Skip to main content
sharethis


ประชาไท - วันที่ 20 ธ.ค. เวลา 10 .00 น. กลุ่มคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย จัดเวที "หยุดกฎหมายเหยียบย่ำศาสนา ท้า "สรุยุทธ์"ให้จุฬาฯมาสบถ !" ที่ ต.สะกอม อ.จะนะ  จ.สงขลา มีชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วม กว่า 500 คน


 


การเสวนาเริ่มต้นด้วยการเปิดเทปภาพเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของชาวบ้านเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.45 เนื่องจากเป็นวันครบรอบ 4 ปี เหตุการณ์ดังกล่าว จากนั้นจึงมีเวทีอภิปรายเรื่องหลักการศาสนาโดยมุ่งเน้นในประเด็นเรื่องที่ดินวะกัฟ ซึ่งตามหลักศาสนาอิสลามแล้วคือที่ดินที่เจ้าของเดิมได้อุทิศให้พระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเจ้าของเดิมหรือผู้หนึ่งผู้ใดก็ไม่มีสิทธิ์ครอบครองอีกต่อไป  อีกทั้งไม่สามารถซื้อขาย  แลกเปลี่ยน โอน หรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้


 


การจัดงานครั้งนี้เนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 49 สมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีการออกกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพที่ดินสาธารณะประโยชน์ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการฯ ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินวะกัฟตามหลักศาสนาอิสลาม ทั้งนี้ในเวทีมีตัวแทนชาวบ้านและทายาทการวะกัฟที่ดินออกมากล่าวยืนยัน


 


นายเนตร หวะหลำ ตัวแทนกลุ่มคัดค้านฯกล่าวว่า บทบัญญัติทางศาสนาอิสลามนั้นมีมาอย่างยาวนานแล้วเป็นพันปี แต่บทกฎหมายของมนุษย์นั้นเพิ่งบัญญัติขึ้นมาไม่นาน ซึ่งถ้ามนุษย์ทำผิดต่อบทกฎหมายยังถือว่าไม่เป็นไรและยังให้อภัยกันได้ แต่ถ้ามนุษย์ทำผิดต่อหลักฮูก่มของอัลเลาะห์ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นผู้นำศาสนา เช่น จุฬาราชมนตรี ที่มีหนังสือการวินิจฉัยเรื่องที่ดินวะกัฟภายในโครงการท่อก๊าซฯ โดยอิงข้อมูลจากรัฐบาลแล้วออกมาบอกว่าที่ดินตรงนี้ไม่ใช่ที่ดินวะกัฟนั้นไม่ได้ และการที่จุฬาฯอ้างในหนังสือว่าไม่มีหลักฐานว่าที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินวะกัฟ พร้อมกับส่งตัวแทนลงมาแล้วแต่ไม่พบใคร ทั้งที่ความจริงแล้วที่ดินตรงนี้มาทายาทยืนยันอย่างชัดเจน แต่จุฬาฯกลับใช้สำนวนในหนังสือเพื่อเลี่ยงความจริง ซึ่งถือว่าตัวจุฬานั้นเพิกเฉยต่อบทบัญญัติทางศาสนา โดยตามหลักศาสนานั้นถือว่าจุฬาฯได้ทำผิดกฎของอิสลามแล้ว


 


นายสุไลมาน หมัดยูโส๊ะ ตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า การที่เราต้องออกมาท้าอย่างนี้ก็เพื่อต้องการให้รัฐบาลนี้ยกเลิกกฤษฎีกาเพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อทำลายหลักการศาสนาอิสลาม การที่รัฐบาลชุดนี้อ้างเมื่อคราวรับตำแหน่งว่าเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในสมัยนายกฯทักษิณ ชินวัตร และเพื่อทำให้บ้านเมืองมีความโปร่งใสและมีศีลธรรม การยกเลิกกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลชุดนี้ เพราะถ้าแค่กฎหมายที่ออกมาเหยียบย่ำหลักการศาสนาอย่างนี้แล้วรัฐบาลนี้ยังยกเลิกไม่ได้ ก็ไม่ต้องหวังว่าจะแก้ปัญหาภาคใต้ได้


 


หลังจากนั้นเวลา 12.00 น. นางจันทิมา ชัยบุตรดี ตัวแทนชาวบ้าน ได้อ่านแถลงการณ์ว่า เจตนาในการออกกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากการออกกฎหมายย้อนหลังเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย  โดยที่ข้อเท็จจริงก็ฟ้องว่ามีกฎหมายถอนสภาพที่ดินเพียงไม่กี่วัน แต่โครงการฯกลับตั้งอยู่บนเส้นทางวะกัฟแล้ว


 


ดังนั้นเมื่อตอนนี้รัฐบาลทักษิณซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้ออกกฎหมายฉบับนี้ไม่อยู่ในอำนาจแล้ว รัฐบาลนี้ที่อ้างว่าจะเข้ามาแก้ไขสิ่งที่ผิดให้ถูกต้องย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ได้  และการพิสูจน์ความจริงตามหลักการศาสนานั้น ไม่อาจกระทำแต่เพียงพอเป็นพิธีเหมือนอย่างรัฐบาลที่แล้วที่เพียงแต่ถามความเห็นจุฬาราชมนตรี แต่ถ้าหากว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เชื่อว่าการออกกฎหมายของอดีตนายกรัฐมนตรีถูกต้อง  ขอท้า พล.อ.สุรยุทธ์ ให้จุฬาราชมนตรีมาสบถกับวะเระและพี่น้องกลุ่มคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เพื่อเป็นการพิสูจน์ความจริงและยืนยันฮูก่มของอัลเลาะห์(ช.บ.)ว่าไม่มีมนุษย์คนไหนจะมาเปลี่ยนแปลงได้


 


หลังจากนั้นเวลา 13.30 น. จีงเริ่มมีเวทีในภาคบ่าย นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ตัวแทนจากสภาทนายความ กล่าวว่า การออกกฤษฎีกาฉบับนี้เป็นการออกที่ผิดกฎหมายและเป็นการออกเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทอย่างชัดเจน เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆเพื่อคัดค้านการถอนสภาพที่ดินและขอให้มีการดำเนินคดีต่อบริษัท TTM มาโดยตลอดแต่ไม่มีหน่วยงานไหนดำเนินคดีกับบริษัทเลย ทั้งที่บริษัทผิดกฎหมายการบุกรุกที่ดิน แต่รัฐกลับไม่ยอมดำเนินการใดๆ และมาถึง ณ วันนี้กฎหมายถอนสภาพที่ดินเพิ่งจะออกมาบังคับใช้ แต่ในพื้นที่กลับมีโครงการท่อก๊าซฯตั้งอยู่บนที่ดินวะกัฟแล้ว สิ่งที่สำคัญหลังจากนี้คือรัฐจะตอบคำถามจากชาวบ้านกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร


 



ที่มาของการฮุบ "ดินวะกัฟ"


4  เดือนสิงหาคม  2546  บริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย(ประเทศไทย)จำกัด(ทีทีเอ็ม)  เริ่มดำเนินการขออนุญาตผ่านทางหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอโอนแลกเปลี่ยนและขอถอนสภาพที่ดินสาธาราณประโยชน์  ตามมาตรา  8  วรรคสอง(1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน  ซึ่งเป็นเส้นทางอยู่ภายในพื้นที่เป้าหมายโครงการที่ทางบริษัทใช้ก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โดยมีพื้นที่อยู่ใน หมู่ที่ 6 ตำบลสะกอม  หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 8 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และพื้นที่เป้าหมายดังกล่าวทับเส้นทางสาธารณประโยชน์จำนวน 4 เส้นทาง


 


ต่อมาทางบริษัทได้ดำเนินการล้อมรั้วปิดกั้น รวมทั้งเปลี่ยนแปลง ทำให้เสื่อมสภาพในเส้นทางทั้งหมด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมอาวุธครบมือคอยดูแลอารักขา ยังผลให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไป-มา  และใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้เหมือนเดิม   เช่น ในการทำมาหากินเช่น เดินทางไปทำนา  ทำสวน  ทำไร่  เลี้ยงวัว  หาของป่า  หากระจูดไปจักสาน  จับสัตว์น้ำในพรุ  รวมทั้งขนส่งสินค้าการเกษตร


 


ขณะนั้นชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านฯโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลย์ตำบลสะกอมและตำบลตลิ่งชันได้ดำเนินการยื่นหนังสือคัดค้านการขอแลกเปลี่ยนที่ดินของบริษัทและชี้แจงประเด็นที่ดินวะกัฟไปยังอบต. อำเภอจะนะ ที่ดินจังหวัดสงขลาสาขาจะนะ ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดสงขลา   ผู้ว่าราชการจังหวัด   ตลอดจนยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย  สำนักงานจุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อร้องทุกข์ถึงความเดือดร้อนจากการปิดกั้น และการขอโอนแลกเปลี่ยนและขอถอนสภาพที่ดินดังกล่าว  เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ "ดินวะกัฟ"  เป็นดินที่อุทิศให้เพื่อพระผู้เป็นเจ้าให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันตามหลักการศาสนาอิสลาม   ซึ่งผู้ใดก็ไม่มีสิทธิ์ครอบครองอีกต่อไป  อีกทั้งไม่สามารถซื้อขาย  แลกเปลี่ยน  โอน  หรือเปลี่ยนแปลงใดๆได้  หากมุสลิมรู้ว่ามีที่ดินวะกัฟแล้วนิ่งเฉย  ยอมให้มีการครอบครอง  ไม่ช่วยปกป้อง  ไม่ช่วยกันยืนยันและไม่เผยแพร่ความจริงแก่สาธารณะ "ถือว่าเป็นบาป"  มุสลิมต้อง "วายิบ" ร่วมกันรับผิดชอบ  เป็นสิ่งจำเป็นตามหลักการศาสนาปฏิเสธไม่ได้


 


แต่สุดท้ายทางบริษัททีทีเอ็มอ้างว่า ได้ขอแลกทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ซึ่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน และองค์การบริหารส่วนตำบลสะกอมเองก็ไม่ขัดข้อง รวมทั้งจากการสอบถามเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ พบว่าที่ซึ่งทางบริษัทกว้านซื้อเหล่านี้มีทางสาธารณประโยชน์ติดมาแต่เดิมแล้ว โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ  ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ได้นำเสนอต่อสำนักจุฬาราชมนตรีเพื่อให้วินิจฉัยเรื่อง "ที่ดินวะกัฟ" และจุฬาราชมนตรีสรุปว่าไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทางสาธารณะดังกล่าวได้มาโดยการวะกัฟของชาวมุสลิม และหากการแลกเปลี่ยนนั้นไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนและเกิดประโยชน์มากขึ้น ก็สามารถแลกเปลี่ยนเส้นทางดังกล่าวได้ รวมทั้งชี้แจงว่าได้ส่งตัวแทนมาพยายามพบกับผู้ที่อ้างว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นทางวะกัฟ แต่ก็ไม่ได้พบกับใคร


 


ส่วนทางอำเภอจะนะเองก็เห็นด้วยในการแลกเปลี่ยนดังกล่าว โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าเส้นทางเดิมนั้นประชาชนก็ไม่ได้ใช้สัญจรไป-มาแล้วเนื่องจากเป็นทางเดินขนาดเล็ก ใช้สัญจรเป็นระยะทางสั้นๆสภาพเส้นทางไม่ดีนัก


 


อาศัยกฎหมายสร้างความชอบธรรม ดิ้นจาก "มาตรา 8" ถึง "มาตรา 9"


ต่อมาเมื่อประชาชนร่วมกันยืนยันว่า ยังใช้ประโยชน์ในเส้นทางดังกล่าวอยู่จนถึงปัจจุบันก่อนที่บริษัทจะเข้ามาดำเนินการ และยื่นหนังสือคัดค้าน ชี้แจงข้อเท็จจริง และขอมีส่วนร่วมในการดำเนินการไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อม ๆ กับเปิดเผยการดำเนินการที่ลัดขั้นตอนของทางบริษัท ภายหลังทางบริษัทเห็นว่าไม่สามารถขอแลกเปลี่ยนได้ต่อไปโดยง่าย จึงอาศัยกฎหมายหาช่องทางดำเนินการด้วยการขอใช้ที่ดินดังกล่าว ตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาจะนะ ได้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547  


 


ล่าสุดมีประกาศเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548  มีการดำเนินการขอใช้ที่ดินดังกล่าวตามมาตรา 9 อีกครั้ง ซึ่งอบต.ตลิ่งชัน  อบต.สะกอมและชาวบ้านได้ทำหนังสือคัดค้านการขอให้ที่ดินดังกล่าวไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาจะนะ จึงชัดเจนว่าการดำเนินการก่อสร้างที่ผ่านมาของบริษัทเป็นการกระทำก่อนได้รับอนุญาตอย่างชัดเจน


 


หลังจากได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เมื่อ  ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ   สรุปผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการแลกเปลี่ยนที่ดินสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย -มาเลเซีย  ดังนี้    ปรากฎว่าบริษัทกระทำการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการใดๆ  และยังเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีคำสั่งให้บริษัทดำเนินการปรับสภาพที่ดินให้กลับคืนสู่สภาพเดิม


 


แต่บริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย(ประเทศไทย)จำกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการใดๆ ล่าสุดเมื่อวันที่  13  สิงหาคม  2549  นายทักษิณ  ชินวัตร  ได้ออกพระราชกฤษฏีกา  "ถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในท้องที่ตำบลตลิ่งชัน  และตำบลสะกอม  อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา  พ.ศ. 2549"  เพื่อมอบหมายให้อธิบดีที่ดินนำไปจัดหาผลประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินต่อไป


           


จะเห็นได้ว่าการออกพระราชกฤษฏีกา  "ถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินฯ  เป็นการถอนสภาพดินของชาติเพียงเพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่อบริษัททีทีเอ็มและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลย์เท่านั้น  โดยยอมทำลายหลักการศาสนาและเหยียบย่ำความรู้สึกของพี่น้องมุสลิม  โดยมีหน่วยงานรัฐและจุฬาราชมนตรีทั้งที่เป็นผู้นำศาสนาและเป็นผู้มีรู้เกี่ยวกับหลักการศาสนาแต่กลับร่วมมือกับบริษัททีทีเอ็ม    โดยที่ไม่กล้ายืนยันในหลักการศาสนาและไม่ "วายิบ"ร่วมกันกับพี่น้องมุสลิม   ทั้งที่ดินดังกล่าวมี "วะเระ"(ทายาทการวะกัฟ)ยืนยันชัดเจนซึ่งตามหลักการศาสนาอิสลามถ้ามี"วะเระ"(ทายาทการวะกัฟ)การวะกัฟ(การอุทิศแก่พระผู้เป็นเจ้า)ถือว่าสมบูรณ์แล้ว



000


แถลงการณ์


หยุดกฎหมายเหยียบย่ำศาสนา !


ท้า ! "สุรยุทธ์" นำตัว "จุฬา" มาสบถ !


 


เวลา 3 เดือนแล้วที่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยประกาศไว้ว่าเป็นการเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในสมัยนายกฯทักษิณ ชินวัตร และเพื่อทำให้บ้านเมืองมีความโปร่งใสและมีศีลธรรม รวมทั้งพยายามแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยเริ่มด้วยการกล่าวขอโทษพี่น้องมุสลิมแทนรัฐบาลทักษิณ และถอนฟ้องพี่น้องผู้บริสุทธิ์จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ตากใบ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความชัดเจนของรัฐบาลชุดนี้ที่จะลบล้างความผิดของรัฐบาลทักษิณ


 


ไม่ว่าถึงที่สุดแล้วรัฐจะวิเคราะห์สาเหตุของปัญหามุสลิมในภาคใต้ว่าอย่างไร แต่ก้าวแรกที่สำคัญของใครก็ตามที่คิดจะเข้ามาแก้ไขปัญหา ก็คือต้องทำความเข้าใจต่อหลักการศาสนาอิสลามเสียก่อน


 


หลักการสำคัญข้อหนึ่งของศาสนาอิสลาม ก็คือมุสลิมทุกคนมีหน้าที่ปกป้องทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เพราะผืนแผ่นดินและสิ่งมีชีวิตทั้งหมดนี้ที่อัลลอฮฺทรงประทานมา ก็เพื่อให้มนุษย์ใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต ได้ทำมาหากินจากทรัพยากรทั้งหลายอย่างพอเพียง แต่ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดเกิดความละโมบแย่งชิงทรัพยากรของผู้อื่นมาเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ก็เท่ากับผู้นั้นทำลายผืนแผ่นดินแห่งนี้ เท่ากับผู้นั้นทรยศต่อองค์อัลลอฮฺ  ฉะนั้นมุสลิมต้องถือเป็นหน้าที่ ต้องถือเป็นหลักปฏิบัติตามบทบัญญัติอัลกุรอานในการดำเนินชีวิต ว่าเราต้องทำในสิ่งที่พระเจ้าใช้ให้ทำ และไม่ทำในสิ่งที่พระเจ้าห้าม  หลักการนี้ ย่อมไม่อาจไปกันได้กับแนวทางการพัฒนาที่ไล่ตามโลกของทุนนิยมเสรีอย่างในปัจจุบัน ซึ่งถือเงินและอำนาจเป็นใหญ่ เอารัดเอาเปรียบผู้อ่อนแอกว่า ถือเอาผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นที่ตั้ง แย่งชิงทรัพยากรและพยายามรื้อถอนวิถีดั้งเดิมของชุมชน


 


กว่าเก้าปีที่ผ่านมา พวกเราต้องต่อสู้กับวิถีทุนที่มาในรูปของโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ดำเนินโครงการมาได้ด้วยการเหยียบย่ำ ทำลายหลักการศาสนาอิสลาม ไปพร้อมๆกับละเมิดกฎหมาย ตั้งแต่ระเบียบประชาพิจารณ์ กฎหมายสิ่งแวดล้อมในเรื่องการทำอีไอเอ กฎหมายที่ดิน และที่สำคัญขัดรัฐธรรมนูญ  เราได้ต่อสู้เรียกร้อง ฟ้องร้องต่อสังคมมาตลอดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่กลายเป็นว่ายิ่งต่อสู้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เรายิ่งกลับถูกรัฐใช้กลไกกฎหมายมาเล่นงาน  กฎหมายถูกตีความ ถูกหยิบใช้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมหรือศีลธรรม ด้วยฝีมือของมนุษย์กลุ่มไหนก็ได้ที่มีอำนาจอยู่ในมือ


 


และ ณ วันนี้ หลังจากที่เราต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์จากข้อหาสารพัดที่ถูกยัดเยียด ตลอดมาไม่รู้กี่คดี เราพบว่าการย่ำยีครั้งล่าสุดที่กำลังจะทำให้เราหมดความอดทนแล้ว ก็คือการที่รัฐออกกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินสาธารณะประโยชน์ภายในบริเวณโครงการโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา  ทั้งที่ในทางกฎหมายเราได้เคยยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อยืนยันการใช้ประโยชน์ของประชาชนในที่ดินผืนนี้มาแล้ว แต่ผู้มีอำนาจหน้าที่กลับไม่สนใจ และไม่มีกระบวนการสอบสวนกันอย่างซึ่งหน้า แต่กลับไปแอบออกกฎหมายเพิกถอนกันโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว


 


แต่ที่เป็นความเจ็บปวดเสียยิ่งกว่าสำหรับพี่น้องมุสลิมก็คือ ที่ดินนี้เป็นที่วะกัฟหรือที่ดินอุทิศตามหลักศาสนาอิสลาม การออกกฎหมายฉบับนี้เท่ากับทำลายหลักการศาสนา  ผิดฮูก่มตามบทบัญญัติของอัลกุรอ่านว่าด้วยเรื่องที่ดินวะกัฟ อันเป็นการอุทิศเพื่อพระผู้เป็นเจ้าให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน    โดยเจ้าของเดิมหรือผู้หนึ่งผู้ใดก็ไม่มีสิทธิ์ครอบครองอีกต่อไป  อีกทั้งไม่สามารถซื้อขาย  แลกเปลี่ยน โอน หรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้ จนกว่าจะถึงวันสิ้นโลก ด้วยมติทั้ง 4 มาซาฮับ  บทบัญญัติอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไม่อาจถูกบิดเบือนหรือประนีประนอมเพื่อเอื้อประโยชน์แก่นายทุนได้เหมือนอย่างบทบัญญัติที่เขียนโดยมนุษย์ผู้เพียงแต่ประกอบอาชีพทางกฎหมาย


 


เจตนาในการออกกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากการออกกฎหมายย้อนหลังเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย  โดยที่ข้อเท็จจริงก็ฟ้องอยู่ตำตาว่า ทั้งที่เพิ่งจะมีกฎหมายถอนสภาพที่ดินเพียงไม่กี่วัน แต่ ณ วันนี้โครงการฯกลับตั้งอยู่บนเส้นทางวะกัฟของเราแล้ว


 


ในเมื่อตอนนี้รัฐบาลทักษิณซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้ออกกฎหมายฉบับนี้ไม่อยู่ในอำนาจแล้ว รัฐบาลนี้ซึ่งอ้างว่าจะเข้ามาแก้ไขสิ่งที่ผิดให้ถูกต้องนั้น ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ได้  และการพิสูจน์ความจริงตามหลักการศาสนานั้น ไม่อาจกระทำแต่เพียงพอเป็นพิธีเหมือนอย่างรัฐบาลที่แล้วที่เพียงแต่ถามความเห็นจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวโขนที่กลายเป็นเครื่องมือของรัฐไปแล้ว ดังคำวินิจฉัยของสำนักจุฬาราชมนตรีในเรื่องที่ดินวะกัฟที่กล่าวว่า  "ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทางสาธารณะดังกล่าวได้มาโดยการวะกัฟของชาวมุสลิม" เนื่องจาก "ได้ส่งตัวแทนมาพบกับผู้ที่อ้างว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นทางวะกัฟ แต่ไม่พบใคร" นี่หรือคือเหตุผลสำคัญในการตัดสินของจุฬาราชมนตรี นี่หรือคือหลักการตัดสินที่ตั้งอยู่บนหลักการศาสนา การตัดสินที่ละเมิดหลักการศาสนาเช่นนี้จะให้พวกเรายอมรับได้อย่างไร ทั้งนี้ พวกเรายืนยันว่าทางดังกล่าวมีวะเระ (ทายาท) และพยานอย่างชัดเจนว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินวะกัฟอย่างแท้จริง


 


หลักการศาสนาไม่อาจมีชะตากรรมเช่นเดียวกับกฎหมายของมนุษย์ หลักการศักดิ์สิทธิ์ที่บัญญัติถึงสัจธรรมแห่งความถูกต้องดีงามที่มนุษย์พึงยึดถือปฏิบัติตามนั้น ไม่อาจถูกละเมิดหรือบิดเบือนไปตามเจตนาอันฉ้อฉลชั่วร้ายได้  และผู้มีอำนาจใดในรัฐก็ไม่มีสิทธิอหังการ์มาทำลายหรือบิดเบือนไปได้ เพราะหลักการศาสนาไม่ได้ยึดเหนี่ยวผู้คนไว้ได้ด้วยความเกรงกลัวต่อโทษปรับหรือโทษจำคุก  หากแต่ด้วยศรัทธาที่มีต่ออำนาจแห่งความดีงามสูงสุดที่มนุษย์พึงยำเกรง และละอายที่จะละเมิดเพียงเพื่อแลกกับเม็ดเงินหรืออำนาจหัวโขนเฉพาะหน้าในทางโลก 


 


แต่ถ้าหากว่าพล.อ.สุรยุทธ์เชื่อว่าการออกกฎหมายของอดีตนายกทักษิณถูกต้อง  พี่น้องมุสลิมขอท้าให้พล.อ.สุรยุทธ์ นำตัวจุฬาราชมนตรีมาสบถกับวะเระและพี่น้องกลุ่มคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เพื่อเป็นการพิสูจน์ความจริงและยืนยันฮูก่มของอัลเลาะห์(ช.บ.)ว่าไม่มีมนุษย์คนไหนจะมาเปลี่ยนแปลงได้


 


ด้วยสลามและดุอา


เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง


20 ธันวาคม 2549


 



 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net