Skip to main content
sharethis

ผลหารือนายกรัฐมนตรีไทย-มาเลเซีย เห็นชอบให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกการเจรจาสันติสุขภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายจะสร้างความเชื่อมโยงทั้งถนนและระบบราง เชื่อมโยงการท่องเที่ยว ตั้งเป้าการค้า 1 ล้านล้านบาท ด้านมาเลเซียรับจะสนับสนุนทุนการศึกษาให้เยาวชนไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และ นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ถ่ายภาพร่วมกันที่ทำเนียบรัฐบาลมาเลเซีย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

 

1 ธ.ค. 2557 - เมื่อเวลา 11.45 น. วันนี้ (1 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี การหารือทวิภาคีเต็มคณะกับ นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยมีบุคคลระดับสูงของไทยเข้าร่วมหารือ ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น ณ  ห้อง Perdana Meeting Room ชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาลมาเลเซีย

โดยเว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า ภายหลังการหารือ ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการหารือ สรุปดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรัฐบาลมาเลเซีย พร้อมชื่นชมวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในการพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงตามวิสัยทัศน์ปี 2563 หรือ Vision 2020

นายกรัฐมนตรีย้ำความสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์กับมาเลเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและมาเลเซีย ให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างทุกภาคส่วนของทั้งสองประเทศ ส่งเสริมความเชื่อมโยงความร่วมมือด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดน  ไทยสนับสนุนการทำหน้าที่ของมาเลเซียในฐานะเป็นประธานอาเซียน และสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในปี 2558

ทั้งนี้  ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมหารือประจำปี (Annual Consultation) ครั้งที่ 6 ระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซีย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ไทยยังได้เสนอให้มาเลเซียพิจารณาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย - มาเลเซีย ครั้งที่ 13 และคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (JDS) ครั้งที่ 4 ด้วย

ด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความพอใจกับผลการพบหารือกลุ่มเล็กกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียก่อนหน้านี้ ซึ่งรัฐบาลไทยยืนยันที่จะเดินหน้าสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก โดยจะได้มีการหารือในรายละเอียดกันต่อไป เพื่อให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขมีความคืบหน้าอย่างแท้จริง

ด้านเศรษฐกิจ  ไทยกับมาเลเซียต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ  การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งรถและราง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงในพื้นที่ชายแดน ซึ่งไทยได้มีการเร่งรัดพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา-ปาดังเบซาร์ เพื่อเพิ่มการจ้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่  ไทยยังอยากเห็นนักลงทุนมาเลเซีย เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น  เช่นเดียวกันกับที่จะส่งเสริมให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในมาเลเซีย เช่นกัน   โดยไทยและมาเลเซียเห็นพ้องกันในการตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น จาก 8 แสนล้านบาทในปี 2556 ให้ได้ถึง 1  ล้านล้านบาทในปี 2558 ซึ่งไทยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) ได้พิจารณาปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนของต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้นในลักษณะ Package ทั้งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สอดคล้องกับนโยบายของไทย ที่จะกำหนดให้ปีหน้าเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทยด้วย

สำหรับโครงการ Rubber City ระหว่าง จ. สงขลา กับรัฐเกดะห์ ซึ่งทั้งไทยและมาเลเซียได้ร่วมกันผลักดัน ไทยได้ศึกษาการจัดตั้ง Rubber City บริเวณนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้  ที่บ้านฉลุง อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูป เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ยางและส่งเสริมการจ้างงาน

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทยและมาเลเซียที่มีมายาวนาน และมีความร่วมมือกันรอบด้านอย่างลึกซึ้ง มาเลเซียได้สนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยได้มอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนไทยทั้งสายอาชีวะ การศาสนาและวิชาสามัญ และจะเดินหน้าโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังได้กล่าวสนับสนุนนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับความร่วมมือไทยและมาเลเซียทั้ง การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยจะส่งเสริมการลงทุนที่เน้นการพัฒนาทุกภาคส่วนทั้งสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกในการประกอบอาชีพและกิจกรรมอื่น  รวมทั้งการส่งเสริมการเชื่อมโยง (Connectivity) ด้วยเส้นทางถนนและรถไฟจากไทย-มาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้า อาจเชื่อมต่อไปยังอินเดียและจีนในอนาคตด้วย

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวสนับสนุนเป้าหมายมูลค่าการค้า 1 ล้านล้านบาท ของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ไทยมีความเชี่ยวชาญในสาขายานยนต์ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของมาเลเซีย มีความพอใจในการลงทุนในไทยด้วย รวมทั้งมาเลเซียยังสนใจที่จะร่วมมือกับไทยในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยซึ่งเป็นยอมรับในภูมิภาค

มีรายงานก่อนหน้านี้ด้วยว่า ในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ เยือนมาเลเซีย มีการประท้วงหน้าสถานทูตไทย ถ.อัมปัง กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดย 18 องค์กรประชาสังคม มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลมาเลเซีย ไม่ให้ยอมรับรัฐบาล คสช. จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขต่อไปนี้ได้แก่ (1) ยกเลิกกฎอัยการศึกในทันที (2) หยุดการทำลายและจับกุมผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองในประเทศไทยและปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด (3) มีการเลือกตั้งและให้ประชาชนไทยเลือกตั้งรัฐบาลของพวกเขาได้อย่างเสรีตามระบอบประชาธิปไตย

โดยในแถลงการณ์ดังกล่าว มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรมาเลเซีย 4 คน ร่วมลงชื่อด้วย ได้แก่ ฉัว เทียน ชาง ส.ส.เขตบาตู กัวลาลัมเปอร์, ชาร์ลส์ ซานติอาโก ส.ส.เขตกลัง รัฐสลังงอร์, ชัยกุมาร เทวราช ส.ส.เขตสุไหง สิปุต รัฐเประ และ ชาง ลิ คัง ส.ส.เขตอะดุน เตจา รัฐเประ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net