เรือ-เล-คลื่นยักษ์ กับชีวิตชาวประมงที่เปลี่ยนไป

"เดือนนี้เข้าช่วงมรสุม ออกเลได้ไม่ถึงสิบวัน ค่าน้ำมันครั้งละ 200-300 บาท ขายปลาแล้วเหลือเบี้ยกำไร 100 บาท แบ่งกันสองคน ตกคนละ 50 บาท" นายสมพงษ์ พงษ์ประเสริฐ หรือ "ป๊ะแก่" ชายชราในวัย 54 ปีบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชาวประมง บริเวณหาดประพาส ต.กำพวน กิ่งอ.สุขสำราญ จ.ระนอง

ป๊ะแก่เล่าวิถีชีวิตของตนและคนที่นี่ให้ฟังว่า ชาวประมงพื้นบ้านที่หาดประพาสประกอบอาชีพออกเรือหาปลาด้วยเรือ "หัวโทง" เรือหัวโทง เทียบขนาดเล็กใหญ่ของเรือด้วย "ตัวกง" ซึ่งอยู่ด้านในสองข้างของแคมเรือ ยิ่งมี " ตัวกง" มากเรือยิ่งมีขนาดใหญ่ ป๊ะแก่บอกว่าในน้ำทะเลลึกเรือที่จะออกไปสู้คลื่นลมได้ดี ต้องเป็นเรือตั้งแต่ 23 ตัวกงขึ้นไป

"เรือป๊ะที่ใช้หาปลาที่ป๊ะให้แรกก่อนขนาด 21 ตัวกง แต่ขยายตัวกง ให้ห่างกัน ถ้าเทียบกับเรือปกติ ใหญ่เกือบเท่าเรือขนาด 23 ตัวกง ถ้าลมสงบดีเรือป๊ะก็ออกนอกทะเลลึกได้" ป๊ะแก่กล่าวถึงอดีตที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงความรู้สึกในการออกสู่ทะเลอีกครั้งหลังเหตุการณ์ซึนามิผ่านระยะเวลามาครึ่งปี ป๊ะแก่บอกความรู้สึกเทียบกับตอนที่ตนเจอเหตุการณ์ พายุพัดเข้าถล่มแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรม ราชเมื่อหลายสิบปีก่อน ว่า

พายุที่แหลมตะลุมพุก ผ่านไม่กี่วันป๊ะกับพรรคพวกก็ออกทะเลหาปลากันแล้ว แต่เหตุการณ์ซึนามิผ่านไปกี่เดือนๆ ก็ยังรู้สึก "พรือโจ" ในใจ

"มันบอกความรู้สึกถูกหรอกลูกสาว ว่ามันรู้สึกยังไง ถามว่ากลัวหรือไม่ ในความรู้สึกมันก็ยังกลัว 50 กว่าปีหากินกับเลมา ไม่เคยรู้สึกกลัวเหตุการณ์ไหนเท่าครั้งนี้มาก่อน แต่เราก็จำเป็นต้องออกเล หากินกับเลต่อ แต่ถ้าเห็นลมเห็นคลื่นท่าทางไม่ค่อยดีเราก็ชวนกันเผ่นขึ้นฝั่งเหมือนกัน" ป๊ะแก่เล่าพร้อมไปพร้อมรอยยิ้มละไม ก่อนจะกล่าวถึงภรรยาคู่ทุกข์ยากว่า

"แรกก่อน ป๊ะกับม๊ะแก่ ออกเรือกันสองคนออกไปหวันเช้าๆ หลบมาฝั่งตอนค่ำ เราออกเรืออวนกุ้ง บางทีก็ไปตกปลาข้างเกาะ วันไหนคลื่นเรียบลมสงบก็เอาเรือไปนอกเลลึกวางอวนปลาหลังเขียวได้ แต่หลังคลื่นยักษ์มา ม๊ะแก่ไม่หาญออกเรือกับป๊ะเลย" ป๊ะแก่เล่า

เรือขยายขนาด 21 ตัวกงของป๊ะในการออกทะเลแต่ละครั้งใช้คนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ยิ่งเรือมีขนาดใหญ่ก็จำเป็นต้องใช้คนมาก แต่ความหวาดหวั่นในใจทำให้ "ม๊ะแก่" คู่ทุกข์ยากที่เคยออกเรือมาด้วยกันเกือบทั้งชีวิต ไม่กล้าแม้แต่จะขึ้นเรือไปตกปลาในน้ำตื้น ซึ่งความรู้สึกนี้ป๊ะแก่เองบอกว่า ตนเข้าใจดีเพราะหนีคลื่นยักษ์มาด้วยกัน

"ม๊ะไล่ให้ป๊ะออกเรือกับคนอื่น มันก็ออกได้ แต่จะให้เหมือนออกเรือกับเมีย มันก็ไม่เหมือนหรอก คนออกเลมันเสี่ยงทุกๆ วันอยู่แล้ว แล้วถ้าเกิดต้องตายสู้ตายกับเมียยังดีกว่า" ป๊ะแก่เล่าไปหัวเราะไป

นางไหมหยำ หลั่งน้ำ "ม๊ะแก่" หญิงชราในวัย 51 ปี ภรรยาคู่ทุกข์ยากของป๊ะแก่เล่าถึงความรู้สึกของตนหลังการหนีรอดคลื่นยักษ์จนถึงวันนี้ว่า

"ม๊ะรู้ ป๊ะแก่มันก็ยังกลัว ม๊ะเองก็ไม่มีวันลืม จนถึงวันตายก็ไม่รู้จะลืมได้ม่าย แรกๆ ตอนมาอยู่ที่บ้านริมเล แค่ได้ยินเสียงคลื่นก็เข่าอ่อนแล้ว ตอนหลังเริ่มชิน แต่จะให้ลงเรือไปอีกครั้งมันไปไม่ไหว มันกลัว ไม่รู้ตอใดจะหาญออกเรืออีกครั้ง" ม๊ะแก่กล่าว

ม๊ะแก่เล่าว่าแม้เหตุการณ์จะผ่านเนินนานมาถึงครึ่งปีแล้วก็ตามแต่ความทรงจำที่โหดร้ายจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ยังติดตาเสมือนเหตุการณ์พึ่งผ่านไปไม่นาน แต่นอกเหนือจากปัญหาในการกลัวที่จะออกเรือแล้ว ยังมีปัญหาอื่นที่นำมาซึ่งความอึดอัดใจของชาวประมงที่นี่อีก

"ม๊ะแก่" เอ่ยถึงเรือหัวโทง ซึ่งเป็นเรือที่ได้รับบริจาคมาว่า

"เรือใหม่ที่เขาต่อให้มันเป็นเรือ 21 ตัวกง แต่ขนาดเล็กกว่าลำก่อนที่แตกไป เวลาออกเลน้ำก็เข้าในเรือเพราะรอยต่อมันห่าง คนที่เขาต่อเรือบริจาค "ชันยา" อุดรอยรั่วในเรือไม่ดี ออกเลทีก็ต้องระวัง ดีไม่ดีน้ำเข้าเรือจมหายก่อนได้ปลา" ม๊ะแก่กล่าว

เมื่อกล่าวถึงตอนนี้ บังหมาน หรือ "ปรีชา เด่นมาลัย" ชาวประมงในวัย 28 ปีกล่าวเสริมขึ้นมาว่า เรือที่แจกขนาดเล็กเกินไป เวลาวิ่งในทะเลเรือจะต่ำน้ำ เขาชี้แจงให้ฟังว่า "เรือต่ำน้ำ" หมายถึงกราบเรือสูงจากน้ำไม่มาก การทรงตัวของเรือจะไม่ดี หากมีคลื่นซัดแรงๆเรือมีโอกาสพลิกคว่ำได้ง่าย

บังหมานเล่าว่า เรือที่บริจาคมาเป็นเรือขนาด 21 ตัวกง คนต่อเรือไม่ได้ขนาด ร่องระหว่างแผ่นไม้ที่ต่อมีขนาดห่างกันมากเกิน เวลาเอาเรือมาตอกหมันชันยาอุดรอยรั่วจึงทำยาก และเกิดรอยรั่วได้ง่าย

"เรือที่เราช่วยกันต่อขนาด 23 , 25, 27 ตัวกง เพราะวิ่งนอกเลลึกได้ ส่วนเรือ 21 ตัวกงมักวิ่งได้ในน้ำตื้น หากคลื่นลมแรงก็ต้องเข้าฝั่งเพราะเป็นเรือหัวโทงขนาดเล็กสู้แรงคลื่นลมไม่ดีเท่าเรือหัวโทงขนาดใหญ่" บังหมานกล่าว

บังหมานเล่าว่าตนออกหาปลานอกทะเลลึก เวลาออกอวนหาปลาหลังเขียวต้องใช้คน 4-5 คน แต่ถ้าออกอวนปลาทูใช้ถึง 5-6 คน ดังนั้นเรือที่ชาวประมงที่นี่ใช้จึงมักเป็นเรือหัวโทง 21 ตัวกงขยาย และขนาด 23 ตัวกงขึ้นไป

แต่ปัญหาของเรื่องเรือก็คือ

"คนที่ได้รับเรือบริจาค จะได้เรือ 21 ตัวกงเล็ก ได้เครื่องเรือกำลังไม่ดี เวลาออกเรือก็วิ่งไปไหนไม่ได้มาก ไม่เหมือนคนที่พอมีเงินเขารอได้ เขาไม่ต้องรีบออกเลเพราะพอมีเงินใช้ระหว่างการต่อเรือ เขาเลยไม่เอาเรือบริจาค เขารอเพื่อต่อเรือเองตามขนาดที่ต้องการ เขาต่อเรือประณีต เรือที่เสร็จออกมาจึงวิ่งได้ดี" บังหมานเล่า

เรือที่ชาวบ้านหาดประพาสได้รับบริจาคในขณะนี้ มีจำนวน 35 ลำ ซึ่งมาจากสถาบันอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ และจากองค์ทำงานด้านเด็กจากต่างประเทศ ซึ่งบังหมานยืนยัน ว่าเรือของตนเป็นเรือที่ไร้คุณภาพอีกลำหนึ่ง ในหลายๆ ลำของเรือที่ได้รับบริจาคมา

"เรือบริจาคที่คนอื่นได้ก็มีปัญหาเหมือนกันแต่เขาไม่หาญพูด ไม่หาญบอกกับใคร หลายคนมีปัญหาเหมือนผม มีเรือ มีเครื่องครบ แต่ก็ออกเรือไม่ได้เพราะเรือไม่มีคุณภาพ เรือมันรั่วเวลาวิ่งในเล จะอุดหมันชันยาเรือใหม่ก็ไม่ได้เพราะร่องระหว่างไม้กระดานมันห่างกันมาก อุดหมันชันยารอยรั่วไม่เท่าไรก็รั่วเหมือนเดิม" บังหมาน กล่าว

บังหมานเล่าว่า ช่วงปลายเดือนเมษายน จนถึงเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม เป็นช่วงหน้าลม เป็นหน้ามรสุมที่คลื่นลมแรงจัด ชาวประมงจะออกเรือไม่ค่อยได้ แต่ก็ยังพอมีวันที่" อัลเลาะห์ให้" วันที่ท้องฟ้า อากาศเป็นใจเว้นลม เว้นคลื่น ให้ชาวประมงได้ออกทะเล

"หน้ามรสุมเป็นปัญหาหนึ่งที่เราออกเลไม่ได้ มีบ้างบางคนยังกลัว แต่ก็ยังขืนๆออกเลไป แต่ปัญหาเรื่องเรือไม่ดีที่เราได้มา ถึงแม้เป็นวันที่อัลเลาะห์ให้ เราก็ออกเลไม่ได้อยู่ดี" บังหมานกล่าวก่อนจะทิ้งท้ายไว้ว่า

ผมออกเลตั้งแรกอายุ 5 ขวบตอนนี้เกือบ 30 แล้ว ยังไม่เคยหมดจิตหมดใจในการออกเลเท่านี้มาก่อน เราเจอคลื่นยักษ์ เรากลัวเล แต่เรายังฝืนออกเลได้เพราะเลคือ บ้านของเรา แต่สิ่งที่เราเจอคือ เรามีเรือ เรามีเครื่องเรือ เรามีเล แต่เราออกเลไม่ได้

นี่สาเหตุหนึ่งในหลายๆ ปัญหา ที่ทำให้วันนี้ชาวประมงที่นี่ยังไม่ได้ออกทะเล ทั้งความหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ร้ายๆ ซึ่งยังติดในความทรงจำ ทั้งช่วงหน้ามรสุมที่คลื่นลมไม่เป็นใจ ทั้งน้ำมันแพง เรือไร้คุณภาพ และปัญหาอื่นๆอีกมากมาย ล้วนแล้วแต่กำลังโถมทับชาวประมงพื้นบ้านที่นี่ จนดูเหมือน ว่าปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ จะบ่งชี้อะไรบางอย่างในวิถีประมงที่เป็นไป

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท