Skip to main content
sharethis

 



 


 



 


 


 


เมื่อวันที่ 6-7 ต.ต. สำนักข่าวชาวบ้านร่วมกับชมรมมอญกรุงเทพฯ นำสื่อมวลชนหลายสำนักลงพื้นที่ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ภายใต้โครงการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้ มหาชัยเมืองมอญ" เพื่อทำความเข้าใจกรณีแรงงานข้ามชาติที่มาใช้แรงงานในประเทศไทยจำนวนมากซึ่งที่ผ่านมามีการแสดงความวิตกต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวผ่านหน้าหนังสือพิมพ์


 


ในการลงพื้นที่วัดบางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งวัดนี้เคยใช้จัดงานวันชาติมอญ (วันรำลึกบรรพบุรุษมอญ) ปัจจุบันยังจัดให้มีการเรียนการสอนแก่ลูกหลานผู้ใช้แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะชาวมอญ มีครูอาสาสมัครและพระเป็นผู้สอนวิชาที่เรียน ซึ่งจะเรียนทั้งภาษาและวัฒนธรรมมอญควบคู่ไปกับภาษาไทย


 


 


 


 


น.ส.สุกัญญา เบาเนิด


นักวิจัยเรื่องแรงงานข้ามชาติ จ.สมุทรสาคร


 


 


น.ส.สุกัญญา เบาเนิด นักวิจัยเรื่องแรงงานข้ามชาติ จ.สมุทรสาคร อธิบายถึงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ใน จ.สมุทรสาคร รวมถึงการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากประเทศพม่าและที่มาของกรณีปัญหาความหวาดวิตกต่อการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติจำนวนมากใน ต. มหาชัย ว่า ในสมุทรสาคร แม้กลุ่มชาติพันธุ์มอญอยู่อาศัยมานานกว่า 200 ปี แล้ว ปัจจุบันคนกลุ่มนี้ได้รับสัญชาติไทยหมด แต่ยังคงมีสำนึกบางอย่างที่แสดงออกถึงความเป็นมอญบ้าง ในขณะที่ภายหลังมีแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าเข้ามาใช้แรงงานที่สมุทรสาครมากขึ้น


 


ทั้งนี้ แรงงานที่เข้ามามีทั้งกลุ่มชาติพันธุ์มอญในพม่า กลุ่มชาติพันธุ์พม่า และรวมไปถึงแรงงานข้ามชาติจากที่อื่นๆ อย่างเขมร แต่กลับมีความเข้าใจกันว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาล้วนเป็นคนพม่าทั้งหมด ดังที่สื่อมวลชนได้เสนอว่า "พม่ายึดมหาชัย" ซึ่งมาจากอคติทางชาติพันธุ์ที่กดทับความเป็นพม่าอยู่


 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์มอญที่มาจากประเทศพม่าจะถูกบอกว่า เป็นคนพม่าทั้งหมด แต่แท้จริงแล้วใน ต.มหาชัยมีคนมอญมากถึงถึง 70% โดยยังมีสิ่งที่แสดงออกถึงความเป็นมอญที่ปรากฏ ได้แก่ การใช้ภาษามอญในการสื่อสาร ประเพณีและการจัดวันชาติมอญ แต่ที่ ต.มหาชัย จะใช้คำว่า "วันรำลึกบรรพบุรุษมอญ" แทน ความสำคัญของวันนี้คือเป็นวันตั้งกรุงหงสาวดี


 


"วันชาติมอญไม่ใช่การเรียกร้องทางการเมือง การทหาร หรือการจับอาวุธ แต่สิ่งที่แสดงออกคือชาติกำเนิดที่ต้องรักษา นั่นคือ ภาษา วัฒนธรรมและประเพณี การเป็นแรงงานข้ามชาติและจัดงานแบบนี้ขึ้นก็เพื่อย้ำเตือนว่า เขาคือมอญ แต่การจะเกิดงานวันชาติมอญขึ้นได้นั้น ต้องสัมพันธ์กับพื้นที่ด้วย ซึ่งคนในพื้นที่มหาชัยคือคนไทยเชื้อสายมอญมาช่วยให้เกิดวันชาติเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ" น.ส.สุกัญญา กล่าว


 


นักวิจัยคนเดิมกล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานข้ามชาติในกลุ่มที่มาจากประเทศพม่ากับคนไทยเชื้อสายมอญซึ่งเป็นคนส่วนมากในพื้นที่ ต.มหาชัยว่า เดิมจะมีแต่คนเก่าคนแก่อายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่สื่อสารกันด้วยภาษามอญ ส่วนคนรุ่นหลังจะไม่ค่อยได้ใช้ แต่เมื่อแรงงานข้ามชาติข้ามชาติหนีสงครามและอพยพเข้ามา ต.มหาชัยจำนวนมากในระยะหลัง ก็ทำให้นำอัตลักษณ์มอญมาด้วย ซึ่งไปถึงเรื่องภาษามอญ จนนายจ้างเอง หากต้องการการสื่อสารกับลูกจ้างให้เข้าใจ ก็ต้องใช้ภาษามอญ ภาษามอญจึงถูกนำมาใช้ โดยที่คนมอญกับคนพม่าก็สื่อสารกันรู้เรื่อง และมีสำนึกบางอย่างทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ดังนั้น เมื่อเข้ามาใน ต.มหาชัย จึงปรากฏอัตลักษณ์ทั้งมอญ พม่า ไทยซึ่งมาจากคนไทยเชื้อสายมอญที่อยู่ในพื้นที่ผสมกันไป


 


 


 


พระครูปลัดโนรา อภิวโร เจ้าอาวาสวัดศิริมงคล


 


 


พระครูปลัดโนรา อภิวโร เจ้าอาวาสวัดศิริมงคล หมู่ 5 ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นวัดที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง กรณีแรงงานข้ามชาติยึดวัดจัดงานวันชาติ กล่าวว่า ข่าวที่ออกมาสร้างผลกระทบต่อทางวัดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการที่จะต้องตอบคำถามกับเจ้าหน้าที่และในหมู่ของพระสงฆ์ด้วยกัน ทั้งที่จริงแล้วงานนี้เป็นงานรื่นเริงเพื่อการรำลึกถึงบรรพบุรุษ ไม่ได้เรียกว่าเป็นงานวันชาติของใคร เพราะหากเรียกว่าวันชาติทางวัดคงไม่ยินยอมให้จัดงาน โดยงานจะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งจัดมาแล้ว 3 ปี และมีผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก


 


พระครูปลัดโนรา กล่าวด้วยว่า ผลกระทบของการเสนอข่าว ทำให้ทางวัดต้องพิจารณาให้หยุดการจัดงานในปีที่จะถึงนี้ เพราะหวั่นเกรงผลกระทบที่อาจเกิดกับทางวัด และตัวผู้มาร่วมงานเองที่ส่วนหนึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ถูกกฎหมาย จึงอาจถูกตรวจจับอย่างเข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากวันชาติแล้วกลุ่มแรงงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ก็เข้ามาทำบุญเป็นประจำทุกวันเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดของโรงงาน รวมทั้งวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งในกรณีที่คิดว่าอาจเป็นการรวมตัวเคลื่อนไหวอะไรบางอย่างเนื่องจากมีคนมารวมตัวเป็นจำนวนมากนั้นทั้งที่ไม่ได้เป็นวันสำคัญทางศาสนาตามปฏิทินไทยนั้นเป็นเพราะตามปฏิทินวันสำคัญทางศาสนาของแรงงานข้ามชาติที่มาจากพม่าจะเร็วกว่า ปฏิทินไทยเนื่องจากนับตามแบบจันทรคติ ในขณะที่ปฏิทินไทยนับตามแบบสุริยคติ


 


ด้านนายสุรชัย อาจานัว แรงงานชาวมอญจากประเทศพม่า กล่าวถึงปัญหาของแรงงานข้ามชาติจากประสบการณ์กว่า 17 ปี ก่อนจะมาทำงานเป็นอาสาสมัครครูสอนภาษามอญ ของเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ว่า แรงงานต่างชาติจะถูกกดดันในด้านการดำเนินชีวิต แม้แต่การปั่นจักรยานผ่านทางบางคนก็ถูกแกล้งถีบรถจนล้ม และมีแม้แต่กรณีการเคาะห้องแรงงานผู้หญิงแล้วเข้าไปข่มขืนในที่พักหลายราย ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นก็ไม่สามารถนำไปปรึกษาหรือแจ้งกับใครให้เข้ามาช่วยเหลือได้  โดยเฉพาะแรงงานที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่แม้ว่าจะพยายามทำงานสุจริตเพื่อไม่ให้มีความเดือดร้อนแต่บางครั้งก็ยังได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ในเรื่องภาษาในการสื่อสารก็เป็นอุปสรรคต่อความเป็นอยู่หรือการสื่อสารปัญหาต่างๆ ด้วย


 


นายสุรชัยยังกล่าวถึงประเด็นที่แรงงานข้ามชาติถูกมองว่ามาแย่งวัดคนไทยทำบุญ ว่า ไม่เข้าใจทำไมต้องมองเป็นการแก่งแย่ง ทั้งที่การทำบุญเป็นสิ่งดี แสดงถึงจิตใจอันบริสุทธิ์ และชาวมอญเองก็มีจิตใจเคารพและมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนา หากว่ามีการห้ามแรงงานในเรื่องนี้อีกชีวิตก็คงไม่มีที่ยึดเหนี่ยว เหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง


 


นายสุรพล กองจันทึก นักกฎหมายสภาทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสังคมไทยมีทัศนคติที่ผิด 8 ประการต่อแรงงานข้ามชาติ


 


ประการแรก เชื่อว่าแรงงานที่ข้ามชาติเมื่อมากอบโกยเงินไปแล้วก็จะกลับประเทศ ความจริงคือไม่ถูกทั้งหมด เพราะมีแรงงานข้ามชาติกว่า 50% เป็นผู้อพยพในรูปแบบผู้ลี้ภัยซึ่งรัฐต้องมีวิธีจัดการในอีกรูปแบบหนึ่ง อีกทั้งโอกาสที่จะกลับประเทศนั้นมีน้อย นอกจากนี้การที่ต้องอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานก็ทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศตัวเองน้อยลงหรือกลับไปก็ไม่มีที่ทำกินอีกแล้ว กลุ่มนี้มีจำนวนถึง 300,000 คน ในเวลานี้


 


ประการที่ 2 เชื่อว่าแรงงานข้ามชาติมายึด จ.สมุทรสาคร และหากใช้พื้นที่นี้เพื่อปฏิวัติ บ้านเมืองก็จะเดือดร้อน ข้อเท็จจริงคือแรงงานข้ามชาติมาที่ จ. สมุทรสาครเป็นเพราะมีงานให้ทำ และเป็นงานที่คนไทยไม่ทำ อาจเพราะคนไทยมีการศึกษาสูงขึ้น ส่วนงานโรงงานทั้งเหนื่อย สกปรก รวมทั้งค่าแรงต่ำ ดังนั้นการที่แรงงานมาที่ จ.สมุทรสาครจำนวนมากจึงไม่ใช่การยึด ถ้าไม่มีงานเขาก็ไม่มา และผู้ที่นำเขามาก็คือระบบธุรกิจไทย หากจะแก้ไขก็ต้องแก้กันที่ระบบ


 


ประการที่ 3 เชื่อว่าแรงงานข้ามชาติไม่เสียภาษี ดังนั้นรัฐไทยจะดูแลทำไม ข้อเท็จจริงคือ แรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องจะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐไทย แต่เหตุที่แรงงานข้ามชาติไม่เสียภาษีก็เพราะเป็นผู้มีรายได้ต่ำ อย่างไรก็ตาม แรงงานเหล่านี้ก็ต้องเสียภาษีทางอ้อม เช่น การซื้อสินค้า ค่า VAT หรือแม้แต่การขึ้นรถเมล์ ดังนั้นการบริการของรัฐจึงต้องนึกถึงด้วย


 


ประการที่ 4 รัฐมีข้อมูลที่บอกว่าต้องให้แรงงานข้ามชาติรักษาพยาบาลฟรี ในขณะที่กระทรวงสาธารณะสุขเปิดเผยข้อมูลในปี 2549 ว่า เป็นภาระของไทยที่ต้องเสียต่อการรักษาพยาบาลแรงงานข้ามชาติปีละ 300 ล้านบาท โดยที่แรงงานข้ามชาติไม่ต้องเสียภาษี


 


ข้อเท็จจริงคือ รัฐไม่บอกข้อมูลอีกด้านที่ว่ารัฐได้เงินจากแรงงานข้ามชาติในเรื่องการรักษาพยาบาลเท่าไหร่ เพราะแรงงานข้ามชาติต้องเสียค่าประกันสุขภาพ 1,000 บาทต่อคนต่อปี ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติทั้งหมด 700,000 - 800,000 คน รวมแล้วรัฐจะมีรายได้ส่วนนี้จากแรงงงานข้ามชาติถึง 1,000 ล้านบาท และงบประมาณส่วนนี้รัฐอนุญาตให้โรงพยาบาลจัดการงบประมาณเองได้โดยไม่ต้องคืนหลวง


 


ประการที่ 5 เชื่อว่าแรงงานข้ามชาติเป็นแหล่งอาชญากรรม ลักขโมย ข้อเท็จจริงคือมีภาพในด้านนี้ออกมามากเกินความเป็นจริง


 


ประการที่ 6 เชื่อว่าประชากรไทยมีจำนวนมากขึ้นและกำลังล้นประเทศ แรงงานข้ามชาติจำนวนมากกำลังมาแย่งทรัพยากร ข้อเท็จจริงที่ได้จากงานวิจัยด้านประชากรกลับพบว่า จำนวนประชากรไทยกำลังคงที่ที่ 63 ล้านคน ซึ่งนับว่าตอนนี้ถึงจุดสูงสุดแล้วในช่วง 10 - 20 ปี


 


ประการที่ 7 เชื่อว่า แรงงานข้ามชาติมาแย่งอาชีพคนไทย แต่ข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันว่าอาชีพที่แรงงานข้ามชาติทำคืองานที่คนไทยไม่ทำ


 


ประการสุดท้าย เชื่อว่ารัฐไทยไม่จำเป็นต้องดูแลแรงงานข้ามชาติเพราะไม่ใช่คนไทย แต่ข้อเท็จจริงคือ ตีความกฎหมายผิดเพราะรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดระบุว่าเป็นรัฐธรรมนูญแห่ง "ราชอาณาจักรไทย" ไม่ใช่ รัฐธรรมนูญแห่ง "ปวงชนชาวไทย" รัฐไทยจึงต้องดูแลรับผิดชอบทุกอย่างในแผ่นดินไทยซึ่งเป็นราชอาณาจักรไทย   


  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net