Skip to main content
sharethis
 
8 มี.ค.53  สุภาพร ศรีทับทิม นายทะเบียนสหภาพแรงงานจินตนาและในเครือ พนักงานรายวัน บริษัทจินตนา แอพพาเรล จำกัด ซึ่งผลิตชุดชั้นในยี่ห้อจินตนา ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทได้เลิกจ้างกรรมการสหภาพฯ 8 คนเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุเหตุผลว่า พวกเธอชุมนุมปิดทางเข้า-ออกบริษัท รวมทั้งพูดจาให้ร้ายบริษัท ทั้งยังทำให้บริษัทเสียหายเนื่องจากรถรับ-ส่งพนักงานไม่สามารถออกจากโรงงานได้ ลูกค้าต่างชาติซึ่งกำลังติดต่องานก็เกิดความตื่นตระหนกและขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของบริษัทจนขอลดรายการสั่งซื้อกับบริษัท
 
อย่างไรก็ตาม สุภาพรปฎิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และชี้แจงว่า เรื่องเริ่มจากการเจรจาเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างซึ่งตกลงกันไม่ได้ โดยบริษัทได้ขอลดสวัสดิการลง ขณะที่สหภาพฯ ได้ขอให้คงสวัสดิการไว้เท่าเดิม โดยที่ได้ยกเว้นไว้บางข้อแล้ว แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้อีก จนบริษัทยื่นข้อพิพาทเมื่อวันที่ 23 ก.พ. แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เย็นวันเดียวกันกรรมการสหภาพฯ 7 คนซึ่งกลับจากการเจรจาข้อพิพาทได้เข้าชี้แจงกับพนักงานหน้าบริษัทในเวลาหลังเลิกงาน ซึ่งไม่ได้กีดขวางการจราจร หรือพูดจาให้ร้ายบริษัทแต่อย่างใด ดังนั้น การเลิกจ้างครั้งนี้จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
 
สุภาพร ยังชี้แจงถึงข้ออ้างของนายจ้างเรื่องรถรับส่งออกจากโรงงานไม่ได้ว่า ปกติแล้วรถจะออกในเวลา 17.20 น. และในวันนั้นมีพนักงานที่สนใจฟังคำชี้แจงจากกรรมการสหภาพฯจำนวนมาก ทำให้รถออกช้ากว่าปกติเพียง 10 นาทีเท่านั้น ทั้งนี้ บริษัทรถรับ-ส่ง ก็รู้จักกับกรรมการสหภาพฯ หากมีปัญหาจริงก็ต้องมีการแจ้งความเอาผิด แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีการเรียกร้องสิทธิใดๆ ของบริษัทรถรับส่ง
 
ส่วนความตื่นตระหนกของลูกค้านั้น สุภาพรกล่าวว่า เนื่องจากพวกเธอเพิ่งกลับจากการเจรจา จึงไม่ทราบว่ามีลูกค้าอยู่ในบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ในวันนั้นพวกเธอเพียงแต่แถลงผลการเจรจาให้พนักงานทราบ ซึ่งเป็นสิทธิที่คณะกรรมการสหภาพฯ สามารถกระทำได้ และลูกค้าในวันนั้นเป็นลูกค้าที่ไม่ได้สั่งซื้อสินค้าเพิ่มเติมอยู่แล้ว
 
สุภาพร ระบุว่า ในวันดังกล่าวระหว่างการชี้แจงของคณะกรรมการสหภาพฯ เจ้าหน้าที่ของบริษัทได้แสดงความไม่พอใจ เข้ามาแย่งไมโครโฟนไป พร้อมทั้งข่มขู่จะเลิกจ้างกรรมการสหภาพฯ ทั้งคณะ ต่อมาในวันที่ 27 ก.พ. บริษัทได้เรียกประชุมคณะกรรมการสหภาพฯ 8 คน และข่มขู่ให้ลงชื่อในเอกสารเลิกจ้างโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ด้วย แต่พวกเธอก็ไม่ยินยอมเซ็นเอกสารดังกล่าว อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ขอบัตรพนักงานคืน รวมถึงสั่งการให้ทั้ง 8 คนไปเก็บของออกจากแผนก โดยมีการบันทึกวิดีโอไว้โดยตลอด หลังจากนั้นกรรมการสหภาพฯ ทั้ง 8 คนได้แสดงเจตนาเพื่อกลับเข้าทำงานในวันเปิดงาน แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในบริเวณโรงงานอีก
 
รัตติกร ทิพย์ดารา ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสหภาพฯ หนึ่งในผู้ถูกเลิกจ้าง กล่าวว่า อยากขอความเป็นธรรมให้ได้กลับเข้าไปทำงาน และพร้อมให้ตรวจสอบการกระทำของพวกเธอ ทั้งนี้ เธอมองว่า การเลิกจ้างครั้งนี้เกิดจากความต้องการเอาพนักงานที่หัวแข็งและมีบทบาทในสหภาพฯ ออก
 
รัตติกร บอกว่า ตอนนี้กำลังยื่นเรื่องว่างงานกับสำนักงานประกันสังคม แต่ก็ยังไม่ได้รับค่าชดเชยการว่างงาน เพราะนายจ้างก็ยังไม่แจ้งว่าพวกเธอโดนเลิกจ้าง
 
สำหรับความเคลื่อนไหวต่อไปนั้น สุภาพร บอกว่า จะทำหนังสือแก้คำกล่าวหาของบริษัทเพื่อยื่นต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ภายในสัปดาห์นี้ และมีกำหนดเดินทางไปร้องเรียนที่กระทรวงแรงงานในวันที่ 10 มี.ค. ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net