Skip to main content
sharethis

ครอบครัว “เริ่มสุข”

16 ม.ค.56 เมื่อเวลา 9.30 น ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลได้อ่านคําสั่งไต่สวนการตายคดีหมายเลขดำที่ ช.7/2555 กรณีนายบุญมี เริ่มสุข วัย 71 ปี ซึ่งถูกยิงที่ย่าน บ่อนไก่ บริเวณท้องด้านซ้ายกระสุนตัด ลําไส้เล็กขาดตอน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 ในช่วงที่มีการกระชับวงล้อมผู้ชุมนุมแนวรวมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ในรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยเสียชีวิตที่นายบุญมี เสียชีวิตในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 28 ก.ค.53

ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือ นายบุญมี เริ่มสุข ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลตำรวจ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 ก.ค.53 เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายสืบเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด ร่วมกับประวัติถูกยิงที่บริเวณช่องท้อง ด้วยกระสุนปืนขนาด . 223 (5.56 มม.) ขณะที่อยู่บริเวณถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

นับเป็นคดีแรกที่ศาลมีคำสั่งในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายไปแล้ว 4 คดี ซึ่งทั้งหมดชี้ว่าเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ทหาร ได้แก่ นายคำ พันกอง, นายชาญณรงค์ พลสีลา, นายชาติชาย ชาเหลา, ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือ อีซา

ภรรยา(คนกลาง)และบุตรสาวของนายบุญมี

ครอบครัวเริ่มสุขเผยเสียใจกับคำสั่ง แต่จะสู่ต่อไป

นางนันทพร เริ่มสุข อายุ 68 ปี ภรรยาลุงบุญมี เผยความรู้สึกหลังฟังคำสั่งศาลว่ารู้สึกเสียใจเนื่องจากหาคนกระทำผิดไม่ได้ พร้อมเรียกร้องให้ให้คนที่กระทำคนที่สั่งยิงออกมารับผิดชอบเรื่องนี้

เช่นเดียวกับ น.ส.พรพิมล เริ่มสุข บุตรสาวลุงบุญมี วัย 39 ปี เผยความรู้สึกหลังฟังคำสั่งว่ารู้สึกเสียใจเพราะคำตัดสินของศาลหาผู้กระทำผิดไม่ได้ แต่เราก็เคารพการตัดสินของศาล

บุตรสาวลุงบุญมี เปิดเผยถึงช่วงที่รักษาตัวของบิดาว่า “ตลอดระยะเวลาก็มีทั้งตำรวจ นักข่าว เข้ามาสอบถามตลอด พ่อบอกว่าทหารเป็นคนยิง”

สำหรับการเยียวยานั้น น.ส.พรพิมล เปิดเผยว่าได้รับแล้ว และเสริมด้วยว่า “แต่สำหรับชีวิตคนคนหนึ่งมันไม่คุ้มหรอกสำหรับเงินจำนวนนั้น เราหาได้อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าจะหาไม่ได้ แต่ตลอดเวลาที่เจ็บป่วยอยู่ที่เราต้องไปพยาบาลคุณพ่อที่เราต้องติดต่อหน่วยงานโน้นนี้ ถามว่ามีใครมาสนใจบ้าง ถามว่ามันคุ้มหรอกับเงินแค่นั้นกับชีวิตคนและความรู้สึกที่สูญเสียไป วันปีใหม่ วันสงกรานต์หรือเทศกาลต่างๆ เคยได้กินข้าวด้วยกัน แล้วจะชวนเขามานั่งกินตอนไหนเมื่อเสียไปแล้ว มันไม่คุ้มหรอกกับเงินจำนวนนั้น ถ้าแลกกันได้เอาเงินคืนไปเอาพ่อดิฉันคือมาดีไหม”

บุตรสาวลุงบุญมี ยืนยันด้วยว่าจะเดินหน้าต่อสู้เพื่อความยุติธรรมต่อไป เนื่องจากคำตอบนี้ค่อนข้างไม่ยุติธรรมกับตนและครอบครัว

น.ส.พรพิมล เริ่มสุข บุตรสาวลุงบุญมี

นายณัฐพล ปัญญาสูง ทีมทนายจากมูลนิธิไทยรักไทย ในฐานะทนายญาติผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ต่อจากนี้คำสั่งศาลจะส่งกลับไปที่พนักงานสอบสวนและกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) จะสรุปสำนวน คำเบิกความทั้งหมด พนักงานสอบสวนก็จะหาผู้กระทำความผิด ซึ่งอาจจะเป็นใครก็ได้ ระหว่าง 2 กลุ่มคือเจ้าหน้าที่ทหารหรือกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อจะฟ้องเป็นคดีอาญา แต่ที่ผ่านมานี้เป็นการไต่สวนการตายว่าเป็นการตายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไหม หรือว่าโดยการกระทำของใครซึ่งยังไม่ถึงเด็ดขาด เพราะคงดำเนินการต่อไป เพื่อหาผู้กระทำความผิด จากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนอีกทีหนึ่ง

“จากคำบอกเล่าของแก(ลุงบุญมี) ญาติๆ ของแก พนักงานสอบสวนก็ไปสอบสวนแก สอบตัวคนที่ถูกยิงโดยตรงก่อนที่จะตาย แกก็บอกว่าตัวเองถูกใครยิง แกไม่มีส่วนได้เสียกับคู่กรณีไม่ว่าใคร เพราะก็ไม่ได้เป็นผู้ร่วมชุมนุม แต่ท้ายที่สุดก็ขอเคารพคำสั่งศาล” ทนายณัฐพล กล่าว

คำสั่งศาลโดยย่อ เผยแพร่โดย ส่วนประชาสัมพันธ์ฯ สำนักอำนวยการประจำศาลอาญากรุงเทพใต้

คดีสืบเนื่องจากพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพการตายของนายบุญมี เริ่มสุข เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 เวลากลางวัน ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

ศาลพิเคราะห์จากพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.53 ถึงวันที่ 19 พ.ค.53 มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งใช้ชื่อว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ แต่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธคำเรียกร้องของกลุ่ม นปช. จึงมีการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขยายพื้นที่การชุมนุมไปสี่แยกราชประสงค์ ถ.เพลินจิต ถ.พระราม 1 และ ถ.พระราม 4

ต่อมาในวันที่ 7 เม.ย.53 รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ จึงได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและอีกหลายพื้นที่ โดยนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งที่ พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ มีข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ และคำสั่งที่ พิเศษ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และได้มีการออกข้อกำหนดโดยประกาศของ ศอฉ. ห้ามกระทำการต่างๆ เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้

เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 ศอฉ.มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานซึ่งมีอาวุธประจำกายได้แก่ ปืนเล็กกล M 16, M 653 และปืนลูกซอง เข้าทำการผลักดันผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. เพื่อขอคืนพื้นที่ตามแนว ถ.พระราม 4 ต่อมาเวลา 14.00 - 15.00 น. ของวันดังกล่าว ระหว่างเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่เพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณสะพานไทย-เบลเยี่ยม ถ.พระราม 4 จากกลุ่ม นปช. ได้ใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าผลักดันผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. จึงเกิดการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งพยายามยึดพื้นที่บริเวณใต้สะพานไทย-เบลเยี่ยม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้อาวุธปืน ประทัดยักษ์ หนังสติ๊ก และตะไล ยิงมายังฝ่ายเจ้าพนักงาน ต่อมาภายหลังเหตุการณ์ชุมนุมสิ้นสุดลง มีการตรวจสอบไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ถึงผู้ได้รับบาดเจ็บ และถึงแก่ความตายเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม นปช. พบว่าในวันที่ 14 พ.ค.53 ผู้ตายซึ่งไม่ใช่ผู้เข้าร่วมชุมนุมถูกยิงบริเวณหน้าท้องได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จากนั้นได้ย้ายมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ แล้วถึงแก่ความตายในวันที่ 28 ก.ค.53 โดยแพทย์มีความเห็นว่า เหตุตายเกิดจากติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมกับประวัติถูกยิงช่องท้อง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายเป็นอย่างไร เห็นว่าผู้ร้องมีพยานซึ่งเป็นช่างภาพสถานีโทรทัศน์ปฏิบัติหน้าที่ถ่ายภาพการปะทะกันระหว่างฝ่ายเจ้าพนักงานกับกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันว่า เห็นการยิงตอบโต้กันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าพนักงาน เป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณหน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และเห็นฝ่ายผู้ชุมนุมมีการใช้พลุและอาวุธปืนยิงตอบโต้ทางฝ่ายเจ้าพนักงาน พยานเป็นคนกลางซึ่งไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความเป็นจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุและทำรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุว่า มีรอยกระสุนปืนมีทิศทางการยิงมาจาก ถ.พระราม 4 ฝั่งแยกวิทยุมุ่งหน้าใต้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ด่านบ่อนไก่) มุ่งหน้าแยกวิทยุ ซึ่งเป็นฝั่งของกลุ่ม นปช. จึงรับฟังได้ว่ามีคนในกลุ่ม นปช. และฝ่ายเจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้กัน

ส่วนที่พยานปากผู้ร่วมชุมนุมกลุ่ม นปช. และพนักงานสอบสวนเบิกความว่า ผู้ตายถูกยิงขณะยืนอยู่ที่หน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ถ.พระราม 4 แต่กลับปรากฏจากรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุว่า หน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. เป็นจุดที่บุคคลอื่นถูกยิง ไม่ใช่จุดที่ผู้ตายถูกยิง และเมื่อตรวจสอบภาพความเคลื่อนไหวจากแผ่นบันทึกภาพ ซึ่งได้บันทึกการสัมภาษณ์ผู้ตาย ผู้ตายก็ไม่ได้ระบุว่าตนเองถูกยิงที่หน้าสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และยังได้ความจากพยานผู้ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนว่า หากจะระบุวิถีกระสุนที่ยิงจากผู้ตายตามหลักวิชาการจะต้องดูตำแหน่งที่ผู้ตายยืน ลักษณะท่าทาง และการเคลื่อนไหวของผู้ตายในขณะถูกยิง ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่มีผู้ใดเห็นว่าผู้ตายยืนอยู่ในลักษณะใด แม้ในเอกสารการถอดคำสัมภาษณ์ผู้ตายจะระบุอ้างว่า ผู้ตายพูดว่า "ถูกยิงจากฝั่งทหาร"  แต่เมื่อพิจารณาจากภาพเคลื่อนไหวจากแผ่นบันทึกภาพในช่วงเวลาที่อ้างว่ามีคำพูดเช่นนั้นของผู้ตาย ก็ไม่ปรากฏว่ามีเสียงพูดของผู้ตายด้วยถ้อยคำดังกล่าว โดยมีเพียงลักษณะของการขยับปากพูดเท่านั้น ซึ่งไม่แน่ชัดว่าลักษณะการขยับปากดังกล่าว เป็นไปตามเอกสารการถอดคำสัมภาษณ์หรือไม่

แม้พนักงานสอบสวนเบิกความว่า หัวกระสุนที่ได้จากตัวผู้ตายเป็นขนาด .223 (5.56 มม.) ที่ใช้กับปืนเล็กกล M 16 ซึ่งใช้ในราชการทหาร แต่ก็ได้ความจากเจ้าพนักงานว่า มีเจ้าพนักงานถูกยิงด้วยหัวกระสุน ซึ่งใช้กับอาวุธปืนอาก้าหรืออาวุธปืนเล็กกล M 16 เช่นเดียวกัน ซึ่งพยานผู้ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนก็เบิกความว่า ลูกกระสุนปืนของกลางในตัวผู้ตาย มีลักษณะคล้ายลูกกระสุนปืนที่ยิงถูกเจ้าพนักงาน จึงเชื่อว่านอกจากฝ่ายเจ้าพนักงานจะใช้กระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) แล้ว ยังมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่ม นปช. และใช้กระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) ยิงตอบโต้กับฝ่ายเจ้าพนักงานด้วย สำหรับผลการตรวจพิสูจน์ของพยานผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า กระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) ของกลาง ไม่ได้ยิงออกมาจากอาวุธปืนเล็กกล M 16 จำนวน 40 กระบอก ของเจ้าพนักงาน แม้พยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความว่า อาวุธปืนของกลางสามารถถอดเปลี่ยนลำกล้องได้ แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดยืนยันได้ว่า ก่อนเจ้าพนักงานจะส่งอาวุธปืนของกลางมาตรวจพิสูจน์ ได้มีการเปลี่ยนลำกล้องปืนใหม่แต่อย่างใด จากข้อเท็จจริงดังได้วินิจฉัยมาดังกล่าว จึงฟังได้ว่า ผู้ตายถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 (5.56  มม.) โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ตายถูกยิงจากฝ่ายใด และใครเป็นผู้กระทำ

 จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายบุญมี เริ่มสุข ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลตำรวจ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2553 เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมกับประวัติถูกยิงที่บริเวณช่องท้อง ด้วยกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) ขณะอยู่บริเวณ ถ.พระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

 

คลิปสัมภาษณ์ลุงบุญมีก่อนตาย ที่ศาลระบุว่าไม่ปรากฏว่ามีเสียงพูดว่า "ถูกยิงจากฝั่งทหาร"

วีดีโอคลิปสัมภาษณ์นายบุญมี ขณะเข้ารับการรักษาที่ รพ.ตำรวจ ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา 
คลิปจากเฟซบุ๊ก กาญจน์ชนิษฐา เอกแสงศรี

โดยในวีดีโอคลิป น.ส.กาญจน์ชนิษฐา เอกแสงศรี และนายวสันต์ สายรัศมี หรือเก่ง อายุ 28 ปี เจ้าหน้าที่กู้ภัยและอาสาพยาบาลฯ ได้มีสอบถามถึงอาการบาดเจ็บและการรักษาพยาบาลกับนายบุญมี และนายบุญมียังได้กล่าวถึงกระสุนที่ยังฝังอยู่บริเวณสะโพกของตนและเล่าเหตุการณ์ที่ตนถูกยิงด้วย ในนาทีที่ 2.56 ที่ น.ส.กาญจน์ชนิษฐา ถามว่า “กระสุนยิงมาจากฝั่งไหน” นายบุญมีตอบกลับว่า “ฝั่งของทหาร” และนายบุญมียังเล่าด้วยว่าขณะนั้นตนอยู่ไกลจากฝั่งทหาร โดนยิงเวลาประมาณ 4 โมงเย็น ซึ่งปรกติเวลานั้นบริเวณดังกล่าวจะเป็นตลาดนัดจึงได้ออกมาหาของกินตามปรกติ

นอกจากนี้ น.ส.กาญจน์ชนิษฐา ยังได้มีการโพสต์ข้อความกำกับไว้ใต้วีดีโอคลิปด้วยว่า ลุงบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ยืนยันว่าถูกทหารยิง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 โดยโดนยิงเข้าบริเวณช่องท้อง ลุงเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ว่า "ผมคิดว่าที่ทหารเขายิงชาวบ้าน เพราะถูกนักรบโบราณยิงหนังสติ๊กใส่ ผมมองเห็นว่าทหารหลายนายหลบกลัวกระสุนหนังสติ๊ก ทหารจึงใช้ทั้งกระสุนจริง กระสุนยาง แก๊สน้ำตายิงใส่ประชาชน สังเกตว่ากระสุนยางจะยิงทีละนัด หากเป็นเอ็ม 16 จะยิงเป็นชุด"

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net