ฟุตบอลนัดสำคัญของ "ซาเน็ตติ" และ ดรีมทีมของ "ซาปาติสต้า"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

"ฟุตบอล เปรียบได้กับการแข่งขันต่อสู้ - เต็มไปด้วยความประหลาดใจ...และบางครั้งคนเล็กๆ ก็สามารถเอาชนะผู้ยิ่งใหญ่ได้"

 

ประโยคข้างต้นร่วงหล่นออกมาจากปากของ "บรูโน บาร์โตลอซซี" ผู้จัดการสโมสรฟุตบอลอินเตอร์มิลานแห่งอิตาลี เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2548

 

ครั้งนั้น "รองผู้บัญชาการมาร์กอส" - ผู้นำขบวนการซาปาติสต้า ส่งจดหมายเชื้อเชิญให้กองทัพงูใหญ่อย่างอินเตอร์มิลานไปเล่นฟุตบอลที่เม็กซิโก ด้วยความหวังว่าจะมีการเตะกระชับมิตรกันขึ้น

 

สื่อมวลชนทั่วโลกจับตามองเป็นพิเศษว่า การเชื้อเชิญของซาปาติสต้าจะได้รับการตอบรับอย่างไรจากทีมอินเตอร์มิลาน เพราะก่อนหน้านั้น "มาสซิโม มอราตติ" ประธานสโมสรก็เคยเดินทางไปถึงเชียปาส ซึ่งเป็นฐานบัญชาการใหญ่ของขบวนการซาปาติสต้า เพื่อนำเงินสนับสนุนกว่าสามพันปอนด์ (3,475 ปอนด์ หรือ ประมาณ 225,875 บาท) ไปมอบให้ถึงมือรองผู้บัญชาการมาร์กอสด้วยตัวเองมาแล้วในปี 2547

 

แต่คนสำคัญที่เป็นตัวตั้งตัวตีให้ทีมอินเตอร์มิลานแสดงความสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนอย่างซาปาติสต้า กลับไม่ใช่มอราตติหรือบาร์โตลอซซี หากแต่เป็น ฮาร์เวีย ซาเน็ตติ กัปตันทีมอินเตอร์มิลาน ชาวอาร์เจนตินา ผู้ถูกตั้งฉายาว่าเป็น "กองหลังสารพัดประโยชน์" ในเวลาเดียวกัน

 

ซาเน็ตติโน้มน้าวให้ทางสโมสรนำเงินค่าปรับนักฟุตบอลที่ทำผิดกฏสโมสรไปบริจาคให้กับขบวนการซาปาติสต้า แทนที่จะมอบให้องค์กรการกุศลอื่นๆ ที่มีผู้บริจาคเงินเต็มไปหมดแล้ว

 

คำยืนยันที่ซาเน็ตติเขียนและลงนามไปกับจดหมายถึงขบวนการซาปาติสต้า มีใจความสั้นๆ แต่รวบรัดว่า--

 

"เราเชื่อในโลกที่ดีกว่าเดิม โลกที่ไม่ตกอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ และเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีประเพณีของทุกผู้คน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงสนับสนุนให้พวกคุณต่อสู้เพื่อรักษารากเหง้าและอุดมการณ์เอาไว้"

 

การกระทำของซาเน็ตติมีนัยยะทางสังคมอย่างชัดแจ้ง หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษจึงยกให้เขาเป็นนักกีฬา 1 ใน 10 ของโลกที่แสดงความกล้าหาญด้วยการแสดงจุดยืนทางการเมืองในปีนั้น

 

ความหมายของฟุตบอลที่ไม่ได้มีแค่ลูกกลมๆ

ถึงวันนี้ ชื่อของ "กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้า" หรือ EZLN: Ejercito Zapatista de Liberacion Nacional แห่งป่าลากันดอน เม็กซิโก-ไม่ใช่คำแปลกหน้าสำหรับคนทั่วโลกอีกต่อไป และภาพกองกำลังชายหญิงสวมใส่หน้ากากสกีปิดบังใบหน้าก็กลายเป็นภาพที่เห็นกันบ่อยครั้งจนเกือบชินตาแล้ว

 

ความเคลื่อนไหวที่ซาปาติสต้าออกจากรัฐเชียปาสเพื่อต่อสู้กับกระแสทุนนิยมนับตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา สร้างความสั่นสะเทือนแก่ผู้มีอำนาจในเม็กซิโก แต่ขณะเดียวกันก็สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ขบวนการภาคประชาชนในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลก

 

สิ่งที่ขบวนการซาปาติสต้าต่อต้านไม่ใช่อำนาจรัฐ แต่เป็นการต่อต้านแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ซึ่งทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมโดยอาศัยโครงสร้างอำนาจของรัฐเป็นเครื่องมือ กระบวนการเหล่านี้มักจะแฝงตัวมากับโครงการแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ รวมไปถึงการใช้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เป็นเครื่องมือในการโน้มน้าวประชาชนให้วาดฝันไปกับความมั่งคั่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริง

 

ผลกระทบจากการที่เม็กซิโกลงนามร่วมกับสหรัฐอเมริกาและแคนาดาในข้อตกลงนาฟตา (NAFTA: North America Free Trade Agreement) ทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงตามมานับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนแอของสหภาพแรงงานซึ่งถูกแทรกแซงด้วยกลไกของตลาดโลก การล่มสลายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งถูกปล้นโดยบรรษัทข้ามชาติ รวมไปถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบด้านสิทธิบัตรยา

 

ปัจจัยที่ว่ามาทั้งหมดคือเหตุผลที่ทำให้ประชาชนจากรัฐที่ยากจนที่สุดในเม็กซิโกต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องและปกป้องสิทธิของตน เช่นเดียวกับที่พวกเขาต้องการตั้งคำถามว่าการนำพาประเทศไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งโลกนั้นคือหนทางที่ดีที่สุดแล้วหรือไม่ ในเมื่อโลกนี้เต็มไปด้วยเชื้อชาติ วัฒนธรรม และความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายเกินกว่าจะใช้สูตรตายตัวเพียงชุดเดียวในการมุ่งพัฒนาไปข้างหน้าได้

 

ขบวนการซาปาติสต้าต่อต้านกระบวนการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์อย่างต่อเนื่องยาวนานมากว่า 12 ปีแล้ว จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ของกองกำลังปฏิวัติภาคประชาชนของเม็กซิโกนี้มีความเอาจริงเอาจังมากแค่ไหน

 

ความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการซาปาติสต้าที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยภาคประชาชนจากความผูกขาดของทุนนิยม และสโมสรฟุตบอลชื่อดังอย่างอินเตอร์มิลาน จึงเป็นความสัมพันธ์อันเสียดเย้ยต่อกระแสโลกาภิวัตน์อย่างไม่น่าเชื่อ

 

เพราะหากมองตามทัศนะของผู้นิยมแนวคิดมาร์กซิสม์  "ฟุตบอล" คือเครื่องมือรักษาความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม ในขณะที่แนวคิดเรื่องทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่ก็เป็นปัจจัยสำคัญของโลกาภิวัตน์

 

การถือกำเนิดของฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษในศตวรรษที่ 19 อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะในช่วงเวลานั้นคือช่วงเวลาเดียวกันกับที่แนวคิดเรื่องทุนนิยมกำลังเบ่งบาน

 

เกมการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชนชั้นแรงงานที่เต็มไปด้วยการใช้กำลัง ไหวพริบ และชั้นเชิง เพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้จึงมีสภาพไม่ต่างจากความบันเทิงที่แรงงานทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และเมื่อการพักผ่อนหย่อนใจนี้สิ้นสุดลง แรงงานเหล่านี้ก็จะมีกำลังใจไปต่อสู้บนเวทีชีวิตต่อไปด้วยการทุ่มเทแรงกายเพื่อให้เกิดผลผลิตสูงสุดแก่นายทุน

 

ด้วยเหตุนี้ ฟุตบอลจึงเป็นเพียงการ "ผลิตซ้ำ" เพื่อให้เกิดพลังแรงงาน (Reproduction of Labor Power) ในทัศนะของมาร์กซิสม์ และเป็นการยืดเวลาให้นายทุนสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่งอกงามจากการลงแรงของชนชั้นแรงงานเท่านั้น

 

เมื่อนักฟุตบอลชื่อดังอย่างซาเน็ตติเลือกข้างด้วยการยืนอยู่ฝั่งเดียวกับผู้ต่อต้านทุนนิยมอย่างขบวนการซาปาติสต้า แต่การประกาศจุดยืนของซาเน็ตติไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกในทีมอินเตอร์มิลานทั้งหมด โดยเฉพาะการสนับสนุนจาก "มอราตติ" ซึ่งเป็นนายทุนชาวอิตาลีที่แสนจะร่ำรวยจากการค้าแข้งนักฟุตบอลหลากหลายเชื้อชาติ

 

เรื่องตลกร้ายจึงเกิดขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้…

 

"ดรีมทีม" ในใจของรองผู้บัญชาการมาร์กอส

ในจดหมายท้าดวลแข้งที่รองผู้บัญชาการมาร์กอสส่งมาให้ผู้จัดการทีมอินเตอร์มิลานในเดือนพฤษภาคม 2548 ได้มีการบรรยายถึงทีมฟุตบอลในฝันของเขาเอาไว้ด้วย

 

นักเตะผู้สร้างตำนาน "หัตถ์ของพระเจ้า" อย่างดิเอโก มาราโดน่า จะมาเป็นกรรมการ และมีฮอร์เก วัลดาโน (Jorge Valdano) นักคิดนักเขียนชาวอาร์เจนติน่า เป็นผู้ช่วยกรรมการ

 

ทางด้านโฆษกบรรยายการแข่งขัน ท่านรองฯ มาร์กอสได้วางตัวนักเขียนชาวอุรุกวัยสองคน คือ เอดดูอาร์โด กัลลิอาโน (Eduardo Galeano) และมาริโอ เบเนเดตติ (Mario Benedetti) ให้มารับหน้าที่นี้

 

แต่คนที่จะมาสร้างสีสันให้กับทีมในฝันของรองมาร์กอสได้มากที่สุด เห็นจะได้แก่นักฟุตบอลทีมชาติหญิงของเม็กซิโก "มาริเบล โดมิงเกซ" (Maribel Dominguez) ซึ่งรับปากว่าจะมาเตะให้ทีมซาปาติสต้าแน่นอน (ถ้าการเตะครั้งนี้เกิดขึ้นจริง)

 

ส่วนมอราตติที่แสนใจดีของสโมสรอินเตอร์มิลานก็ตอบจดหมายกลับไปยังขบวนการซาปาติสต้าในเวลาหนึ่งเดือนให้หลัง

 

บางตอนในจดหมายมีใจความว่า...

 

"พวกเรายินดีที่จะเล่น พวกเราจะเล่นเกมของเรา และขอบคุณสำหรับการเชื้อเชิญ มันจะต้องเป็นเกมที่ยอดเยี่ยมมาก บางทีเราอาจจะเตะฟุตบอลกันในสนามหญ้าเหมือนเมื่อครั้งที่เรายังเป็นเด็ก หรืออาจจะมีต้นไม้ใหญ่ๆ รายล้อม หรือบางทีอาจจะเป็นสนามกีฬาในเมือง แม้แต่ลานดินที่ใช้ผงชอล์กวาดเป็นสนามสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็ยังได้ ฝุ่นละอองคงจะลอยคละคลุ้งจนพวกเราสำลัก แต่ก็มีความสุข"

 

เมื่อมอราตติเปิดไฟเขียวถึงขนาดนี้ ซาเน็ตติก็ออกมายืนยันกับนักข่าวของบีบีซีว่า เขายินดีจะไปเตะบอลกับซาปาติสต้า เพราะถ้าต้นสังกัดไม่มีปัญหากับเรื่องนี้ เขาก็พร้อมที่จะไปกระชับมิตรกับกองกำลังภาคประชาชนที่เป็นขวัญใจของตัวเองเสมอ

 

แม้ว่าสถานที่สำหรับการเตะฟุตบอลนัดสำคัญระหว่างซาเน็ตติและซาปาติสต้าจะไม่ได้ถูกกำหนดตายตัวว่าจะจัดขึ้นที่เม็กซิโกหรือว่าอิตาลี แต่สื่อมวลชนจากสำนักต่างๆ ก็ฟันธงกันไปแล้วว่าสถานที่น่าจะเป็นที่ไหนสักแห่งในเม็กซิโก เพราะสมาชิกทีมซาปาติสต้าคงมีปัญหาเรื่องการเดินทางข้ามประเทศแน่ๆ

 

แนวร่วมซาปาติสต้าและซาเน็ตติ

เพียงเวลาไม่นานหลังจากที่ซาเน็ตติประกาศตัวว่า เป็นผู้สนับสนุนขบวนการซาปาติสต้า ก็เกิดขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน (แบบลับๆ) ในสก็อตแลนด์ขึ้นมากลุ่มหนึ่ง ขบวนการนี้ใช้ชื่อว่า "สหายของซาเน็ตติ" หรือ Friends of Zanetti เพื่อแสดงให้เห็นว่า ความสนับสนุนของซาเน็ตติไม่ได้ชนะใจขบวนการซาปาติสต้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นที่ยอมรับจากแนวร่วมต่อต้านทุนนิยมในส่วนอื่นของโลกด้วย

 

ขบวนการสหายของซาเน็ตติประกาศตัวเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ด้วยการตั้งข้อเรียกร้องกับบรรษัทข้ามชาติที่ขายกาแฟแฟรนไชส์ทั่วโลก (และเรารู้จักกันดี) ในนามของ "สตาร์บักส์" ให้ได้ลองทบทวนการดำเนินธุรกิจของตนเสียใหม่

 

กระจกบานใหญ่ของร้านกาแฟสตาร์บักส์ในเมืองสต๊อกบริดจ์ สก็อตแลนด์ ถูกพ่นด้วยสีสเปรย์ และอ่านได้ใจความว่า "ร้อยละ 2 เพื่อการค้าที่เป็นธรรม แต่อีกร้อยละ 98 เข้ากระเป๋าตัวเอง"

 

ทั้งนี้ กลุ่มสหายซาเน็ตติส่งแถลงการณ์ของตนไปยังสำนักข่าวต่างๆ โดยระบุว่า เมล็ดกาแฟที่สตาร์บักส์อ้างว่าซื้อขายภายใต้การค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) ไม่ได้เป็นความจริงตามที่กล่าวอ้าง เพราะการกว้านซื้อเมล็ดกาแฟในปริมาณมากของสตาร์บักส์ ทำให้กลไกต่อรองทางการตลาดของแต่ละชุมชนถูกทำลาย ชาวไร่กาแฟส่วนใหญ่ถูกบีบให้ขายกาแฟในราคาต่ำ เพราะสตาร์บักส์อาศัยสัญญาลงทุนที่ลงนามร่วมกับรัฐบาลเป็นเครื่องมือบังคับให้ชาวไร่ต้องผลิตกาแฟตามใบสั่งของตน และการเปลี่ยนที่ดินให้กลายเป็นไร่กาแฟทำให้ผืนป่าแถบภูเขาทางตอนใต้ของเม็กซิโกถูกบุกรุกถากถางอย่างน่าใจหาย

 

จากนั้นเป็นต้นมา ขบวนการสหายของซาเน็ตติก็ออกมาปฏิบัติการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวไร่กาแฟที่เม็กซิโกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อต่อรองกับบรรษัทข้ามชาติที่ปากอ้างว่าทำการค้าแบบแฟร์เทรด แต่จริงๆ แล้วก็ยังเอารัดเอาเปรียบชุมชนพื้นเมืองด้วยวิธีต่างๆ อยู่เช่นเดิม

 

จะเห็นได้ว่าความเชื่อมโยงระหว่าง "กลุ่มคน" ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ "บุคคล" ท้ายที่สุดแล้วก็ส่งผลไปยัง "มวลชน" อีกมากมายได้เช่นกัน

 

สถานะ "นักฟุตบอล" ของซาเน็ตติอาจจะถูกอุปโลกน์ขึ้นในเกมการแข่งขัน ทำให้เขาสามารถแปลงตัวตนจากชาวอาร์เจนตินามาเป็นฮีโร่ขวัญใจชาวอิตาลีและแฟนบอลหลากเชื้อชาติทั่วโลกได้อย่างไม่เป็นปัญหา แต่การตัดสินใจเลือกข้างเพื่อแสดงความเชื่อมั่นในสถาบันหรือขบวนการต่างๆ ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่บ่งบอกตัวตนของเขาได้ถ่องแท้กว่ากันมาก

 

แม้ฟุตบอลโลกปีนี้ซาเน็ตติจะไม่ได้ลงแข่งในฐานะกัปตันทีมอาร์เจนติน่า (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) แต่เกมนอกสนามของเขายังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ ตราบใดที่ยังไม่อาจตีเสมอคู่แข่งที่ชื่อว่าทุนนิยมได้...

 

ข้อมูลประกอบ

http://football.guardian.co.uk/print/0,,5042348-103,00.html

http://observer.guardian.co.uk/print/0,,5138851-103977,00.html

http://www.theglobalgame.com/cron008.html

http://angrywhitekid.blogs.com/weblog/2005/06/soccer_as_resis.html

http://en.wikipedia.org/wiki/Labor-power

http://www.narconews.com/Issue40/article1691.html

http://scotland.indymedia.org/newswire/display/1802/index.php

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท