห็นด้วยกดแชร์เป็นสองพันคนก็ยังอยู่เฉยๆ ไม่ได้ถูกแจ้งความดำเนินคดี ทำไมถึงเป็นไผ่แค่คนเดียว ทหาร ตำรวจ ที่พันกี่หมื่นคนที่มีหน้าที่โดยตรง ทำไมไม่มีใครแจ้งความกล่าวหาคนอีกสองพันคน ทำไมเจาะจงเฉพาะไผ่เท่านั้น เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นแค่ 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งและสะกัดกั้นการเคลื่อนไหวเพื่อไม่ให้ไผ่สะท้อนปัญหา ความไม่ชอบมาพากล ความเดือดร้อนของชาวบ้าน และคัดค้านเผด็จการอย่างที่ไผ่ได้ทำมาตลอด

ผมว่าผู้มีอำนาจคิดถูกว่าไผ่เป็นภัยต่อความมั่นคงของอำนาจ เพราะความเคลื่อนไหวของไผ่เป็นสัญลักษณ์ของพลเมือง ของชาวบ้านผู้ที่เดือดร้อนแล้วลุกขึ้นต่อสู้ การกระทำของไผ่จึงสั่นสะเทือนถึงรากหญ้าของอีสานโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ชาวบ้านต้องเผชิญกับปัญหาเดือดร้อนและลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจทุน อำนาจรัฐ การใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพียงแต่ผมคิดว่าแรงสั่นสะเทือนนั้นคงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้น้อย เพราะ คสช.กุมสถานการณ์ได้ทั้งหมด กุมรัฐบาล กุมกลไกรัฐ กุมได้แม้กระทั่งสื่อ และเรากำลังอยู่ในยุคที่นายทุนมีอำนาจสูงสุด และโดยเฉพาะเมื่อคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเองในฐานะพลเมืองว่าควรจะทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง ที่น่ากลัวไปยิ่งกว่านั้นคือคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตระหนักถึงชะตากรรมในอนาคตของตนเองและลูกหลาน เพราะวันข้างหน้ามันอาจจะเลวร้ายกว่าที่เป็นอย่างทุกวันนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net