Skip to main content
sharethis
14 ส.ค. 2558 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าเมื่อเวลา 09.00 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าการพิจารณาทบทวนบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในเรื่องความถูกต้องของถ้อยคำหรือข้อความ ทั้ง 280 มาตราจะแล้วเสร็จในวันนี้ ซึ่งการพิจารณานั้นจะไม่มีการแก้ไขหรือทบทวนเนื้อหาที่นำไปสู่การปรับบทบัญญัติใด ๆ หากไม่ใช่เป็นประเด็นที่มีเหตุผลหรือน้ำหนักมากพอ ส่วนกรณีของการบัญญัติให้อำนาจพิเศษแก่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เพื่อแก้ไขหรือป้องกันการกระทำที่ทำให้เกิดความไม่สงบหรือไม่มั่นคงในชาตินั้น ที่หลายฝ่ายท้วงติงและขอให้ทบทวนนั้น ทางกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้รับฟังอย่างละเอียด ถี่ถ้วน แต่ขณะนี้ยังไม่มีประเด็นที่จะทบทวน อย่างไรก็ตามประเด็นของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ นั้น ที่ประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาอย่างรอบด้านและทุกแง่มุม ซึ่งใช้เวลาพิจารณายาวนาน ก่อนที่จะสรุปและแถลงข่าวต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตามในทางทฤษฎีหากยังไม่ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อย่างเป็นทางการภายในวันที่ 22 ส.ค. นี้ เนื้อหา รายละเอียด และหลักการยังสามารถปรับแก้ไขได้ แต่คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับบทเฉพาะกาลที่จะกำหนดไว้ แต่ในความหมายที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการนั้นคือ ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลหลังการเลือกตั้งมากกว่า อย่างไรก็ตามเมื่อดูกติกา พล.อ.ประยุทธสามารถเข้ามาเป็นได้ แต่จะมีบทเฉพาะกาลที่เมื่อถึเวลาทบทวนต้องเขียนความหมายให้ชัดเจน ขณะที่อำนาจหรือหน้าที่รวมถึงกระบวนการพิจารณาของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะมีรายละเอียดเขียนไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
“กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อแก้ปัญหาประเทศ และวิกฤตประเทศที่มียาวนาน และไม่ต้องการให้หลังรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้เหตุการณ์จะย้อนกลับไปเหมือนวันที่ 22 พ.ค. 57 อีก ดังนั้นสิ่งที่เขียนนั้นถือเป็นนวัตกรรมที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพยายามให้ทำระบอบประชาธิปไตยระยะเปลี่ยนผ่าน สามารถธำรงหลักการของระบอบปกติ โดยประเด็นที่ถูกวิจารณ์นั้น ไม่ใช่จุดสุดท้าย เพราะเมื่อสปช. อนุมัติแล้ว ให้ต้องให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้ง ขณะที่ระยะเวลาบังคับใช้อำนาจพิเศษนั้นมีผลเพียง 5 ปีและต่อหรือขยายไม่ได้ ขณะที่การมีอยู่ของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ นั้นจะอยู่ในระยะ 5 ปี หากจะต่อหรือขยายต้องให้ประชาชนลงประชามติเท่านั้น” นายคำนูณ ระบุ
 
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า กรณีที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ลงนามรับรองญัตติที่เสนอให้สปช. ให้ทำประชามติคำถามกรณีให้มีรัฐบาลปรองดอง นั้นไม่ใช่มติของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะผู้เสนอคือนายนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และนายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. ฐานะกรรมการปรองดอง ขณะที่กมธ.ยกร่างฯ ลงนามรับรองญัตติ ก็ทำในฐานะ สปช.ไม่เกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net