สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 11-17 มิ.ย. 2558

 
ประกันสังคม จังหวัดนครปฐม ชี้แจงสิทธิการถูกบริษัทเลิกจ้าง
 
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 11 มิถุนายน 58 นายธวัชชัย ฤกษ์อังคาร ตัวแทนลูกจ้าง พร้อมลูกจ้าง จำนวน 41 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่บริษัท ชมแสงอินดัสตรี้จำกัด สาขานครปฐม ตั้งอยู่เลขที่ 12/11 หมู่ 21 ตำบลห้วยขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งได้ค้างชำระเงิน สมทบกองทุนประกันสังคม ให้แก่ลูกจ้างในโรงงาน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 56 ถึงพฤศจิกายน 57 รวม 13 เดือนนั้น ได้เดินทางมาที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม. เพื่อสอบถามความคืบหน้า และสิทธิประโยชน์ และได้ รับการชี้แจงการดำเนินการของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม ฯ
 
ทางด้าน นางสาวอริยา ลิ้มสุวัฒน์ ประกันสังคมจังหวัดนครปฐม ได้มอบหมายให้นางสาวเกวลี เลขาภิสิทธิ์ ตำแหน่ง นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานประกันสังคม 2 และนางรัชนี ภู่พร้อมพันธุ์ ตำแหน่งนักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานประกันสังคม 3 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าชี้แจงถึงกรณีการดำเนินการติดตามเร่งรัดหนี้เงินสมทบจาก นายจ้างและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ลูกจ้างจะได้รับ จนเป็นที่เข้าใจ 
 
ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม จะได้ประสานงานกับสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทฯ ชมแสงอินดัสตรี้ สำนักงานใหญ่ ที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
 
(บ้านเมือง, 11/6/2558)
 
กาฬสินธุ์ส่งเสริมอาชีพผู้รับพระราชทานอภัยโทษ
 
สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดโครงการ “การให้คำปรึกษา แนะนำและช่วยเหลือส่งเสริม ด้านการประกอบอาชีพและส่งเสริมสนับสนุนให้มีงานทำ สำหรับผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ” เพื่อให้ดำรงชีวิต พึ่งตนเองคืนคนดีสู่สังคม
 
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ลานอเนกประสงค์ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสุรพจน์ รัชชุศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายเศวตนันท์ สุขพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยตัวแทนส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ร่วมกันเปิดโครงการ “การให้คำปรึกษา แนะนำและช่วยเหลือส่งเสริม ด้านการประกอบอาชีพและส่งเสริมสนับสนุนให้มีงานทำ สำหรับผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ”
 
นายเศวตนันท์ สุขพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งว่า มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 มีผลให้ผู้ต้องโทษและผู้ต้องขังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษบางส่วนได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ทัณฑสถาน หรือสถานกักขังในพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ แต่ผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะยากจนและมีการศึกษาไม่สูง โดยในช่วงระยะแรกของการปล่อยตัวยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมภายนอกได้ มักประสบปัญหาขาดผู้ช่วยเหลืออุปการะ ไม่มีที่พักพิง ไม่มีงานทำ และขาดรายได้ในการดำรงชีวิต
 
ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยจึงได้มอบให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการให้คำปรึกษา แนะนำ ให้ความช่วยเหลือ ให้การสงเคราะห์พัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งเสริมอาชีพ และสนับสนุนให้มีงานทำ เพื่อให้ผู้ได้รับการอภัยโทษสามารถปรับตัว ดำรงชีวิตพึ่งตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตลอดจนทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อช่วยกันฟื้นฟูจิตใจและให้กำลังใจแก่ผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เข้มแข็ง ให้สังคมยอมรับและให้โอกาสเป็นการคืนคนดีสู่สังคมต่อไป
 
สำหรับพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์มีผู้ร่วมกิจกรรม 150 คน แยกเป็นผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษที่มีภูมิลำเนาในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ 42 ราย ผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวจากโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองและอยู่ระหว่างพักการลงโทษ ลดวันต้องโทษจำคุก 59 ราย ผู้ได้รับการพักการลงโทษลดวันต้องโทษจำคุกเดิมอีก 80 ราย โดpทั้งหมดจะมีวิทยากรจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาให้คำแนะนำและสอนอาชีพ
 
(บ้านเมือง, 12/6/2558)
 
ส.อ.ท.ยันปีนี้ไทยผลิตรถอย่างต่ำ 2 ล้านคันแน่,ไร้เหตุการณ์ลดพนักงาน
 
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า ส.อ.ท.เตรียมปรับเป้าหมายยอดการผลิตรถยนต์ในปีนี้อีกครั้ง โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตเพื่อส่งออก หลังแนวโน้มการส่งออกช่วง 4 เดือนแรกเติบโตมากกว่าที่คาด แต่อาจจะปรับลดการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลง เนื่องจากยอดขายอยู่ระดับต่ำ
 
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ายอดรวมการผลิตรถยนต์ของไทยในปีนี้จะทำได้อย่างน้อย 2 ล้านคันเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยเชื่อว่าอุตสาหกรรมรถยนต์จะขยายตัวได้มากขึ้นอีกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ขณะที่ภาคการส่งออกรถยนต์ยังคงเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดรถอีโคคาร์ ทำให้ไม่เห็นโอกาสที่อุตสาหกรรมรถยนต์และค่ายรถยนต์ต่าง ๆ จะปรับลดพนักงานหรือลดการทำงานนอกเวลา(โอที)ในปีนี้
 
"การส่งออกรถยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้เติบโตกว่า 13% เป็นระดับที่น่าพอใจ ซึ่งจะทำให้การผลิตของเราโตกว่าปีที่แล้วที่มีการผลิต 1.88 ล้านคัน ปีนี้น่าจะผลิตได้อย่างน้อย 2 ล้านคัน กำลังขอให้ผู้ประกอบการทุกรายประเมินตัวเลข 6 เดือนหลังมาว่าจะผลิตเพื่อส่งออกเท่าไหร่ และผลิตเพื่อขายในประเทศเท่าไหร่ เมื่อได้ครบแล้วจะมีการแถลงข่าวต่อไป...การปรับลดคนงานของอุตสาหกรรมช่วงนี้ไม่น่าจะมี เพราะการผลิตยังเพิ่มขึ้น"นายสุรพงษ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
 
ทั้งนี้ ในปี 57 ไทยมีการผลิตรถยนต์ 1.88 ล้านคัน ลดลง 23.49% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 56 ขณะที่เมื่อต้นปี ส.อ.ท.ตั้งเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ปีนี้จะเติบโตราว 14% มาที่ 2.15 แสนคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1.2 ล้านคัน และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 9.5 แสนคัน
 
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกระแสข่าวที่ออกมาว่าจะมีการปรับลดพนักงานในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น น่าจะเป็นผลจากการที่ค่ายรถยนต์ปรับเปลี่ยนรุ่นการผลิต โดยเลิกการผลิตรถยนต์ในบางรุ่น ทำให้ต้องยกเลิกการว่าจ้างซับคอนแทรคบางราย แต่ขณะเดียวกันก็ได้เริ่มการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ และได้ว่าจ้างซับคอนแทรครายใหม่เข้ามาแทน ทำให้ในภาพรวมยังคงมีการจ้างงานต่อเนื่อง
 
ส่วนโรงประกอบรถยนต์นั้น ก็เชื่อว่าไม่มีรายใดที่ลดพนักงาน เพราะบุคคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีความเชียวชาญมีไม่มากนัก จึงเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้เพื่อรองรับการผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยในส่วนของการทำโอทีของโรงงานปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เพราะการผลิตรถยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ยังเพิ่มขึ้น 0.67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และประมาณการยอดผลิตทั้งปีนี้ยังคงสูงขึ้นจากปีที่แล้ว โดยมองว่าการผลิตรถยนต์ในปีนี้จะอยู่ในระดับอย่างต่ำ 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่า 6% จากการผลิตในปีก่อน
 
แต่การทำโอทีของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปีนี้จะลดลงเมื่อเทียบกับปี 56 ที่มีการผลิตรถยนต์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2.46  ล้านคัน หลังจากได้รับประโยชน์จากการส่งมอบรถยนต์ตามโครงการคืนภาษีสรรพสามิตให้กับรถยนต์คันแรก อย่างไรก็ตาม การทำโอทีในปีนี้ยังอยู่ในระดับที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อเทียบกับภาวะปกติของอุตสาหกรรมอย่างในช่วงปี 53 ก่อนที่ในปี 54 จะปรับลดลงจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ และปี 55 ยังได้รับผลต่อเนื่องจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ แต่ก็ได้รับผลบวกจากโครงการรถยนต์คันแรก ที่มีการส่งมอบต่อเนื่องจนถึงกลางปี 56
 
ทั้งนี้ มองว่าภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศปีนี้อาจจะยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติมากนัก เพราะความต้องการรถยนต์ของตลาดยังถูกดึงไปจากโครงการรถยนต์คันแรกอยู่ ขณะที่ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ส่งผลต่อความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ปัจจุบันมีอัตราการปฏิเสธยอดขอสินเชื่อสูงถึง 30-40% อีกทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำด้วย
 
แต่คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก เป็นผลจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะออกมามากขึ้น ส่งผลให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนตามมาด้วย ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ยังต้องจับตาทิศทางของราคาสินค้าเกษตรว่าจะดีขึ้นจากปัจจุบันหรือไม่ หลังรัฐบาลระบุว่าจะสนับสนุนให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น
 
นอกจากนี้ ยังคาดว่าการส่งออกรถยนต์ของไทยจะเติบโตได้ต่อเนื่อง หลังในช่วง 4 เดือนแรกยอดส่งออกเติบโตแล้วกว่า 13% จากงวดปีก่อน ทำให้คาดว่าอาจจะปรับเป้าหมายยอดการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นในปีนี้ จากเดิมที่ 1.2 ล้านคัน โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาจากรถอีโคคาร์ที่การส่งออกเติบโตมาก ทำให้การส่งออกรถยนต์ไปทางยุโรปเติบโต  80% ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ รวมถึงการส่งออกไปอเมริกาเหนือก็เติบโตขึ้นด้วย ขณะที่ตลาดออสเตรเลียที่ลดลงในปีที่แล้วก็เริ่มดีขึ้นตั้งแต่ต้นปีนี้ ส่วนตลาดตะวันออกกลาง และแอฟริกาลดลงบ้างจากปัญหาการเมือง
 
ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศยังอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก ทำให้คาดว่าจะปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศปีนี้เหลือระดับ 8.5 แสนคัน จากเป้าหมายที่ 9.5 แสนคัน จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่ฟื้นตัวมากนัก อีกทั้งสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นด้วย แต่ก็เชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะฟื้นตัว รวมถึงอาจมีแรงซื้อเข้ามาในช่วงปลายปีก่อนที่รัฐบาลจะปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ในปีหน้า ตามการปล่อยมลพิษ ซึ่งในส่วนของอัตราภาษีสรรพสามิตของรถกระบะจะเพิ่มขึ้นเป็น 5-7% และการจัดงานมอเตอร์โชว์ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีด้วย
 
นายสุรพงษ์ ยังเชื่อว่าแนวโน้มการผลิตรถยนต์ของไทยยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องในอนาคต จากการผลิตของโครงการรถยนต์อีโคคาร์ ระยะ 2 ที่น่าจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดในช่วงปี 60 และภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่จะดีขึ้น น่าจะช่วยสนับสนุนให้การผลิตรถยนต์ของไทยเข้าสู่ระดับ 3 ล้านคันได้ในปี 62
 
(ryt9.com, 12/6/2558)
 
อุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา เตรียมสั่งปิดโรงงานส่งกลิ่นเหม็นกระทบชุมชน
 
อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เตรียมสั่งโรงงานถลุงแร่ในนิคมอุตสาหกรรม 304 หยุดกิจการชั่วคราว เพื่อปรับปรุงระบบ 1 เดือน หลังผลตรวจคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน กระทบกับชาวบ้านรอบนิคม
 
โดยหลังจากครอบครัวข่าว 3 ลงพื้นที่บ้านท่าไม้แดง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา พบกว่า 200 คน ได้รับผลกระทบจากระบบทางเดินหายใจ จากการปล่อยแก๊สของโรงงานถลุงเหล็กในนิคมอุตสาหกรรม 304 มาเกือบ 3 ปี และทางศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคตะวันออก ได้เข้าไปตรวจวัดคุณภาพมลพิษอากาศรอบโรงงาน ซึ่งผลชี้ชัดว่า โรงงานมีปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออก๊าซ ในอากาศ 900 ppm ซึ่งถือว่าเกินค่ามาตรฐานอุตสาหกรรมที่กำหนดไว้ โดยจะต้องไม่เกิน 700 Pmm  จากนั้นได้ส่งต่อผลตรวจนี้ต่ออุตสาหกรรมจังหวัด
 
ล่าสุดนายมนตรี เรืองอุไร อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ได้เตรียมออกคำสั่งหยุดกิจการในส่วนอุปกรณ์ที่ปล่อยมลพิษชั่วคราว และติดประกาศคำสั่งในวันจันทร์นี้ เพื่อปรับปรุงภายใน 30 วัน พร้อมจะดำเนินคดีกับโรงงานฐานระบายมลพิษทางอากาศเกินมาตรฐานและหากพ้นเวลาที่กำหนด และพบว่ายังไม่ปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานจะยึดใบอนุญาติประกอบกิจการและสั่งหยุดกิจการทันที
 
ขณะที่ชาวบ้านต่างดีใจกับคำสั่งของอุตสาหกรรมจังหวัด เพราะได้เรียกร้องให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหามานาน กระทั่งได้รับการแก้ปัญหา
 
(ครอบครัวข่าว, 12/6/2558) 
 
คืบหน้าออกกฎหมายประกันสังคม
 
นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย คณะกรรมการประกันสังคม เปิดเผยความคืบหน้าการยกร่างกฎหมายลูก ที่ออกตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับที่ 4 ปี 2558 จำนวน 17 ฉบับ ประกอบด้วยพระราชกฤษฎีกา และประกาศคณะกรรมการการแพทย์ อย่างละ 2 ฉบับ  กฎกระทรวง 3 ฉบับ  ระเบียบกระทรวงแรงงาน และประกาศสำนักงานประกันสังคม อย่างละ 4 ฉบับ  ระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม และระเบียบสำนักงานประกันสังคม อย่างละ1 ฉบับ 
 
คณะอนุกรรมการกลั่นกรองได้พิจารณาแล้วเสร็จ 1 ฉบับ คือกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการรับเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย ส่วนพระราชกฤษฎีกาอีก 2 ฉบับ คือพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้าง ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคมปี 2533 และพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทประโยชน์ทดแทน ผ่านการพิจารณาไปแล้วร้อยละ 90 ส่วนที่เหลืออีก 13 ฉบับ กำลังเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่ 4 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
ด้านพันตำรวจตรีหญิง รมยง (รม-ยง) สุรกิจบรรหาร รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมได้เปิดรับสมัครสถานพยาบาลเอกชน เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน ปี 2559 ซึ่งจะหมดเขตรับสมัครวันที่ 15 มิถุนายนนี้ จึงขอให้สถานพยาบาลที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเร่งส่งใบสมัคร และเอกสารภายในเวลาที่กำหนด
 
(ไทยรัฐ, 12/6/2558)
 
กต.โต้สื่อออนไลน์ปล่อยข่าวมั่ว สถานทูตไทยยืนยันไม่มีไฟไหม้โรงกลั่นน้ำมันในสิงคโปร์ แรงงานไทยยังปลอดภัย ทำงานปกติ
 
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ว่าเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้แท่นขุดเจาะที่สิงคโปร์และมีแรงงานไทยได้รับบาดเจ็บด้วยนั้น สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศสิงคโปร์ ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าภาพเพลิงที่กำลังไหม้แท่นขุดเจาะที่มีการเผยแพร่นั้น ไม่เป็นความจริง และขอยืนยันว่าน่านน้ำสิงคโปร์ไม่มีการวางแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล มีแต่โรงกลั่นน้ำมันแบบบนฝั่งซึ่งมีอยู่บนเกาะจูล่งและเกาะโบกุ่ม  อย่างไรก็ตาม จากการประสานกับหน่วยงานราชการของสิงคโปร์กับแรงงานไทยในพื้นที่ ได้ข้อมูลตรงกันว่าไม่มีเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงกลั่นน้ำมัน และแรงงานไทยยังคงทำงานตามปกติ
 
(เดลินิวส์, 17/6/2558)
 
ยัน ก.พ.ไม่ได้ยกเลิกบรรจุ ขรก.รอบ 3 คาดหลังประชุม คปร.25 มิ.ย.จะเสนอเข้า ครม.ในสัปดาห์ต่อไป
 
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ตอบคำถามเรื่องการบรรจุข้าราชการรอบ 3 และการบรรจุ นวก.สธ. และ จพ.สธ. ในกลุ่มไลน์ระดับผูบริหาร สธ. โดยยืนยันว่า ก.พ.ไม่ได้ยกเลิกบรรจุข้าราชการรอบที่ 3 ส่วนความคืบหน้านั้น ภายหลังจากประชุม คปร.ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้แล้ว คาดว่าจะสามารถนำเสนอเข้า ครม.ได้ในสัปดาห์ต่อไป และบรรจุต่อได้ภายใน 1 เดือน ขณะที่การยกเลิกการเรียงคิวบรรจุ นวก.สธ. และ จพ.สธ.นั้น ยืนยันว่า สธ.ไม่เห็นด้วย และทำหนังสือให้ ก.พ.พิจารณาใหม่แล้ว ขณะนี้ทาง ก.พ.กำลังเสนอ คณะกรรมการใหญ่ของ ก.พ.ให้ยกเว้นสำหรับการบรรจุรอบ 3 นี้ให้ใช้เกณฑ์เดิมไปก่อน
 
รายละเอียดทั้งหมดมีดังนี้
 
“ข้อจริงจากเรื่องบรรจุรับราชการรอบ3
 
1) ก.พ. ไม่ได้ยกเลิกการบรรจุรอบ 3 ยังยืนยันมีการบรรจุรอบ 3
 
2) ขั้นตอนการบรรจุต้องผ่าน คปร. (คณะกรรมการปฏิรูปกำลังคนภาครัฐ) มีท่านรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน ท่านเองไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างไร เดิมท่านนัดประชุม คปร.เดือนที่แล้ว (พ.ค.) แต่ติดการประชุมด่วนที่ท่านนายกฯ เรียกประชุม ครม.วาระพิเศษเรื่องรัฐธรรมนูญ เลยเลื่อนมา 8 มิ.ย.ทืผ่านมา และในที่ประชุมมีปมเล็กน้อย มีกรรมการท่านหนึ่งอาวุโสมาก มีข้อแม้ว่า กระทรวงยังบริการไม่ดี คนไข้แน่น ขอให้กระทรวงมารับปากก่อน ทั้งๆ ที่เรากระทรวงพยายามขอไปชี้แจงแต่ ก.พ.บอกว่าไม่ต้อง ไม่มีอะไรแล้ว ทาง ก.พ.ยอมรับหมดแล้วคงผ่านแน่
 
3) ท่าทีทาง ก.พ. จริงใจกับกระทรวง สธ. ว่าเราทำตามมติ ครม.เก่าและเขื่อนไขครบถ้วนแล้ว เห็นด้วยกับ สธ.
 
4) ผู้บริหารระดับสูง สธ. ทุกระดับ ทั้งประจำและการเมืองได้ประสานภายในมาโดยตลอด ทั้ง ก.พ. กพร.  คปร. และท่านรองนายกฯ วิษณุมาโดยตลอด
 
คาดว่าหลังประชุม คปร.วันที 25 มิ.ย. นี้ จะเข้า ครม ในสัปดาห์ต่อไป และบรรจุต่อได้ใน 1 เดือน
 
เรื่องบรรจุนวก.สธ.-จพง.สธ”
 
1) กระทรวงก็ไม่เคยเห็นด้วยกับ ก.พ.และได้ทำหนังสือให้ ก.พ. พิจารณาใหม่แล้วให้การบรรจุ lot นี้ใช้เกณฑ์เดิมก่อน เพราะขั้นตอนการคัด เราทำแล้วตามธรรมภิบาลที่เคยทำกันมา
 
2) ทราบเป็นการภายในมาว่า ก.พ. เห็นใจ สธ.เราเพราะขั้นตอนต่างๆ ที่สธ.ทำ ทาง ก.พ.ทราบมาตลอด
 
3) ทาง ก.พ จะพยายามเสนอทางกรรมการ ก.พ.ใหญ่ให้ยกเว้นให้ สธ. บรรจุ รอบ 3 นี้ก่อน”
 
วันเดียวกัน นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการบรรจุข้าราชการใหม่ รอบ 3 ในปีงบประมาณ 2558 จำนวน 7,547 อัตรา โดยจะบรรจุข้าราชการใหม่จากลูกจ้างชั่วคราวที่มีอยู่ของกระทรวงสาธารณสุข วางแผนไว้ 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2556-2558 จำนวน 22,641 อัตรา เฉลี่ยบรรจุปีละ 7,547 อัตรา ขณะนี้เหลือการบรรจุรุ่นสุดท้าย อยู่ระหว่างขั้นตอนผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการปฏิรูปกำลังคนภาครัฐ หรือคปร. ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตามระเบียบการบรรจุข้าราชการใหม่ คาดว่า คณะกรรมการปฏิรูปกำลังคนภาครัฐ จะนัดประชุมในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 นี้ ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในสัปดาห์ต่อไป และบรรจุข้าราชการใหม่ได้ภายใน 1 เดือนหลังจากนั้น
 
“ยืนยัน ไม่ได้มีการยกเลิกการบรรจุข้าราชการรอบ 3 แน่นอน ผู้บริหารทั้งฝ่ายข้าราชการประจำและการเมือง มีการติดตามใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คณะกรรมการปฏิรูปกำลังคนภาครัฐ ส่วนใหญ่เข้าใจและเห็นใจในภาระงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้บริการเพื่อประชาชน พร้อมที่จะให้การสนับสนุนการบรรจุข้าราชใหม่ตามมติเดิมของคณะรัฐมนตรี” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว
 
สำหรับกรณีเรื่องบรรจุนักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การบรรจุนั้น กระทรวงสาธารณสุขไม่เห็นด้วย และได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 หนังสือเลขที่ สธ 0201.033/12410 ขอให้ทบทวนการพิจารณาใหม่ เนื่องจากการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการ ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชนของกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ตั้งแต่ปี 2551 มาโดยตลอด โดยเฉพาะการบรรจุข้าราชการใหม่รอบที่ 3 นี้ ขอยึดหลักเกณฑ์เดิมก่อน เนื่องจากเป็นมติคณะรัฐมนตรีและกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ดำเนินการคัดเลือกตามหลักธรรมาภิบาลแล้ว รวมทั้งเพื่อขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในชนบทที่ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจในการทำงานเพื่อประชาชนมาโดยตลอด
 
(Hfocus, 14/6/2558)
 
แฉพฤติกรรมนายจ้างทำร้ายคนทำงานบ้านเยี่ยงทาส 
 
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่โรงแรมเสนาเพลส นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้แทนสภาทนายความ กล่าวในหัวข้อ “กระบวนการยุติธรรมกับลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย” ในงานวันลูกจ้างทำงานบ้านโลก ที่จัดโดยเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้าน ว่า กรณีที่นายจ้างทำร้ายลูกจ้างทำงานบ้านพบได้หลายกรณี อาทิ ลูกจ้างแรงงานกะเหรี่ยง จ.กำแพงเพชร ถูกนายจ้างราดน้ำร้อนลวกแขน ซึ่งขณะนี้นายจ้างหนีไปแล้ว ขณะที่ลูกจ้างกะเหรี่ยง อายุ 13-14 ปี ถูกนายจ้างเฆี่ยนตี โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล นอกจากนี้ยังพบลูกจ้างเอธิโอเปีย ที่นายจ้างให้นอนนอกบ้านข้างกรงสุนัข กินแต่ข้าวเปล่า ห้ามนุ่งกางเกง ทำงานตั้งแต่เวลา 05.00 น. ถึง 24.00 น. และมีกฎต้องตื่นก่อนนายจ้าง และหลับหลังนายจ้าง 
 
“ที่ผ่านมามักมีการพูดกันว่าคนชั้นสูง กระทำไม่ดีต่อลูกจ้าง เนื่องจากประเทศไทย เคยมีนายทาส กับลูกทาส ขณะนี้ก็ยังมีอยู่ คือนายจ้าง และลูกจ้างเป็นแนวคิดเหมือนเดิม ต้องคลานเข้าหานายจ้าง ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นคนละชนชั้นกัน แม้จะไม่ใช่ทาส แต่ก็ปฏิบัติแบบทาสมาโดยตลอด”นายสุรพงษ์ กล่าว และว่า ทุกคนมีสิทธิ มีศักดิ์ศรีขั้นพื้นฐานเท่ากันหมด ต้องปฏิบัติเท่ากันทั้งสิทธิทางร่างกายและทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หรือไม่ผิดกฎหมายก็ตาม ใครจะทำร้ายไม่ได้ตามกฎหมายแรงงาน พ.ศ.2541 ทั้งแรงงานไทยและแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถฟ้องร้องศาลได้ แต่สุดท้ายคดีจะไม่ถึงขั้นตัดสิน เพราะนายจ้างยอมรับผิดชอบค่าเสียหายในที่สุด    
 
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามขอเสนอแนะให้ลูกจ้างทำงานบ้าน ใช้สิทธิตามกฎกระทรวงฉบับที่ 14 พ.ศ.2555 ต้องหาเทคนิคพูดอย่างไรให้นายจ้างให้สิทธิเราตามกฎนี้ เพราะกฎหมายออกมาแล้วตั้งแต่ 9 พ.ย. 55 ลูกจ้างฯ ได้รับสิทธิหยุดตามประเพณี พักผ่อนประจำปี 6 วัน ลาป่วยได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ อาทิ ค่าแรงขั้นต่ำที่ยังไม่ถึง 300 บาท ทำงานวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง การลาคลอด และต้องเลิกคำว่านายจ้างและลูกจ้าง แต่เปลี่ยนมาใช้คำว่าผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างแทน
 
(เดลินิวส์, 14/6/2558)
 
นายกสมาคมอาชีวะเอกชน เสนอเพิ่มค่าตอบแทนผู้เรียนจบอาชีวะเทียบเท่าผู้จบปริญญาตรี หวังดึงความสนใจเด็กสายอาชีพมากขึ้น
 
(15 มิ.ย.) จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ที่ระบุว่า ผู้จบอาชีวศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยโดยปี2557 มีผู้สำเร็จการศึกษา 146,148 คน เข้าสู่ตลาดแรงงาน 74,550 คน เพราะค่าจ้างต่ำกว่าผู้ที่จบปริญญาตรีมากผู้ปกครองจึงสนับสนุนให้เรียนต่อนั้น รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทต่อวันและค่าตอบแทนผู้จบปริญญาตรีขั้นต่ำอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ผู้จบอาชีวศึกษาได้รับค่าตอบแทนเพียง 9,000-11,000 บาทต่อเดือน และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานอาชีพด้วยเพื่อเป็นการรับรองสมรรถนะ ผู้สนใจเรียนสายอาชีวศึกษาจึงมีไม่มาก เพราะเห็นว่าทำงานหนักและต้องพัฒนาทักษะวิชาชีพค่อนข้างมาก และผู้จบอาชีวศึกษาก็มักนิยมเรียนต่อเพื่อได้วุฒิปริญญาตรีในการสมัครงาน 
 
“จากสถานการณ์ดังกล่าวเห็นว่า หากรัฐบาลต้องการเพิ่มผู้เรียนอาชีวศึกษาและต้องการให้ผู้มีทักษะเข้าสู่ตลาดแรงงานในทันที ก็ควรมีการกำหนดค่าแรงให้มากขึ้นอย่างน้อยให้เท่ากับผู้จบระดับปริญญาตรี แต่มีเงื่อนไขเรื่องการสอบผ่านมาตรฐานอาชีพหรือ คุณวุฒิวิชาชีพเพื่อเป็นการรับรองสมรรถนะ ซึ่งจากที่ได้หารือกับสภาและสมาคมผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการยินดีที่จะจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ที่จบอาชีวศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี หากผู้ที่จบอาชีวศึกษามีสมรรถนะตามความต้องการ แต่ปัจจุบันปัญหาของผู้ประกอบการคือขาดแคลนบุคลากรสายอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพอีกจำนวนมาก” รศ.ดร.จอมพงศ์ กล่าว
 
(เดลินิวส์, 15/6/2558)
 
โพล ชี้ ปัญหาแรงงานการผลิตไม่เพียงพอ เป็นจุดอ่อนไทย เข้าสู่ AEC
 
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผย ผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง AEC กับ การเตรียมความพร้อมของคนไทย รัฐบาลพร้อม? คนไทยพร้อม?  
 
กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,055 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 5-7 มิถุนายน 2558 ผลสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วัน ที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 55.6 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 22.5 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 9.2 ระบุติดตาม 1-2 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 9.1 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 3.6 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
 
คณะผู้วิจัยได้เริ่มต้นจากการสอบถามแกนนำชุมชน ถึงความสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 2.1 ระบุ มีความสนใจติดตามน้อยที่สุด ร้อยละ 9.6 ระบุ น้อย ในขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 60.2 ระบุ มีความสนใจในระดับปานกลาง ร้อยละ 23.5 ระบุ สนใจมาก และร้อยละ 4.6 ระบุ สนใจมากที่สุด
 
ทั้งนี้ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงการทราบข่าวที่ประเทศไทย จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในช่วงเดือนธันวาคม ที่จะถึงนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนเกือบร้อยละร้อย คือ ร้อยละ 96.0 ระบุ ทราบข่าวแล้ว ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 4.0 ระบุ ยังไม่ทราบ/เพิ่งทราบ ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาที่ค้นพบจากการสำรวจในครั้งนี้ คือ คณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงประเด็นคุณลักษณะที่เป็นจุดอ่อน-จุดแข็งของประเทศไทย ในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พบว่า ในประเด็น ความง่ายในการเข้าถึงวัตถุดิบในการลงทุนนั้น แกนนำชุมชน ร้อยละ 50.0 ระบุ เห็นว่าเป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 50.0 เช่นเดียวกันที่เห็นว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นจุดแข็ง
 
สำหรับในด้านความเพียงพอของแรงงานในภาคการผลิต พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 59.1 เห็นว่า เป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 40.9 ระบุเห็นว่า เป็นจุดแข็ง ด้าน คุณภาพของแรงงาน ทักษะ ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 49.2 เห็นว่า เป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 50.8 ระบุเห็นว่าเป็นจุดแข็ง ด้าน คุณภาพของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในประเทศ พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 40.8 เห็นว่า เป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 59.2 ระบุเห็นว่า เป็นจุดแข็ง ด้าน คุณภาพและความสะอาดปลอดภัยด้านอาหาร พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 36.7 เห็นว่า เป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 63.3 ระบุเห็นว่า เป็นจุดแข็ง ด้าน การมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ดีและน่าสนใจ พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 34.4 ระบุเห็นว่าเป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 65.6 เห็นว่าเป็นจุดแข็ง ด้าน คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน พบว่าแกนนำชุมชน ร้อยละ 45.6 ระบุเห็นว่าเป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 54.4 เห็นว่าเป็นจุดแข็ง ด้าน โอกาสเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 40.7 เห็นว่า เป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 59.3 ระบุเห็นว่า เป็นจุดแข็ง
 
ด้านมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ดีและน่าสนใจ พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 19.1 เห็นว่าเป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 80.9 ระบุเห็นว่าเป็นจุดแข็ง ด้านเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองของประเทศ พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 49.4 เห็นว่าเป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 50.6 ระบุเห็นว่าเป็นจุดแข็ง และด้าน การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีของประชาชน/คนในท้องถิ่น พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 23.2 เห็นว่าเป็นจุดอ่อน ในขณะที่ร้อยละ 76.8 ระบุเห็นว่าเป็นจุดแข็ง ตามลำดับ
 
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อไป ถึงความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทยและคนไทย ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 42.0 ระบุคิดว่า ประเทศไทยพร้อมทุกด้านแล้ว อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนประมาณ 1 ใน 3 คือ ร้อยละ 36.2 ระบุคิดว่า รัฐบาลพร้อมแต่ประชาชนยังไม่พร้อม และร้อยละ 21.8 ระบุคิดว่าไม่พร้อมเลยทั้งรัฐบาลและประชาชน ประเด็นสุดท้าย เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 27.7 ระบุ รู้สึกตื่นเต้นและเฝ้ารอ ในขณะที่ร้อยละ 39.6 ระบุ รู้สึกกังวล เพราะ ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง และร้อยละ 32.7 ระบุเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร
 
(ไทยรัฐ, 15/6/2558)
 
IOM คาดไทยปลายทาง โยกย้ายถิ่นฐานแรงงานสูงในอาเซียน
 
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในที่ประชุม Labour Market Situations and Migration Policy Frameworks among ASEAN Member States (สถานการณ์ตลาดแรงงานในอาเซียนกับนโยบายการเคลื่อนย้ายของแรงงาน) ว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีแรงงานที่มีฝีมือเคลื่อนย้ายเข้ามา แต่ก็ยังไม่มากเท่ากับแรงงานไร้ฝีมือ ขณะเดียวกันหากพิจารณาตลาดแรงงานในอาเซียนว่าควรจะมีนโยบายและมาตรการที่จะรับมืออย่างไรในอนาคตที่เป็นตลาดเดียวของอาเซียน การประชุมในวันนี้จะทำให้มองเห็นถึงอนาคตของงานว่าจะมีลักษณะใด ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของมาตรฐานแรงงานและความคุ้มครองทางสังคมที่จะเกิดขึ้นด้วยว่าจะมีการปรับตัวอย่างไร เนื่องจากในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันค่อนข้างสูง ดังนั้นหากตลาดแรงงานในอาเซียนมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งลักษณะเดียวก็จะทำให้ประเทศในอาเซียนปรับตัวเข้าหากันได้อนาคต นอกจากนี้องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) จะได้นำเอาผลงานวิจัยมาแบ่งปันความรู้และแชร์ประสบการณ์ซึ่งกันและกันว่าในแต่ละประเทศมีประเด็นปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแรงงาน ทั้งมีฝีมือและไร้ฝีมือเป็นอย่างไร รวมถึงสถานการณ์ด้านตลาดแรงงานด้วย ซึ่งประเทศไทยก็ประสบปัญหาในเรื่องนี้ เพราะจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานค่อนข้างที่จะสูงในอาเซียน โดยรองลงมาเป็นมาเลเซีย และสิงคโปร์
 
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าประเทศที่พัฒนาหรือมีศักยภาพทางเศรษฐกิจดีจะเป็นประเทศปลายทางของผู้ที่จะเคลื่อนย้ายแรงงาน นั้นหมายความว่าแรงงานในระดับที่มีฝีมือน้อย หรือระดับกึ่งฝีมือจะมีการเคลื่อนย้ายค่อนข้างมาก แต่ในขณะเดียวกันแรงงานที่มีฝีมือสูงจะเคลื่อนย้ายไปในประเทศที่มีความเติบโต และมีความทันสมัยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในย่านอาเซียน เช่น ประเทศสิงคโปร์
 
(RYT9, 16/6/2558)
 
หญิงไทยกว่า 40 คน ร้อง 'ปวีณา' เชื่อถูกหลอกตุ๋นเงิน ไปทำงานเมืองนอก
 
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 16 มิ.ย. 2558 น.ส.กนกวรรณ ใจงามกุล อายุ 40 ปี ได้พาผู้เสียหายรวม เกือบ 40 คน เข้าร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือจาก นางปวีณา หงสกุล ประธาน “มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี” ตั้งอยู่ถนนรังสิต-นครนายก (คลอง 7) ต.ลำผักกูด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี อ้างว่าได้ติดต่อกับ น.ส.เมธิญา เจนประชากร อายุ 25 ปี ซึ่งเป็นนายหน้าจัดหาหญิงไทยไปทำงานนวดสปาต่างประเทศ ทั้งหมด 6 ประเทศ โดยหญิงไทยแต่ละคน ได้จ่ายค่าประกันการเดินทางทำงานให้กับ น.ส.เมธิญา คนละ 30,000-35,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,190,000 บาท แต่เมื่อถึงกำหนดเดินทางไป คือวันที่ 15 มิ.ย. 2558 กลับไม่สามารถติดต่อกับ น.ส.เมธิญา ได้ จึงพากันเดินทางเข้าร้องขอความช่วยเหลือจากนางปวีณา
 
น.ส.กนกวรรณ กล่าวว่า ตนได้รู้จักกับ น.ส.เมธิญา หรือปริม ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เมื่อประมาณ 1 ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นตนอยู่ที่ โคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และได้ติดต่อกับ น.ส.เมธิญา ทางอินเทอร์เน็ตมาตลอด โดย น.ส.เมธิญา ได้นำเสนอว่าเป็นนายหน้าที่จัดหาหญิงไทยไปทำงานนวดต่างประเทศอยู่ หากสนใจสามารถติดต่อไปทำงานได้ จนวันที่ 26 เม.ย.2558 ตนได้เดินทางกลับประเทศไทย และมีการติดต่อกับ น.ส.เมธิญา ว่าสนใจไปทำงานนวดสปาที่ประเทศอังกฤษ จนวันที่ 28 เม.ย. 2558 ทาง น.ส.เมธิญา ได้นัดตน เพื่อดูตัว และยื่นเอกสารการเดินทางพร้อมกับเงินประกันในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ จำนวนเงิน 30,000 บาท แต่ตนมีเงินประกันมาแค่ 20,000 บาท ยังคงค้างอีก 10,000 บาท ซึ่งได้โอนให้กับ น.ส.เมธิญา ในภายหลัง โดย น.ส.เมธิญา ได้แจ้งกับตนว่า รอการเดินทางไปภายในเดือน ก.ค. 2558 นี้ 
 
น.ส.กนกวรรณ เผยต่อว่า หลังจากนั้นประมาณ 3 วัน น.ส.เมธิญา ได้โทรศัพท์ติดต่อมาหาตนว่า ขณะนี้ น.ส.เมธิญา ได้ทำการเปิดรับหญิงไทยไปทำงานนวดอีกหลายประเทศ โดยมีรายชื่อประเทศดังนี้ 1.ฝรั่งเศส 2.อังกฤษ 3.เยอรมนี 4.สวีเดน 5.ฟินแลนด์ 6.อเมริกา 7.ญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อ ว่า สปาไทย ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อคน คนละ 30,000-35,000 บาท ตนจึงได้แนะนำเพื่อนสนิททราบ ซึ่งเพื่อนสนใจ และได้ติดต่อกับ น.ส.เมธิญา จากนั้นก็ได้โอนเงินและนัดดูตัว แต่ละคน ต่างสถานที่กัน ตามร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าต่างๆ พร้อมกับยื่นเอกสารรวมทั้งหมดกว่า 40 ราย จากนั้น น.ส.เมธิญา แจ้งว่าให้รอกำหนดการเดินทางไปทำงาน ในวันที่ 15 มิ.ย. 2558 แต่ในระหว่างรอ จะให้หญิงไทยแต่ละคนได้ไปเรียนภาษาของแต่ละประเทศก่อน จากนั้นให้ไปรายงานตัวต่อกระทรวงแรงงานและสถานทูต โดยมีกำหนดในวันที่ 8 มิ.ย. 2558
 
จากนั้น คืนวันที่ 7 มิ.ย. 2558 น.ส.เมธิญา ได้โทรทางไลน์มาแจ้งให้กับตนทราบว่า ขณะนี้เอกสารหญิงไทยที่ยื่นมา ไม่ผ่านอยู่ 14 คน จึงขอยกเลิกนัดวันที่ 8 มิ.ย 2558 ก่อน จากนั้นก็เงียบหายไป จนวันที่ 11 มิ.ย. 2558 น.ส.เมธิญา ได้ติดต่อมาหาตนทางไลน์ ว่า ขณะนี้ แท้งลูกอยู่ที่ รพ.นาริตะ ประเทศญี่ปุ่น แต่จะกลับมาให้ทันก่อนวันที่ 15 มิ.ย.2558 ที่หญิงไทยทั้งหมดจะบินไปทำงานต่างประเทศ และ น.ส.เมธิญา ได้นัดพบหญิงไทย 2 จุด จุดที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ 1 ชุด และจุดที่ 2 ที่หมอชิต อีก 1 ชุด เมื่อมาถึงจุดนัดหมายแล้ว พยายามติดต่อกับ น.ส.เมธิญา แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ตนจึงคิดว่า ตนและกลุ่มหญิงไทยทั้งหมดรวม 40 คน ถูกหลอก จึงตัดสินใจติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิปวีณาฯ
 
ด้าน นางปวีณา กล่าวว่า หลังรับเรื่องจึงได้ประสานไปยัง พ.ต.อ.อัครเดช พิมลศรี รักษาราชการแทน ผบก.กองปราบปราม เพื่อให้ผู้เสียหายเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ น.ส.เมธิญา เจนประชากร ต่อไป แล้วจากนั้นจะต้องประสาน และตรวจสอบกับกระทรวงแรงงานว่า บริษัทดังกล่าว ได้ขึ้นทะเบียนกับทางกระทรวงแรงงานหรือไม่ และทางกองปราบปรามดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป และจึงขอเตือนหญิงไทย ว่า อย่างหลงเชื่อ หากต้องการไปทำงานจริง ให้ติดต่อกับ กระทรวงแรงงานโดยตรง หรือตรวจสอบกับกระทรวงแรงงานก่อนว่า บริษัทที่จะไปทำงานด้วย ได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงานไว้แล้วหรือยัง.
 
(ไทยรัฐ, 16/6/2558)
 
บอร์ดการบินไทย ไฟเขียวโละพนักงาน-เครื่องบินเก่า
 
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินไทย เห็นชอบให้ขายเครื่องบินเก่า ที่ปลดระวางเพิ่มเติมอีก 8 ลำ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ขายไปแล้ว 10 ลำ รวมขายไปแล้วทั้งสิ้น 18 ลำ เพื่อลดรายจ่าย ตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยที่กำหนดไว้ โดยเครื่องบินที่ขายรอบนี้เป็นขายให้แก่ผู้ซื้อ 2 ราย แบ่งเป็นเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 737 จำนวน 4 ลำ และแอร์บัส เอ330 อีก 4 ลำ คาดว่ารับรู้รายได้จากการขายดังกล่าวในช่วงไตรมาส 3 แต่จะมีผลต่อรายรับไม่มากนัก เพราะเป็นเครื่องบินเก่าที่มีอายุเกิน 20 ปี จึงไม่ได้รตั้งสำรองด้อยค่าไว้สูง 
 
สำหรับแผนการขายเครื่องบินเก่าของการบินไทยทั้งหมดในปี 58 นี้ บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ทั้งสิ้น 42 ลำ เพื่อลดขนาดฝูงบินให้เหลือ 89 ลำ แต่จากการประเมินล่าสุด คาดว่าทั้งปีนี้ จะขายได้เพียง 30 ลำ น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 12 ลำ เนื่องจากในจำนวนนี้ มีเครื่องบินรุ่นที่ขายยาก อย่างแอร์บัส เอ340-500 อยู่ 4 ลำ และอีก 8 ลำเป็นรุ่นโบอิ้ง 747 ซึ่งจะปลดระวางช่วงปลายเดือนต.ค.58 จึงจะขายเสร็จไม่ทันสิ้นปี ดังนั้นครึ่งปีหลังจากนี้ จึงคาดว่าจะขายเครื่องบินเก่าได้เพิ่มอีก 12 ลำเท่านั้น 
 
นอกจากนี้ที่ประชุม ยังเห็นชอบให้เกษียณพนักงานก่อนกำหนด (เออรี รีไทร์) ตามโครงการร่วมใจจาก เพื่อเป็นลดค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่งด้วย แต่มีจำนวนเท่าใดนั้น ยังบอกไม่ได้ อยู่ระหว่างการแจ้งรายละเอียดกับพนักงานภายในก่อน แต่ทั้งปี 58 ได้ตั้งงบประมาณรองรับการเออรีรีไทร์ปีนี้ไว้ 5,500 ล้านบาท ขณะที่แผนการปรับลดเที่ยวบิน ที่ตารางบินเดือนต.ค.58-มี.ค.59 ยังไม่ได้เสนอเข้าที่ประชุม แต่การบินไทยมีแผนจะลดเที่ยวบินหรือเส้นทาง ที่ขาดทุนหรือมีผู้โดยสารน้อยลงอีก 5% 
 
“แผนการลดรายจ่ายของการบินไทยในปีนี้ ตั้งเป้าหมายว่าจะลดรายจ่ายทั้งปีให้ได้ 8,000-9,000 ล้านบาท แต่จะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่พวกเรากำลังพยายามทำให้สำเร็จ” 
สำหรับแนวโน้มผู้โดยสารที่ใช้การบินไทย (เคบินแฟคเตอร์) ไตรมาส 2 มีอัตราลดลงต่ำกว่า 70% น้อยกว่าไตรมาสแรกยังมีเคบินแฟคเตอร์ที่ 75-76% เนื่องจากตรงกับช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาน้อยเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ยังคงเป้าหมายยอดผู้โดยสารที่ใช้บริการไว้ที่ 80% เหมือนเดิม 
 
ส่วนแนวโน้มการดำเนินธุรกิจไตรมาส 2 คาดว่าจะเป็นไปในทิศทางเช่นเดียวกับครึ่งปีแรก โดยจีนยังเป็นตลาดสำคัญของการบินไทย ขณะที่ยุโรปนั้น ยังน่าจะทรงตัวต่อไป ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ผลกระทบจากการระบาดโรคเมอร์ส ในประเทศเกาหลีใต้ ยังไม่ส่งผลให้ให้ผู้โดยสารยกเลิกการใช้บริการแต่อย่างใด
 
(เดลินิวส์, 16/6/2558)
 
วิจัยตลาดแรงงานใหม่ หลังข้อมูลล้าสมัย หวังผลิตบัณฑิตตรงเป้าอาชีพ
 
นางสุทธศรี วงษ์สมาน เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ถึงความร่วมมือในการศึกษาวิจัยความต้องการกำลังคน เพื่อวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ เนื่องจากข้อมูลที่เคยศึกษาเมื่อ 5 ปีก่อนถือว่าไม่ทันสมัย และปัจจุบันบริบทเปลี่ยนแปลงไปมีการพัฒนาสู่สังคมดิจิตอล (Digital Society) มีความต้องการกำลังคนระดับกลาง ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ และมีการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ทักษะความรู้ความสามารถของกำลังคนที่จะออกสู่ตลาดแรงงานอาเซียน จึงต้องพัฒนาให้สามารถแข่งขันได้กับนานาประเทศ จึงมีความจำเป็นในการศึกษาวิจัยใหม่
       
“สกศ. จึงขอให้ทีดีอาร์ไอ ศึกษาวิจัยเพื่อคาดการณ์ความต้องการกำลังคน เพื่อเตรียมการวางแผนผลิตกำลังคนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ทั้งนี้ แผนพัฒนากำลังคนดังกล่าวจะให้ความสำคัญทั้งเชิงรับและเชิงรุกเพื่อพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งในเบื้องต้นจะเร่งกำหนดแผนพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับสาขาวิชา/อาชีพที่ต้องการสำหรับการพัฒนาของประเทศ” เลขาธิการ สกศ. กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17/6/2558)
 
ลูกจ้าง สธ.กว่าพันคนรวมตัวร้องขอความเป็นธรรมบรรจุข้าราชการ
 
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 07.00 น. สหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย เจ้าพนักงานสาธารณสุข (สสช.) เจ้าพนักงานสาธารณสุข (แพทย์แผนไทย) เจ้าพนักงานสาธารณสุข (วชกิจฉุกเฉิน) เจ้าพนักงานเทคนิกเภสัชกรรม เจ้าพนักงานทันตาภิบาล นักวิชาการสาธารณสุข พยาบาลวิชาชีพ และทีมหมออนามัย ประมาณ 800 คน นำโดยนายวัฒนะชัย นามตะ ประธานชมรมสหวิชาชีพฯ นายสาคร นาต๊ะ นายกสมาคมหมออนามัย ทยอยมารวมตัวกันที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการบรรจุข้าราชการใหม่รอบ 3 ปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายในการบรรจุตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่อนุมัติบรรจุข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขทั้งสิ้น 22,641 อัตรา แบ่งการบรรจุเป็น 3 รอบ รอบละ 7,547 อัตรา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556-2558 แต่ในรอบ 3 นี้มีความล่าช้าจากกำหนดที่จะเริ่มบรรจุได้ตั้งแต่เดือน ต.ค.2557 อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกบรรจุลูกจ้างชั่วคราว 2 สายงาน คือนักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ให้ใช้หลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกแทน ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวกลับไปเมื่อปล่ยเดือน พ.ค.2558 แต่ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมา
 
ทั้งนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนมากมาควบคุมสถานการณ์ดูแลความสงบเรียบร้อย ต่อมาเมื่อเวลา 10.00 น. ตัวแทนกลุ่มสหวิชาชีพฯ ประมาณ 50 คน ได้ไปหารือร่วมกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่นำโดย นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงฯ และนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงฯ ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานปลัดกระทรวงฯ โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าฟัง.“
 
ต่อมาเมื่อเวลา 15.30 น. นพ.สุรเชษฐ์ ​เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ผลการหารือมีข้อสรุปร่วมกัน 4 ข้อ คือ 1.กระทรวงฯทำหนังสือชี้แจง และยืนยันใช้เกณฑ์เดิมในการบรรจุข้าราชการรอบที่ 3 ให้กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) แล้ว ซึ่งก.พ.จะนำข้อมูลของสหวิชาชีพฯ ไปร่วมพิจารณาในที่ประชุมคณะอนุกรรมการ 2.จะนำความคืบหน้าการบรรจุข้าราชการรอบที่ 3 จะนำเข้าคณะกรรมการกําหนดเป้าหมายและนโยบายกําลังคนภาครัฐ (คปร.) ​ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ ถ้าคปร.เห็นชอบก็จะมีผลทางปฏิบัติในวันที่ 1 ส.ค.นี้ 3.แต่ละปี สถาบันพระบรมราชชนกฯ จะปรับการผลิตบุคลากร เหลือเพียง 1 แห่ง และผลิตในสายงานที่ขาดแคลนเท่านั้น 4.จัดทำเกณฑ์เพื่อเลื่อนระดับให้เป็นเจ้าพนักงานอาวุโส ส่วนเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชนจะมีการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพเพื่อให้กลุ่มนี้มีโอกาสก้าวหน้าด้วย ด้านประธานชมรมสหวิชาชีพฯ กล่าวว่า ยังต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไป หากไม่เป็นผลจะเดินหน้าร้องต่อศาลปกครอง เพื่อฟ้องร้อง ก.พ.ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ กลุ่มพยาบาลจะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องเรื่องอัตรากำลังในการบรรจุข้าราชการเช่นกัน
 
(เดลินิวส์, 17/6/2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท